คับที่ก็อยู่ไม่ได้

เนื่องจากงานที่ทำ ทำให้ผมเองมีโอกาสได้ไปเยี่ยม โรงงาน โรงไฟฟ้า และปิโตรเคมี ในแถบริมทะเลอยู่บ่อยครั้ง
และสิ่งหนึ่งที่มักพบเห็นคือ

ภาพโครงสร้างคอนกรีตของโรงงานแถว ๆชายทะเลที่กำลังแตกออก ระหว่างทาง
ทำให้นึกถึงเรื่องหนึ่งที่อยากจะเขียนมาเล่า คือ

"การกัดกร่อนในคอนกรีต" 



ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งสำหรับการดูแลบ้านและสิ่งก่อสร้าง

และเคยมีประเด็นที่เกิดขึ้นกับตัวเองสมัยเมื่อซื้อบ้าน

เพราะเมื่อตอนตรวจรับบ้าน ดันเหลือบไปเห็นเหล็กเส้นโผล่ออกมาบนรั้วหน้าบ้าน โดยไม่มีปูนหุ้มใดใด

หลังจากเขียนลงไปในลิสต์รายการแก้ไข
ผ่านไปอีกสองสัปดาห์มาตรวจซ้ำ ทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม

จนทำให้ต้องโวยวายกับโครงการกันเลยทีเดียว

ทำไมต้องโวยวาย ??? กับอีกเหล็กเส้นเดียวที่โผล่ออกมาบนแท่งคอนกรีต ตัดออกก็จบแล้วมั้ง ???

มันไม่จบง่าย ๆ นะสิครับ +++

หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบ

เหล็กเส้นที่ใส่ลงไปในคอนกรีตนี้ละเป็นตัวแปรสำคัญ ที่กำหนดอายุของอาคาร หรือ สิ่งปลูกสร้างคอนกรีต
หากต้องการให้บ้านอยู่ได้ 100 ปี +++

การป้องกันการกัดกร่อนของเหล็กเส้นภายในคอนกรีต จึงเป็นสิ่งสำคัญในการยืดอายุของโครงสร้าง

การที่เหล็กเส้นที่โผล่มาบนแท่งคอนกรีตบนเสารั้ว อาจทำให้เสารั้วบ้านของผมแตกร้าวก่อนที่จะผ่อนบ้านหมด

นั้นก็เพราะ
เหล็กเส้นที่โผล่มาท้าทายกับอากาศเมืองไทยที่อุดมด้วยฝนในตอนนี้
เสี่ยงต่อการเกิดสนิม และ เจ้าสนิมนี้ละที่จะทำให้เสารั้วบ้านแตกออก

เพราะสนิมเองก็ต้องการที่อยู่ 

ซึ่งหากเรามาพิจารณา
ความหนาแน่นของเหล็กนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 7.847g/cm3
ส่วนความหนาแน่นของสนิมเหล็ก Fe2O3 นั้นจะอยู่ที่ ประมาณ 5.25g/cm3

เมื่อเหล็กที่อยู่ภายในคอนกรีต กลายเป็นสนิม Fe2O3
ความหนาแน่นก็จะลดลงไป 33%  

ตามสมการความหนาแน่น  D= M/V หรือ V= M/D  สมัยเราเรียนตอนมัธยม

หากเราอนุมานว่า มวลเท่าเดิม (ไม่คิดน้ำหนักจากอะตอมออกซิเจนในสนิม)

การที่ความหนาแน่นลดย่อมทำให้ปริมาตรเพิ่มขึ้น

เหล็กที่กลายเป็นสนิมจึงสามารถดันให้คอนกรีตแตกออกได้



ไม่ต่างอะไรกับ บรูซ แบนเนอร์ ที่กำลังกลายเป็นฮัลค์  เสื้อผ้าที่ใส่อยู่ขาดหมด 

(เหลือแต่กางเกงที่ยังคงใส่อยู่ได้ ในฐานะนักวัศดุน่าศึกษามากว่ากางเกงทำจากวัสดุอะไรจึงขยายตัวได้ปานนั้น)

ดังนั้นหลังจากโวยวาย ช่าง โฟร์แมน รวมถึง วิศวกรโครงการเสร็จ

ก็บอกให้โครงการ ตัดเหล็กที่เกินมาออก พร้อมเสริมคอนกรีตด้านบนด้วยอีกประมาณ 2-3 ซม หรือ 1 นิ้ว

เพื่อให้คอนกรีตหุ้มเหล็ก จะได้อยู่ในสภาวะที่เฉื่อยต่อการกัดกร่อน และหนีจากสิ่งแวดล้อมที่เร่งให้เหล็กเกิดสนิม
พร้อมกับทางสีทับอีกสองสามรอบ

โดยวันที่ซ่อมเสาบ้าน  ผมถึงกับต้องลาเข้ามาจ้องช่าง และ โฟร์ทำงาน เพราะเราไม่ได้เปลี่ยนบ้านกันบ่อย ๆ 

บ้านต้อง (และค่าผ่อนบ้าน) กับเราคงต้องอยู่กันไปอีกนานแสนนานนนนนนนน

#เหล็กไม่เอาถ่าน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่