JJNY : แพนโดราเปเปอร์ส:'จิตภัสร์'รับโอนหุ้น│'แอมเนสตี้-ICJ'บี้สภา│สหภาพรง.ไทรอัมพ์บุกทำเนียบฯ│ปภ.รายงาน16จว.ยังท่วม

แพนโดราเปเปอร์ส : 'จิตภัสร์' รับโอนหุ้น บ.เจ้าของอพาร์ตเม้นท์ลอนดอน ไม่มีในบัญชี ป.ป.ช.
https://www.isranews.org/article/isranews/103123-investigative00-2-68.html
 
 
"...สำนักกฏหมายในกรุงลอนดอนแนะนำว่า ควรให้บริษัท ทีทีที ทรัสต์ในบริติช เวอร์จิน โอนหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัทแคปปิตัล ดีไลท์ โฮลดิ้ง ในบริติช เวอร์จิน ไปยังบุตรสาวทั้งสอง วิธีนี้จะช่วยให้ทั้งสองถือครองอสังหาริมทรัพย์ผ่านบริษัทแคปปิตัล ดีไลท์ โฮลดิ้ง แทนการยกเลิกกิจการบริษัทแล้วโอนอสังหาริมทรัพย์ให้คนทั้งสองโดยตรงที่อาจเสี่ยงต่อการจ่ายภาษีในอังกฤษ และควรดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงกฏหมายมรดกบางประการของอังกฤษ..."
 
ในข้อมูลการรายงานข่าว "แพนโดรา เปเปอร์ส" ของเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนระหว่างประเทศ หรือ ไอซีไอเจ (International Consortium of Investigative Journalists: ICIJ)  ซึ่งสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) มีส่วนร่วมในการรายงาน พบว่า สมาชิกตระกูลธุรกิจที่ร่ำรวยอันดับ 1 - 6 ของประเทศไทย พ.ศ. 2564 จากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์ของสหรัฐอเมริกา มีความนิยมใช้บริษัทนอกอาณาเขตในการทำธุรกิจอย่างกว้างขวาง 
 
กรณี ครอบครัว นายจุตินันท์ – หม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี มีการระบุข้อมูลว่าใช้ในการถือครองทรัพย์สินในต่างประเทศ เช่น การถือครองอสังหาริมทรัพย์ในประเทศอังกฤษ
  
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูล  “แพนโดรา เปเปอร์ส” จากฐานข้อมูลไอซีไอเจ พบว่า  ในปี 2560 ตัวแทน นายจุตินันท์ - หม่อมหลวง ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี สั่งสำนักกฏหมายอังกฤษโอนอพาร์ตเม้นท์ในกรุงลอนดอนให้บุตรสาวสองคน คือ นางสาว จิตภัสร์ กฤดากร หรือ ตั๊น  และนางสาว นันทญา ภิรมย์ภักดี โดยได้รับคำแนะนำให้ใช้การโอนหุ้นบริษัทในบริติชเวอร์จินซึ่งใช้ในการถือครองอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวให้บุคคลทั้งสอง
 
อย่างไรก็ตาม ไม่พบว่ามีรายการการถือครองบริษัทในบริติช เวอร์จิน ในการแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของจิตภัสร์ เมื่อเข้ารับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ พ.ศ. 2562  
 
ปรากฏรายละเอียดดังต่อไปนี้  
 
ข้อมูล  “แพนโดรา เปเปอร์ส” จากฐานข้อมูลไอซีไอเจ ระบุว่า นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทบุญรอดบริวเวอร์รี่ จำกัด และ หม่อมหลวง ปิยาภัสร์ ภรรยา เป็นหนึ่งในลูกค้าชาวไทยในฐานข้อมูลของสำนักกฎหมายมอสแซค & ฟอนเซก้า เอเย่นต์ รับจดทะเบียนและดูแลบริษัทนอกอาณาเขตซึ่งตกเป็นข่าวใหญ่ทั่วโลกในการรายงานข่าว "ปานามา เปเปอร์ส" ของไอซีไอเจเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2559
 
โดยในครั้งนั้นพบว่าบุคคลทั้งสองเป็นผู้รับผลประโยชน์ของบริษัทแคปปิตัล ดีไลท์ โฮลดิ้ง จำกัด (Capital Delight Holdings Limited) ซึ่งจดทะเบียนในหมู่เกาะบริติชเวอร์จิ้น
 
ข้อมูลไทรเด้นท์ ทรัสต์ ระหว่าง พ.ศ. 2559 – 2560 ระบุชื่อบริษัทและทรัสต์ในอังกฤษและในพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งทั้งสองเป็นเจ้าของผู้รับผลประโยชน์อย่างน้อย 4 แห่ง นั่นคือ ทีทีที ทรัสต์ (TTT Trust) จดทะเบียนที่บริติชเวอร์จิน ทำหน้าที่เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทบริติช เวอร์จิน อีกแห่งหนึ่ง คือ แคปปิตัล ดีไลท์ โฮลดิ้ง และบริษัท ซีบี คอนซัลแทนซี่ จำกัด (CB Consultancy Limited) จดทะเบียนในเขตไอล์ออฟแมนของอังกฤษ
 
