อาการแบบไหน เสี่ยงโรคไส้เลื่อน

ไส้เลื่อนคืออะไร
     ภาวะไส้เลื่อน คือ การที่มีเนื้อเยื่อโผล่ ผ่านทางจุดหรือพื้นที่ที่มีความอ่อนแอบนผนังหน้าท้องโผล่ออกมานอกช่องท้องแต่อยู่ใต้ผิวหนัง ทำให้มองเห็นเป็นลักษณะก้อนนูนขึ้นมา โดยเนื้อเยื่อที่โผล่ออกมานี้ อาจจะเป็นเนื้อไขมัน ลำไส้ หรือ กระเพาะปัสสาวะ ก็ได้

     เมื่อใดที่เกิดอาการนี้ขึ้นบริเวณหน้าท้องของเรา อาการนี้คือไส้เลื่อน ซึ่งบริเวณที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด คือ บริเวณเหนือหัวเหน่าใกล้กับขาหนีบ โดยเรียกว่า ไส้เลื่อนของขาหนีบ (Inguinal hernia)  ไส้เลื่อนชนิดนี้ เกิดขึ้นเพราะผนังหน้าท้องในบริเวณเหนือหัวเหน่ามีความอ่อนแอ  ทำให้เนื้อเยื่อหรืออวัยวะภายในถูกความดันในช่องท้องกด ทำให้โผล่ออกมา การที่ไส้เลื่อนเกิดที่บริเวณนี้บ่อยที่สุด ก็เพราะมนุษย์เรามีจุดอ่อนอยู่ที่บริเวณนี้อยู่ข้างละ 1 จุด ซึ่งเป็นจุดที่ท่อนำน้ำอสุจิ และ กลุ่มเนื้อเยื่อที่ห่อหุ้มท่ออสุจินี้ผ่านจากภายในช่องท้องลงมาสู่ถุงอัณฑะในผู้ชายทุกคน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ไส้เลื่อนชนิดนี้พบเจอในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิงหลายเท่า ในบริเวณที่เป็นจุดอ่อนประกอบกับการที่มีเนื้อเยื่อหรือกล้ามเนื้อที่อ่อนแอ ยิ่งเพิ่มโอกาสให้เกิดเป็นไส้เลื่อนขึ้นมาได้

อาการของไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ
    อาการเริ่มแรกจะเห็นเป็นก้อนนิ่ม ๆ โผล่นูนขึ้นมาในบริเวณเหนือหัวเหน่าใกล้กับขาหนีบ เมื่อมันโตมากขึ้น จะเห็นได้ชัดขึ้น บางรายก็อาจจะลุกลามจนลงไปในถุงอัณฑะ

     ไส้เลื่อนส่วนมากเป็นข้างใดข้างหนึ่ง แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่เป็นทั้งสองข้าง ตัวเลขที่มักจะมีการกล่าวอ้างจะบอกว่ามีประมาณ 8-13% ที่พบอาการนี้ทั้งสองข้างพร้อมกัน และก็ยังมีอีกจำนวนหนึ่งที่เป็นข้างหนึ่งก่อน เมื่อเวลาผ่านไปก็เป็นอีกข้างหนึ่งให้เห็นขึ้นมาภายหลัง

     อาการที่มีได้บ่อยที่สุดก็คือ อาการปวด โดยทั่วไป มักจะเป็นอาการปวดหน่วง ๆ ไม่รุนแรงมากนัก และจะสังเกตได้ว่า อาการปวดจะชัดขึ้นเมื่อมีการเบ่งให้เกิดความดันภายในช่องท้อง เช่น การเบ่งอุจจาระ หรือปัสสาวะ หรือ การออกกำลังกาย เป็นต้น อาการปวดหน่วง ๆ จะรู้สึกได้พร้อมกับการที่ไส้เลื่อนโผล่ออกมาให้เห็นด้วย เพราะฉะนั้น ยิ่งมีการเบ่งกล้ามเนื้อท้องมากเท่าใด ก็ยิ่งมีโอกาสปวดมากขึ้น และ ก้อนเนื้อจะนูนขึ้นมามาก ถ้าไส้เลื่อนยิ่งมีขนาดใหญ่ จะทำให้โอกาสในการโผล่ออกมาให้เห็นมากขึ้นด้วย ถ้าเราหยุดเบ่ง หรือ นอนราบลง ไส้เลื่อนที่โผล่ออกมานี้ก็จะแบนหายลงไป และอาการปวดหน่วง ๆ นี้ก็จะพลอยหายไปด้วย อย่างไรก็ตาม บางรายอาจจะเกิดไส้เลื่อนที่สามารถมองเห็นด้วยตา โดยที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีอาการใด ๆ ให้สังเกตได้

