" Hackney Borough " สถานีฆ่าเชื้อจากการแพร่กระจายของโรคในช่วงต้นทศวรรษ 1900




ชุดเสื้อผ้าของผู้ป่วยที่ติดเชื้อถูกทำความสะอาดด้วยเครื่องจักรที่ใช้ไอน้ำแรงดันสูงเพื่อฆ่าเชื้อโรค
Cr. ภาพ Hackney Archives, Libraries and Heritage Services


การล้มป่วยด้วยโรคติดเชื้อในช่วงต้นทศวรรษ 1900 ในลอนดอนอาจเป็นประสบการณ์ที่น่ากังวล ไม่เพียงถูกพาไปโรงพยาบาลด้วยรถม้า แต่การรักษาที่มีประสิทธิภาพก็ทำได้ยากด้วย เทศบาลมีสิทธิ์ตามกฎหมายที่จะเข้าไปในบ้านของคุณและฆ่าเชื้อ เมืองก็สามารถยึดทรัพย์สินของคุณและนำไปทำความสะอาดด้วยไอน้ำที่สถานีฆ่าเชื้อที่เพิ่งเปิดใหม่บน Millfields Road ในเขตเลือกตั้ง Hackney ที่ชื่อ " Hackney Borough "
 
ทั้งหมดนี้ในนามของสาธารณสุข แต่ข้อควรระวังเหล่านี้ไม่ได้เข้มงวดหรือไร้หัวใจจนเกินไป หากกระบวนการนี้ทำให้คุณไม่มีที่อยู่อาศัย คุณจะได้รับข้อเสนอที่พักค้างคืนในอพาร์ตเมนต์แบบหนึ่งห้องนอนที่สะดวกสบายและทันสมัย ​​ข้างอาคารที่กำลังทำความสะอาดทรัพย์สินของคุณ

แม้ว่าในปัจจุบัน มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค เช่น คำสั่งให้อยู่แต่ในบ้านและสวมหน้ากากอนามัย อาจรู้สึกเหมือนถูกรัฐบุกรุกเข้ามาในชีวิตประจำวัน แต่ที่สถานีฆ่าเชื้อ Hackney Borough หน่วยงานของชุมชนที่ทำงานร่วมกันอย่างเหนียวแน่นนี้ การดำเนินการต่อต้านโรคเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ และเป็นวิธีที่จะทำให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรง

เมื่อเปิดทำการในปี1901 สถานีฆ่าเชื้อ Hackney Borough นั้นไม่เหมือนใคร เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ของสถานีได้ประกาศอย่างภาคภูมิใจว่า “ ฉันไม่ลังเลเลยที่จะระบุว่า สถานีและที่พักพิงนี้จะเป็นสถานที่ที่มีอุปกรณ์ครบครันที่สุดในลอนดอน สำหรับจัดการกับโรคติดเชื้อและโรคติดต่อ ”


สถานีฆ่าเชื้อด้านสาธารณสุขที่ Millfields Row ประมาณปี 1912
Cr.Hackney Archives, Libraries and Heritage


รัฐบาลท้องถิ่นที่ดูแลสถานีฆ่าเชื้อ Hackney คือเทศบาลของเมือง Hackney (Metropolitan Borough of  Hackney - MBH) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของลอนดอน ซึ่งเริ่มดำเนินการในปี 1899 โดยเป็นส่วนหนึ่งของพระราชบัญญัติรัฐบาลลอนดอน จุดสูงสุดของการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายหลายครั้งที่เริ่มขึ้นในปี 1855
กฎหมายได้นำการปรับโครงสร้างองค์กรและมาตรฐานที่สำคัญมาสู่รัฐบาลท้องถิ่นของ Hackney ในเมืองหลวงของอังกฤษ ที่เดิมเป็นเขตการปกครองของพลเมืองใน Middlesex ซึ่งเป็นเขตที่มีพรมแดนติดกับเมืองลอนดอน (พื้นที่ที่มีเขตอำนาจศาลของตนเอง) อย่างไรก็ตาม เขตแดนเก่าแก่ของ Hackney ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก เมื่อมันกลายเป็นเขตเมืองใหญ่ของ ‘County of London’ แห่งใหม่ แต่วิธีการปกครองพื้นที่นั้น สะท้อนถึงการขยายเมืองหลวงไปสู่เขตชานเมืองที่ร่มรื่น

Hackney เป็นบ้านของประชากรชนชั้นแรงงานส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในบ้านเรือนที่แออัดอย่างน่ากลัว ในช่วงเวลานั้นมีการระบาดของโรคติดเชื้อบ่อยครั้ง เช่น ไข้ทรพิษ คอตีบ ไข้อีดำอีแดง โรคหัด และโรคไอกรน แม้ว่าผลลัพธ์ด้านสาธารณสุขจะดีขึ้นมากจากการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขอนามัยและขั้นตอนสุขอนามัยในศตวรรษที่ 19 แต่ชาวอังกฤษยังคงเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อเป็นจำนวนมาก โดยเด็กจะมีความเสี่ยงเป็นพิเศษ

