ไฉน!สหรัฐฯและยุโรป มิกล้าคว่ำบาตรรัสเซีย

ในขณะที่รัฐปกครองตนเอง”ไครเมีย”ของยูเครน กำลังลงประชามติว่า จะอยู่กับประเทศรัสเซียหรือยูเครน ตามเกมที่รัสเซียวางเอาไว้ แต่สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปที่ออกมาคัดค้านรัสเซียอย่างหนัก ก็ยังไม่มีทีท่าว่า จะมีมาตรการอันใดเข้าจัดการกับรัสเซีย นอกจากการสั่งห้ามบรรดาอดีตผู้นำในรัฐบาลของยูเครนเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น

          การประชุมเจรจากันกว่า 6 ชั่วโมงระหว่างรัฐมนตรีกว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ที่ลอนดอน เมื่อวันศุกร์ ก็ล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า

          รัสเซียไม่สนใจข้อเสนอของสหรัฐอเมิกา และยืนยันว่า การใช้วิธีลงประชามติใน”ไครเมีย”นั้นถูกต้องแล้ว ให้ประชาชนตัดสินใจและรัสเซียจะเคารพในมติของประชาชนในไครเมีย
          คำตอบจากนายจอห์น แคร์รี่ ในวันนั้น ก็คือ สหรัฐอเมริกากับสหภาพยุโรป จะมีปฎิบัติการที่สำคัญกดดันให้รัสเซียหยุดการละเมิดอธิปไตยของยูเครน
          เวลาผ่านมา 2 วัน ไม่มีมาตรการใดๆ จากสหรัฐอเมริกาและยุโรป และดั่งที่กล่าวก็คือ ประชาชนในไครเมียลงประชามติกันแล้ว และเชื่อว่า ผลก็คงจะเป็นที่ทราบกันก่อนหน้าแล้วว่า อยู่กับประเทศรัสเซีย

          ไฉน สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป จึงมิกล้าส่งกองกำลังทหารเข้ายึดครองไครเมียกลับคืนมา ทั้งๆที่รัสเซียละเมิดอธิปไตยของชาติอื่นอยู่เห็นๆ
          แม้กระทั่งการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ดั่งที่เคยใช้กับประเทศอิหร่าน
          คำตอบ คือ ต่อไปนี้ครับ

          รัสเซียเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันดิบที่ใหญ่ที่สุดในโลก มูลค่าการส่งออกทั้งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติซึ่งถูกใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอุตสาหกรรมทุกประเภทไปยังยุโรปและสหรัฐอเมริกาในแต่ละปีสูงถึงกว่า 160 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ
          การตัดสินใจคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย ย่อมจะส่งผลให้รายได้ของรัสเซียและกระแสเงินสดจากต่างประเทศเข้าสู่รัสเซียหยุดชะงักลง แต่ในขณะเดียวกัน สหภาพยุโรปรวมทั้งสหรัฐอเมริกา ก็จะต้องแลกกับการขาดแคลนน้ำมันและก๊าซธรรมชาติใช้เพื่อการบริโภคและอุตสาหกรรมการผลิต ราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติรวมทั้งเชื้อเพลิงต่างๆในตลาดโลก จะพุ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

          นางแองเกล่า เมอร์เคิล นายกรัฐมนตรีของเยอรมัน ผู้เป็นเจ้าของเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลก กล่าวเมื่อวานนี้ว่า ประเทศของเธอพร้อมที่จะยอมรับกับภาวะที่เศรษฐกิจซบเซา รวมทั้งความเสียหายทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นทุกประการ หากว่า บรรดาพันธมิตรตัดสินใจคว่ำบาตรรัสเซีย
          คำถามก็คือ ประชาชนของเธอพร้อมที่จะอดอยากและยากจนลงด้วยหรือไม่ !

          นักวิเคราะห์จากโกลด์แมน แซคส์ กรุ๊ป อิงค์. จากแบงก์ ออฟ อเมริกา และมอร์แกน สแตนเลย์ ต่างกล่าวในทำนองเดียวกันว่า ยากที่ยุโรปจะเปิดปฎิบัติการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจร่วมกับสหรัฐอเมริกา สาเหตุก็เพราะ ทุกวันนี้ ทั่วทั้งสหภาพยุโรปต่างต้องพึ่งพาน้ำมันดิบ ก๊าซ รวมทั้งเชื้อเพลิงทุกชนิด คิดเป็น 32% ของปริมาณความต้องการใช้ทั้งหมด (ข้อมูลจากสำนักงานพลังงานสากลที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ ปารีส)

          สำนักงานพลังงานสหรัฐฯ(U.S. Energy Department)ในกรุงวอชิงตัน ก็ให้ข้อมูลเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า เมื่อปีที่แล้ว ทั้งสหภาพยุโรป และรวมทั้ง นอร์เวย์ ตุรกี สวิตเซอร์แลนด์ รวมทั้งกลุ่มประเทศบอลข่าน ใช้ก๊าซธรรมชาติที่กลั่นมาจากรัสเซียผ่านทางท่อที่ส่งผ่านประเทศยูเครนเข้ามาคิดเป็น 30% ของปริมาณความต้องการใช้ทั้งหมด  หรือประมาณถึง 1 ใน 3 ที่ใช้อยู่ทุกวันนี้