     ไส้เลื่อนสามารถก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างฉับพลันได้ โดยภาวะนี้จะเกิดขึ้นเมื่อมีการเบ่งอย่างรุนแรง บังเอิญไอหรือจามอย่างรุนแรง รวมถึงการออกแรงเบ่งกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงและต่อเนื่อง เช่นการหักโหมเล่นกีฬาหรือยกน้ำหนัก จนอวัยวะที่ผ่านออกมามีมากเกินกว่าจะผ่านจุดนี้กลับลงไปได้
เมื่อเกิดภาวะนี้ อาการปวดหน่วงๆ จะกลายเป็นอาการปวดอย่างรุนแรงที่ไม่ยอมหายไป และก้อนที่โผล่ออกมาก็ไม่ยอมยุบหายลงไปด้วย ถึงแม้ว่าจะพยายามนอนราบลงเพื่อพักผ่อนก็ตาม ถ้าเป็นอยู่นานขึ้นบริเวณของไส้เลื่อนก็จะกดเจ็บ หรือแม้แต่การขยับขาก็จะเจ็บจนทนไม่ไหว ในบางรายก็จะมีอาการอาเจียนและท้องอืดร่วมด้วย เนื่องจากเกิดภาวะการอุดตันของลำไส้เกิดขึ้น ถ้าทนให้ไส้เลื่อนนี้คงสภาพติดอยู่เช่นนี้นานหลายชั่วโมง อวัยวะส่วนที่โผล่ออกมาติดอยู่ในไส้เลื่อนนี้ก็จะเริ่มเน่าตายเนื่องจากขาดเลือดมาเลี้ยงเพราะเส้นเลือดจะถูกขอบของไส้เลื่อนนี้บีบรัดจนเลือดไหลผ่านไม่ได้ นับว่าเป็นอันตรายที่สูงสุดของโรคนี้ซึ่งอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้

การรักษา
     ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ ไม่สามารถหายไปได้เอง จะหายได้ก็ด้วยการผ่าตัดเท่านั้น ไส้เลื่อนที่มีขนาดเล็กๆ และ ไม่มีอาการอะไร อาจจะยังไม่ต้องผ่าตัด เพียงแต่คอยสังเกตอาการไปเรื่อย ๆ และต้องคอยระวังว่าหากเกิดอาการปวดรุนแรงขึ้นมาตรงนั้น ต้องรีบรักษาก่อนที่จะมีอันตรายเกิดขึ้น การใช้กางเกง หรือ เข็มขัดมากดทับบริเวณนั้น ไม่ใช่การรักษาและไม่มีประโยชน์ในการป้องกันภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว

     ไส้เลื่อนที่มีขนาดใหญ่ หรือ ลงถุงอัณฑะ ควรได้รับการรักษา และ ไส้เลื่อนที่มีอาการปวด แม้ว่าจะหายปวดทุกครั้งที่นอนราบลงพักผ่อน ควรได้รับการรักษาก่อนที่จะเกิดมีภาวะแทรกซ้อนอย่างที่กล่าวมาแล้ว การผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนที่ยังไม่มีภาวะแทรกซ้อน เราสามารถเลือกวันผ่าตัดให้เหมาะสมกับความสะดวกและสภาพของสุขภาพได้

