JJNY : 5in1 แพทย์ชนบทเป็นงง!│วอนทบทวนขึ้นค่าไฟ│"ไข่เค็ม"ขึ้นราคา│เกษตรกรโอดราคาปุ๋ย│พบ2เครื่องบินรัสเซียที่ละเมิดสวีเดน

แพทย์ชนบทเป็นงง! ควบคุมโรคหรือควบคุมเลข ยอดATK3จังหวัดเกินยอดทั้งประเทศ
https://www.khaosod.co.th/covid-19/news_6973366
 

 
แพทย์ชนบทเป็นงง! ควบคุมโรคหรือควบคุมเลข ยอด ATK 3 จังหวัดเกินยอดทั้งประเทศ ขัดกับความรู้สึกของคนหน้างาน ที่พบว่าโควิดยังระบาดหนักมาก
 
วันที่ 31 มี.ค.65 เพจชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยถึงยอดรายงานผู้ติดเชื้อโควิด 31 มี.ค.65 ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และศบค.นั้นต่ำมาก ขัดกับความรู้สึกของคนหน้างาน ที่พบว่าโควิดยังระบาดหนักมาก โดยเฉพาะผลตรวจ ATK ที่มีผลบวกทั้งประเทศ ทำไมน้อยผิดปกติ
 
ข้อมูล 07.31 น. ของวันที่ 31 มี.ค.65 ศบค.รายงานผู้ป่วยติดเชื้อเข้าข่ายจาก ATK +ve จำนวน 16,079 ราย (เป็นรายงานที่ประมวลข้อมูลของวันที่ 30 มี.ค.65 ) แต่ข้อมูลจากเพจของแต่ละจังหวัดที่มีการรายงานตัวเลขเช่นกัน พบว่า ATK +ve ที่ชลบุรี 8,323 ราย ที่สงขลา 4,839 ราย ที่เชียงราย 3,322 ราย แค่ 3 จังหวัดนี้ก็ 16,484 รายแล้ว!
 
เพจชมรมแพทย์ชนบท ระบุอีกว่า งงไหม การคุมการระบาดให้ต่ำนั้น เป็นสิ่งที่เราคนหน้างานพยายามกันเต็มที่ แต่ต้องไม่ใช่การคุมยอดตัวเลข เราต้องควบคุมโรคไม่ใช่ควบคุมเลข เราก็เชื่อมั่นว่า การรายงานตัวเลขจริงเท่านั้น จึงจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ความจริงเท่านั้นที่จะทำให้คนไทยตระหนักโดยไม่ตระหนก
 
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=5684784471548663&id=142436575783508



เอกชนวอนรัฐฯ ทบทวนขึ้นค่าไฟ หวั่นสินค้าราคาพุ่งไม่หยุด
https://ch3plus.com/news/economy/ruangden/285006

ผู้ประกอบการ วอนรัฐ ทบทวนขึ้นค่าไฟ และลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบ หวั่นทำสินค้าราคาพุ่งไม่หยุด

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 16 ในเดือนมีนาคม จากสมาชิกจำนวน 460 บริษัท

โดยผู้ประกอบการภาคเอกชน เห็นว่า ภาครัฐจำเป็นจะต้องเร่งดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตจากผลกระทบ COVID-19 และวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาพลังงานพุ่งสูง และส่งผลทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว เช่น การทบทวนการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า และลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่จำเป็นต่อภาคการผลิต แก้ไขปัญหาวัตถุดิบขาดแคลน และวัตถุดิบแพง เพราะหวั่นทำสินค้าราคาพุ่งไม่หยุด พร้อมเสนอนำระบบการจ่ายค่าแรงตามทักษะ (Pay by Skill) แทนค่าแรงขั้นต่ำ
 

 
คนไทยจ๊ากอีก "ไข่เค็ม" ขึ้นราคา หลังต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์พุ่ง
https://www.nationtv.tv/news/378868660

คนไทยจ๊ากอีก "ไข่เค็ม" ปรับขึ้นราคา หลังต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวพุ่งสูงขึ้น กรมการค้าภายในเผยราคาไข่เค็มทุกขนาด ปรับขึ้นราคาฟองละ 1 บาท

