ผลวิจัยชี้พระส่วนใหญ่มีทรัพย์สินส่วนตัว บัตรเครดิต ผิดพระธรรมวินัย

กระทู้ข่าว
วันนี้( 14พ.ย.)ผู้สื่อข่าวรายงานว่าศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เปิดเผยรายงานวิจัยเรื่องพระสงฆ์กับทรัพย์สินส่วนตัว จัดทำโดยนายดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์ ผ่านเว็บไซต์ศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา ซึ่งพบว่ารายได้และรายจ่ายของพระภิกษุสงฆ์ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการเช่น สภาพพื้นที่ กิจกรรมต่างๆศรัทธาของฆราวาส ส่วนการบริหารจัดการก็มีหลายรูปแบบทั้งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัยและกฏหมายของสงฆ์ ซึ่งจากการสัมภาษณ์ทำให้ทราบว่าพระภิกษุสงฆ์ในปัจจุบันมีทรรศนะเรื่องเงินทองแตกต่างกันไป เช่น เงินทองเป็นเพียงสิ่งสมมติ เงินทองเป็นของส่วนตัวเคร่งครัดตามพระธรรมวินัยและจะปรับเปลี่ยนพระธรรมวินัย แต่โดยรวมไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าพระภิกษุสงฆ์ในปัจจุบันล้วนมีเงินทองเป็นของส่วนตัวแทบทั้งสิ้น

งานวิจัยยังระบุอีกว่า    การมีเงินทองเป็นทรัพย์สินส่วนตัวยังทำให้เกิดปัญหาต่างๆ    ตามมาอีกมากมาย เช่น    ปัญหาการฉ้อโกงทรัพย์สินวัด    ปัญหาการเรี่ยไรเงินทอง    ปัญหาการล่อลวงและขโมยทรัพย์สินพระภิกษุสงฆ์    ปัญหาด้านอาชญากรรม    และปัญหาการปลอมบวช    ซึ่งปัญหาเหล่านี้ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้าง ทั้งในระดับบุคคลและในระดับสังคม โดยเฉพาะผลกระทบต่อพระพุทธศาสนาไม่ว่าจะเป็นเรื่องศรัทธา    คุณภาพของพระภิกษุสงฆ์    รวมถึงความมั่นคงของพระพุทธศาสนาในสังคมไทย    นอกจากนี้    ผู้วิจัยยังได้วิเคราะห์เรื่องทรัพย์สินส่วนตัวของพระภิกษุสงฆ์    โดยเฉพาะเรื่องเงินและทองไว้ว่าขัดกับหลักพระธรรมวินัยด้วยเหตุผลหลายประการ    นอกจากในพระวินัยปิฎกที่แสดงไว้ชัดเจนแล้วว่าการรับเงินและทองเป็นความผิด     การที่พระภิกษุสงฆ์มีการใช้บัตรเดบิตหรือเครดิต    ซึ่งไม่มีบัญญัติในพระวินัย    หรือแม้พระพุทธเจ้ามิได้ทรงห้ามเรื่องบัตรเครดิต    ฯลฯ แต่ก็ไม่ควร

หากพิจารณาในมุมของกฎหมายการที่พระภิกษุสงฆ์มีเงินทองเป็นของส่วนตัวก็ถือว่าไม่เหมาะสมแม้ว่ากฏหมายบางมาตราอาจจะมีช่องที่เปิดโอกาสให้พระภิกษุสงฆ์อาจมีเงินทองเป็นของส่วนตัวได้แต่กฏหมายเหล่านั้นก็มิได้มีเจตนารมณ์ที่จะให้พระภิกษุสงฆ์สะสมทรัพย์สินเป็นของส่วนตัว เพราะถือว่าทรัพย์สินที่พระภิกษุสงฆ์ได้มานั้นล้วนเป็นทรัพย์สินของศาสนาทั้งสิ้นจึงไม่ควรที่จะยึดถือมาเป็นสมบัติส่วนตัว หากจะมีช่องทางให้พระภิกษุสงฆ์นั้นมีทรัพย์สินได้ก็เพื่อที่จะได้ทำกุศลช่วยมวลมนุษย์ด้วยการให้ทาน ดังนั้นในมุมมองของกฎหมายทางโลกก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการที่พระภิกษุสงฆ์จะมีทรัพย์สินส่วนตัว การมีทรัพย์สินส่วนตัวของพระภิกษุสงฆ์จึงขัดกับพระธรรมวินัยและกฎหมายทางโลก

