JJNY : ติดเชื้อ5,854 เสียชีวิต30│โควิดพันธุ์ใหม่ พบที่อังกฤษ เยอรมนี อิตาลี│ดุสิดโพล คนเครียดหนี้มาก│คนค้าน หนังโป๊เสรี

หายป่วยโควิดเพิ่ม6,354ราย ติดเชื้ออีก5,854ราย เสียชีวิต30
https://www.dailynews.co.th/news/520136/
 
ยอด 'โควิด-19' วันนี้ พบเสียชีวิตเพิ่มอีก 30 ราย ขณะที่พบผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มอีก 5,854 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,077,950 ราย
  
 
สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ล่าสุด วันที่ 28 พ.ย. 64 พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่อีก 5,854 ราย เป็นผู้ติดเชื้อใหม่ 5,397 ราย และผู้ติดเชื้อในเรือนจำ 457 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ 1 เมษายน 2564 มีจำนวน 2,077,950 ราย หายป่วยกลับบ้าน 6,354 ราย หายป่วยสะสม 1,979,430 ราย กำลังรักษา 79,250 ราย
 
โดยวันนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 30 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 มียอดสะสมสูงถึง 20,707 ราย
 

 
โควิดสายพันธุ์ใหม่ พบแล้วที่อังกฤษ เยอรมนี อิตาลี อีก 2 ประเทศรอลุ้น
https://www.prachachat.net/world-news/news-810840

อังกฤษ เยอรมนี และอิตาลี เป็นสามประเทศล่าสุดที่พบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” ส่วนอีก 2 ประเทศกำลังลุ้น 
 
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 อัลจาซีรา รายงานว่า อังกฤษ เยอรมนี และอิตาลี กลายเป็นสามประเทศล่าสุดที่พบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ขณะที่หลายประเทศได้ระงับการเดินทางจากแอฟริกาตอนใต้แล้ว แม้จะขัดต่อคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ตาม
 
โอไมครอน ซึ่ง WHO ประกาศให้เป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวล เป็นเชื้อโควิดที่มีโอกาสแพร่ระบาดมากกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญจะยังไม่ทราบว่า มันจะทำให้มีอาการรุนแรงมากน้อยแค่ไหนเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ก่อนหน้า
 
อังกฤษพบ 2 ราย
 
“ซาจิด จาวิด” รัฐมนตรีสาธารณสุขเผยว่า อังกฤษพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนแล้ว 2 ราย เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยทั้งคู่มีความเชื่อมโยงกับการเดินทางไปแอฟริกาใต้
 
ต่อมา “บอริส จอห์นสัน” นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้ออกมาตรการ ซึ่งรวมถึงข้อกำหนดเรื่องการตรวจหาเชื้อที่เข้มงวดขึ้นสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ แต่ไม่ได้ออกมาตรการที่เข้มงวดเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมทางสังคม เพียงแต่ขอให้ประชาชนสวมหน้ากากในบางพื้นที่
 
“เราจะกำหนดให้ทุกคนที่เดินทางเข้าอังกฤษทำการทดสอบ PCR ภายในวันที่สองหลังจากเดินทางมาถึง และให้กักตัวจนกว่าจะทราบผลว่าเป็นลบ” จอห์นสันกล่าวในการแถลงข่าว
 
“ใครที่เคยสัมผัสกับผู้ติดเชื้อที่คาดว่าจะเป็นสายพันธุ์โอไมครอน จะต้องกักตัวเป็นเวลา 10 วัน และรัฐบาลจะใช้กฎการสวมหน้ากากให้เข้มงวดยิ่งขึ้น” จอห์นสันกล่าว พร้อมกับเสริมว่า มาตรการเหล่านี้จะมีการทบทวนใน 3 สัปดาห์
 
