JJNY : ป่วยใหม่ 26,234 เสียชีวิต67│“อาหารกระป๋อง”พาเหรดปรับราคา32%│‘วิษณุ’ชี้ปลายทางบัตรสองใบ│อียูคว้าดีลนำเข้าก๊าซ LNG

ยอดยังสูง ไทยป่วยโควิดใหม่ 26,234 ราย เสียชีวิต 67 ราย กำลังรักษา 250,265 คน
https://www.matichon.co.th/covid19/news_3253580
 
 
ยอดยังสูง ไทยป่วยโควิดใหม่ 26,234 ราย เสียชีวิต 67 ราย กำลังรักษา 250,265 คน
 
เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประจำวันเสาร์ที่ 26 มีนาคม 2565 รวม 26,234 ราย จำแนกเป็น
ผู้ป่วยจากในประเทศ 26,198 ราย
ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 36 ราย
ผู้ป่วยสะสม 1,279,829 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565)
หายป่วยกลับบ้าน 20,013 ราย
หายป่วยสะสม 1,059,790 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565)
ผู้ป่วยกำลังรักษา 250,265 ราย
เสียชีวิต 67 ราย
จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ
รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 1,615 ราย
เฉลี่ยจังหวัดละ 21 ราย
อัตราครองเตียง ร้อยละ 27.5
 

 
สงครามรัสเซียซ้ำต้นทุนพุ่ง “อาหารกระป๋อง” พาเหรดปรับราคา 32%
https://www.prachachat.net/economy/news-895176

หมดยุคกัดฟัดตรึงราคา ผู้ผลิตอาหารกระป๋องพาเหรดปรับขึ้นสูงสุด 32% ครั้งแรกในรอบ 2 ปี หลังวิกฤตซ้อนวิกฤต สงครามรัสเซียถล่มซ้ำ ต้นทุนแพ็กเกจจิ้ง “กระป๋อง-กล่องกระดาษ-พลาสติก” พุ่ง ด้าน “ทียู” ยอมรับต้องปรับราคาปลากระป๋อง 5-7% พร้อมงัดแผนลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลุยใช้เครื่องจักรแทนคน
 
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ผู้ผลิตอาหารกระป๋องและแปรรูปเตรียมยื่นขอปรับขึ้นราคาครั้งแรกในรอบ 2 ปี เฉลี่ยตั้งแต่ 7-32%

โดยแบ่งเป็นผักและผลไม้กระป๋องปรับขึ้น 19-32% ส่วนปลากระป๋องซึ่งเป็นสินค้าที่อยู่ในบัญชีสินค้าควบคุม แต่ละบริษัทจะต้องยื่นขออนุญาตกับกรมการค้าภายใน คาดว่าจะขอปรับตั้งแต่ 7-16%
 
เป็นผลจากต้นทุนผู้ผลิตเพิ่มขึ้นทั้งต้นทุนวัตถุดิบ สินค้าเกษตร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนแพ็กเกจจิ้งปรับขึ้นทุกประเภท เช่น กระป๋อง ปรับขึ้น 63% กล่องปรับขึ้นประมาณ 10-15% ซึ่งในส่วนนี้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30-50% ของการผลิตผักและผลไม้กระป๋อง และคิดเป็นสัดส่วน 10-25% ของการผลิตปลากระป๋อง
 
“ต้นทุนแพ็กเกจจิ้งกระทบรุนแรงที่สุด โดยเป็นผลจากจีนมีมาตรการลดกำลังการผลิตเหล็ก ทำให้ซัพพลายเหล็กในตลาดโลกหายไป เพราะเป็นฐานผลิตขนาดใหญ่ จึงทำให้ราคาเหล็กแผ่นที่ใช้ทำกระป๋องปรับขึ้นต่อเนื่องกันถึง 6 ไตรมาส นับแต่ไตรมาส 4 ปี 2563 เป็นต้นมา จนถึงไตรมาส 1 ปีนี้ รวมแล้ว 63% คิดเป็นราคา 47,750 บาทต่อตัน”
 