ในขณะเดียวกันบริษัทแคปปิตัล ดีไลท์ โฮลดิ้ง ก็เป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ทีทีที คอนซัลแทนซี่ (TTT Consultancy Limited) จดทะเบียนที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษอีกชั้นหนึ่ง
 
บริษัท ทีทีที คอนซัลแทนซี่ มีชื่อเป็นเจ้าของอพาร์ตเม้นท์ในลอนดอน 2 แห่ง คือ อพาร์ตเม้นท์เลขที่ 27 และเลขที่ 28 ในโครงการแห่งหนึ่ง ส่วนบริษัท ซีบี คอนซัลแทนซี่ มีชื่อเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์หน่วยที่ 3 ในโครงการเดียวกัน
 
ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2559 เจ้าหน้าที่ของธนาคารแห่งหนึ่งในสิงคโปร์ ได้ติดต่อขอใช้บริการสำนักกฏหมายแห่งหนึ่งที่กรุงลอนดอน ในนามของลูกค้าที่ธนาคารใช้ชื่อว่า ‘มิสเตอร์ และมิสซิส B’ เพื่อดำเนินการชำระบัญชีและยกเลิกกิจการบริษัทแคปปิตัล ดีไลท์ โฮลดิ้ง จำกัดในบริติชเวอร์จิน, บริษัททีทีที คอนซัลแทนซี่ จำกัด ในอังกฤษ, และ บริษัท ซีบี คอนซัลแทนซี่ จำกัด ในไอล์ออฟแมน ซึ่งเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ข้างต้นทั้งทางตรงและทางอ้อม
 
และให้โอนอสังหาริมทรัพย์ในชื่อของบริษัทเหล่านี้ไปยัง บุตรสาวสองคน โดยอพาร์ตเม้นท์เลขที่ 27 จะโอนให้นางสาวจิตภัสร์ ในขณะที่พาร์ตเม้นท์ เลขที่ 28 กับ อสังหาริมทรัพย์หน่วยที่ 3 โอนให้นางสาวนันทญา
 
สำนักกฏหมายดังกล่าวให้คำแนะนำเรื่องกระบวนการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่สามารถทำได้ภายใต้กรอบกฏหมายทั้งในอังกฤษและในบริติชเวอร์จิน เพื่อเลี่ยงความเสี่ยงจากกฏหมายภาษีมรดกและภาษีการค้าตามกฏหมายอังกฤษ และเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2559 ถึงต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2560
 
สำนักกฏหมายในกรุงลอนดอนแนะนำว่า ควรให้บริษัท ทีทีที ทรัสต์ในบริติช เวอร์จิน โอนหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัทแคปปิตัล ดีไลท์ โฮลดิ้ง ในบริติช เวอร์จิน ไปยังบุตรสาวทั้งสอง วิธีนี้จะช่วยให้ทั้งสองถือครองอสังหาริมทรัพย์ผ่านบริษัทแคปปิตัล ดีไลท์ โฮลดิ้ง แทนการยกเลิกกิจการบริษัทแล้วโอนอสังหาริมทรัพย์ให้คนทั้งสองโดยตรงที่อาจเสี่ยงต่อการจ่ายภาษีในอังกฤษ และควรดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงกฏหมายมรดกบางประการของอังกฤษ
 
ราคาประเมินของอพาร์ตเม้นท์ทั้งสองในพ.ศ. 2556 ชี้ว่า อพาร์ตเม้นท์เลขที่ 27 ซึ่งจะโอนให้นางสาวจิตภัสร์มีมูลค่าประมาณ 2.75 ล้านปอนด์ (กว่า 124 ล้านบาท) และอพาร์ตเม้นท์ เลขที่ 28 ซึ่งจะโอนให้นางสาวนันทญามีมูลค่า 1.85 ล้านปอนด์ (กว่า 84 ล้านบาท) ดังนั้นจึงควรโอนหุ้นในสัดส่วน 60 เปอร์เซ็นต์บริษัทแคปปิตัล ดีไลท์ โฮลดิ้ง ให้นางสาวจิตภัสร์ และ 40 เปอร์เซ็นต์ ให้นางสาวนันทญา
 
ข้อมูลการติดต่อระหว่างสำนักกฏหมายในลอนดอนกับเอเจนต์ไทรเด้นท์ ทรัสต์ ที่พบในฐานข้อมูลในความครอบครองของไอซีไอเจสิ้นสุดเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2560 โดยข้อมูลการติดต่อระหว่างสำนักกฏหมายในลอนดอนกับเอเยนซี่ระบุว่า ขณะนั้นชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทแคปปิตัล ดีไลท์ โฮลดิ้ง กำลังจะเปลี่ยนจาก ทีทีที ทรัสต์ เป็นชื่อนางสาวจิตภัสร์ และนางสาวนันทญา
 
