บทความตามใจฉัน “Sega Dreamcast ความฝันและความหวัง ”

บทความตามใจฉัน “Sega Dreamcast ความฝันและความหวัง ” Part 1
 
หลังจากความล้มเหลวของ SEGA Saturn ฝ่ายบริหารของ SEGA ที่สำนักงานใหญ่ในญี่ปุ่นก็เริ่มแตกออกเป็น 2 ฝ่าย
ฝ่ายหนึ่ง ต้องการที่จะแข่งขันในธุรกิจเครื่องเกมคอนโซลต่อไป ซึ่ง Hayao Nakayama อดีต CEO ผู้ที่ชักชวนให้ Tom Kalinske เข้ามาร่วมงานด้วยจนนำไปสู่ความสำเร็จของ SEGA ในตลาดอเมริกานั้นอยู่ฝั่งนี้ (ในรูปคือผู้ชายคนขวาสุด)
 
อีกฝ่ายหนึ่งกลับคิดต่างว่า SEGA ควรที่จะเลิกทำเครื่องเกมคอนโซลซึ่งนอกจาก SEGA จะไม่เชี่ยวชาญแล้วยังไม่สร้างกำไรเท่าที่ควรอีกด้วย แล้วหันมาเน้นในสิ่งที่ SEGA ทำได้ดีอยู่แล้ว เช่น software game และเครื่องเล่นเกมอาเขตแทน โดยมี Isao Okawa อยู่ในฝั่งนี้ (ในรูปคือผู้ชายคนซ้ายสุด)
 
Isao Okawa คือผู้ก่อตั้ง CSK Holdings Corporation (CSK) บริษัทผู้ให้บริการด้าน IT แก่บริษัทอื่น ๆ และเนื่องจาก CSK เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ SEGA มาตั้งแต่ปี 1984 นี่ทำให้ อิซาโอะ จึงได้ตำแหน่งเป็นหนึ่งใน board บริหารของ SEGA 
ผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านจำชื่อของเค้าให้ดีสักหน่อยเพราะเราจะได้พูดถึงเค้าอีกหลายครั้ง
 

 
อันที่จริงความคิดของฝั่งบริหารที่เห็นว่าควรเลิกทำเครื่องเกมคอนโซลของ SEGA นั้นมีมานานพักใหญ่ ๆ แล้ว คาดว่าอาจจะเริ่มมีตั้งแต่ที่ SEGA ทำเครื่องเกมคอนโซลเครื่องแรกอย่าง Master System แล้วสู้ Nintendo ไม่ได้ แต่พอเครื่อง Mega drive หรือ Genesis ประสบความสำเร็จ เสียงของคนที่เห็นว่าควรทำต่อก็ดังกว่าฝั่งที่เห็นว่าควรเลิกไป
ต่อมาเมื่อ Sega Saturn ประสบความล้มเหลวอย่างหนักถึงขนาดทำให้งบการเงินติดลบจึงทำให้เสียงของฝั่งที่เห็นว่าควรเลิกเริ่มกลับมามีน้ำหนักขึ้นอีกครั้ง
 
อย่างไรก็ตาม SEGA ตกลงที่จะลุยต่อด้วยเครื่องรุ่นใหม่ที่ทางบริษัทแม่หวังว่าจะช่วยกู้สถานะการณ์และคว้าความฝันของการเป็นผู้นำในตลาดเครื่องเกมคอนโซลได้อีกครั้ง ชื่อว่า
Sega Dreamcast
 
จุดเริ่มต้นการพัฒนาเครื่อง Dreamcast นับย้อนไปได้ถึงปี 1995 กับข่าวหลุดที่ว่าทาง SEGA กำลังจะร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีชื่อดังเช่น Lockheed Martin, The 3DO Company, Matsushita (ต่อมารู้จักกันในชื่อเป็น Panasonic) ในการสร้าง Graphic processor รุ่นใหม่เพื่อใช้กับเครื่องเกมรุ่นถัดไปจาก Saturn 
 
ผู้เขียนเชื่อว่าอาจจะมีการคุยกันจริง แต่ในระดับผิวเผินหรือไม่ SEGA ก็ไปขายฝันหาพันธมิตรระดมทุน ต่อมาเมื่อ The 3DO Company ล้มก็คงวงแตกกันไป ส่วนเหตุผลที่หาพันธมิตรก็คงเพราะปัญหาของ Saturn นั้นเริ่มปรากกฎออกมาชัดเจนแล้ว
 

