JJNY : ติดเชื้อ24,592 ดับ68│ห่วงสงครามกระทบท่องเที่ยวไทย│รมว.พลังงานแนะตนเป็นที่พึ่งแห่งตน│สไนเปอร์มือฉมังร่วมทัพ ยูเครน

ไทยติดเชื้อโควิดใหม่ 24,592 ราย ป่วยสะสมตั้งแต่ต้นปี 9.37 แสนราย ดับเพิ่ม 68 ราย
https://www.matichon.co.th/covid19/news_3229017



ไทยติดเชื้อโควิดใหม่ 24,592 ราย ป่วยสะสมตั้งแต่ต้นปี 9.37 แสนราย เสียชีวิตเพิ่ม 68 ราย

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ศูนย์ข้อมูลโควิด 19 เผยแพร่ ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประจำวันเสาร์ที่ 12 มีนาคม 2565 รวม 24,592 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยจากในประเทศ 24,540 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 52 ราย ผู้ป่วยสะสม 937,806 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) หายป่วยกลับบ้าน 21,371 ราย หายป่วยสะสม 742,953 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 226,151 ราย เสียชีวิต 68 ราย
  
ทั้งนี้ มีผู้ติดเชื้อเข้าข่าย ATK 20,385 คน โดยมีผู้ได้รับวัคซีน 125,782,375 โดส รักษาหาย 21,371 คน กำลังรักษา 226,151 ราย มีผู้ป่วยหนัก ปอดอักเสบ 1,312 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อหายใจ 435 ราย
 


ผู้ว่าแบงก์ชาติ ห่วงภาวะสงครามกระทบท่องเที่ยวไทย ลามศก.ไทยฟื้นตัวสะดุด
https://www.matichon.co.th/economy/news_3228947

ผู้ว่าแบงก์ชาติห่วงภาวะสงครามกระทบท่องเที่ยวไทย ลามศก.ไทยฟื้นตัวสะดุด
 
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)​ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ ‘กาแฟดำ’ ทางช่อง PPTV HD 36 ว่า วิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังไม่สร้างความผันผวนกับตลาดการเงินในประเทศไทยมากนัก เพราะส่วนใหญ่ภาคเอกชนยังพึ่งระบบการเงินผ่านสถาบันการเงินเป็นสำคัญ แต่ที่น่าเป็นห่วงในระยะต่อไปคือการค้าโลก โดยรัสเซีย-ยูเครนเป็นแหล่งผลิตสินค้าสำคัญ ที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั้งโลก เช่น น้ำมัน พาลาเดียม ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น และผลระยะยาวมองออกอย่างลำบาก ซึ่งอาจจะมีการแบ่งข้างกันใหม่ ทั้งนี้ การคว่ำบาตรของชาติตะวันตกกับรัสเซีย ที่ส่งผลกระทบหนักที่สุดคือการอายัติทรัพย์สินของธนาคารกลางรัสเซีย โดยรัสเซียมีทุนสำรองระหว่างประเทศค่อนข้างสูง 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการจำกัดความสามารถในการดูแลค่าเงิน ทำให้เงินรูเบิลอ่อนค่าอย่างมาก
 
ตลาดแรงงานประเทศไทยพื้นตัวช้า จากการท่องเที่ยวที่ยังกลับมาไม่เต็มที่ ทำให้ไม่เห็นภาวะเงินเฟ้อแบบสหรัฐอเมริกา โดยมาตรการภาครัฐที่ออกมาเป็นการประคองสถานการณ์ เพราะขนาดของรายได้ที่หายไปค่อนข้างใหญ่ ต้องให้มีการจ้างงานและรายได้กลับมา ถ้าไม่กลับมาก็ยากที่จะเห็นเศรษฐกิจในภาวะปกติ โดยปัจจัยหลักคือการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว
  