นายวิศิษฐ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ไทยกำลังเผชิญภาวะวิกฤตซ้อนวิกฤต เพราะที่ผ่านมาแผ่นเหล็กที่ใช้ในการผลิตกระป๋องของไทยนำเข้าจากเอเชียเป็นหลัก ทั้งจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน ซึ่งเริ่มมีการปรับราคาสูงขึ้นหลังจากจีนลดกำลังการผลิต
 
แต่เมื่อมาเผชิญกับสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนอีก ทำให้มีการระงับการส่งออกเหล็กจากรัสเซีย ซึ่งเป็นแหล่งซัพพลายสำคัญที่ให้กับยุโรปและอเมริกาเหนือ ทำให้กลุ่มประเทศผู้ใช้แหล่งนี้ต้องหันมาแย่งซื้อเหล็กจากผู้ผลิตในเอเชีย ทำให้เกิดผลกระทบแบบลูกโซ่ เมื่อปริมาณซัพพลายถูกแย่งไปก็ดันให้ราคาเหล็กปรับสูงขึ้นอีก
 
ขณะเดียวกัน ต้นทุนด้านอื่น ๆ ก็ปรับขึ้นทั้งหมด ไม่ว่าจะต้นทุนวัตถุดิบเกษตรที่ปรับขึ้นตามราคาปุ๋ย และอาหารสัตว์ รวมถึงต้นทุนค่าขนส่งที่ปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน
 
ซึ่งหากภาครัฐยังดำเนินมาตรการใช้ภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (AD) อีกก็จะยิ่งกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ จนเลิกผลิตอาหารทำให้ขาดตลาด ซึ่งจะทำให้ขาดผู้รับซื้อผลผลิตทางการเกษตร
ขณะที่นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือทียู เปิดเผยว่า ภาพรวมผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบ package และโดยเฉพาะเรื่องค่าขนส่งปรับขึ้นอย่างมากตั้งแต่ปีที่แล้ว
 
ส่งผลให้บริษัทได้มีการปรับราคาสินค้าที่ผลิตภายใต้แบรนด์ของเรา ระหว่าง 5-7% ขณะที่สินค้าที่รับจ้างผลิต (OEM) ได้ปรับขึ้นตามต้นทุนที่ปรับขึ้นในการรับคำสั่งซื้อแต่ละช่วง
 
“ต้นทุนปรับขึ้นมาเฉลี่ย คิดว่าประมาณ 6-7% ขึ้นไปแล้วก็ขึ้นกับสินค้าและขึ้นอยู่กับประเภท อย่างตัวทูน่าก็มีเรื่องว่าราคาวัตถุดิบไม่ได้ปรับสูงขึ้น เพราะฉะนั้นก็จะไปอยู่ในส่วนของแพ็กเกจจิ้งเป็นหลักและเรื่องของค่าขนส่งและค่ายูทิลิตี้

ค่าไฟค่าน้ำ แต่ก็ถือว่ายังโชคดีที่ต้นทุนวัตถุดิบของเราเป็นต้นทุนสัดส่วนสูงกว่า 60% ไม่ได้ปรับขึ้นมา แต่ว่าก็สูงพอสมควร ซึ่งสัดส่วนของแพ็กเกจจิ้งและโลจิสติกส์คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% โดย 20% เป็นแพ็กเกจจิ้ง 10% เป็นค่าแรง และอีก 10% ก็เป็นค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายจิปาถะ”
 
ขณะนี้ ภาวะต้นทุนที่ปรับขึ้นส่งผลต่อผู้ผลิตอาหารทุกกลุ่ม ซึ่งในส่วนของทียูเองไม่เพียงปรับราคา แต่เรายังปรับลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วย โดยมีการลงทุนในอุตสาหกรรม package จริงและการใช้เครื่องจักรมาใช้แทนแรงงานคน ก่อนหน้านี้ก่อนที่จะมีโควิดเกิดขึ้น
 
