JJNY : สงครามยูเครนฉุดศก.ร่วง 0.4-2.4%│ปิยบุตรชู10ประเด็นปลดล็อกท้องถิ่น│รัสเซีย-ยูเครน เจรจารอบ4│นิวซีแลนด์ลดภาษีน้ำมัน

สงครามยูเครนฉุดเศรษฐกิจไทยร่วง 0.4-2.4% เงินเฟ้อพุ่งจากน้ำมันแพง
https://www.pptvhd36.com/news/เศรษฐกิจ/168105
 
 
3 ฉากทัศน์ (scenario) ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ฉุดเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ร่วงจากกรณีฐาน 0.4-2.4%
 
วิกฤตราคาพลังงานผลพวงจากสงครามรัสเซียกับยูเครนกดดันความเชื่อมั่นและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เครื่องชี้เศรษฐกิจเดือนกุมภาพันธ์อ่อนแอลง
 
สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือนที่ 43.3 จาก 44.8 เดือนมกราคมเช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือนที่ 86.7 จาก 88.0 ในเดือนก่อน
 
ปัจจัยลบจากความกังวลจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโอมิครอนที่เพิ่มขึ้นสูงอาจกระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศชะลอลง ราคาพลังงานที่สูงขึ้นมากกระทบต่อต้นทุนการผลิตค่าขนส่ง และเพิ่มภาระค่าครองชีพจากราคาสินค้าที่ทยอยปรับขึ้น
 
วิจัยกรุงศรีประเมินความเป็นไปได้ของผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนจำแนกเป็น 3 กรณี ได้แก่
 
1. การสู้รบยุติภายในเดือนมีนาคม ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกแบนการค้าและธุรกรรมทางการเงินของรัสเซียบางส่วนไปจนถึงสิ้นปีนี้
2. การสู้รบยืดเยื้อไปจนถึงไตรมาส 2/2565 ทำให้ชาติตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงมากขึ้น มีการแบนสินค้าที่ไม่ใช่พลังงานจากรัสเซียทั้งหมด
3. การสู้รบยืดเยื้อและขยายขอบเขตไปยังประเทศอื่นจนถึงกลางปี 2565 ชาติตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรรุนแรงมากขึ้น ทำให้รัสเซียตอบโต้ด้วยการยุติการส่งออกสินค้าพลังงานไปยังยุโรป จนนำไปสู่วิกฤตพลังงานขึ้นในยุโรป
 
ช่องทางการส่งผ่านผลกระทบหลักมีทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่ การค้าและการขนส่ง ความมั่นคงด้านพลังงาน เสถียรภาพด้านราคา และผลจากรายได้และตลาดการเงิน
  
วิจัยกรุงศรีใช้แบบจำลอง Dynamic Stochastic General Equilibrium (DSGE) คำนวณหาผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย โดยผลต่อไทย พบว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ในกรณีฐาน 0.4% 1.1% และ 2.4% ตามลำดับ
  
ส่วนอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวกว่าที่คาดไว้ 1.4% 2.3% และ 3.5% ตามลำดับ ขณะที่ปริมาณการส่งออกลดลงจากกรณีฐาน 1.1% 3.0% และ 4.7% ตามลำดับ
    
ในส่วนของผลต่อภาคอุตสาหกรรม พบว่าอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้าง ภาคขนส่ง โรงกลั่นน้ำมัน การขนส่งทางเรือ และอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล่านี้มีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าโลหะและพลังงาน ส่วนอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มผลิตสินค้าเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบ ธุรกิจน้ำตาล เสื้อผ้า อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องหนัง โดยอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้ประโยชน์จากราคาที่สูงขึ้นและการเบี่ยงเบนทางการค้า (Trade Diversion)
  
ล่าสุดแรงกดดันจากราคาพลังงานยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากทางการเตรียมปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มในภาคครัวเรือนเป็น 333 บาทต่อถัง 15 กก. (เริ่ม 1 เมษายน) และการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (FT) ในงวดเดือนพฤษภาคม ส่วนแนวทางในการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตราคาพลังงาน ทางการเผยเตรียมให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมในกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ  (13.5 ล้านคน) ได้แก่ (i) เพิ่มวงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม จาก 45บาท/คน/3 เดือน เป็น 100 บาท/คน/ 3 เดือน (ii) ช่วยเหลือค่าน้ำมันเบนซินสำหรับผู้ใช้รถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนในกลุ่มผู้ถือบัตรฯ
 