 
การพัฒนา Dreamcast อย่างเป็นจริงเป็นจังนั้นผู้เขียนเชื่อว่าเริ่มตั้งแต่ที่ Bernard "Bernie" Stolar (เบอร์นี่ สโตลาร์) อดีตผู้บริหาร SCEA (Sony Computer Entertainment America) เข้ามาร่วมงานกับ SEGA ตามคำชวนของนากายาม่า โดยอ้างอิงจากคำให้สัมภาษณ์ของเบอร์นี่ที่พูดถึงการเชิญชวนของนากายาม่าไว้ดังนี้
 
“เราคุยกันเรื่องการสร้าง Hardware ตัวใหม่ที่ผมจะมีส่วนร่วมด้วยอย่างมากกกกก ทั้งการกำหนดทิศทางของ Hardware, การว่าจ้างทีมงานใหม่และปรับโครงสร้างของ SEGA. สำหรับผม มันเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่”
 
เบอร์นี่ได้รับแต่งตั้งเป็นรองประธาน SoA (บางแห่งข้อมูลเล่าว่าเป็นประธานร่วม) ควบตำแหน่ง Chief operating officer หรือ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ(COO) โดยดูแลด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์(ทั้ง Hardware, Software)และดูแลความสัมพันธ์ระหว่าง SEGA กับบริษัทผู้ผลิตเกมรายอื่น ๆ เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 1996
 

 
ส่วนตัวแล้วเบอร์นี่ไม่ชอบ Saturn อย่างมากจากปัญหาและความยุ่งยากในเชิง Hardware รวมถึงความซับซ้อนในการพัฒนาเกมจึงไม่แปลกที่เค้าจะอยากล้างไพ่สร้างเครื่องใหม่มาแทน Saturn ประกอบกับการที่นากายาม่าตั้งใจดึงตัวเบอร์นี่มาเพื่อสร้างเครื่องเกมรุ่นใหม่อยู่แล้ว จึงคาดว่า Dreamcast น่าจะเริ่มต้นกระบวนการพัฒนาในปีเดียวกับที่เบอร์นี่เข้าทำงานเพื่อทดแทน Saturn ให้เร็วที่สุด การออกแบบนั้นน่าจะเสร็จสิ้นเมื่อปี 1997 จากการที่เบอร์นี่ได้พูดในงาน E3 เดือนมิถุนายนปี 1997  ว่า
 
“The Saturn is not our future.”
Saturn ไม่ใช่อนาคตของเรา
 
คือ ถ้าไม่มั่นใจว่ามีของมาทดแทนแล้วเบอร์นี่คงไม่พูดในทำนองตัดหางปล่อยวัดเครื่องของบริษัทตัวเองเป็นแน่เพราะมันจะไม่ก่อให้เกิดผลอะไรเลยนอกจากบอกผู้ซื้อว่าผมจะลอยแพเครื่องนี้แล้ว อย่าไม่ซื้อ
 
อย่างไรก็ตามแม้เบอร์นี่จะได้เข้ามากุมบังเหียนในการพัฒนาเครื่องเกมของ SEGA แต่ก็ไม่ใช่ว่า SEGA จะเชื่อใจเค้าเต็มที่
ดูได้จากตำแหน่งที่เค้าได้รับคือ Chief operating officer หรือ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ไม่ใช่ CEO (Chief executive officer) หรือ ประธานกรรมการบริหารซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดที่มีอำนาจเต็มในการบริหารงานเหมือนที่ Tom Kalinske เคยได้รับ
 
อำนาจเต็มขนาดไหน? ขนาดที่ทอมสามารถสั่งพัฒนาเครื่องเกมของ SoA เองอย่าง Sega Neptune ที่เป็นการผนวก 32X Add-on, CD Add-on และเครื่อง SEGA Genesis เข้าเป็นเครื่องเดียวกันได้และมันคงจะถูกผลิตออกมาจริง ๆ หาก SoJ (Sega of Japan) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ไม่ออกมาวีโต้ทอมซะก่อน 
 
ในรูปคือ Sega Neptune ตัวต้นแบบที่เคยมีการเผยแพร่ผ่านสื่อที่อเมริกา จะเห็นว่าตัวเครื่องมีแต่ช่องใส่ตลับยังไม่มีช่องใส่ CD ซึ่งตามแผนแล้วจะมีการผนวก CD เข้าไปด้วยแต่ต้นแบบรุ่นนั้นคาดว่ายังไม่ทันได้สร้างโครงการก็ยุบไปก่อน 
 