ในปี 1899 ปีที่ MBH ถูกสร้างขึ้น มีผู้อยู่อาศัยใน Hackney 116 คนเสียชีวิตจากโรคหัด ในจำนวนนี้ 115 คนเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และผู้เสียชีวิตจาก
โรคไอกรน 47 คนทั้งหมดเป็นเด็ก รวมทั้งอีก 252 คนเสียชีวิตจากโรคคอตีบ ในขณะที่ อัตราการตายของทารก (การเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ) คือ 165 ต่อการเกิด 1,000 คนที่มีชีวิตอยู่ หากอ้างอิงในกรณีเดียวกัน ในปี 2018 ตัวเลขคือ 4 ต่อ 1,000


ยานพาหนะและพนักงานที่มีส่วนร่วมในการฆ่าเชื้อในปี 1935 ใกล้ทางเข้าด้านหลังห้องฆ่าเชื้อ
Cr.ภาพ Hackney Archives 

 
เนื่องจากการระบาดของโรคต่างๆดังกล่าว หน่วยงานท้องถิ่นได้ดำเนินการฆ่าเชื้อในสถานที่ภายในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพอย่างน้อยตั้งแต่ปี 1866 เมื่อรัฐบาลได้ออกกฎหมายที่กำหนดให้ต้องจัดการอุปกรณ์ฆ่าเชื้อโรคตามพระราชบัญญัติสาธารณสุข (ลอนดอน) ซึ่งได้เน้นย้ำถึงข้อกำหนดนี้ และวางหน้าที่ให้กับหน่วยงานท้องถิ่นในการฆ่าเชื้อเครื่องนอน เสื้อผ้า ฯลฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายไดๆ 

โรงงานเฉพาะทางสำหรับการนี้เปิดขึ้นในปี 1893 พร้อมด้วยอุปกรณ์ฆ่าเชื้อด้วยไอน้ำที่ทันสมัย ​​แต่ John King Warry เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ด้านสุขภาพของ Hackney ไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น เมื่อได้รับการสนับสนุนจากกฎหมายแห่งชาติฉบับใหม่ (1897) ซึ่งอนุญาตให้หน่วยงานท้องถิ่นใช้สิ่งอื่นที่มีลักษณะเฉพาะในการทำความสะอาดผู้คนและสถานที่ "ที่เต็มไปด้วยแมลง" ได้ เขาจึงรณรงค์เพื่อสร้างการฆ่าเชื้อที่ทันสมัย และสถานีฆ่าเชื้อที่รวมที่พักสำหรับใครก็ตามที่ต้องการ

สิ่งอำนวยความสะดวกประกอบด้วยอาคาร 3 หลัง ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีฆ่าเชื้อ ที่พักของผู้ดูแลสามห้องนอน และบ้านพักที่ประกอบด้วยแฟลตแบบหนึ่งห้องนอน โดยสี่ห้องสำหรับผู้ที่ถูกฆ่าเชื้อเพื่อพักค้างคืน เมื่อผู้ติดเชื้อมาถึงสถานี พวกเขาจะถูกเปลื้องผ้าและอาบน้ำด้วยกำมะถันเพื่อฆ่าเหา หมัด และหิด จากนั้นพักอยู่ในบ้านพักค้างคืนที่เตรียมไว้
 

การฆ่าเชื้อสามารถฆ่าเชื้อโรคที่เกี่ยวข้องกับโรคได้ เช่นเดียวกับสัตว์รบกวนทั่วไป เช่น เหา หมัด ตัวเรือด และแมลงสาบ
Cr.ภาพ Hackney Archives, Libraries and Heritage Services

ในขณะที่เสื้อผ้าและเครื่องนอนของพวกเขาถูกนำไปทำความสะอาดโดยใช้ไอน้ำแรงดันสูง และใช้ formaldehyde (ก๊าซไร้สีกลิ่นแรงชนิดหนึ่งใช้ทำยา
ฆ่าเชื้อและยากันเน่า - HCHO) เพื่อฆ่าเชื้อโรคและแมลง ส่วนรายการอื่นๆ เช่นเฟอร์นิเจอร์ที่นอกเหนือจากการทำความสะอาดจะถูกเผาในสถานที่ เวลาเดียวกัน ทีมงานจากสถานีจะไปที่บ้านของพวกเขาเพื่อฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ formaldehyde ให้ทั่ว

ในช่วงปีแรกของการดำเนินงาน สถานีฆ่าเชื้อ Hackney Borough ได้ทำการพ่นควันรมยาตามห้องพักมากกว่า 2,800 ห้อง ฆ่าเชื้อเฟอร์นิเจอร์ เครื่องนอน และเสื้อผ้ากว่า 24,000 รายการ แม้จะมีความพลุกพล่านของทีมงาน แต่บ้านพักพิงก็ไม่ค่อยได้ใช้ ในปี 1902 มีเพียง 97 คนที่พักค้างคืน และในปี 1905 เขตเลือกตั้งต้องโฆษณาการมีอยู่ของอพาร์ตเมนต์ ความต้องการที่พักพิงนั้นต่ำมากจนในช่วงทศวรรษที่ 1930 บ้านที่พักพิงถูกเปลี่ยนเป็นที่พักพนักงานสำหรับคนที่ทำงานในแผนกของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ด้านสุขภาพ