  

ปิยบุตร ชู 10 ประเด็นสำคัญ ปลดล็อกท้องถิ่น ยันถ้ายังรวมศูนย์ ไทยจะไปต่อยาก
https://www.matichon.co.th/politics/news_3233841

ปิยบุตร ชู 10 ประเด็นสำคัญ ปลดล็อกท้องถิ่น ยันถ้ายังรวมศูนย์ ไทยจะไปต่อยาก
 
เมื่อวันที่ 15 มีนาคม นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า เขียนบทความ เรื่อง 10 ประเด็นสำคัญ ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปลดล็อกท้องถิ่น โดย ระบุว่า
 
ตลอด 2 ปี ที่ผ่านมา คณะก้าวหน้าได้ไปให้การสนับสนุนผู้สมัครท้องถิ่นในทุกระดับ รวมถึงเร็วๆ นี้จะมีการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครเมืองพัทยาด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่เรื่องการเลือกตั้งเท่านั้น เราสนใจเรื่องแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการกระจายอำนาจด้วย จึงเป็นที่มาของการเตรียมรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น โดยใช้สิทธิตามมาตรา 256 (1) บุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 5 หมื่นคนเข้าชื่อเสนอ โดยเราจะจัดการยกเลิกหมวด 14 เดิม และเขียนหมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นมาใหม่ นำสิ่งดีๆ ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2560 มาใช้ รวมถึงเพิ่มบทบัญญัติใหม่ๆ เข้าไปด้วย มี 10 ประเด็นสำคัญ คือ
 
1. บัญญัติรับรองหลักความเป็นอิสระท้องถิ่น และหลักการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของท้องถิ่น
 
2. บัญญัติเรื่องอำนาจหน้าที่ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ทั่วไปในการจัดทำบริการสาธารณะระดับท้องถิ่น มีเฉพาะบางเรื่องเท่านั้นที่ท้องถิ่นทำไม่ได้ เช่น เรื่องความมั่นคง เป็นต้น นอกนั้นแล้วทำได้ทั้งหมดหากเป็นการบริการสาธารณะระดับท้องถิ่น เว้นแต่บางกรณีที่ท้องถิ่นมีศักยภาพไม่เพียงพอ สามารถร้องขอให้ส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาคเข้ามาช่วยได้
 
3. เรื่องความซ้ำซ้อน ทุกวันนี้มีกฎหมายจำนวนมากที่ให้ราชการส่วนกลางและภูมิภาคมีอำนาจในการจัดทำบริการสาธารณะแบบเดียวกับท้องถิ่น ทำให้ซ้ำซ้อนและมีปัญว่าใครมีอำนาจกันแน่
 
4. เรื่องแผนขั้นตอนการกระจายอำนาจที่บอกให้ถ่ายโอนอำนาจแต่ไม่มีสภาพบังคับจะไปจัดการเรื่องนี้ว่า ถ้าครบกำหนดแล้วยังไม่มีการถ่ายโอนให้ถือว่าเป็นอำนาจของท้องถิ่นเรียบร้อยตามรัฐธรรมนูญนี้
 
5. รับรองยืนยันว่าผู้บริหารท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้งทุกกรณี
  
6. ออกกฎหมายเรื่องรายรับท้องถิ่น เสนอให้มีการเพิ่มรายได้ที่ท้องถิ่นหามาได้กับรายได้ที่ส่วนกลางได้รับเป็น ร้อยละ 50 ต่อ 50 ภายในสามปี
 
7. เพิ่มความยืดหยุ่น คล่องตัว ให้กับท้องถิ่นในการหารายได้ให้กับตัวเอง เพิ่มความยืดหยุ่น คล่อนตัว ในการคิดค้นวิธีการรูปแบบต่างๆ ในการจัดทำบริการสาธารณะ เช่น เรื่องรายได้ อย่างการกู้เงิน ออกพันธบัตร เรื่องการจัดทำบริการสาธารณะอย่าง การรวมตัวกับท้องถิ่นอื่นๆ การตั้งสหการ หรือการมอบอำนาจให้เอกชนทำแทนได้ในบางประเด็น
 
8. การกำกับดูแล ราชการส่วนกลางและภูมิภาคที่อ้างกำกับดูแล แต่แท้จริงแล้วเป็นการบังคับ การต้องขออนุญาตก่อน ต้องแก้ไขเพิ่มความเป็นอิสระให้ท้องถิ่นเรื่องนี้
 
