จะเผยแพร่วัฒนธรรมไทย ต้องดึงลงจาก "หิ้ง" ให้ได้ก่อน

**เนื้อความในกระทู้นี้มาจากบทความที่ผมเคยเขียนลงนิตยสารคู่สร้างคู่สม ฉบับที่ 962 ประจำวันที่ 10-20 ตุลาคม 2559 แต่เอามาเพิ่ม มาลด ดัดแปลงนิดหน่อย**

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

ไม่กี่วันมานี้เพิ่งมีดราม่ากันในโลกออนไลน์ เมื่อมีเอ็มวีตัวหนึ่งที่เกี่ยวกับการโฆษณาการท่องเที่ยวไทยโดยอาศัยตัวละคร ทศกัณฐ์ จากเรื่องรามเกียรติ์ โดยเนื้อหาในเอ็มวีนั้นเป็นการให้คนใส่ชุดโขนของทศกัณฐ์ออกไปท่องเที่ยวและไปสนุกสนานตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ของไทย ซึ่งก็มีคนที่ไม่เห็นด้วยเพราะเห็นว่าหัวโขน หรือตัวทศกัณฐ์นั้นเป็นของสูง เป็นของมีครู ไม่สมควรที่จะเอามาทำในเชิงขบขัน เบาสมองแบบนี้ และล่าสุด เมื่อไม่กี่วันมานี้ ก็มีประเด็นใน MV เพลง LALISA ของลิซ่า ที่มีฉากสวมรัดเกล้า (ที่บางคนมองว่าเป็นชฎา) ไปเต้น ก็มีคนมองว่าไม่เหมาะสมอีก

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
ผมได้ข่าวนี้แล้วก็ได้แต่ถอนหายใจ ไม่ใช่ว่าผมไปลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือไม่เห็นความสำคัญของวัฒนธรรมไทยอะไร แต่เพราะผมเห็นความสำคัญนั่นแหละถึงได้คิดแบบนี้ ผมว่าที่วัฒนธรรมไทยเราไม่ได้แผ่ขยายไปทั่วโลกหรือเป็นอีกหนึ่งในวัฒนธรรมหลักของโลก มันเป็นเพราะแบบนี้ครับ

เพราะว่า พอมีใครก็ตามเอาวัฒนธรรมไทยมาประยุกต์หรือมาผสมผสานเข้าไปในอะไรก็ตามที่มันเป็นแบบสมัยใหม่ อย่างเช่นเคยมีคนออกแบบตัวละครในเกมที่สวมเทริดมโนราห์ ก็มีคนออกมาวิจารณ์ว่าไม่เหมาะสม เพราะเทริดมโนราห์เป็นของสูง จะเอาลงมาให้ตัวละครในเกมสวมใส่ไม่ได้ ออกแนวเดียวกับทศกัณฐ์ในเอ็มวีนี้เหมือนกัน ก็คิดแบบนี้ ทำแบบนี้แล้วเมื่อไรศิลปวัฒนธรรมไทยมันจะเผยแพร่ออกไปได้ล่ะครับ ลองคิดดูนะ ถ้าสมมติตัวละครตัวนั้นได้เผยแพร่ออกไป แล้วมีคนต่างชาติได้เล่น เขาก็จะเกิดความสนใจแล้วว่า “เฮ้ย! ตัวละครตัวนี้มันใส่หมวกอะไรวะ แปลกดี” อาจจะเอาไปต่อยอดค้นคว้าเพิ่มเติมทำให้คนต่างชาติรู้จักว่านี่คือเทริด แล้วก็จะรู้เพิ่มไปอีกว่าเอาไว้ใช้ในการแสดงมโนราห์ของไทย
                
ประเทศเรารับพวกละคร ซีรีส์ของญี่ปุ่นเข้ามาฉายนานมากแล้ว ตามมาด้วยเกาหลีที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในตอนนี้ แต่เราลองสังเกตดูให้ลึกนะครับ มองข้ามฉากฟิน ๆ จิกหมอนของพระเอกนางเอกออกไปแล้วเราจะค้นพบอะไรบางอย่างที่มันอยู่ในนั้น

