เทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย แหล่งท่องเที่ยวไร้ชื่อแต่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์

สวัสดีครับ วันนี้ผมจะมาแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งซึ่งช่วงโควิดนี้ผมได้มีโอกาสมาทำงานที่แห่งนี้รวมๆก็เกือบสองปีแล้ว เป็นสถานที่ที่ผมชอบมากแล้วก็แอบงงว่าทำไมคนแทบไม่รู้จักกันเลย ทั้งที่มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย นั่นก็คือตำบลเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย 
     หมู่บ้านตั้งอยู่กลางหุบเขาหน้าหนาวก็หนาวสุดๆ ทะเลหมอกก็มี คุณจะได้สัมผัสธรรมชาติตั้งแต่เริ่มเข้าสู่เส้นทางที่จะนำคุณมาสู่ตำบลแห่งนี้ เส้นทางลัดเลาะตามสันเขาเหมาะกับกลุ่มที่ชอบขับรถลุยๆ เช่น คาราวานบิ๊กไบค์หรือคาร์กรุ๊ป แต่ต้องระวังกันด้วยนะครับเพราะเส้นทางคดเคี้ยวและสูงชันเป็นระยะ แต่พอคุณเดินทางมาถึงหมู่บ้านเทอดไทยคุณจะงงๆนิดหนึ่งเพราะเป็นชุมชนใหญ่ใจกลางหุบเขาที่ประกอบไปด้วย จีน ไทใหญ่ ไทลื้อ คนพื้นราบ(เหนือ) อาข่า ลาหู่ ม้ง ลีซอ ลัวะ ที่ยังแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่าของตัวเองอยู่เลยยังรักษาประเพณีและวัฒนธรรมที่หลายหลายไว้ได้อย่างดี ทุกชนเผ่าอยู่รวมกันในตำบลนี้ได้อย่างกลมกลืน มาที่เดียวได้สัมผัสวัฒนธรรมชาวเขาทุกเผ่าแน่นอน หมู่บ้านเทอดไทยเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจของอำเภอแม่ฟ้าหลวงมีธนาคาร ตู้เอทีเอ็ม โรงพยาบาล สถานีอนามัย สถานีตำรวจ ร้านสะดวกซื้อ คาเฟ่ ร้านกาแฟ ร้านเหล้า คาราโอเกะ ห้องพัก ปั๊มน้ำมัน มีร้านอาหารให้คุณได้ลิ้มลองรสชาติดั้งเดิมตั้งอยู่มากมาย ร้านอาหารจีนยูนนาน ร้านอาหารไทใหญ่ ร้านอาหารอาข่า มีเทศกาลประจำถิ่นทั้งปี แต่แปลกที่ภาครัฐไม่โปรโมทให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของเชียงราย อยากบอกว่าที่นี่คือบนดอยนะครับ ที่ที่ความเจริญกับวัฒนธรรมอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว

     การเดินทางมาที่นี่เริ่มจากเลี้ยวซ้ายที่แยกดอยแม่สลองตรงอำเภอแม่จัน จากนั้นมุ่งตรงมาเรื่อยๆคุณจะพบกับหมู่บ้านผาเดื่อที่ชาวเย้า(เมี่ยน)อาศัยอยู่ คุณสามารถแวะเที่ยวได้มีร้านขายของที่ระลึกในหมู่บ้าน จากนั้นเดินทางต่อไปจนเจอสามแยกอีก้อเลี้ยวซ้ายจะไปดอยแม่สลองเลี้ยวขวาจะไปเทอดไทย แต่คนส่วนใหญ่จะรู้จักแต่ดอยแม่สลอง 
     หมู่บ้านเทอดไทยเป็นหมู่บ้านตัวเมืองของอำเภอแม่ฟ้าหลวง สัมผัสกลิ่นอายประวัติศาสตร์อันเป็นถิ่นฐานของชาวจีนที่เข้ามาอาศัยในบริเวณนี้ โดยเฉพาะเรื่องราวของขุนส่าเป็นชาวจีนที่เข้ามาพำนักที่นี่และสร้างกองกำลังเพื่อต่อสู้เรียกร้องเอกราชคืนจากพม่าให้รัฐฉาน(ไทใหญ่) แต่เขากลับกลายเป็นราชายาเสพติดระกับโลก เดิมทีที่นี่มีชื่อว่า"บ้านหินแตก"ต่อมาในปี พ.ศ.2525 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้พระราชทานชื่อในภายหลังว่า"บ้านเทอดไทย"

