ต้มมาม่าในกระติกน้ำร้อนเป็นอะไรไหม ?

ต้มมาม่าในกระติกน้ำร้อนเป็นอะไรมั้ยคะ ???

https://ppantip.com/topic/40055339 กระทู้คำถามจากพันทิป

ในฐานะนักวัสดุที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องหม้อ
และผ่านการต้มมาม่าด้วยกระติกน้ำร้อนเป็นเวลาเกือบ 4 ปี

ขอตอบว่าสามารถทำได้ครับ แต่ต้องทำภายใต้เงื่อนไขที่จำกัดทางด้านวัสดุ

ย้อนกลับไปสมัยที่ จขก เป็นเด็กหอที่มักโหยหิวเวลาดึกเวลาอ่านหนังสือ

ชีวิตมันไม่ง่ายเลย+++ เมื่อเราหิวกลางดึก
เซเว่นที่อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยที่สุด ต้องบิดมอร์เตอร์ไซด์ฝ่าอากาศที่หนาวเย็นไปถึง 6 กิโลเมตร

การต้มมาม่าภายในกระติก แล้วนั่งล้อมวงกินกัน ในหอที่ห้ามทำอาหาร และไม่ให้ใช้กระทะไฟฟ้ามันคือ จึงทางรอดที่เหมาะสมที่สุด 
แถมยังเป็นความสุขเล็ก ๆ ที่ได้จากการเป็นกบถ ที่สามารถแหกกฎของหอได้สำเร็จ

แม้สมัยนั้นมาม่าคัพจะเริ่มมีแล้ว แต่ราคาที่แพงกว่ามาม่าปกติถึง 4 เท่า แถมด้วยปริมาณอันน้อยนิด
มาม่าถ้วยเล็ก ๆ จึงไม่เพียงพอต่อกระเพราะนักศึกษาผู้หิวโหยวัยกำลังกินอย่างพวกเรา

กระติกน้ำร้อนไฟฟ้าจึงเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของเรา ไม่ว่าจะเป็นชา กาแฟ โจ๊ก หรือ มาม่า ทั้งหมดล้วนหลอมรวมอยู่ในกระติกเดียวกัน

จริง ๆ แล้วการใช้กาต้มน้ำร้อนในการต้มมาม่า ก็ไม่มีข้อควรระวังมาก

สิ่งที่ต้องระวังมีอย่างเดียวคือ ใช้เสร็จเมื่อไหร่ ให้รีบล้างให้สะอาด

เพราะภายในกระติกน้ำร้อน ผลิตจากเหล็กกล้าไร้สนิม ใช้ต้มน้ำร้อนได้ไม่มีปัญหา
แต่การที่เราเอามาม่าที่อุดมไปด้วย โซเดียมคลอไรด์ ทั้งจากเส้นมาม่า และเครื่องปรุง   จึงเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยจะเหมาะสม

เพราะสเตเลสไม่ว่าเกรดไหน ก็ไม่ค่อยถูกกับคลอไรด์



น้ำที่มีปริมาณคลอไรด์เพียง 0.02% ที่อุณหภูมิประมาณ 40o
หากทิ้งไว้นานพอก็สามารถทำให้เหล็กกล้าไร้สนิมเกรด 304  เกิดรูเข็มจากการกัดกร่อนและทำให้กระติกน้ำร้อนทะลุได้แล้ว


การขยายตัวของการกัดกร่อนจากผนังด้านในกระติกน้ำร้อน


Critical pitting temperature (CPT) หรือ อุณหภูมิวิกฤติที่ทำให้เหล็กกล้าไร้สนิมเกิดการกัดกร่อนแบบรูเข็ม 



การเอาระติกไปล้างหลังจากกินเเสร็จ หรืออย่างน้อยที่สุดก็เติมน้ำเปล่าลงในกระติก
เพื่อลดความเข้มข้นของคลอไรด์ จึงเป็นสิ่งที่เราทำในฐานะนักเรียนสายวัสดุ

องค์ประกอบทางเคมีบริเวณผิวหน้าของกระติกน้ำร้อนที่เกิดความเสียหาย


เพราะเหล็กกล้าไร้สนิม ก็เกิดสนิมได้ หากเราใช้ไม่ถูกต้อง

วัสดุก็เหมือนกับความรัก
ที่เราต้อง (พยายาม) เข้าใจ และ ดูแลเอาใจใส่ เพื่อที่เขาจะได้อยู่กับเราตราบนานแสนนาน

#เหล็กไม่เอาถ่าน

Ref.
1. https://youtu.be/n0OuNw5zuqM
2. S. Bernhardsson, Duplex Stainless Steels’91, Vol 1, Beaune, Les Editions de Physique, 1991, p 137–150.
3. https://ppantip.com/topic/40055339
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่