เพราะต้องการลดหรือเพิ่มประสิทธิภาพของคนให้มากขึ้น จึงได้ลงทุนเรื่องออโตเมชั่นมาโดยตลอด เพราะปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานมันทำให้เราต้องเร่งนำเครื่องจักรมาทดแทนคนให้ได้มากที่สุดในแอเรียที่เราทำได้
 
“การลดต้นทุนการผลิตหรือการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเป็นนโยบายหลักของเราที่ทำมาต่อเนื่องโดยตลอด เราตั้งเป้าที่จะลดคอสต์ให้ได้ 3% ต่อปีเป็นกระบวนการที่ต้องทำต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเกิดหรือไม่เกิด
 
เพราะถึงอย่างไรค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้น อย่างเช่น เงินเดือนก็สูงขึ้น เพราะฉะนั้นยิ่งค่าใช้จ่ายสูงขึ้น การลงทุนเรื่องออโตเมชั่นก็ยิ่งมีความคุ้มค่าและยังได้ผลตอบแทนกลับมาเร็วมากยิ่งขึ้น ไทยยูเนี่ยนฯได้พิสูจน์ให้เห็นมาตลอดว่าเรายืดหยุ่นและเข้มแข็ง ที่จะฝ่าความท้าทายที่มีมาทุกปี”


 
‘วิษณุ’ ชี้เปรี้ยงปลายทางบัตรสองใบ แลนด์สไลด์การเมือง!
https://www.dailynews.co.th/news/891938/
 
'วิษณุ' ยืนยันแก้ ก.ม.ลูกเลือกตั้งไม่มีอะไรน่าห่วง เชื่อทันตามกรอบเวลา 180 วัน ยอมรับกติกาเลือกตั้งใหม่บัตร 2 ใบปลายทางมีโอกาสเกิดแลนด์สไลด์การเมือง
 
เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันไม่มีประเด็นน่าห่วงสำหรับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ประกอบด้วย พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.พรรคการเมือง เนื่องจากรัฐสภามีรอบเวลาดำเนินการ 180 วัน ซึ่งนานพอที่จะดำเนินการให้ทัน ยืนยันว่าไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง
 
เมื่อถามว่า กติกาเลือกตั้งใหม่สามารถทำให้เกิดคะแนนแลนด์สไลด์เหมือนที่บางพรรคการเมืองประกาศได้หรือไม่ นายวิษณุ ยอมรับอาจเกิดขึ้นได้ และถ้าใครคิดว่า มีอันตรายตรงจุดไหนก็ช่วยมีสติปัญญาแก้ไป การแก้กฎหมายลูก ต้องรู้ตั้งแต่ตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ มี ส.ส.เขต 400 คน  และบัญชีรายชื่อ 100 คน แล้วว่าจะเกิดเหตุอย่างนี้ขึ้น เพราะแต่ละคนเป็นเซียนการเมือง ทำไมจะอ่านเกมไม่ออก จึงตั้งใจให้ออกมาอย่างนี้

“เห็นได้ที่ก่อนหน้านี้ว่า พรรคนั้น พรรคนี้ เขาอยากได้แบบนี้ แต่อีกพรรคหนึ่งต้องการอีกอย่าง เพราะเขารู้ว่าสุดท้ายนำไปสู่อะไร และในที่สุด พรรคไหนชนะก็ออกมาเป็นแบบนี้ คือบัตรเลือกตั้งสองใบ เมื่อมาถึงจุดนี้ต้องเดินไปแบบนี้ ไม่มีทางหวนกลับไปใช้บัตรใบเดียว นอกจากแก้รัฐธรรมนูญใหม่” นายวิษณุ กล่าว.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่