    ตลาดเช้าบ้านเทอดไทย เปิดช่วงเวลา 06.00-08.00น. มีความหลากหลายของสินค้าชาติพันธุ์ผู้คนทุกเผ่าจะมารวมกันที่นี่ ทั้งเดินเลือกซื้อสินค้าและมาขายสินค้า ส่วนมากเป็นอาหารสำหรับการบริโภค ผักสดพื้นบ้าน ผักป่า ของป่า ผักดองกิมจิยูนนาน และอาหารไทใหญ่ คุณสามารถเดินเลือกชิมขนมท้องถิ่นและอาหารพื้นบ้านแทนอาหารเช้าได้เลย เมนูที่ชอบมากที่สุดคือโจ๊กถั่วเหลือง(ซือโต้วฝู่) ติดใจตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้เลย 5555

    วัดพระธาตุกาคำ(ก๋าคำ) เป็นพระธาตุเก่าแก่บนยอดดอยสร้างขึ้นในสมัยโยนก สมัยนั้นนำโดยปู่จ้าวลาวจกเป็นผู้นำองค์การปกครองหรือหัวหน้าใหญ่ของอ้ายลาว บ้านหินแตกในสมัยนั้นมีชาวไทใหญ่อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก มีเรื่องราวเล่าว่ามีพ่อค้าวัวต่างถิ่นสองคนพี่น้องมาจากเมืองแสนหวีได้เข้ามาค้าขายพักแรมเป็นเวลานานนับเดือน ตามเส้นทางตั้งแต่เมืองสาด หินแตก ฝาง เชียงดาว จุดหมายปลายทางสิ้นสุดที่เมืองเชียงใหม่ พ่อค้าชาวไทใหญ่ทั้งสองคนได้สร้างพระธาตุขึ้นองค์หนึ่งในระหว่างทางดอยตุงกับเมืองฝางคือพระธาตุกาคำแห่งนี้โดยนำทองคำมาหล่อเป็นรูปอีกาสองตัวไว้ในองค์พระธาตุ

     บ้านขุนส่า(อดีตราชายาเสพติดโลก) ภายในบ้านจำลองซึ่งเป็นสถานที่จริง จะเห็นความเป็นอยู่ของชนเผ่าต่างๆ เช่น อาข่า ลาหู่ ปะหล่อง ว้า ลีซอ จีน และไทใหญ่ และยังมีอาคารพิพิธภัณฑ์แสดงบทบาทของขุนส่าในกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่กับขบวนการค้ายาเสพติด ขุนส่าเคยตั้งกองกำลังในหมู่บ้านหินแตกและได้สร้างสิ่งอำนายความสะดวกไว้ เช่น โรงพยาบาล วัด และโรงเรียน

     โครงการชาน้ำมัน(พื้นที่ทรงงานสมเด็จพระเทพฯ) บ้านปางมะหันต์ เป็นพื้นที่ทรงงานและศูนย์ศึกษาชาน้ำมัน ซึ่งตำบลเทอดไทยเป็นสถานที่เพียงแห่งเดียวที่มีการปลูกชาน้ำมันขึ้น ภายในบริเวณมีบ้านพักดิน 5 หลังและสามารถชมวิวพร้อมสัมผัสบรรยากาศที่สดชื่นแวดล้อมไปด้วยภูเขาและหมอกเย็นฉ่ำยามเช้า