          ประเทศใหญ่ๆที่ทรงอำนาจในยุโรป อาทิ เยอรมัน ผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ที่สุดของยุโรปและเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่และแข็งแกร่งที่สุดในยุโรป ก็ยังต้องพึ่งพาก๊าซและเชื้อเพลิงที่ส่งตามท่อผ่านประเทศยูเครนมาเป็นจำนวนถึง 40% ของปริมาณการใช้น้ำมันดิบทั้งหมดในประเทศ
          รวมทั้งประเทศยักษ์ใหญ่เช่นดั่ง อิตาลีก็ต้องใช้อยู่ถึง 20% และฝรั่งเศสก็ต้องใช้อยู่ถึง 18% ของปริมาณการใช้ทั้งหมดในประเทศ
          รวมแล้วเมื่อปี 2556  ยุโรปต้องใช้เชื้อเพลิงจากรัสเซียคิดเป็นมูลค่า 1.56 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐฯหรือ 5.2 ล้านล้านบาท
          สูงกว่าเชื้อเพลิงที่สหรัฐอเมริกาซื้อจากรัสเซีย 38 เท่า(ข้อมูลจากองค์การค้าระหว่างประเทศ- International Trade Centre)
          “เป็นไปไม่ได้เลยที่จะยกเลิกการนำเข้าก๊าซและน้ำมันจากรัสเซีย” มาร์ค  แลนเธอร์มานน์ นักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านยูเรเชียของบริษัท สแตรทฟอร์ ในเมืองออสติ มลรัฐเท็กซัส ของสหรัฐอเมริกากล่าว

          พร้อมกับระบุว่า ยุโรปเคยมีปัญหานี้มาครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อ 6 ปีก่อนหน้านี้ เมื่อครั้งที่รัสเซียเปิดสงครามบุกประเทศจอร์เจีย ก็มีความคิดนี้กันขึ้น แต่เมื่อคิดคำนึงถึงการต้องพึ่งพาทั้ง ก๊าซ น้ำมันดิบ เชื้อเพลิง รวมทั้งวัตถุดิบเพื่อการผลิตทุกชนิด ก็ต้องทำให้พวกเขาเลิกราความคิดเหล่านี้ไป
          “เราไม่คิดว่า จะมีการคว่ำบาตรทางด้านเศรษฐกิจด้วยการยกเลิกการนำเข้าน้ำมันดิบและก๊าซจากรัสเซีย” เขากล่าว
          แต่ระบุว่า มาตรการที่ออกมาของสหรัฐอเมริกาและยุโรป อาจจะจำกัดอยู่ในกรอบของการคว่ำบาตรทางด้านการเงิน ไม่ติดต่อกับธนาคารของรัสเซีย และห้ามผู้นำรัฐบาลรัสเซียเข้าประเทศ

          อย่างไรก็ตาม แม้การคว่ำบาตรทางด้านการเงิน นักวิเคราะห์หลายคน ก็ยังเชื่อว่า ยุโรปก็ไม่กล้ากระทำ เนื่องจากความจำเป็นต้องใช้น้ำมันดิบและก๊าซ จากรัสเซีย ก็ยังจำเป็นต้องใช้เงินติดต่อกับธนาคารของรัสเซียอยู่ดี
          ประการสำคัญอีกประการก็คือ รัสเซียยังเป็นตลาดที่ใหญ่ของบรรดาอุตสาหกรรมในสหภาพยุโรป ทั้งหมด
          เมื่อปี 2556 ที่ผ่านมา รัสเซียซื้อสินค้าจากประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป เข้าประเทศเป็นจำนวนถึง 169 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ (ประมาณ 5.5ล้านล้านบาทไทย
          ในขณะที่ ยุโรปนำเข้าสินค้าทั้งที่เป็นวัตถุดิบเพื่อการผลิตอาทิ สินแร่เหล็ก ทองแดง ฯลฯ ไปจนกระทั่งถึงน้ำมันเชื้อเพลิงดังที่กล่าว เป็นจำนวนถึง 292 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ(ประมาณ 9.5 ล้านล้านบาทไทย)
          ทั้งสองฝ่ายจึงเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ซึ่งกันและกัน ผลประโยชน์มีอยู่ในนั้นมหาศาล!



วลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซียกุมน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่ส่งออกไปทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกา คิดเป็นมูลค่า 1.6 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐฯและอาจจะรวมกับอาวุธที่ทรงอานุภาพมากที่สุดในโลกเข้าชนสหรัฐอเมริกาและยุโรป


เรื่องโดย
ทรงเกียรติ ชาติวัฒนานนท์
บรรณาธิการบริหาร
http://www.biztempnews.com/index.php/economics/item/6728-ไฉนสหรัฐฯและสหภาพยุโรป-มิกล้าคว่ำบาตรัสเซีย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่