9. สนับสนุนการมีส่วนร่วมของพลเมือง เช่น การตั้งสภาพลเมืองท้องถิ่น การเข้าชื่อถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นและสภาท้องถิ่น รวมถึงการมีส่วนร่วมในการจัดทำงบประมาณด้วย
 
10. วางโรดแม็ปประเทศไทยว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค โดยให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปทำแผนการว่าจะต้องทำอะไรบ้าง และภายใน 5 ปี ครม.ต้องจัดทำประชามติเพื่อถามประชาชนว่า ต้องการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคหรือไม่”
 
เนื่องจาก พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2564 กำหนดรายละเอียดไว้ว่า ร่างเสร็จแล้วยังไม่สามารถรณรงค์เข้าชื่อได้ทันที ต้องนำร่างนี้ พร้อมรายชื่อผู้เชิญชวนจำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน ไปยื่นต่อประธานรัฐสภาเสียก่อน นี่เป็นวันแรกที่เราเปิดร่างนี้ขึ้นมา แล้วเตรียมนำรายชื่อผู้เชิญชวนไปยื่นต่อประธานรัฐสภา จากนั้นทางประธานรัฐสภาจะแจ้งกลับมา และเราจะเริ่มต้นรณรงค์เข้าชื่อกับพี่น้องประชาชน
  
โดยในวันที่ 1 เมษายน 2565 นี้ ประชาชนจะเริ่มเข้าชื่อได้เป็นวันแรก ทั้งแบบออนไลน์และแบบเดินทางไปพบปะประชาชนทั่วทั้งประเทศ ภายใต้แคมเปญชื่อ “ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น” ซึ่งถ้าภารกิจนี้สำเร็จ จะทำให้การกระจายอำนาจเกิดขึ้นได้จริงเสียที
 
เรารอมานานกว่า 3 ทศวรรษแล้ว ถ้าประเทศไทยไม่จัดการเรื่องปัญหาการกระจายอำนาจ ไม่ให้อิสระกับท้องถิ่น การบริหารรวมศูนย์แบบนี้ทำให้ประเทศไทยเดินไปอย่างยากลำบาก มีอุปสรรคนานับประการ และไม่สามารถสนองตอบข้อเรียกร้องประชาชนในพื้นที่ได้ การณรงค์ครั้งนี้จะเป็นการหาฉันทานุมัติจากประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่เป็นเรื่องประโยชน์ของการบริหารราชการแผ่นดิน ต่อประชาชน และต่อประเทศไทย

https://www.facebook.com/PiyabutrOfficial/posts/578684060284323
 


รัสเซีย-ยูเครน เจรจารอบ 4 ยังไม่ได้ข้อยุติ ต้องพักชั่วคราวเพื่อรอหารือใหม่อีกครั้ง
https://www.sanook.com/news/8532250/

รัสเซีย-ยูเครน เจรจารอบที่ 4 ยังไม่ได้ข้อยุติ ขอพักการหารือ เริ่มใหม่อีกครั้งในวันนี้
 
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า การเจรจาสันติภาพ รอบที่ 4 ระหว่าง ยูเครนและรัสเซีย ซึ่งเป็นการประชุมผ่านระบบวิดีโอลิงค์ต้องหยุดลง โดยที่ยังไม่มีข้อสรุปแต่อย่างใด
 
ทั้งนี้ นายมิไคโล โปโดลยัค ที่ปรึกษาประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน เปิดเผยว่า ทั้งสองฝ่ายจะพักการเจรจาชั่วคราว ก่อนที่จะเริ่มการเจรจาครั้งใหม่ในวันอังคาร (15 มี.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น

“เราได้พักการเจรจาชั่วคราวในแง่เทคนิค จนกว่าจะถึงพรุ่งนี้ โดยเราจะทำงานต่อไปในกลุ่มย่อย” นายโปโดลยัค ทวีตข้อความ
 
นอกจากนี้ ที่ปรึกษาประธานาธิบดียูเครน ยังทวีตก่อนหน้านี้ว่า “การเจรจาระหว่างยูเครนและรัสเซียยังดำเนินต่อไป แม้ว่าจะ “ยาก” เพราะทั้งสองฝ่ายต่างแสดงจุดยืน อันเนื่องจากระบอบการเมืองที่แตกต่างกัน การเจรจาครั้งนี้เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องให้รัสเซียทำการหยุดยิง และถอนกำลังทหารทั้งหมดออกจากยูเครน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่