ผู้วิจัยยังได้สัมภาษณ์ ข้อมูลรายได้ส่วนตัวของพระภิกษุสงฆ์ เช่น เงินนิตยภัต เงินค่าสอน เงินจากกิจนิมนต์ทั่วไป เงินจากกิจกรรมพิเศษทางศาสนา ทำให้ทราบว่าเมื่อพระภิกษุสงฆ์มีเงินทองแล้วก็สามารถนำไปเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินต่างๆได้อย่างมากมาย ซึ่งอาจจะถูกต้องหรือไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัยก็ได้ ส่วนเรื่องรายจ่ายส่วนตัวของพระภิกษุสงฆ์ เช่น รายจ่ายส่วนตัว รายจ่ายการกุศล รายจ่ายด้านการศึกษา หากการใช้เงินทองในเรื่องเหล่านี้ไม่มีไวยาวัจกรจัดการให้แล้วก็ย่อมเป็นอาบัติ ส่วนเรื่องการจัดการกับทรัพย์สินส่วนตัวนั้นเนื่องจากไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจน วิธีการปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์จึงมีความแตกต่างกันไปเช่น เปิดบัญชีรวมเงินส่วนตัวเข้ากับบัญชีวัด เปิดบัญชีเฉพาะส่วนตัว และไม่เปิดบัญชีแต่เก็บไว้ในตู้บริจาคหรือกุฏิเจ้าอาวาส เป็นต้น

ผู้วิจัยยังได้เสนอวิธีแก้ไขปัญหาเรื่องทรัพย์สินส่วนตัวกับพระสงฆ์ไว้ด้วยโดยต้องอาศัยวิธีส่งเสริมคุณภาพพระภิกษุสงฆ์ตามพระธรรมวินัย เช่น การปลูกฝังอุดมการณ์การบวช การศึกษาพระธรรมวินัยและการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ผสมผสานกับการแก้ไขเชิงระบบโดยอาศัยรัฐ เช่น การสร้างระบบกลั่นกรองพระภิกษุสงฆ์ให้มีคุณภาพมากขึ้นโดยมีบทลงโทษที่เข้มงวดหากมีการปลอมบวชเพื่อป้องกันการปลอมบวชต่อไป และควรทำฐานข้อมูลพระภิกษุสงฆ์เพื่อจะได้ทราบประวัติเพื่อป้องกันผู้เคยมีพฤติกรรมเสื่อมเสียบวชซ้ำและนำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อคณะสงฆ์ ทั้งยังเป็นการป้องกันการปลอมบวชได้อีกด้วย

ส่วนการจัดการทรัพย์สินและการอุปถัมภ์ปัจจัย    4    โดยรัฐนั้น    สามารถทำได้ โดยตั้งกองทุนของวัด    เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ใช้เป็นกองกลาง    โดยบริหารจัดการภายในวัดโดยให้รัฐเป็นผู้สนับสนุนอุปถัมภ์งบประมาณทั้งหมด    โดยอาศัยข้อกฎหมายในการดูแลจัดการทรัพย์สินแทนวัด    และทรัพย์สินส่วนตัว    หรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของคณะสงฆ์ให้มีการตรวจสอบระบบบัญชีได้อย่างโปร่งใสในทุกระดับ    โดยมีการแบ่งแยกบัญชีส่วนตัวกับของวัดให้ชัดเจน

