อันตรายจากการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ

อันตรายจากการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ

     ยิ่งอายุมากขึ้น 👵👴 การนอนหลับก็ดูเหมือนจะกลายเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมากขึ้นทุกที ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เรานอนไม่หลับนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายสาเหตุ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ ความเครียด โรคประจำตัวและโรคทางจิตเวช ตลอดจนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราเอง เช่น ทำงานดึก ติดซีรี่ย์ การท่องโลกโซเชียล เป็นต้น 
     ซึ่งมีผลสำรวจทางระบาดวิทยาในประเทศญี่ปุ่นพบว่า มีผู้ใหญ่ที่มีภาวะนอนไม่หลับมากถึง 21.4% โดยในแต่ละคนมีปัญหาการนอนหลับอย่างน้อย 1 ปัญหา เช่น ความยากลำบากในการเริ่มต้นนอนหลับ (8.3%) ปัญหาการนอนหลับไม่สนิท 15% และตื่นเร็วกว่าปกติ 8% ซึ่งในจำนวนนั้นพบว่า มีผู้สูงอายุมากกว่าครึ่งที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากการนอนไม่หลับ และไม่ได้รับการแก้ไขจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน 
     แล้วอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุนอนไม่หลับ ผลกระทบที่เกิดจากการนอนไม่หลับของผู้สูงอายุมีอะไรบ้าง แล้วมีแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร ไปดูกันครับ 👇🏻  
สาเหตุการนอนไม่หลับของผู้สูงอายุ 
    📌 การเปลี่ยนแปลงของวงจรการนอน โดยปกติร่างกายของคนเราจะมีวงจรการนอน 2 ส่วน คือ ช่วงการนอนหลับธรรมดาที่ไม่มีการกลอกตา (Non-Rapid Eye Movement: NON-REM) โดยส่วนนี้จะเป็นส่วนของการนอนหลับลึก เพื่อให้อวัยวะต่างๆ ได้ฟื้นฟูและซ่อมแซมตัวเอง ซึ่งจะมีผลกับความรู้สึกสดชื่นในตอนกลางวัน และช่วงการนอนหลับที่กลอกตาอย่างรวดเร็ว (Rapid Eye Movement: REM) ซึ่งเป็นช่วงที่สมองจะทำการจัดเก็บข้อมูลที่เราเรียนรู้มาให้เป็นระเบียบ สร้างความจำระยะยาว และทำให้เกิดการฝัน โดยวงจรการนอนหลับทั้ง 2 ส่วนนี้จะเกิดสลับกันไป 5-6 ครั้งในทุกๆ คืน แต่เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายจะเริ่มสร้างเมลาโทนินและโกรทฮอร์โมนน้อยลง ส่งผลให้ผู้สูงอายุนอนหลับตามช่วงการนอนปกติได้ยากขึ้น โดยอาจต้องใช้เวลามากกว่า 30 นาที เพื่อนอนให้หลับ ระยะเวลาของการนอนหลับในช่วงกลางคืนลดลง และมักตื่นกลางดึกบ่อยๆ หรือตื่นเช้ากว่าปกติ 
    📌 ความผิดปกติในช่วงต่างๆ ของการนอน โดยไม่เกี่ยวข้องกับสาเหตุทางกายอื่นๆ (Primary Sleep Disorder) ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โรคขาอยู่ไม่สุข หรือมีความผิดปกติของการเคลื่อนไหวแขนขาเป็นระยะ รวมถึงความผิดปกติของการพฤติกรรมการนอนหลับในช่วง REM ซึ่งจะส่งผลรบกวนการนอน ทำให้ระยะเวลาในการนอนหลับลดน้อยลง และขาดคุณภาพ
    📌 โรคประจำตัว เช่น โรคภูมิแพ้ โรคข้ออักเสบ ปวดกกล้ามเนื้อและกระดูก โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอดบวม โรคเบาหวาน โรคกรดไหลย้อน ท้องผูก ท้องร่วง โรคทางเดินปัสสาวะ รวมถึงความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น 
    📌 โรคทางจิตเวช เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล ไบโพลาร์ จิตเภท และพฤติกรรมต่างๆ ที่ไม่พึงประสงค์ เช่น การงีบหลับช่วงกลางวัน การเข้านอนเร็วเกินไป การใช้เตียงทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น ดูทีวี อ่านหนังสือ เล่นสมาร์ทโฟน การขาดการออกกำลังกายในช่วงกลางวัน รวมไปถึงปัญหาชีวิตต่างๆ
    📌 สิ่งแวดล้อม เช่น มีเสียงรบกวนหรือมีแสงสว่างในห้องนอนมากเกินไป อุณหภูมิเย็นหรือร้อนเกินไป ความชื้น เตียงที่นอนไม่สบาย 
    📌 การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยากระตุ้นประสาท ยากล่อมประสาท ยาดลความดันโลหิตบางตัว ยาขยายหลอดลม ยาแก้แพ้ เป็นต้น 
ผลกระทบของการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ 
     การนอนหลับระยะเวลาสั้นๆ และการตื่นแต่เช้าเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวกับอายุ ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นมีการทำแบบสำรวจเรื่องการนอนหลับในผู้ใหญ่ที่มีอายุระหว่าง 45-99 ปี จำนวน 5,407 คน พบว่า อายุที่มากขึ้นมีความสัมพันธ์กับระยะเวลาการนอนที่สั้นลง และประสิทธิภาพในการนอนหลับที่ลดลง โดยผู้ชายจะมีความตื่นตัวในช่วงกลางคืนเพิ่มขึ้น ส่วนผู้หญิงมักมีปัญหาเรื่องการตื่นกลางดึกและการตื่นเช้าเกินไป 
     ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขหรือรักษาอย่างถูกต้อง อาจส่งผลให้ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า 😔 หรือเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงเกิดปัญหาด้านกายภาพ เพราะร่างกายทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เช่น แรงยึดจับของมือลดลง เดินช้าลง ทำให้เสี่ยงต่อการหกล้มและกระดูกหักมากขึ้น ซึ่งถือเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ โดยจากการสำรวจปัจจัยเสี่ยงของการหกล้มในสตรีที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป จำนวน 2,978 คน พบว่า หากนอนหลับในตอนกลางคืนน้อยกว่า 5 ชม. มีความเสี่ยงที่จะหกล้มเพิ่มขึ้นถึง 95%  