เยอรมนีพบ 2 ราย อิตาลีพบ 1 ราย
 
กระทรวงสาธารณสุขรัฐบาวาเรียของเยอรมนี ประกาศพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน 2 ราย ซึ่งเดินทางเข้าเยอรมนีผ่านทางสนามบินมิวนิก เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ก่อนที่เยอรมนีจะประกาศว่าแอฟริกาใต้เป็นพื้นที่แพร่ระบาดโควิดสายพันธุ์ใหม่ โดยขณะนี้ทั้งคู่อยู่ระหว่างกักตัว อย่างไรก็ตาม ทางเยอรมนีไม่ได้ระบุรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากแอฟริกาใต้
 
ในอิตาลี สถาบันสุขภาพแห่งชาติระบุว่า พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ 1 ราย ในเมืองมิลาน ซึ่งเป็นผู้ที่เดินทางมาจากโมซัมบิก
 
เช็ก-เนเธอร์แลนด์ ลุ้น
 
ด้านเจ้าหน้าที่สาธารณรัฐเช็กเผยว่า กำลังตรวจสอบผู้ต้องสงสัยติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าว 1 ราย ซึ่งเคยใช้เวลาอยู่ที่นามิเบีย
 
ส่วนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของเนเธอร์แลนด์เผยว่า โควิดสายพันธุ์โอไมครอนอาจจะปะปนมากับผู้โดยสาร 61 คน ที่มีผลตรวจโควิดเป็นบวก หลังจากที่พวกเขาเดินทางมาใน 2 เที่ยวบินจากแอฟริกาใต้
 
“คริส วิตตี้” ประธานเจ้าหน้าที่การแพทย์ของอังกฤษ กล่าวในการแถลงข่าวเดียวกับจอห์นสันว่า ยังคงมีความคลุมเครืออยู่มากเกี่ยวกับสายพันธุ์โอไมครอน แต่มีโอกาสอยู่บ้างที่วัคซีนบางชนิดอาจจะใช้ได้ผลกับโควิดสายพันธุ์นี้
 
“ออคซานา พายซิก” คณะเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอน ให้สัมภาษณ์กับอัลจาซีราว่า นักวิทยาศาสตร์ต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการวิเคราะห์ เพื่อระบุอาการรุนแรงที่เกิดจากโอไมครอน
 
“สายพันธุ์นี้ถูกพบเร็วมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ข้อเสียคือต้องใช้เวลาสักพักเพื่อทำความเข้าใจ” พายซิกกล่าว
 
“สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการระบาดคือ การดำเนินการอย่างรวดเร็วเป็นสิ่งสำคัญ การที่มีสัญญาณเตือน จึงทำให้ประเทศต่าง ๆ มีเวลามากพอในการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งหากย้อนกลับไปเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว หลายประเทศจะไม่มีเวลาเตรียมแบบนี้”
 
การระงับการเดินทาง
 
โอไมครอน ซึ่งเป็นเชื้อโควิดกลายพันธุ์ที่อาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อซ้ำ ถูกค้นพบครั้งแรกโดยนักวิทยาศาสตร์ในแอฟริกาใต้ และตั้งแต่นั้นได้มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อในเบลเยียม บอตสวานา อิสราเอล และฮ่องกง
 
WHO เตือนว่าอาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์เพื่อระบุว่าสายพันธุ์นี้ทำให้ไวรัสมีความรุนแรงหรือแพร่เชื้อได้มากขึ้นหรือไม่
และแม้ว่านักระบาดวิทยาจะกล่าวว่า การระงับการเดินทางอาจสายเกินไปที่จะหยุดไม่ให้โอไมครอนระบาดไปทั่วโลก แต่หลายประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงสหรัฐอเมริกา บราซิล แคนาดา และกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป ได้ประกาศระงับการเดินทางหรือจำกัดการเดินทางจากแอฟริกาใต้แล้ว ตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา
 
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) และกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เพิ่มมาตรการจำกัดการเดินทางเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา พร้อมแนะนำไม่ให้เดินทางไปยัง 8 ประเทศในแอฟริกาตอนใต้
 
วันเดียวกัน ออสเตรเลียระบุว่า จะห้ามไม่ให้ผู้ที่ไม่ใช่พลเมือง ที่เดินทางไปยัง 9 ประเทศแอฟริกาตอนใต้ เดินทางเข้าประเทศ และจะกักตัวชาวออสเตรเลียที่เดินทางมาจากประเทศเหล่านี้ เป็นเวลา 14 วัน
 
