JJNY : 4in1 ‘นารา’ลั่นทำแทนรัฐหน่อย!│สภาพัฒน์ห่วงหนี้ครัวเรือนไทย│คนเลี้ยงหมูวอนเห็นใจ│หวัดนกกลายพันธุ์ในจีนซ้ำเติมโควิด

‘นารา’ลั่นทำแทนรัฐหน่อย! ลุยช่วยชาวนา เหมาซื้อข้าวทั้งหมู่บ้าน กิโลละ19บาท
https://www.dailynews.co.th/news/478054/
 
สุดปัง! “นารา เครปกะเทย” ลุยช่วยชาวนาภาคอีสาน รับเหมาซื้อข้าวทั้งหมู่บ้าน กิโลกรัมละ 19 บาท ลั่นทำแทนรัฐบาลเขาหน่อย 
 
 
ถือเป็นอีกหนึ่งเน็ตไอดอลคนดังบนโลกออนไลน์ ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางสังคมอยู่เสมอ สำหรับ “นารา เครปกะเทย” ที่เจ้าตัวมักจะออกมาพูดถึงการทำงานรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งมีการทำคอนเทนต์ถ่ายคลิปช่วยเหลือชาวบ้านด้วยการเหมาซื้อของในตลาดต่างๆ แจกของกับผู้ที่เดือดร้อนอยู่เสมอนั้น
ล่าสุด นารา ได้เดินทางไปช่วยเหลือชาวนาทางภาคอีสาน โดยได้ทำการเหมาซื้อข้าวชาวนาทั้งหมู่บ้านในราคากิโลกรัมละ 19 บาท ซึ่งเจ้าตัวได้เล่ารายละเอียดผ่านแคปชั่นว่า 
 
“นาราได้ลงไปภาคอีสานแล้วถามคุณลุงคุณป้าว่า ค่าข้าวขายยังไงจ๊ะ 
ลุงป้าบอกว่าไม่ขายหรอก กิโลละ 5 บาทเก็บไว้กินดีกว่า

นาราเลยถามกลับไปว่า และตอนข้าวแพงสุดกิโลละกี่บาทจ๊ะ 
ลุงป้าบอกว่า 
สมัย ยิ่งลักษณ์อยู่ กิโลละ 19 บาท ตอนนั้นชีวิตสบายมีบ้านมีรถมีความสุขมาก แต่ตอนนี้สิ่งที่ได้คือน้ำตาความเหนื่อย 
นาราเลยเหมาหมดเลยคะ กิโลละ 19 บาททั้งหมู่บ้าน ทำแทนรัฐบาลเขาหน่อย”
 
ซึ่งภายหลังเรื่องราวดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปเป็นสาธารณะ ต่างก็มีชาวเน็ตจำนวนมากเข้ามาแสดงความคิดเห็น พร้อมทั้งเข้ามาชื่นชมกันอย่างหลากหลาย..
 
ขอบคุณภาพประกอบ : นารา เครปกะเทย

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=209658501352261&id=102588205392625
 


สภาพัฒน์ห่วงหนี้ครัวเรือนไทย กำชับ ธปท.แก้ปัญหาทั้งระบบ
https://www.prachachat.net/finance/news-802522
 
สภาพัฒน์ห่วงหนี้ครัวเรือนไทย ปัจจัยเสี่ยงปี’65 กำชับ ธปท. แก้ปัญหาทั้งระบบ พร้อมประชาสัมพันธ์เพิ่มขึ้น หลังประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่ามีมาตรการ
 
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ปัจจัยเสี่ยงในการบริหารประเทศในปี 2565 นอกจากการฟื้นฟูการแพร่ระบาดโควิดแล้ว สภาพัฒน์ยังให้ความสำคัญกับหนี้ครัวเรือนที่จะต้องเข้าไปเร่งแก้ปัญหาด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือน หนี้บุคคล และหนี้ธุรกิจ
 
โดยขณะนี้หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ระดับ 89% โดยมาตรการรวมหนี้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกไปแล้วเมื่อเดือน ก.ย. 2564 หนี้ที่เป็นสถาบันการเงินเดียวกันสามารถรวมหนี้ได้ แต่ต่างสถาบันการเงินยังทำไม่ได้ ซึ่ง ธปท. ก็ต้องเร่งเข้าไปปรับ
 
นอกจากนี้ ธปท.จะต้องมีการประชาสัมพันธ์มาตรการดังกล่าวเพิ่มขึ้นด้วย โดยก่อนหน้านี้ ได้มีการหารือร่วมกับสหภาพแรงงานที่มีปัญหาในแง่ของหนี้บุคคล หนี้สถาบันการเงิน และในด้านหนี้สหกรณ์ ส่วนที่เป็นหนี้บุคคล และหนี้ธนาคารพาณิชย์ เขายังไม่รู้ว่ามีมาตรการของ ธปท. จึงได้กำชับให้ผู้แทน ธปท. เร่งประชาสัมพันธ์ออกไป เพราะการรวมหนี้เหล่านี้ ประชาชนต้องเร่งเข้าไปดำเนินการ ไม่เช่นนั้นจะทำให้กำลังการใช้จ่ายลดลงเรื่อย ๆ หากไม่ปรับใหม่ จะแย่กันหมด
 
ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือนในภาคในภาคธุรกิจ เอสเอ็มอี ก่อนหน้านี้ก็ได้มีการออกมาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องเอสเอ็มอีเพื่อรักษาระดับจ้างงาน โดยให้เงินช่วยเหลือเอสเอ็มอี 3,000 บาทต่อหัวลูกจ้าง ไม่เกิน 200 คน ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ คาดว่าเม็ดเงินจะออกช่วยปลายเดือน พ.ย.นี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างลงทะเบียนของภาคเอสเอ็มอีที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ซึ่งอยู่บนเงื่อนไขรักษาระดับการจ้างงานไม่ให้ต่ำกว่า 95% ส่วนนี้ก็จะช่วยดูแลปัญหาได้อีกทางหนึ่ง
 


คนเลี้ยงหมูโอดขาดทุนวอนเห็นใจราคาเพิ่งฟื้น
https://www.innnews.co.th/news/economy/news_233272/

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ เผย เกษตรกรได้รับผลกระทบจากโรคหมู น้ำท่วมซ้ำ ต้นทุนพุ่ง ขาดทุนสะสมกว่า 3 ปี วอนเห็นใจ ราคาหมูเพิ่งฟื้นได้แค่เดือนเดียว
 
น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศ ต่างได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดทุนสะสมมานานกว่า 3 ปี โดยเฉพาะปี 2564 ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยเพียง 67-68  บาทต่อกิโลกรัม สวนทางกับต้นทุนการเลี้ยงที่สูงถึง 78-80 บาทต่อกิโลกรัม ตามการประเมินของคณะอนุกรรมการต้นทุนของ Pig Board ยิ่งในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีนี้ ราคาสุกรตกต่ำอย่างมากในเดือนมีนาคม-เมษายน สุกรมีชีวิตราคาเคยลดลงไปต่ำสุดเพียง 56 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ผู้เลี้ยงต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากวัตถุดิบอาหารสัตว์หลัก ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ราคาสูงถึง 10-11 บาทต่อกิโลกรัม กากถั่วเหลืองราคาล่าสุดสูงกว่า 19.80 บาทต่อกิโลกรัม และมีแนวโน้มราคาสูงขึ้นต่อเนื่องจากสต็อกผู้ผลิตในต่างประเทศลดลง โดยต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ดังกล่าวคิดเป็น 70% ของต้นทุนการเลี้ยง ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 20-30% ตั้งแต่ต้นปี 2564
 
ที่สำคัญเกษตรกรยังเผชิญกับโรค PRRS หรือโรคเพิร์ส ที่สร้างความเสียหายให้กับผู้เลี้ยง ส่งผลให้แม่พันธุ์เสียหายกว่า 300,000 ตัว สุกรขุนสูญเสียมากถึง 30% และเกษตรกรต้องมีค่าบริหารความเสี่ยงเพื่อป้องกันโรคระบาดในสุกร ด้วยการทำระบบ Biosecurity เพิ่มขึ้นอีก 300-400 บาทต่อตัว ทำให้เกษตรกรเกิดความกังวลต่อสถานการณ์โรคและต้นทุนการเลี้ยงที่สูงขึ้นต่อเนื่อง จึงตัดสินใจลดความเสี่ยงด้วยการหยุดเลี้ยง เข้าเลี้ยงช้าลง หรือเข้าเลี้ยงน้อยลงไม่เต็มกำลังการผลิต ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณการเลี้ยงสุกรในระบบเหลืออยู่เพียง 15.86 ล้านตัว ลดลงจากปีก่อนหน้าถึง 30%
  
อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรต้องทนทุกข์ขาดทุนมา 7-8 เดือน ขายหมูราคาตกต่ำ 60-70 บาท มาตลอด แต่ไม่มีใครเหลียวแล วันนี้ยังต้องวิตกต่อสถานการณ์โรคในหมู และโรคโควิด-19 ซ้ำยังมีปัญหาน้ำท่วมที่สร้างความเสียหายแก่ฟาร์มเลี้ยงหมูในหลายพื้นที่ กว่าจะพลิกฟื้นฟาร์มให้กลับมาเลี้ยงหมูได้ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 เดือน
 
เสี่ยง ราคาหมูเพิ่งจะได้ฟื้นแค่เดือนเดียว ตามกลไกตลาด และเพียงแค่ช่วยต่อลมหายใจคนเลี้ยงเท่านั้น เกษตรกรทุกคนจึงอยากขอให้ทุกฝ่ายเห็นใจและเข้าใจปัญหา “เพราะคนเลี้ยงหมูมีอาชีพเดียว” ไม่สามารถเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นได้ แต่ผู้บริโภคยังมีทางเลือก ทั้งเนื้อไก่ ไข่ไก่ หรือปลา ที่เป็นโปรตีนคุณภาพดีเช่นเดียวกัน ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร สู้วิกฤตโควิด และวิกฤตอาชีพไปพร้อมๆกัน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่