ปราสาทสด๊กก๊อกธม
จริงๆแล้ว ปัจจุบันเราถือว่าปราสาทสด๊กก๊อกธมตั้งอยู่ในอำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว แต่การเดินทางจากอรัญประเทศก็ถือว่าสะดวกมาก ขับรถประมาณครึ่งชั่วโมง เราเคยไปปราสาทนี้แล้วเมื่อหลายปีก่อนตอนนั้นไปย่ำค่ำแล้วครับ แต่ก็งดงามอีกแบบ
ปราสาทหลังนี้ถูกบูรณะด้วยวิธีอนัสติโลซิสอย่างสวยงาม ใช้เวลาบูรณะอยู่ราว 10 ปีเศษ โดยกรมศิลปากรจนงดงามอย่างที่เราๆ ได้เห็นในปัจจุบัน แม่งานใหญ่คือสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ โดยนอกจากความสวยงามของปราสาทและบริเวณโดยรอบแล้ว กรมศิลปากรยังได้พบศิลาจารึกอีกหลายหลักที่นี่ ซึ่งเนื้อหาในศิลาจารึกมีประโยชน์อย่างมาก และเติมเต็มข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของอาณาจักรขอมโบราณได้อย่างดียิ่ง ปัจจุบันที่นี่ได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์อีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย
สิ่งที่มีคุณค่าและสำคัญยิ่งของปราสาทสด๊กก๊อกธม คือ การพบหลักศิลาจารึกสด๊กก๊อกธม (หลักที่ 2)ซึ่งจดบันทึกเรื่องราว ประวัติศาสตร์ของชนชาติขอมเป็นช่วงระยะเวลานานถึง 200 ปี นับจากรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 (พ.ศ. 1345-1393) กษัตริย์ผู้สถาปนาอาณาจักรเมืองพระนคร (Angkor) และเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบเทวราช ในจารึกได้กล่าวถึงกษัตริย์อีกหลายพระองค์ จนถึงสมัยพระเจ้าอุทยาทิตยวรมันที่ 2
(ข้อมูลจาก wikipedia เข้าถึงข้อมูล 29.12.2564 18.01 น)
เราเข้าไปถึงราวบ่ายสองโมงเศษ ของวันที่ 15 กันยายน 2564 บริเวณโดยทั่วไปสะอาดกว้างขวาง โดยเฉพาะลานจอดรถและอาคารด้านหน้า มีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่บริเวณทางเข้าเพื่อให้คำแนะนำ โดยไม่ได้เก็บค่าเข้าชมแต่อย่างใด นักท่องเที่ยวไม่มากครับ บริเวณโดยรอบร่มรื่น
ปราสาทสด๊กก๊อกธมถูกกำหนดอายุไว้คือช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 16 - ต้นพุทธศตวรรษที่ 17 โดยพิจารณาจากรายละเอียดของลวดลายประดับที่แสดงถึงแบบอย่างของศิลปะบาปวน ทางดำเนินจากด้านนอกมุ่งหน้าเข้าสู่เขตปราสาทถูกปักขนาบซ้ายขวาไว้ด้วยเสานางเรียง (ซึ่งนักประวัติศาสตร์ระบุว่าเพื่อเป็นขอบเขตศักดิ์สิทธิ์ของศาสนสถาน และบางท่านระบุว่าอาจเกี่ยวข้องกับการเป็นสัญลักษณ์ของโคมไฟทางเดิน) พื้นทางเดินถูกปูด้วยศิลาแลงตลอดเส้นทาง กรมศิลปากรดูแลสนามหญ้าในพื้นที่ไว้จนดูเรียบร้อยสบายตา