เกี่ยวกับประเด็นนี้ สำนักข่าวอิศรา ได้ส่งอีเมล และหนังสือลงทะเบียนแจ้งไปยัง นายจุตินันท์ – หม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี และ นางสาวจิตภัสร์  เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 แต่ยังไม่ได้รับคำตอบกลับมา 
 
โดยในส่วน นายจุตินันท์ – หม่อมหลวงปิยาภัสร์ ได้รับแจ้งจากเลขานุการส่วนตัวว่า บุคคลทั้งสอง อยู่ระหว่างเดินทางไปต่างประเทศ ถ้ามีความคืบหน้าจะติดต่อกลับมา 
 
ส่วน นางสาวจิตภัสร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 สำนักข่าวอิศรา ได้รับแจ้งจากเลขานุการส่วนตัวว่า ได้รับหนังสือขอสัมภาษณ์จากสำนักข่าวอิศรา แล้ว แต่ยังไม่แจ้งตอบกลับมาว่านางสาวจิตภัสร์ จะให้สัมภาษณ์ชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้หรือไม่อย่างไร 
 
(ติดตามรายละเอียดรายงานข่าว ‘แพนโดรา เปเปอร์ส’ ได้ที่เว็บไซต์ไอซีไอเจ <https://www.icij.org/investigations/pandora-papers/>) 
 

 
'แอมเนสตี้-ICJ' บี้รัฐสภาเร่งแก้ไขร่าง 'พ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหาย'
https://voicetv.co.th/read/EM2mnL8YK
 
แอมเนสตี้-ICJ ส่งข้อเสนอแนะ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย ถึงทางการไทย
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลและคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ICJ) ได้ส่งข้อเสนอเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหายถึงประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างฯ และสำเนาถึงสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุทางหน่วยงานยินดียิ่งที่ได้ทราบว่าร่างพระราชบัญญัติ ฯ ที่เสนอโดยกระทรวงยุติธรรมได้รับการปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอหลายประการตามข้อเสนอแนะที่ส่งไปก่อนหน้านี้ แต่ยังมีเนื้อหาสำคัญหลายประการที่ยังไม่ถูกแก้ไขและยังขัดกับอนุสัญญาระหว่างประเทศอีกด้วย
 
โดยทางแอมเนสตี้และ ICJ ระบุว่า แม้ร่างพระราชบัญญัติ ฯ ดังกล่าวจะถูกปรับปรุงแก้ไขรวมถึงผ่านการรับฟังความเห็นอยู่หลายครั้ง แต่ปัญหาสำคัญหลายประการกลับยังมิได้ถูกแก้ไข แม้จะมีการทักท้วงโดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้เชี่ยวชาญว่าหลักการดังกล่าวมีความสำคัญและจำเป็นเพื่อให้ร่างพระราชบัญญัติ ฯ สอดคล้องกับพันธกรณีตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธกรณีตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง นอกจากนั้น เนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติ ฯ ในปัจจุบันยังคงขัดแย้งกับอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามและให้คำมั่นว่าจะให้สัตยาบัน
 
เนื้อหาในจดหมายยังระบุอีกว่า ทั้งสององค์กรมีความกังวลต่อการแก้ไขและการตราร่างพระราชบัญญัติ ฯ ที่มีความล่าช้าอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กฎหมายดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการนำมาใช้ลงโทษอาชญากรและอำนวยความยุติธรรมแก่ผู้เสียหายจากการทรมาน การประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และการกระทำให้บุคคลสูญหาย จึงขอเน้นย้ำข้อเรียกร้องของเราต่อสมาชิกรัฐสภาให้เร่งรัดการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ ฯ ให้สอดคล้องกับพันธกรณีตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทยและผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวโดยไม่ล่าช้า
 
 ทั้งนี้ ทางแอมเนสตี้และ ICJ มีข้อกังวลหลักๆ ดังต่อไปนี้  
 
นิยามของอาชญากรรมการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย รวมทั้งคำศัพท์สำคัญอื่น ๆ ที่ยังไม่สมบูรณ์หรือไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ
 
• การขาดบทบัญญัติเกี่ยวกับการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี
• การขาดบทบัญญัติที่เหมาะสมเกี่ยวกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินคดี
• การขาดบทบัญญัติที่เหมาะสมเกี่ยวกับการไม่รับฟังคำให้การหรือข้อมูลใดที่ได้มาจากการกระทำการทรมาน การประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีหรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดี
• การขาดบทบัญญัติที่เหมาะสมเกี่ยวกับรูปแบบความรับผิดบางประการสำหรับอาชญากรรมที่บัญญัติในร่างพระราชบัญญัติ ฯ
• การขาดบทบัญญัติที่เหมาะสมเกี่ยวกับหลักประกันเพื่อป้องกันการทรมาน การประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย และการขาดบทบัญญัติเกี่ยวกับลักษณะที่ต่อเนื่องของอาชญากรรมการกระทำให้บุคคลสูญหาย และอายุความของความผิดฐานกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่