ต่อมาในปี 1934 เกิดโครงการกวาดล้างสลัมและโปรแกรมที่อยู่อาศัยของแผนกสาธารณสุข G.H. Dart เจ้าหน้าที่การแพทย์คนใหม่ได้สร้างโรงรมควันและโรงตากอากาศแบบ drive-in สี่เครื่องที่สถานี Hackney ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ เฟอร์นิเจอร์และข้าวของอื่นๆ ของครอบครัวให้ที่ออกไปจะถูกนำเข้าไปในรถบรรทุกและขับเข้าไปในโรงเหล่านี้ ซึ่งจะถูกรมยาโดยใช้ Zyklon B (ก๊าซไฮโดรเจนไซยาไนด์) ซึ่งเป็นสารเคมีชนิดเดียวกับที่พวกนาซีใช้
ในค่ายมรณะ หลังจากการระบายอากาศและการรมควัน เฟอร์นิเจอร์ก็ถูกส่งกลับไปยังเจ้าของในที่อยู่ใหม่ของพวกเขา
 

คนงานพ่นยาฆ่าเชื้อและเตรียมถอดผ้าปูที่นอนสำหรับการฆ่าเชื้อด้วยไอน้ำที่สถานี Millfields ในปี 1951
Cr. ภาพ: Hackney Archives
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ห้องอาบน้ำขยายใหญ่ขึ้นเพื่อรับมือกับการระบาดของโรคหิด ซึ่งเป็นเรื่องปกติเพราะผู้คนจะรวมตัวกันในที่หลบภัย หลังสงคราม สถานีถูกใช้เพื่อฆ่าเชื้อเสื้อผ้าที่บริจาคเพื่อส่งไปต่างประเทศ ต่อมาเพื่อฆ่าเชื้อสิ่งทอนำเข้า ส่วนเตาเผาขยะถูกใช้เพื่อเผาอาหารที่ติดเชื้อ สถานี
นี้ยังใช้ฆ่าเชื้อหนังสือในห้องสมุดต่างๆ เพราะเชื่อว่าหนังสืออาจเป็นพาหะนำโรค สถานีถูกใช้ครั้งสุดท้ายในปี 1984 เพื่อฆ่าเชื้อเหาจากเด็กนักเรียน

ปัจจุบัน อาคารเก่าของสถานีฆ่าเชื้อยังคงยืนอยู่บนถนน Millfields ซึ่งซ่อนอยู่ระหว่างคลังเก็บขยะและสถานีไฟฟ้าย่อยใกล้กับเขตแดนทางตะวันออกของ เมือง Hackney หลังจากหลายปีของการละทิ้งและผุพัง สถานีฆ่าเชื้อที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะที่หายากนี้ ได้รับการพิจารณาว่ามีความเสี่ยงมานานแล้วโดย Historic England หน่วยงานสาธารณะที่ตั้งขึ้นเพื่อปกป้องอาคารประวัติศาสตร์ของประเทศ

สภา Hackney จึงขอให้ Tim Walder นักอนุรักษ์และเจ้าหน้าที่การออกแบบที่สภา Hackney รายงานเกี่ยวกับประวัติของสถานที่นี้ เพื่อทำความเข้าใจศักยภาพและข้อจำกัดของไซต์ก่อนที่จะมีการฟื้นฟู ซึ่ง Walder ได้ศึกษาสถานีแห่งนี้มาตั้งแต่ในปี 2015 

จนกระทั่งในฤดูใบไม้ร่วงปี 2020 ตามรายงานของ Walder สภา Hackney ได้ประกาศว่าจะทำการ mothballing สถานีด้วยความหวังว่าจะปกป้องสถานี
ต่อไปในอนาคต โดยหลังคาและรางน้ำจะได้รับการซ่อมแซม หน้าต่างและประตูจะถูกติดตั้งใหม่ และท่อภายในที่เคยเก็บสารเคมีที่เป็นพิษจะถูกระบายออก

สถานีฆ่าเชื้อ Hackney Borough วันนี้ / Cr.ภาพ: Alan Denney / Flickr
Cr.https://www.amusingplanet.com/2021/09/hackney-borough-disinfection-station.html / KAUSHIK PATOWARY
Cr.https://www.smithsonianmag.com/history/hackney-smallpox-disinfecting-station-180977238/Jo Caird
Cr.https://www.hackneygazette.co.uk/news/how-bed-bugs-vermin-and-fleas-were-zapped-in-hackney-3622918 / Emma Bartholomew

(ขอขอบคุณที่มาของข้อมูลทั้งหมดและขออนุญาตนำมา)

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่