นอกจากนี้    การจัดตั้งองค์กรของภาคสังคมและสภาชาวพุทธแห่งชาติที่ประกอบด้วย    รัฐ คณะสงฆ์ และประชาชน    เพื่อพัฒนาการพระศาสนาและอุปถัมภ์คณะสงฆ์ก็ดี    การจัดตั้งธนาคารพระพุทธศาสนา    เพื่อทำหน้าที่ดุจไวยาวัจกรในการจัดการด้านการเงินให้แก่คณะสงฆ์ก็ดี    และการกลับเข้าไปหาพระธรรมวินัยดั้งเดิม    เช่น    อาศัยระบบไวยาวัจกรที่ซื่อสัตย์ทำหน้าที่ดูแลการเงินประจำวัดก็อาจเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาได้    ที่สำคัญต้องได้รับการสนับสนุนและตรวจสอบจากภายในวัดและชุมชนรอบวัดเพื่อความโปร่งใสและมีการตรวจสอบได้จากส่วนกลาง    ซึ่งอาจเป็นมหาเถรสมาคม(มส.)หรือสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติก็เป็นได้

ขณะที่ปัญหาการจัดการทรัพย์สินส่วนรวมหรือของคณะสงฆ์นั้น    ต้องมีการสนับสนุนจากภาครัฐ    โดยให้มีงบประมาณเพียงพอแก่การใช้สอยผ่านมหาเถรสมาคม    (มส.)หรือสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.    )ซึ่งอาจจะใช้งบประมาณจากเงินที่ได้โดยการบริจาคหรือจากธนาคารพุทธศาสนาก็เป็นได้    โดยให้ธนาคารพุทธศาสนาทำหน้าที่ดุจไวยาวัจกรในการดูแลทรัพย์สินของพระสงฆ์ไม่ให้ผิดพระธรรมวินัยและต้องมีระบบตรวจสอบที่โปร่งใสชัดเจน    ทั้งจากฝ่ายพระสงฆ์และจากรัฐ อย่างไรก็ดีปัญหาเรื่องทรัพย์สินเงินทองของพระสงฆ์นี้มีมานานตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว    ซึ่งสิ่งที่จะทำให้ปัญหาแก้ไขได้ดีที่สุด    คือ พระภิกษุสงฆ์ต้องยึดปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด

ด้านนายบุญเลิศ โสภา ผอ.กองพุทธศาสนศึกษา พศ. กล่าวว่า ปัจจุบันภาคสังคมจับตาดูพฤติกรรมของพระสงฆ์มากขึ้นโดยเฉพาะการเผยแพร่ผ่านสังคมออนไลน์เมื่อพระสงฆ์มีการทำพฤติกรรมอะไรที่ประชาชนเห็นว่าไม่เหมาะสมก็จะมีการถ่ายรูปและส่งต่อภาพนั้นทันทีทั้งที่บางเรื่องอาจจะไม่ใช่เรื่องจริงหรือเป็นเรื่องที่เข้าใจผิดส่งผลให้มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมพระสงฆ์ไปยังตู้ปณ.ศูนย์ดำรงธรรมและสำนักนายกรัฐมนตรีมีเป็นจำนวนมากขณะที่อนุกรรมาธิการงบประมาณก็มีการท้วงติงมายังพศ.ให้ติดตามเฝ้าระวังพฤติกรรมของพระสงฆ์เพราะจะส่งผลกระทบต่อการเสนอของบประมาณ ดังนั้นพระสงฆ์ควรระมัดระวังการแสดงพฤติกรรมต่างๆด้วย

เดลินิวส์

วันก่อนได้คุยกับพระท่านหนึ่งท่านบอกบวชมาสี่สิบปีไม่เคยมีเก็บเกินหมื่น ตอนนี้มีไม่กี่พันบาท  อีกท่านบอกบวชมายี่สิบปีมีไม่กี่ร้อยเงินเก็บไม่เคยมี

พระพุทธเจ้าทรงตรัส ๑๐๐ ทานไม่เท่าถือศีลภาวนา  ทอดกฐินทีคนล้นวัด ตอนจัดปฏิบัติธรรมคนมาไม่กี่สิบคน

http://bit.ly/ชมรมผู้ไม่ใฝ่ใจบริโภคนิยมวัตถุนิยม
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่