เป็นยุคข้าวยากหมากแพงของจริง หลังจากที่ช่วงนี้สินค้าชนิดต่าง ๆ พาเหรดกันปรับขึ้นราคากันหมด โดยเฉพาะสินค้าอุปโภค - บริโภค ไม่เว้นแม้แต่ "บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป" ที่เป็นดัชนีชี้วัดสภาพเศรษฐกิจได้อย่างดีอีกตัวหนึ่ง ที่ยังทนไม่ไหวต้องขอปรับขึ้นราคาตามด้วย โดยสาเหตุหลัก ๆ มาจากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูขึ้นจากสภาพปัญหาเศรษฐกิจ ราคาน้ำมันที่ผันผวน และภัยสงคราม  

และสุดดูเหมือนว่าคนไทยจะยังต้องผลกระทบจากราคาสินค้าอีกชนิดที่มีการปรับขึ้นแบบเงียบ ๆ โดยวันนี้ (31 มี.ค.) มีรายงานข่าวจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ แจ้งถึงสถิติราคาจำหน่ายปลีกสินค้าอาหารสด ในพื้นที่กรุงเทพมหานครประจำวันนี้ ซึ่งพบว่า "ไข่เป็ดเค็ม" ทุกขนาด มีการปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น เมื่อเทียบราคากับช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา
 
โดยจากการตรวจสอบพบว่า
 
ไข่เป็ดเค็มใหญ่ ราคาปรับเพิ่มขึ้น 1 บาท/ฟอง ปรับจาก 6-7 บาท/ฟอง เป็น 7-8 บาท/ฟอง 
ไข่เป็ดเค็ม กลางราคาปรับเพิ่มขึ้น 1 บาท/ฟอง ปรับจาก 5-6 บาท/ฟอง เป็น 6-7 บาท/ฟอง 
 
เนื่องจากไข่เป็ดในตลาดมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับราคาเพิ่มขึ้นเช่นกัน
 

 
เกษตรกรโอดครวญราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้นเท่าตัวสวนทางกับผลิต
https://www.nationtv.tv/news/378868654

เกษตรกรโอดครวญราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้นเท่าตัว สวนทางกับราคาถั่วเขียวที่ตกต่ำเกือบเท่าตัว วอนรัฐบาลแก้ปัญหาด่วน

วันที่ 31 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่าได้มีเกษตรกรในหลายพื้นที่ของจังหวัดเพชรบูรณ์ประสบปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะถั่วเขียวราคาตกต่ำ ไม่มีพ่อค้ามารับซื้อ อีกทั้งปุ๋ยราคาก็เพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้ต้นทุนที่จะปลูกพืชผักในปีต่อไปสูงขึ้นทำให้ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก จึงเดินทางไปตรวจสอบเกษตรกรที่ปลูกถั่วเขียวในพื้นที่ ต.บ้านไร่และต.บุ่งคล้า อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ 

นายลิขิต เกยเมือง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8 ต.บุ่งคล้า อ.หล่มสัก เปิดเผยว่า เกษตรกรในพื้นที่ของตนเองและพื้นที่ ต.บ้านไร่ ซึ่งเป็นเขตติดต่อกัน เกษตรกรส่วนมากจะปลูกถั่วเขียวหลังเก็บเกี่ยวข้าวเรียบร้อยแล้ว ในปีนี้ก็เช่นเดียวกันมีเกษตรกรปลูกถั่วเขียวรวมแล้วประมาณ 2,000 ไร่ ปีที่ผ่านมาถือว่าราคาค่อนข้างดีพอลืมตาอ้าปากได้ แต่ในปีนี้ปรากฏว่าก่อนการเก็บเกี่ยวได้มีฝนตกติดต่อกันหลายวัน  ทำให้ถั่วเขียวซึ่งครบอายุการเก็บเกี่ยวแล้วเกิดความชื้น ทำให้ไม่มีพ่อค้ามารับซื้อ โดยปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกันราคาจะอยู่ที่ราคา 350 – 400 บาท และมีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่  
 