     สำหรับไส้เลื่อนที่เกิดภาวะแทรกซ้อน จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเร่งด่วนก่อนที่จะเกิดอันตรายจนสายเกินไป เมื่อใดก็ตามที่สังเกตว่า มีอาการปวดที่รุนแรง และ เปลี่ยนไปจากเดิมร่วมกับการโผล่ของไส้เลื่อนเกิดขึ้นโดยไม่ยอมหายไปง่ายเหมือนที่เคย ให้คิดไว้เลยว่า ถึงเวลาที่จะต้องไปพบแพทย์ทันที ระยะเวลานับตั้งแต่เริ่มปวดจนถึงมือแพทย์ที่รักษาไม่ควรเกิน 4-6 ชั่วโมง ยิ่งมีอาการมากเท่าใด ยิ่งต้องรีบมากเท่านั้น ถ้าถึงขั้นที่มีไข้ ท้องอืดหรือปวดไปทั่วท้อง ก็นับว่าสายเกินไปแล้ว

วิธีการผ่าตัดรักษาไส้เลื่อน
    ไส้เลื่อนในเด็ก ๆ จะใช้วิธีผ่าตัดโดยการเข้าไปผูกตัดถุงไส้เลื่อนหรืออาจจะร่วมกับการเย็บซ่อมจุดที่เป็น แต่ในผู้ใหญ่นั้น ต้องทำการซ่อมส่วนที่อ่อนแอที่เป็นสาเหตุด้วยเสมอ ในสมัยก่อน เราใช้วิธีต่างๆในการเย็บซ่อมบริเวณที่อ่อนแอโดยใช้เส้นไหมชนิดต่างๆและวิธีการต่างๆ แต่ได้ผลที่ไม่ค่อยดี เพราะมักจะเกิดการเป็นไส้เลื่อนซ้ำที่เดิมอีก ปัจจุบันนี้ในผู้ใหญ่ เราจึงหันมาใช้วิธีนำแผ่นใยสังเคราะห์ที่มีลักษณะเป็นตาข่าย ที่เราเรียกว่า Mesh มาปิดบริเวณนั้นแทน ซึ่งทำให้ได้ผลดีขึ้นมาก ทั้งในด้านความเจ็บปวดหลังผ่าตัดและอัตราการเกิดไส้เลื่อนซ้ำ

     วิธีผ่าตัดปัจจุบันมี 2 วิธี คือ การผ่าตัดแบบเปิดแผลบริเวณเหนือหัวเหน่าโดยตรง และการผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องช่องท้อง (ซึ่งในระยะหลัง สามารถใช้หุ่นยนต์ช่วยทำผ่าตัดชนิดที่สองนี้ได้อีกด้วย) หลักการของทั้ง 2 หรือ 3 วิธีนี้เหมือนกัน และอัตราของการเกิดไส้เลื่อนซ้ำในมือของศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญก็เท่าเทียมกัน คือมีอัตราการเกิดซ้ำโดยเฉลี่ยประมาณ 0.5-1.9%

     การผ่าตัดแบบเปิดแผลที่เหนือหัวเหน่า ศัลยแพทย์จะลงมีดที่บริเวณเหนือหัวเหน่าข้างที่เป็นไส้เลื่อนยาวประมาณ 4-5 ซม. แล้วลงไปทำการนำเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่อยู่ในถุงไส้เลื่อนที่โผล่ออกมาให้กลับคืนลงไปในท้อง ก่อนที่จะเอาแผ่นตาข่ายปูปิดบริเวณนั้นทั้งหมดแล้วเย็บตรึงไว้ด้วยไหม จากนั้นทำการเย็บปิดแผล การผ่าตัดนี้สามารถทำภายใต้การดมยาสลบ หรือการฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง แต่ในบางรายที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการดมยาสูง ๆ สามารถใช้วิธีฉีดยาชาเฉพาะที่ได้ วิธีนี้ ถ้าผู้ป่วยเป็นไส้เลื่อนทั้งสองข้าง ก็ทำได้โดยเปิดแผลที่หัวเหน่าทั้งสองข้าง