ลายสลักที่โคปุระชั้นนอกซึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเหลือให้เห็นบางส่วนเท่านั้น รวมทั้งองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมอื่นๆ ด้วย โดยการบูรณะกรมศิลปากรได้แทรกองค์ประกอบที่ขาดหายไปด้วยหินชิ้นใหม่ที่ไร้ลวดลาย และเป็นสีที่ค่อนข้างต่างจากของเดิมอย่างชัดเจน ปราสาทสด๊กก๊อกธมถือเป็นปราสาทที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก สร้างจากหินทราย หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตัวองค์ปราสาทมีเสาหินปักอยู่โดยรอบ สันนิษฐานว่าเป็นการปักบอกขอบเขตศักดิ์สิทธิ์ มีบรรณาลัยอยู่ด้านหน้าซ้ายขวาหันหน้าเข้าตัวปราสาท
ปราสาทองค์หลักและบรรณาลัยสร้างด้วยหินทรายโดยมีฐานเป็นศิลาแลง พื้นทั้งหมดขององค์ปราสาทปูด้วยศิลาแลงเช่นกัน แสดงถึงความพิถีพิถันในการสร้าง ภาพสลักบางส่วนที่ตัวปราสาทในส่วนของทับหลัง (ภาพด้านล่าง) แสดงให้เห็นถึงแบบอย่างลายสลักในศิลปะแบบบาปวนโดยมีกลิ่นอายของศิลปะแบบคลังปน (ท่อนพวงมาลัยถูกแบ่งด้วยพวงอุบะ)
ภาพด้านบนนี้เป็นหน้าบันอีกด้านหนึ่งของตัวปราสาท แสดงให้เห็นกรอบของหน้าบันที่สลักเป็นลำตัวนาคซึ่งเศียรนาคเป็นนาคหัวโล้นโดยเป็นลักษณะเฉพาะของศิลปะแบบบาปวน (คล้ายที่พบที่ปราสาทเมืองต่ำ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์) ภาพล่างก็เช่นกันซึ่งเป็นส่วนของโคปุระ
ปราสาทสด๊กก๊อกธมก็ไม่ต่างจากปราสาทขอมโดยทั่วไปที่มีรูปแบบการจัดสรรพื้นที่เป็นบริเวณตัวศาสนสถาน และขอบเขตภายนอกที่มักจะมีสระน้ำขนาดใหญ่เพื่อให้เป็นแหล่งน้ำใช้ของประชาชนที่อยู่โดยรอบที่เรียกว่าบาราย บารายของปราสาทสด๊กก๊อกธมอยู่ทางทิศตะวันออกของปราสาท ปัจจุบันยังสามารถเก็บกักน้ำได้และยังคงเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์เสมอมา
แอมซันอาหารเวียดนาม
ช่วงนี้มีโอกาสได้ไปอรัญประเทศอยู่เนืองๆ และทุกครั้งจะหาโอกาสไปชิมอาหารเวียดนามอยู่เสมอ บางทีก็สงสัยว่าวัฒนธรรมด้านอาหารแบบอาหารเวียดนามนี้เข้ามาตอนไหน เอาง่ายๆ ก็คือ คนเวียดนามมาอยู่อรัญฯ ตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่อาหารเวียดนามที่อรัญฯ อร่อยนะครับ ต้องหาโอกาสมาลองชิม คราวนี้เพื่อนเราพาไปทานที่ร้านแอมซัน ร้านอยู่ถนนมิตรสัมพันธ์ ในตัวเมืองอรัญฯ และไม่ห่างจากถนนสุวรรณศร ซึ่งเป็นถนนเส้นหลักเข้าอรัญฯ สามารถปักหมุดใน google map แล้วเปิดระบบนำทางได้เลย โดยมีร้านอาหารเวียดนามหลายร้านอยู่บริเวณนี้
วันที่เราไปลูกค้ามีไม่มาก รออาหารไม่นาน รสชาติกลางๆ ราคาไม่แพง และร้านเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งครับ
ประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ประดิษฐานที่มูลนิธิสว่างเที่ยงธรรมสถาน อรัญประเทศ