แต่ปัจจุบันราคาตกไปอยู่ที่รับซื้อจะอยู่ที่ถังละ 250 – 280 บาท อีกทั้งเกษตรกรต้องขนใส่รถนำไปขายที่ลานตากเอง ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น หากราคายังเป็นอยู่แบบนี้เกษตรกรต้องขาดทุนอย่างแน่นอน ไม่มีเงินที่จะไปใช้หนี้ รวมทั้งการผลิตในปีต่อไปก็อาจจะมีปัญหาตามมาอีกด้วย เนื่องจากปัจจุบันนี้ราคาปุ๋ยก็เพิ่มสูงขึ้นเกือบเท่าตัว โดยเฉพาะปุ๋ยยูเรียสูตร 46-0-0 จากปีที่ผ่านมาราคากระสอยละ 700 – 800 บาท แต่ในปีนี้ราคาขึ้นไปรอแล้วกระสอบละ 1,500 บาท จึงอยากจะวิงวอนรัฐบาลได้ลงมาแก้ไขปัญหาราคาปุ๋ยแพงและราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำโดยเร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นแล้วในปีต่อไปเกษตรกรก็ไม่รู้จะมีเงินทุนทำการเกษตรหรือไม่ สำหรับราคาถั่วเขียวที่เกษตรกรจะอยู่ได้นั้นจะต้องอยู่ที่ราคาถัง 300- 350  บาทขึ้นไปหากต่ำกว่านี้ถือว่าขาดทุน 
 
นายคูณ เชื่องแสง อายุ 59 ปี เกษตรกรชาว ต.บ้านไร่ อ.หล่มสัก เปิดเผยว่า ตนปลูกถั่วเขียวประมาณ 50 ไร่ เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วและกำลังจะนำใส่รถไปขาย ซึ่งราคาในวันนี้คือ 250 - 280 บาท แต่ก็ไม่รู้จะได้ราคาไหน เพราะถั่วเขียวก็ถูกฝนตกใส่ เกิดความชื้นคาดว่าคงต้องถูกกดราคา และทำใจไว้แล้วว่าปีนี้จะต้องขาดทุนไม่มีเงินไปใช้หนี้ธนาคารอย่างแน่นอน และนอกจากนั้นปุ๋ยขณะนี้ราคาก็ขึ้นมาเกือบเท่าตัว ตอนนี้ยังคิดไม่ออกเลยว่าปีหน้าจะทำอย่างไร 
    
ด้านนายวิเชียร ชมชื่น อายุ 69 ปี เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่หมู่ที่ 6 ต.บ้านโตก อ.เมืองเพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า เมื่อก่อนตนปลูกข้าวโพดประมาณ 100 ไร่ แต่เนื่องจากสู้กับราคาปุ๋ย ราคายา ที่มีแต่สูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ราคาข้าวโพดก็แทบจะไม่ขึ้นเลย แถมบางปีราคาก็ตกต่ำ จึงได้หันมาปลูกผักขาย แต่ก็ยังปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อยู่ประมาณ 10 กว่าไร่ ในปีนี้ใส่ปุ๋ยไปแล้ว 1 ครั้งเป็นปุ๋ยยูเรียสูตร 46-0-0 แต่ราคาก็เพิ่มสูงขึ้นมากจากปีที่แล้วกระสอบละประมาณ 1,000 บาท มาปีนี้ กระสอบละ 1,500 บาท และตนเชื่อว่าอาจจะสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึง 2,000 บาทอย่างแน่นอน ตอนนี้ลงทุนไปแล้วหมื่นกว่าบาท แต่ก็ไม่รู้ว่าเมื่อถึงเวลาขายแล้วจะได้ราคาเท่าไหร่ คุ้มกับการลงทุนหรือไม่ อยากจะฝากรัฐบาลให้ควบคุมราคาทั้งราคาปุ๋ย ราคาข้าวโพดให้สัมพันธ์กันถ้าราคาปุ๋ยเพิ่มสูงขึ้น ราคาข้าวโพดก็จะต้องสูงขึ้นในสัดส่วนที่เท่า ๆ กัน ไม่เช่นนั้นเกษตรกรต้องขาดทุนและได้รับความเดือดร้อนอย่างแน่นอน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่