JJNY : โควิดวันนี้ 8,450 เสียชีวิต 28│ขึ้นค่าแรงทั้งปท.ไม่ได้│จี้คุมค่ารถไฟฟ้าเป็นธรรม│สภาจี้ถามเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.

ยอดโควิดวันนี้ 8,450 ราย เสียชีวิต 28 ราย
https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_3154682
  
 
วันที่ 28 ม.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 รายงานยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประจำวันศุกร์ที่ 28 มกราคม 2565 รวม 8,450 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยจากในประเทศ 8,239 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 211 ราย ผู้ป่วยสะสม 192,037 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565)
 
หายป่วยกลับบ้าน 7,484 ราย หายป่วยสะสม 141,154 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 83,698 ราย และ เสียชีวิต 28 ราย


 
"สุชาติ"รับขึ้นค่าแรงทั้งประเทศไม่ได้
https://www.pptvhd36.com/news/เศรษฐกิจ/165351

จากกรณี คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 492 บาททั่วประเทศ เนื่องจากราคาสินค้าต่างๆที่แพงขึ้น และแรงงานไม่ได้ค่าจ้างเพิ่มมากว่า2ปีแล้วในช่วงโควิด-19ระบาด ล่าสุด นายสุชาติ ก็ยอมรับว่าคงพิจารณาขึ้นให้ไม่ได้ในอัตรานี้ เพราะสูงกว่าเดิมถึง 30% ห่วงว่าจะกระทบไปยังโรงงานถึงขั้นปิดตัว
 
ข้อเรียกร้องดังกล่าว มาจากนายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษาคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย หรือ คสรท. และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ หรือ สรส. ไปยื่นหนังสือต่อนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
 
ขอให้พิจารณาปรับค่าแรงขั้นต่ำ จากปัจจุบัน 315-336 บาทต่อวัน เป็น 492 บาทต่อวัน และขอให้ปรับมาตรการประกันสังคมให้ดูแลแรงงานในระบบอย่างทั่วถึง และอยากให้รัฐบาลช่วยควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงขึ้น ประกอบกับที่ผ่านมาตลอด2ปีที่โควิด-19 ระบาด แรงงานก็ไม่ได้รับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

สำหรับรายละเอียดค่าจ้างขั้นต่ำ ที่ นายชาลี เสนอเป็นข้อมูล ได้มีการสำรวจค่าใช้จ่ายจากคนงานทั่วประเทศ ประมาณ 3,000 คนอ้างอิงข้อมูลตั้งแต่ปี 2560 พบค่าใช้จ่ายจริง ได้แก่ ค่าอาหาร 3 มื้อ ค่าเดินทาง ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายอื่นๆ หากเป็นตัวเลขพอดีกับค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ประมาณ 492 บาทต่อวัน  และขอปรับขึ้นในอัตรานี้ให้เท่ากันทั้งประเทศ เพื่อไม่ให้แรงงานกระจุกตัวอยู่ที่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่งมากเกินไป และขอให้มีความชัดเจนภายใน 2 เดือน
 
ด้านนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตอนนี้ได้สั่งการให้ คณะกรรมการไตรภาคีของแต่ละจังหวัด หารือเพื่อพิจารณาตัวเลขการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะสมของแต่ละพื้นที่ และรายงานตัวเลขเข้ามาที่ส่วนกลาง เพื่อเสนอให้ปลัดกระทรวงแรงงานรวบรวม แต่ยอมรับว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอัตราเดียวกันทั้งจังหวัดตามตัวเลขที่ภาคแรงงานเสนอมาคงเป็นไปไม่ได้ เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบหนักจนถึงขั้นอาจจะปิดกิจการ เนื่องจากคิดเป็นต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นมาถึง 30 %
 
โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยืนยันว่า แม้จะไม่สามารถขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามที่ภาคแรงงานเสนอมา แต่จะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามความเหมาะสมของแต่ละจังหวัดอย่างแน่นอนโดยพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อ และผลประกอบการของโรงงานในพื้นที่นั้นๆ โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการไตรภาคี ที่มีตัวแทนจากทั้งรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง อย่างเร็วที่สุดในช่วงเดือนกรกฎาคม 2565
 


นักวิชาการจี้รัฐบาล คุมค่ารถไฟฟ้าเป็นธรรม
https://www.tnnthailand.com/news/wealth/103174/

นักวิชาการเผยค่าตั๋วโดยสารรถไฟฟ้าไทยแพงที่สุดในโลก ชี้รัฐขาดระบบจัดการภาพรวม ปล่อยเอกชนกำหนดราคาเบ็ดเสร็จ ระบุถึงเวลาบริหารสัมปทานให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์ค่าโดยสารอย่างเป็นธรรม

นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยหรือ รฟม. เปิดเผยว่า ปัจจุบันรถไฟฟ้าเป็นระบบขนส่งมวลชน แต่ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาท/เดือนไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ เพราะภาครัฐไม่ได้บริหารจัดการเชิงภาพรวม แต่คำนึงถึงแค่ผลตอบแทนที่เอกชนเสนอให้ ทำให้ทุกสัญญารถไฟฟ้ามีความแตกต่างในการกำหนดราคาค่าโดยสาร ดังนั้นถึงเวลาที่ภาครัฐควรเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ หันมามองภาพรวมในการจัดการรถไฟฟ้าทุก ๆ สาย ลดปัญหาการเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้าซ้ำซ้อน และเร่งดำเนินการระบบตั๋วร่วมของระบบขนส่งมวลชน

นอกจากนี้ การบริการรถโดยสารสาธารณะจะต้องมีเป้าหมายที่ไม่ใช่แค่เรื่องรายได้อย่างเดียว เพราะการสร้างรายได้ไม่ควรมีเฉพาะจากค่าโดยสารเท่านั้น แต่สามารถหารายได้จากการพัฒนาพื้นที่โดยรอบเส้นทางรถไฟฟ้า เช่น การเก็บภาษีที่ดิน หรือ การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานีเพื่อ สร้างรายได้ชดเชยค่าโดยสาร ซึ่งจะทำให้ราคาค่าโดยสารเป็นธรรมและประชาชนเข้าถึงได้ทุกคน
 
สำหรับปัญหาค่าโดยสารถไฟฟ้าสายสีเขียวว่าสามารถทำให้ค่าตั๋วโดยสารไม่เกิน 30 บาท/ต่อเที่ยวได้ โดยให้สำนักนโยบายและแผนการขนส่งจราจรหรือ สนข .กำหนดเงื่อนไขราคาค่าตั๋วโดยสาร โดยเฉพาะเรื่องรายได้ที่มาจากการโฆษณาบริเวณสถานีหรือตัวรถ ซึ่งการทำสัญญาของ กทม.ไม่เคยระบุรายได้จากส่วนนี้ไว้เลย
 
นอกจากนี้ สัญญาเดิมระบุว่า เอกชนต้องลงทุนเองทั้งหมด แต่ความจริงแล้วบริษัทบีทีเอสไม่ได้คิดส่วนค่าเช่าของรัฐที่ต้องจ่ายไว้เลย ดังนั้นทางออกเรื่องราคาทั้งหมดต้องเจรจาใหม่ และตรวจสอบว่า การลงทุนของบีทีเอส คุ้มทุนหรือไม่ ถ้าคุ้มทุนแล้วต้องคืนราคาค่าโดยสารให้ถูกลง ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลต้องชัดเจน ฉะนั้นราคา 30 บาทก็จะ เป็นไปได้ ขึ้นอยู่กับภาครัฐว่าจะเจรจาหรือไม่เท่านั้น
 
ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สาเหตุที่ค่าโดยสารรถไฟฟ้าของไทยแพงนั้นมีถึง 3 ประการคือ 
 