ที่ตัวอำเภออรัญประเทศจะมูลนิธิสว่างเที่ยงธรรมสถานตั้งอยู่ อยู่ใกล้ๆ วัดหลวงอรัญ เราสามารถเข้าไปไหว้เทพเจ้า แก้ชง และบริจาคปัจจัยรวมทั้งสิ่งของเพื่อการสาธารกุศลได้ นั่นคือข้อมูลทั่วไปของที่นี่ เราเข้าไปวันที่ 16 กันยายน 2564 มีเทพเจ้าหลายองค์ให้สักการะตามศรัทธา กว้างขวาง ด้านในเย็นสบายตามสไตร์อาคารของศาลเจ้าวัดจีน
มีเจ้าหน้าที่แนะนำการไหว้เทพเจ้าของที่นี่โดยแนะนำเราโดยละเอียดเป็นจุดๆ เพื่อนเราคนหนึ่งต้องการแก้ปีชง เจ้าหน้าที่ก็อำนวยความสะดวกให้เราอย่างเต็มที่ แต่จริงๆ เรื่องที่จะนำมาเสนอในกระทู้นี้คือ เมื่อเราเดินเยี่ยมชมอาคารของมูลนิธิในหลายๆ จุดแล้ว มาสะดุดตากับประติมากรรมลอยตัวซึ่งถูกปิดทองไว้จนเหลืองอร่ามองค์นี้
เป็นประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสี่กร เกล้าผมมวยมีพระพุทธเจ้าอมิตาภะทำปางสมาธิอยู่ที่มวยผม โดยน่าจะมีอายุที่เก่าแก่ย้อนไปถึงช่วงสมัยบายนของอาณาจักรขอมโบราณ
...
"ลักษณะที่สำคัญของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่พบคือ เกล้ามวยผมมีพระพุทธเจ้าอมิตาภะทำปางสมาธิอยู่ที่มวยผม มักมีสองกรหรือสี่กร หรืออาจมีมากกว่านั้น ของที่นิยมถือในพระหัตถ์ได้แก่ ดอกบัว คัมภีร์ หม้อน้ำ และลูกประคำ" (รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง, ประวัติศาสตร์ขอมในดินแดนไทย, พิมพ์ครั้งที่ 2 กันยายน 2551. สำนักพิมพ์มติชน. หน้า 73)
...
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ถือเป็นหนึ่งในรัตนตรัยของศาสนาพุทธนิกายมหายาน โดยรัตนตรัยมหายานจะประกอบไปด้วย พระพุทธเจ้าผู้ทรงตรัสรู้ ประดิษฐานอยู่ตรงกลาง พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรอยู่เบื้องขวาของพระพุทธเจ้า ผู้ทรงไว้ด้วยความกรุณา และนางปรัชญาปารมิตาอยู่เบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า เป็นผู้ทรงไว้ด้วยปัญญาความเฉลียวฉลาด
ในสมัยบายนของอาณาจักรขอมโบราณ (ราวพุทธศตวรรษที่ 18) การนับถือศาสนาเปลี่ยนไปจากแต่ก่อนที่นับถือศาสนาฮินดู (อันมีเทพเจ้าหลักคือพระวิษณุ และพระศิวะ) มาเป็นศาสนาพุทธนิกายมหายาน สกุลวัชรญาณ โดยเราจะได้พบหลักฐานเหล่านี้ที่รูปสลักในปราสาทขอมสมัยบายนเป็นส่วนใหญ่
ประติมากรรมองค์นี้ยืนบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย (ซึ่งอาจทำขึ้นใหม่?) ดูเหมือนเอียงพระวรกายเล็กน้อย อาจเป็นความตั้งใจของช่างเพื่อแสดงออกถึงความอ่อนนุ่มของงานช่างในคติฝ่ายมหายาน หรือก็เป็นไปได้ว่า เพราะเคยประดิษฐานอยู่ร่วมกันกับรัตนตรัยมหายาน เบื้องขวาของพระพุทธเจ้าก็เป็นได้
---------------------------
คุณหมูยอ
เดินทาง 15-16 กันยายน 2564
บันทึก 29 ธันวาคม 2564
--------------------------
อรัญประเทศ ปราสาทสด๊กก๊อกธม และอาหารเวียดนามร้านแอมซัน