     ไร่ชาฉุยฟง หลายๆคนคงคิดว่า เฮ้ย ฉุยฟงอยู่ที่อำเภอแม่จันไม่ใช่เหรอ ก็ใช่ครับ แต่ไร่ชาฉุยฟงที่บ้านพญาไพร ตำบลเทอดไทยเป็นไร่ชาชั้นดีแห่งแรกของฉุยฟงซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของจังหวัดเชียงราย ชาจากไร่แห่งนี้ถูกส่งต่อให้กับ โออิชิ มาลี ยูนีฟ ลิปตัน และส่งออกไปต่างประเทศ ตั้งอยู่บนเนื้อที่กว่า 1000 ไร่มีบรรยากาศปกคลุมด้วยหมอกตลอดทั้งปี ด้วยความสวยงามของไร่ชาที่กว้างใหญ่โดยจะปลูกโค้งวนตามสันเขาและลดหลั่นเป็นขั้นบรรได ซึ่งดูสวยงามและแปลกตากว่าไร่ชาที่อื่น

     วนอุทยานสันผาพญาไพร เปิดเป็นพื้นที่เดินเท้าเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์และผจญภัย เพื่อชมทะเลหมอกยามเช้าและสัมผัสถึงธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันเป็นจุดชมวิวและจุดกางเต๊นท์สำหรับนักท่องเที่ยวได้ชื่มชมทะเลหมอก และชมวิวในมุมสูงของสองประเทศคือ ไทยกับเมียนมาร์

     พระทรงชัยรัตนพลังแผ่นดินถิ่นกาขาว หรือวัดเวียงกาขาวถูกสร้างขึ้นมาพร้อมกับพระทรงชัยพลังแผ่นดินถิ่นกาขาว(พระพุทธรูปองค์ใหญ่) เพื่อเป็นที่พึ่งที่ระลึกให้กับชาวบ้านตลอดจนข้าราชการทหารตามแนวชายแดน ซึ่งถือว่าจุดแลนด์มาร์คของเทอดไทย

ประเพณีและงานรื่นเริงที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้าร่วมได้
//ประเพณีไทใหญ่
     ประเพณีชนเผ่าไทใหญ่จะจัดขึ้นช่วงเดือน พฤศจิกายน-ธันวาคม และมีนาคม-เมษายน ประเพณีปีใหม่ไต (ไทใหญ่) คือ ประเพณีการจัดงานรื่นเริงในเทศกาลปีใหม่ของชาวไต หรือไทใหญ่ได้เริ่มต้นมาพร้อมความเป็นชุมชนของชาวไต จะมีการถวายสิ่งของแด่พระสงฆ์ ขอขมาท่านผู้ใหญ่รวมถึงมอบของขวัญให้แก่กันและกัน และจะมีการแสดงการละเล่น การเต้นรำเป็นต้น และจะมีมหรสพเล็กเหมือนงานวัดในช่วงเวลาที่จัดงาน
     ประเพณีปอยส่างลอง (งานบวชลูกแก้ว) คือ การทำบรรพชาเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา เพื่อตอบแทนบุญคุณของบิดามารดาที่ให้กำเนิด ถือเป็นการทำบุญที่บุตรกระทำให้แก่บิดามารดา แล้วท่านได้อนิสงค์มาก เชื่อกันว่าบิดามารดาจะได้เกาะชายผ้าเหลืองชึ้นสวรรค์หลังจากที่สิ้นลมหายใจไปแล้ว

//ประเพณีจีน
     ประเพณีชนจีนจะจัดขึ้นช่วงเดือน มกราคม กันยายน-ตุลาคม และ สิงหาคม วันตรุษจีน (ปีใหม่จีน) คือ วันขึ้นปีใหม่ของชาวจีนถือเป็นเทศกาลใหญ่ที่ประหนึ่งรวมเทศกาล ตรุษจีนและอาจรวมเทศกาล ไหว้สิ้นปีเข้ากับเทศกาลตรุษจีน จะมีการเซ่นไหว้ของคาวหวาน หมู เป็ด ไก่ ฯลฯ เป็นต้น แก่เจ้าที่และเทพเจ้าต่างๆที่คอยปกป้องคุ้มครองคนให้ครอบครัวให้อยู่ร่วมเย็นเป็นสุขมาตลอดทั้งปี จะมีการจัดงานกลางคืนมีการแสดงต่างๆ มีเครื่องเล่น สตรีทฟู้ดและสินค้าตลาดนัด