ขณะที่อังกฤษจะเพิ่มรายชื่อประเทศในบัญชีแดง เพื่อระงับการเดินทางไปยังแอฟริกาตอนใต้ ส่วนเกาหลีใต้ ศรีลังกา ไทย โอมาน คูเวต และฮังการี ได้ประกาศระงับการเดินทางสำหรับประเทศในแอฟริกาตอนใต้แล้ว
 
ในแอฟริกาใต้ มีความกังวลว่าการจำกัดการเดินทางจะสร้างความเสียหายต่อภาคการท่องเที่ยวและภาคอื่น ๆ ของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่อยู่แล้ว ทำให้เจ้าหน้าที่และนักวิทยาศาสตร์พากันวิจารณ์มาตรการของประเทศต่าง ๆ ว่า “ไม่ยุติธรรม”
 


สวนดุสิดโพล คนเครียดมีหนี้สินมาก ขอรัฐปรับโครงสร้างหนี้ เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เพิ่มรายได้
https://www.innnews.co.th/news/politics/news_242424/
 
“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเฉพาะผู้ที่มีหนี้สินทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,059 คน เรื่อง ภาวะหนี้สินของคนไทย ณ วันนี้เมื่อถามถึงหนี้สินของประชาชน พบว่า ร้อยละ 46.52 ระบุ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล รองลงมา ร้อยละ 39.85 ระบุ สินเชื่อที่อยู่อาศัย เช่น บ้าน คอนโด อาคารพาณิชย์ ฯลฯร้อยละ 30.79 ระบุ ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
 
เมื่อถามถึงหนี้สินเฉลี่ยครัวเรือนละประมาณ 1,248,847.03 บาท พบว่า ร้อยละ 48.18 ระบุ น้อยกว่า 500,000 บาท รองลงมา ร้อยละ 22.85 ระบุ 1,000,000 – 2,999,999 บาทร้อยละ 15.26 ระบุ 3,000,000 บาทขึ้นไป
 
เมื่อถามว่าประชาชนคิดว่าจะใช้หนี้ได้หมดหรือไม่ พบว่า ร้อยละ 71.11 ระบุ น่าจะใช้หนี้ได้ทั้งหมด รองลงมา ร้อยละ 15.20 ระบุ ไม่แน่ใจ ร้อยละ 13.69 ระบุ ไม่น่าจะใช้หนี้ได้ทั้งหมด
 
ทั้งนี้เมื่อถามถึงความเครียดของประชาชน พบว่า ร้อยละ 38.15 ระบุ เครียดและวิตกกังวลปานกลาง รองลงมา ร้อยละ 31.49 ระบุ เครียดและวิตกกังวลน้อย ร้อยละ22.74 ระบุ เครียดและวิตกกังวลมาก
 
นอกจากนี้พฤติกรรมของประชาชนหลังจากการมีภาระหนี้สิน พบว่า ร้อยละ 60.23 ระบุ วางแผนการใช้จ่ายรัดกุมมากขึ้น รองลงมา ร้อยละ 55.04 ระบุ ทำงานมากขึ้น หารายได้เสริมร้อยละ 40.25 ระบุ ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการหนี้ ลดดอกเบี้ย
 
เมื่อถามถึงวิธีแก้ปัญหา พบว่า ร้อยละ 80.88 ระบุ แก้ด้วยตนเอง มีวินัย วางแผนการใช้จ่าย อดออม รองลงมา ร้อยละ 61.85 ระบุ รัฐปรับโครงสร้างหนี้ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 52.81 ระบุ เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เพิ่มรายได้ จ้างงานมากขึ้น
 
ท้ายที่สุดเมื่อถามว่าใครจะช่วยเรื่องปัญหาหนี้สินได้ พบว่า ร้อยละ 89.23 ระบุ ตัวเอง ร้อยละ 46.33 ระบุ ครอบครัว คนใกล้ชิด ร้อยละ 36.70 ระบุ ธนาคาร
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่