     การผ่าตัดแบบใช้กล้อง ศัลยแพทย์จะเปิดแผลที่สะดือขนาดยาวประมาณ 1-1.5 ซม. แล้วนำกล้องซึ่งมีลักษณะเป็นท่อโลหะขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.2 ซม.สอดเข้าไป จากนั้นก็เปิดแผลอีก 2 แผล แต่ละแผลมีขนาด 0.5 ซม. เพื่อเป็นช่องทางสำหรับนำเครื่องมือผ่าตัดสอดเข้าไป จะมีการเลาะเนื้อเยื่อด้านในของบริเวณหัวเหน่า เป็นบริเวณกว้าง เพื่อที่จะเอาแผ่นตาข่ายแบบเดียวกันเข้าไปปูปิดบริเวณนั้นจากด้านใน แล้วตรึงแผ่นนี้ด้วยตัวตรึงที่ทำด้วยสารสังเคราะห์ หรือแพทย์บางท่านอาจจะใช้วิธีเย็บตรึงไว้ด้วยเส้นไหมที่เหมือนกับอีกวิธีหนึ่ง การผ่าตัดวิธีนี้ต้องทำภายใต้ยาสลบเท่านั้น แต่ก็มีข้อดีที่สามารถรักษาได้ทั้งสองข้างโดยไม่ต้องลงแผลเพิ่ม

     การผ่าตัดแบบใช้กล้อง และ ใช้หุ่นยนต์ช่วนในการผ่าตัด วิธีนี้เป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่อาศัยหุ่นยนต์ทางการแพทย์มาช่วยทำผ่าตัดโดยใช้แนวทางเดียวกับการผ่าตัดโดยใช้กล้อง แต่แทนที่ศัลยแพทย์จะทำผ่าตัดเอง ศัลยแพทย์จะนั่งอยู่ที่คอนโซลควบคุมการทำงานของแขนของหุ่นยนต์ ให้ทำงานแทนอยู่ในท้องของผู้ป่วย โดยวิธีนี้จะมีแผลผ่าตัดที่สะดือขนาดประมาณ 2 ซม. และแผลขนาด 0.7 ซม.อีก 3 แผล แต่ผลสุดท้ายก็เหมือนกับวิธีอื่น คือใช้แผ่นตาข่ายสังเคราะห์เข้าไปปิดบริเวณเดียวกันจากภายใน และ ต้องทำภายใต้การดมยาสลบ

เหมาะกับวิธีหนึ่ง และ ไม่เหมาะกับอีกวิธีหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยมาพบในสถานการณ์ที่มีภาวะแทรกซ้อนแล้ว ทั้งสามวิธีต่างก็มีข้อเหมือน ข้อดี และ ข้อด้อย ซึ่งศัลยแพทย์จะอธิบายและแนะนำให้แก่ผู้ป่วยแต่ละราย แต่ผลสุดท้ายของการรักษาก็ คือ การทำให้ไส้เลื่อนหายไปโดยมีอัตราการเกิดซ้ำที่ต่ำ

ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด
     การผ่าตัดทุกอย่างล้วนมีความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนทั้งสิ้น ไส้เลื่อนก็เช่นกัน ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดอาจจะเกิดจากผลของยาสลบหรือยาที่ฉีดเข้าไขสันหลังได้ นอกจากนี้ ความเสี่ยงจากการมีเลือดออกมากผิดปกติ การอักเสบติดเชื้อ ความเจ็บปวดที่มากกว่าปกติ หรือการถ่ายปัสสาวะไม่ออกในระยะแรกๆ หลังการดมยาหรือฉีดยาเข้าไขสันหลัง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงเกิดขึ้นได้น้อยมากในการผ่าตัดไส้เลื่อน สุขภาพของผู้ป่วยก่อนผ่าตัดซึ่งรวมถึงโรคประจำตัวของผู้ป่วย ก็อาจจะทำให้ความเสี่ยงต่างๆเกิดมากขึ้นกว่าคนอื่นได้ ซึ่งการตรวจเช็คก่อนการผ่าตัดที่ต้องทำเป็นประจำก็จะสามารถช่วยประเมินความเสี่ยงนี้ได้
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่