JJNY : ธ.โลกหั่นGDPไทย เหลือ1%│ราชกิจจาฯประกาศขยายเพดานหนี้│‘ขอนแก่น’ท่วมหนักสุดในรอบ10ปี│การไฟฟ้าฯเตือนพื้นที่เสี่ยง

ธ.โลกหั่นจีดีพีไทยปี 64 เหลือโต 1% คาดหนี้สาธารณะปีหน้าขยับแตะ 62%
https://www.thansettakij.com/money_market/497554
 
 
ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) หั่นเป้าเศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือโต 1% จากผลกระทบโควิด-การกระจายวัคซีนและเปิดรับนักท่องเที่ยวช้าลง คาดใช้เวลาฟื้นตัว 3 ปี โดยคาดเศรษฐกิจไทยปี 65 จะขยับโต 3.6%
 
28 ก.ย.64 นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยว่า ธนาคารโลกได้ปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปี 64 เหลือ 1% จากเดิมเมื่อเดือนก.ค.64 ที่คาดการณ์ไว้ 2.2% เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19  และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวที่ 3.6% ในปี 65 โดยคาดว่าเศรษฐกิจของไทยจะใช้เวลาในการฟื้นตัวราว 3 ปี
 
 "เหตุที่เราปรับลดจีดีพีไทยปีนี้ลงมาอยู่ที่ 1% มองว่าเศรษฐกิจจะใช้เวลาในการฟื้นตัวมากขึ้น หลังเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ช้าลง" นายเกียรติพงศ์ กล่าว
 
สาเหตุที่ระบบเศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวช้าลงอีก เนื่องจากการกระจายวัคซีนล่าช้า โดยคาดว่าการฉีดวัคซีนจะครอบคลุมประชากร 70% ได้ราวกลางปี 65 ซึ่งมีผลต่อการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แม้สถานการณ์การท่องเที่ยวในปีนี้จะดีกว่าปีก่อนหลังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาแล้วแต่ยังมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ที่มีจำนวนราว 44 ล้านคน โดยหลังจากฉีดวัคซีนได้ครบตามเป้า 70% แล้วคาดว่าในปีนี้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาจำนวน 1.7 ล้านคน
 
"ส่งออก"กลไกหลักขับเคลื่อนศก.
 
โดยกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจส่วนใหญ่มาจากการส่งออก หลังการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าที่เป็นตลาดส่งออก เนื่องจากมีความต้องการเพิ่มขึ้นแต่มีข้อจำกัดในการเดินทาง แต่การส่งออกยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องปัญหาคอขวดของระบบห่วงโซ่การผลิตและระบบโลจิสติกส์
 
ขณะที่การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนจะเริ่มทยอยฟื้นตัว ดังนั้นการใช้มาตรการด้านการคลังจะมีส่วนช่วยหนุนภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการปรับขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% ของจีดีพี เพิ่มเป็น 70% ของจีดีพี ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐมีพื้นที่ด้านการคลังเพียงพอที่จะประคับประคองระบบเศรษฐกิจ โดยคาดว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะน่าจะขยับจาก 43% ในปีนี้ไปอยู่ที่ 62% ในปีหน้า
 
"การขยายเพดานหนี้ จะเพิ่มโอกาสในการประคับประคองเศรษฐกิจในระยะสั้น เพิ่มการลงทุนในระยะกลาง ทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะเพิ่มไปกว่า 60% เป็นการชั่วคราว หลังฟื้นเศรษฐกิจได้แล้วก็จะลงมาต่ำกว่า 60%"
 
นายเกียรติพงศ์ กล่าวต่อว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศไทยส่วนใหญ่มาจากเงินกู้ในประเทศจึงมีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งหลังจากมีการขยายเพดานหนี้สาธารณะแล้วจะต้องดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพด้านการคลังในระยะกลาง กล่าวคือ การใช้เงินกู้ต้องมีความโปร่งใส จะมีการลงทุนอย่างไร จะมีมาตรการเยียวยาอย่างไร ซึ่งต้องมีการใช้เงินกู้ให้ตรงจุด เช่น การช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME เป็นต้น
 