1. เพราะขาดเจ้าภาพดูภาพรวมกำหนดค่าโดยสารทั้งระบบทำให้รถไฟฟ้าแต่ละสายกำหนดค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมแรกเข้าเอง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเองมากที่สุด

2. รัฐบาลไม่มีอำนาจกำหนด ราคา ตามจำนวนสถานีได้ เพราะรัฐต้องทำตามสัญญา 
 
3. ขาดการพัฒนาเชิงพาณิชย์พื้นที่รอบสถานี ซึ่งในประเทศพัฒนาแล้วจะนำรายได้จากกส่วนนี้มาเป็นรายได้ที่ทำให้ค่าโดยสารถูกลง
 
ทั้งนี้มองว่าการทำให้ค่าโดยสารรรถไฟฟ้าถูกลงสามารถทำได้ เพราะผลศึกษางบการเงินของรถไฟฟ้าสายสีเขียวพบว่า ค่าใช้จ่ายการเดินรถต่อจำนวนเที่ยว เมื่อนำรายได้ จำนวนกว่า 200 ล้านบาทมาหาค่าใช้จ่ายเดินรถพบว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาค่าโดยสารต่อเที่ยวอยู่ที่ 10-16 บาทเท่านั้น
 
โดยไม่รวมรายได้อื่นๆ ทั้งค่าเช่าพื้นที่ ค่าต่อเชื่อมสถานี รวมถึงค่าโฆษณา ที่บีทีเอสชี้แจงไว้ที่ 5,000 ล้านบาท ดังนั้นค่าโดยสาร 30 บาท หรือ 25 บาท จึงน่าจะทำได้ แต่รัฐต้องเจรจรา โดยเฉพาะในอีก 8 ปีข้างหน้าที่สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะหมดลง
 
นายเมธชนนท์ ประจวบลาภ ผู้แทนเยาวชน จาก รายการ Change Thailand บอกถึงประสบการณ์ในการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า ที่ประเทศมาเลเซียว่า ราคาเริ่มต้นเพียง 8 บาทจากนั้นจะเพิ่มขึ้นสถานีละ 1 บาทเท่านั้น เหมือนประเทศรัสเซียเช่นเดียวกับที่ประเทศญี่ปุ่น สามารถเดินทางด้วยบัตรใบเดียวในราคาไม่แพง เหมือนรัสเซีย ที่มีบัตรโดยสารร่วมใบเดียว ทั้งรถไฟฟ้า รถ ราง และเรือ ใช้บริการทั้งวันจ่ายค่าโดยสารเพียง 21 บาทเท่านั้น
 
อย่างไรก็ตาม การที่ค่าโดยสารรถไฟฟ้าในต่างประเทศไม่แพงนั้น มาจากการจัดการภาพรวม ที่รัฐบาลคำนึงถึงความคุ้มค่าและประโยชน์ของประชาชน มีหน่วยงานเดียวดูแลโครงสร้างราคา ขณะที่ประเทศไทยขาดการจัดการภาพรวม ดังนั้นภาครัฐจึงควรหาเจ้าภาพรวมมาดูแลปัญหาราคาค่าโดยสารให้กับประชาชน ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด
 
นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ เจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์ สภาองค์กรของผู้บริโภค เห็นว่า ปัญหาการบริหารจัดการภาพรวมของรถไฟฟ้ามีหลายอย่าง ทั้งการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ การบริหารตั๋วร่วมใบเดียว ซึ่งถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐต้องนำสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าของทุกบริษัทมาทบทวนพิจารณาร่วมกันว่า ควรจะกำหนดค่าโดยสารร่วม ลดค่าแรกเข้า ร่วมกับการใช้ตั๋วร่วมอย่างไร เพราะจะเป็นแนวทางที่ทำให้ค่าโดยสารถูกลงได้และค่าโดยสารจะทำได้ 25 บาทแน่นอน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่