//ประเพณีชนเผ่าอาข่า
     จะจัดขึ้นช่วงเดือน เมษายน,สิงหาคม-กันยายน,ตุลาคม ประเพณี ขึ่มสึ,ขึ่มมี๊,อาแผ่ว คือประเพณีส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ หรือ ปีใหม่ชนไข่แดง(ไข่แดง) และประเพณีโล้ชิงช้าเป็นพิธีการที่มีคุณค่ามากด้วยภูมิปัญญาที่ใช้ในการส่งเสริมความรู้ แล้วยังเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตประจำวันของชาวอาข่า ประเพณี ยอพนนองหมื่อเช้เออ (กินข้าวใหม่) คือ การกำหนดฤทธิ์วันดีของชุมชน เพื่อจะให้ สมาชิกในชุมชนสามารถที่จะประกอบพิธีกินข้าวใหม่หรือเก็บเมล็ดพันธ์ข้าว

//ประเพณีลาหู่
     ประเพณีชนเผ่าลาหู่จะจัดขึ้นช่วงเดือน กุมภาพันธ์-มีนาคม ประเพณี เขาะเจ๊าเว (ปีใหม่ลาหู่) คือ พิธีฉลองปีใหม่ลาหู่ (มูเซอ) เป็นปีใหม่การกิจวอ ไม่มีการ กำหนดเฉพาะเจาะจงแน่นอน จะเลือกเวลาที่สมาชิกส่วนใหญ่อยู่และเสร็จสิ้นภารกิจทำงานไร่ ทำสวน จากการเก็บเกี่ยวพืชผลแล้ว จะมีการนำข้าวเหนียวนึ่งมาตำเสร็จแล้วจะปั้นเป็นก้อนกลม (ข้าวปุ๊ก) มีการฆ่าหมูดำ เพื่อมาเซ่นไหว้ต่อเทพเจ้า “อื่อชา” ซึ่งลาหู่นับถือมาก

//ประเพณีเผ่าม้ง
     ประเพณีม้งจะจัดขึ้นช่วงเดือนธันวาคม,ตุลาคม ประเพณีน่อเป๊จ่าวฮ์ (ปีใหม่ม้ง) คือ ประเพณีขี้นปีใหม่หรือฉลองปีใหม่ ซึ่งเป็นงานรื่นเริงของชาวม้งจะจัดขึ้นหลังจากได้เก็บเกี่ยวผลผลิตในรอบปีเรียบร้อย และเป็นการฉลองถึงความสำเร็จในการเพาะปลูกของแต่ละปี ซึ่งจะต้องทำพิธีบูชาถึงผีฟ้า ผีป่า ผีบ้าน ที่ให้ความคุ้มครองและดูแลความสำราญตลอดทั้งปี ประเพณีกินข้าวใหม่ คือ เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยรุ่นทวด-รุ่นปู่ ซึ่งม้งจะมีความเชื่อว่าจะต้องเลี้ยงผีปู่ – ผีย่า ได้ดูแลครอบครัวของแต่ละครอบครัวเป็นอย่างดี ดังนั้นจึงต้องปลูกข้าวใหม่เพื่อจะเซ่นบูชาคุณผีปู่-ผีย่ากับเจ้าที่ทุกตน ประเพณี จุเป๊าะ (การละเล่นลูกช่วง) คือ การละเล่นเพื่อฉลองปีใหม่โดยเฉพาะลูกช่วงมีลักษณะเหมือนลูกบอลทำด้วยเศษผ้ามีขนาดเล็กพอที่จะถือข้างเดียวได้ โดยจะแบ่งกลุ่มผู้เล่นออกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายหญิงกับฝ่ายชาย แล้วจะโยนลูกช่วงให้กันไปมาและสามารถสนทนากับคู่ที่โยนได้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่