คาดเศรษฐกิจจีนปีนี้โต 8.5%
  
นอกจากนี้ธนาคารโลกยังได้ปรับลดคาดการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก โดยรายงาน "East Asia and Pacific Fall 2021 Economic Update" ระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา และคาดว่าปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจอ่อนแรงลง และเพิ่มความไม่เท่าเทียมกันในภูมิภาคเหล่านี้
 
ธนาคารโลกได้ตัดสินใจปรับลดคาดการณ์ โดยคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 8.5% ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ที่เหลือในภูมิภาคจะขยายตัวเพียง 2.5% ซึ่งลดลงเกือบ 2% จากที่คาดการณ์ไว้ในเดือนเม.ย.ปีนี้
 
มานูเอลา เฟอร์โร' ประธานธนาคารโลกฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกำลังเผชิญกับความพลิกผันในอนาคต
 
ในปี 2563 นั้น ภูมิภาคแห่งนี้สามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ในขณะที่ภูมิภาคอื่น ๆ ยังไม่สามารถควบคุมได้ แต่ในปี 2564 นี้ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกำลังเผชิญกับยอดผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้น ซึ่งส่งให้การเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคอ่อนแอลง
 
รายงานของธนาคารโลกประมาณการว่า ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์นั้น จะสามารถฉีดวัคซีนได้กว่า 90% ของจำนวนประชากรในประเทศภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2565
 
อย่างไรก็ดี แม้ว่าการฉีดวัคซีนยังไม่สามารถขจัดการติดเชื้อโควิด-19 ให้หมดไป แต่ก็จะทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะทำให้หลายประเทศสามารถกลับมาเปิดเศรษฐกิจได้อีกครั้ง
 
"การฉีดวัคซีนและตรวจหาเชื้อเพิ่มขึ้นเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น จะช่วยฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายประเทศอย่างเร็วที่สุดในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 และจะเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจให้ขยายตัวเป็นสองเท่าในปีหน้า แต่ในระยะยาวนั้น มีแต่เพียงการปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงลึกเท่านั้นที่จะสามารถป้องกันการชะลอตัวของเศรษฐกิจและความไม่เท่าเทียมได้" อทิตยา แมททู หัวหน้านักเศรษฐกิจประจำเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของธนาคารโลกกล่าว
 
ทั้งนี้ ธนาคารโลกได้แนะนำทางออก 4 ประการสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกในการรับมือกับยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่สูงขึ้น ซึ่งได้แก่ การแก้ไขปัญหาความลังเลที่จะฉีดวัคซีนและการจำกัดการแจกจ่ายวัคซีน, การเพิ่มศักยภาพในการตรวจหาเชื้อและติดตามผู้ติดเชื้อ, เพิ่มการผลิตวัคซีนในภูมิภาค และเสริมสร้างระบบสาธารณสุขในท้องถิ่นให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น
  

 
ราชกิจจาฯประกาศแล้ว ขยายเพดานหนี้สาธารณะไม่เกิน 70% ต่อจีดีพี
https://www.prachachat.net/finance/news-770630
 
มีผลแล้ว ! ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ขยายสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ไม่เกินร้อยละเจ็ดสิบ
  
วันที่ 28 กันยายน 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่อง กำหนดกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ลงนามโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ
ประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (4) ประกอบมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 และมติคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐในการประชุม ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 20 กันยายน2564 จึงยกเลิกความใน (1)ของประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่อง กำหนดกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2561 และให้ใช้ความดังต่อไปนี้แทน
 
“(1) สัดส่วนหนี้สาธารณะ ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ต้องไม่เกินร้อยละเจ็ดสิบ”
 
ทั้งนี้ ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2564
  
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบให้มีการทบทวนกรอบสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จากเดิมที่กำหนดไว้ว่าต้องไม่เกิน 60% เป็นต้องไม่เกิน 70%
 
ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่ทางการคลังให้กับรัฐบาล และไม่เป็นอุปสรรคหากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อดำเนินนโยบายการคลังในระยะปานกลาง โดยยังคงมีความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในเกณฑ์ดี
 

  
‘ขอนแก่น’ท่วมหนักสุดในรอบ10ปี เร่งอพยพชาวบ้าน-รอรับมวลน้ำชี
https://www.dailynews.co.th/news/320766/