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ปีนี้ตั้งเป้ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 6 ล้านคน แต่ตอนนี้ไม่มีความแน่นอน เพราะบรรยากาศตอนนี้ก็ไม่ได้เอื้อให้คนอยากมาท่องเที่ยว ถ้าภาคการท่องเที่ยวไม่ฟื้น ก็จะทำให้เศรษฐกิจไปต่อไม่ได้ ทั้งนี้แม้ว่าไทยมีตัวเลขมูลค่าการส่งออกที่มาก ส่งผลให้ตัวเลขจีดีพีปรับตัวสูงขึ้น แต่ผลต่อการจ้างงานสู้ภาคการท่องเที่ยวไม่ได้ รายได้คนไม่ฟื้นตาม ก็เท่ากับว่าจีดีพีไม่ฟื้นจริง
   
“มาตรการทางการคลังได้ช่วยพยุงเศรษฐกิจไว้ค่อนข้างมาก อีกทั้งทางฝั่ง ธปท. ก็มีมาตรการที่ไม่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสะดุด โดยให้ธนาคารพาณิชย์ยังทำงานได้อยู่ แต่ยังมีบางจุดที่การปล่อยสินเชื่อไปไม่ถึง เลยมีการออกมาตรการซอฟต์โลน ไปจนถึงมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู โดยมียอดปล่อยสินเชื่อรวมไปแล้วกว่า 3 แสนล้านบาท คิดเป็น 10% ของมูลค่าสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีในระบบ รวมไปถึงมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน เพื่อให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจไม่สะดุด” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
 

 
“รมว.พลังงาน” แนะ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน หลังน้ำมัน-ก๊าซ ต่างทยอยขึ้นราคา
https://ch3plus.com/news/economy/ch3onlinenews/282480

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (11 มี.ค) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เปิดเผยว่า เบื้องต้นรัฐจะปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ภาคครัวเรือน 15 บาท/ถังขนาด 15 กิโลกรัม (กก.) หรือขึ้นกก.ละ 1 บาท มาอยู่ที่ 333 บาท จากปัจจุบัน 318 บาท และยังคงช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.5 ล้านคน ที่ 45 บาท/ถัง 15 กก./3 เดือน และยังคงตรึงราคาขายปลีกดีเซลในประเทศไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตรต่อไป จนกว่าเงินจะหมด
 
“ถ้าถามว่าถ้าเงิน 40,000 ล้านบาทหมดแล้วจะทำอย่างไรต่อ ก็ต้องรอ ระหว่างนี้ต้องประหยัดและอยู่ในสภาพนี้ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน รัฐบาลจะพยายามตรึงภายใต้กรอบวงเงินที่มีอยู่ ถ้าทุกคนประหยัดก็ตรึงได้นาน ถ้าราคาลดลงปกติ ยิ่งตรึงได้นานขึ้นอีก” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
 
เมื่อถามว่ารัฐบาลมีความชัดเจนที่จะตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร และขยายเวลาอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้มอยู่ที่ 318 บาท/ถัง 15 กก. ที่จะสิ้นสุด 31 มี.ค.นี้ออกไปหรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ไม่ชัดเจน เพราะสถานการณ์แกว่งขนาดนี้ เราจะทำอย่างไรได้ แต่ระหว่างนี้เรามีวงเงิน 40,000 ล้านบาท ที่ใช้ดูแลสถานการณ์ชั่วคราวกันไป
 
ทั้งนี้ยังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ถ้าราคาน้ำมันดิบลงก็ไม่จำเป็น แต่ถ้าราคาสูงขึ้น 170 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ก็ต้องมีมาตรการอื่นดูแล เป็นธรรมชาติในเหตุการณ์ผันผวน จะเอาคำตอบเป๊ะ กลับบ้านไปนอนหลับสบาย ตนคิดว่าไม่ได้เป็นลักษณะบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความผันผวน สื่อมวลชนต้องทำความเข้าใจ
 
อย่างไรก็ตามคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) มอบหมายให้กระทรวงพลังงานหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ศึกษาแนวทางรับมือวิกฤตราคาพลังงาน หากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อรุนแรงเกินกว่าที่คาดไว้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มสูงขึ้นผันผวนรุนแรงต่อเนื่อง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่