 
ในช่วงที่เบอร์นี่มาทำงานที่ SoA ตัวนากายาม่าเองได้มาร่วมทำงานกับเบอร์นี่อย่างใกล้ชิดที่ SoA อีกด้วย
แน่นอนมันอาจจะมองได้ว่าทาง SoJ ต้องการให้ นากายาม่าเป็นตัวกลางสื่อสารระหว่าง SoJ กับ SoA ให้ราบรื่น, รวดเร็ว, ชัดเจนและเป็นไปในทางเดียวกัน ไม่เกิดปัญหาขึ้น
 
แต่มันก็มองอีกมุมได้ว่าทาง SoJ ให้นากายาม่ามาคอยตรวจสอบควบคุมการทำงานของเบอร์นี่และแทรกแซงเมื่อจำเป็น ไม่ให้ออกนอกลู่นอกทางเหมือนที่เคยเกิดในยุคของ ทอม คาลินสกี้ อีก
 
ตัวอย่างการตรวจสอบก็เช่น ครั้งหนึ่งนากายาม่าเคยเข้าไปสอบถามกับเบอร์นี่ว่าทำไหมถึงจ้างพนักงานที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในธุรกิจเกมมาก่อน ครั้งนั้นเบอร์นี่ตอบไปว่าจ้างมาเพราะเป็นทีมที่จะให้ทำงานเกี่ยวกับการกู้ภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของแบรนด์ ประโยคสนทนาจริงมีดังนี้
 
นากายาม่า: เบอร์นี่คุณกำลังจ้างคนที่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเกมเลย
เบอร์นี่: แต่เขารู้วิธีสร้างแบรนด์
 
ซึ่งก็เข้าใจได้เพราะผลจาก Saturn ทำให้ภาพลักษณ์ของ SEGA ในอเมริกาตกต่ำถึงขีดสุด บางแหล่งข้อมูลกล่าวถึงเบอร์นี่ซึ่งเล่าเพิ่มเติมว่านากายาม่าไม่ค่อยพอใจกับคำตอบสักเท่าไหร่นักแต่ก็ยอมให้
 
ตัวอย่างการแทรกแซงที่เห็นได้ชัดเจนก็เช่น การสร้างเกม Sonic X-treme โดย SIT หรือทีมพัฒนาเกมของ SoA
เนื่องจากปัญหาในการพัฒนาเบอร์นี่ได้พยายามที่จะช่วยทีมพัฒนาอย่างเต็มที่ ยอมให้ให้ทีมเข้าถึงโค้ดโปรแกรมของ Night Engine ของทีม Sonic ทีมพัฒนาเกมฝั่งญี่ปุ่นที่ใช้พัฒนาเกมที่ชื่อ Night into Dream
 
ทว่าเมื่อ Yuji Naka หัวหน้าทีม Sonic รู้เข้าก็ไม่พอใจมากเพราะนอกจากจะให้ทีมอื่นสร้างเกม Sonic โดยไม่มีเค้า “ผู้ให้กำเนิด Sonic” มีส่วนร่วมแล้วยังให้เข้าถึงโค้ดโปรแกรม Night Engine ที่เค้าและทีมสร้างขึ้นมาด้วยความยากลำบากอีก ยูจิ จึงยื่นคำขาดกับ SoJ ว่า “ห้ามไม่ให้ SoA ใช้ Night Engine ไม่งั้นเค้าจะลาออก” สุดท้ายทาง SoJ ก็สั่งห้ามทีม SoA ไม่ให้ใช้ Night Engine ทำให้ Sonic X-treme ไม่สามารถเสร็จทันตามกำหนดการและถูกยกเลิกโครงการไป 
 
ตรงนี้เราสามารถมองได้ว่าเบอร์นี่ถูกจับตาและแทรกแซงถ้าจำเป็นให้ทำงานในสามเป้าหมายหลักเท่านั้น
1. กู้สถานการณ์ ยื้อและยืดอายุ Saturn ให้ได้มากและนานที่สุด
2. ออกแบบเครื่องรุ่นใหม่
3. ทำตลาดเครื่องเกมรุ่นใหม่ในข้างต้น

 
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่