ขอนแก่นอ่วม อ.มัญจาคีรี ท่วมหนักสุดในรอบ 10 ปี สูงระดับเอว สั่งเร่งอพยพชาวบ้านไปพื้นที่ปลอดภัย พ่อเมืองขอนแก่น เผยเตรียมพร้อมรับมวลน้ำจากแม่น้ำชีเข้าพื้นที่ใน 3 วัน 

เมื่อวันที่ 28 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมใน จ.ขอนแก่น ว่า ระดับน้ำในเขตเทศบาล ต.มัญจาคีรี อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น ยังคงท่วมขังพื้นที่ในเขตเมืองอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงค่ำของเมื่อวานนี้ (27 ก.ย.) โดยเฉพาะถนนหน้าเมือง ซอย 10 เขตเทศบาลตำบลมัญจาคีรี ระดับน้ำท่วมกว่า 1 เมตร เลยระดับเอวมา ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา ทีมเจ้าหน้าที่กู้ภัย และทหาร รวมไปถึง เจ้าหน้าที่อส.ได้เร่งอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ และนำมาไว้ในจุดที่ปลอดภัยขณะที่บริเวณที่ว่าการอำเภอมัญจาคีรี ยังคงมีระดับน้ำท่วมสูงกว่า 50 ซม.การให้บริการประชาชนในด้านต่างๆ ยังคงไม่สามารถที่จะให้บริการได้
 
นายมงคล สุขเจริญ ชาว อ.มัญจาคีรี กล่าวว่า เหตุการณ์น้ำท่วม อ.มัญจาคีรี นั้นครั้งนี้หนักที่สุดในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมาเคยมีน้ำท่วมบ้างแต่ไม่หนักและขยายวงกว้างขนาดนี้ น้ำที่ไหลท่วมนั้นไหลลงมาจากเทือกเขาภูเม็ง เป็นผลกระทบมาจากพายุที่พาดผ่านพื้นที่ จ.ขอนแก่น 2 ลูกตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมวลน้ำได้ไหลท่วมพื้นที่เขตเทศบาลอย่างรวดเร็วเพิ่มระดับความสูงและขยายวงกว้างครอบคลุมทั้งเขตพื้นที่เศรษฐกิจและชุมชนเมืองในภาพรวมซึ่งน้ำที่ไหลลงมาท่วมขณะนี้นั้นจะไหลลงบึงกุดเค้า และไหลลงสู่แม่น้ำชี ตามลำดับ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางเทศบาลฯได้กำหนดพื้นที่ที่ปลอดภัยไว้ที่วัดโพธิ์กลางในการอพยพประชาชนทีได้รับผลกระทบมาพักในจุดดังกล่าวซึ่งตลอดทั้งคืนเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายได้ทำการอพยพกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงและประชาชนที่บ้านถูกน้ำท่วมได้มาพักค้างคืน จนกว่าสถานการณ์น้ำจะลดระดับลง ขณะที่จากการวัดระดับน้ำล่าสุด เช้านี้ในเขตเทศบาลระดับน้ำสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 5 ซม. หรือระดับหัวเข่า ขณะที่ฝั่งแม่น้ำชี ระดับน้ำจะแตะระดับถึงตลิ่งอีกประมาณ 30 ซม.
  
ด้าน นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่าเจ้าหน้าที่ได้เร่งให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม โดยพื้นที่ อ.มัญจาคีรี  ได้รับผลกระทบน้ำท่วมจากน้ำที่ไหลมาจากเทือกเขาภูเม็งที่ไหลมาตามทางระบายน้ำและไหลเข้าท่วมพื้นที่อย่างรวดเร็ว โดยขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ คู่ขนานไปกับการระบายน้ำจากเขตชุมชน ด้วยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำผันน้ำลงสู่บึงกุดเค้าและลงสู่แม่น้ำชีตลอดทั้งวัน อย่างไรก็ตามคาดว่า ตามแผนการระบายน้ำของชลประทานนั้น คาดว่ามวลน้ำจากแม่น้ำชี จะเข้าเขตขอนแก่น ในอีกประมาณ 3 วันต่อจากนี้ การเตรียมการรับมือในภาพรวมของจังหวัดนั้นพร้อมทั้งหมดแล้ว.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่