สุขอนามัยที่ดีของการนอนหลับในผู้สูงอายุ 
    ✅ ควรเข้านอนเมื่อรู้สึกง่วงเท่านั้น แต่หากนอนไม่หลับเป็นเวลา 20 นาที ให้ลุกไปทำอย่างอื่นที่ห้องอื่น แล้วค่อยกลับเข้ามานอนอีกครั้งเมื่อรู้สึกง่วง 
    ✅ ควรตื่นนอนเวลาเดิมทุกวัน ไม่ว่าจะเข้านอนเวลาใดก็ตาม 
    ✅ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการออกกำลังกายแบบแอโรบิก จะช่วยเพิ่มความสามารถในการนอนหลับ การออกกำลังกายในตอนเช้าและตอนเย็น จะช่วยให้นอนหลับได้สนิทและทำให้คุณภาพการนอนหลับดีขึ้น แต่ไม่ควรออกกำลังกายก่อนเข้านอน 
    ✅ สภาพแวดล้อมในห้องนอน ควรเป็นห้องนอนที่มืดและเงียบสงบ ส่วนอุณหภูมิสามารถปรับได้ตามความชอบของแต่ละบุคคล และสามารถถ่ายเทอากาศได้ดี 
    ✅ สามารถรับประทานอาหารว่างแบบเบาๆ ได้เมื่อรู้สึกหิว แต่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อหนักก่อนเข้านอน 
    ✅ จำกัดการดื่มน้ำก่อนเข้านอน เพื่อลดความถี่ในการปัสสาวะระหว่างการนอนหลับ ในกรณีที่มีปัญหาด้านสมองหรือหลอดเลือดหัวใจตีบตัน แนะนำให้ปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์ที่ทำการรักษา 
    ✅ จำกัดอาหารและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ และช็อกโกแลต โดยไม่ควรดื่มเกิน 3 แก้วต่อวัน และไม่ควรดื่มในช่วงเย็นหรือก่อนเข้านอน 
    ✅ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งอาจช่วยให้นอนหลับง่ายในช่วงแรก แต่จะมีผลรบกวนการนอนหลับ ทำให้นอนหลับไม่สนิท และตื่นแบบไม่สดชื่น 
    ✅ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะในตอนเย็น เนื่องจากนิโคตินจะทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นและรบกวนการนอนหลับ 
    ✅ ไม่ควรรับประทานยานอนหลับทุกประเภทที่ซื้อมารับประทานเอง หรือยาแก้แพ้ แก้เมาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วง เพราะอาจทำให้เกิดอาการสับสน มึนงงระหว่างวัน ความจำถดถอย เดินเซหรือล้มได้ 
    ✅ หลีกเลี่ยงการอ่านหนังสือ หรือดูภาพยนตร์ที่ทำให้รู้สึกตื่นเต้นก่อนเข้านอน รวมถึงการงีบหลับในช่วงกลางวัน
    ✅ หากมีปัญหานอนไม่หลับ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษาอย่างถูกต้อง 

เกณฑ์การวินิจฉัยภาวะนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ มีดังนี้  
🔵A. ผู้สูงอายุ หรือผู้ดูแล สังเกตพบอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
     1. ความยากลำบากในการเริ่มต้นการนอนหลับ 
     2. ไม่สามารถนอนหลับได้ตลอดคืน 
     3. ตื่นเช้ากว่าที่ต้องการ
     4. ไม่ยอมเข้านอนตามเวลาที่เหมาะสม
     5. นอนหลับยาก หากไม่ได้รับการช่วยเหลือจากผู้ดูแล
🔵B. ผู้สูงอายุ หรือผู้ดูแล สังเกตพบอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ที่เกี่ยวข้องกับความยากลำบากในการนอนหลับตอนกลางคืน 
     1. เมื่อยล้า อ่อนเพลีย
     2. สมาธิ ความจดจ่อต่อสิ่งใดลดลง ความจำบกพร่อง
     3. มีปัญหาในการอยู่ร่วมกับสังคม ครอบครัว หรือมีปัญหาในการประกอบอาชีพ
     4. อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
     5. ง่วงนอนในตอนกลางวัน 
     6. ปัญหาด้านพฤติกรรม เช่น สมาธิสั้น หุนหันพลันแล่น ก้าวร้าว 
     7. แรงจูงใจ พลังงาน ความคิดริเริ่มลดลง
     8. มีแนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุ หรือทำงานผิดพลาดบ่อยๆ
     9. กังวลหรือไม่พอใจกับการนอน 
🔵C. ปัญหาการนอนหลับไม่ได้เกิดจากการไม่มีเวลานอนหลับที่เพียงพอ สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย มืด เงียบสงบ และสะดวกสบายเพียงพอต่อการนอนหลับ
🔵D. อาการนอนไม่หลับ และอาการที่เกิดในเวลากลางวันที่เกี่ยวเนื่องมาจากการนอนไม่หลับเกิดขึ้นอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์
🔵E. อาการนอนไม่หลับ และอาการที่เกิดในเวลากลางวันที่เกี่ยวเนื่องมาจากการนอนไม่หลับ เกิดขึ้นติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน
🔵F. ปัญหาการนอนหลับไม่ได้เกิดจากโรคความผิดปกติในกระบวนการหลับที่กล่าวไว้ข้างต้น 
 
     ปัญหาการนอนไม่หลับของผู้สูงอายุเป็นปัญหาที่ลูกหลานไม่ควรละเลย เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมและ
รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้ ซึ่งการจะดูแลผู้สูงอายุให้มีสุขภาพการนอนหลับที่ดี จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ดูแลและครอบครัวในการสังเกตพฤติกรรม หากพบความผิดปกติ ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาโดยเร็วที่สุดนะครับ 😴😴😴
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่