ปีศาจคาบูกิ จากขบวนการไดเรนเจอร์
การเผยแพร่วัฒนธรรมไงครับ ขอยกตัวอย่างญี่ปุ่นก่อน เขาไม่ได้ถือว่าวัฒนธรรม การแสดงโบราณต่าง ๆ ของเขาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่สูงจนลงมาแตะต้องไม่ได้ อย่างญี่ปุ่นมีละครที่เรียกว่า คาบูกิ เป็นของโบราณเลยแหละ ก็เคยมีคนเอามาทำเป็นปีศาจอยู่ในหนังขบวนการห้าสี หรือแม้แต่พระพุทธรูปไดบุตสึองค์ใหญ่ที่คะมะคุระนั่นแหละ ผมก็เคยเห็นแว้บ ๆ ในแอนิเมชั่นของเขามีการนำเอาองค์พระพุทธรูปมาทำเป็นปีศาจออกอาละวาดในเมืองกันเลยทีเดียว (แต่จำเนื้อเรื่องไม่ได้แล้วว่าเป็นมายังไง เพราะตอนที่ดูยังเด็กมาก) หรือตามการ์ตูน ตามละครญี่ปุ่น เราก็จะเห็นฉากที่มีการสอดแทรกวัฒนธรรมลงไปแบบเนียน ๆ ถามจริง ๆ ที่เรารู้จักวัฒนธรรมญี่ปุ่นกันเนี่ยมันก็มาจากละคร การ์ตูนใช่มั้ย
                
ของเกาหลีก็เช่นกัน เขาก็ไม่ได้ทำรายการเผยแพร่วัฒนธรรมออกมาแบบโต้ง ๆ แต่ซีรีส์ของเขานั่นแหละครับคือรายการเผยแพร่วัฒนธรรมที่ทรงพลังที่สุด ผมเคยอ่านมาในหนังสือเล่มหนึ่งที่เขาเล่าว่าหลายสิบปีก่อน เกาหลีเป็นประเทศที่ยังไม่มีอะไรเลย คนก็ไม่ค่อยรู้จัก แถมบางคนยังนึกว่าเป็นจีนด้วยซ้ำไป รัฐบาลเกาหลีเลยส่ง “วัฒนธรรม” เป็นสินค้าออกเสียเลย โดยแทรกไปตามซีรีส์ต่าง ๆ ทั้งอาหาร ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีอะไรต่าง ๆ จนในที่สุดเกาหลีก็เป็นที่รู้จัก และเป็นที่นิยมไปทั่วโลก

เครดิตภาพ : https://tonkit360.com/77612
ในขณะที่ของไทยเรายังเน้นที่จะเผยแพร่วัฒนธรรมแบบตรง ๆ โต้ง ๆ หรือเวลาจะทำละครหรือสื่อบันเทิงที่มีวัฒนธรรมบางอย่างผสมอยู่ก็มักจะติดขัดเพราะเอาบางอย่างลงมาเล่นไม่ได้บ้าง ทำไปแล้วโดนวิจารณ์บ้าง สุดท้ายก็เลยกลายเป็นว่าวัฒนธรรม หรือแม้แต่บุคคลสำคัญของไทยบางท่านไม่ได้รับการเผยแพร่เท่าที่ควร คือผมก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องเอาศิลปะไทย หรือของไทยมาทำเป็นปีศาจ มาสร้างเป็นตัวร้ายอะไรขนาดนั้น แต่อย่างน้อย แค่เอามาใส่เต้น หรือเอามาสอดแทรกในสื่อบันเทิงบ้างอะไรบ้างก็ไม่น่าเสียหายอะไร
                
ที่พูดมานี่คืออยากจะให้แยกให้ออกว่าการลบหลู่กับการเอามาผนวกกับความเบาสมอง ความบันเทิงมันต่างกัน สำหรับผมแล้วการลบหลู่ก็คือการเหยียดหยามอะไรต่าง ๆ เช่น เอาเท้าเหยียบ ทำกิริยาไม่สุภาพ พูดจาดูถูกศิลปวัฒนธรรมบางอย่าง แต่การเอาวัฒนธรรมมาผนวกกับความบันเทิงหรือเบาสมองนี่มันไม่ใช่การลบหลู่เลยแม้แต่นิดเดียว ซ้ำยังจะทำให้วัฒนธรรมเข้าถึงคนได้มากขึ้นด้วยซ้ำ
                
หากยังยึดติดว่าวัฒนธรรมไทยมีครู มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยปกปักรักษาอยู่ จะเอาลงมาเล่นไม่ได้เด็ดขาด เช่นนั้นก็ปล่อยวัฒนธรรมให้ฝุ่นเกาะอยู่บนหิ้งต่อไปเถอะ อย่าคิดที่จะเผยแพร่อีกเลย 
               
 
คนที่อ้างถึงบรมครูทางศิลปะ ผมว่าบรมครูท่านจะดีใจด้วยซ้ำที่ศิลปวัฒนธรรมไทยได้รับการเผยแพร่ออกไป
แก้ไขข้อความเมื่อ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 9
ดีครับที่ทีคนเริ่มประเด็นนี้ซะที  ที่จริงก็มีมาก่อนแล้วในหลายๆเรื่อง เมื่อย้อนไปหลายปี
บริบททางวัฒนธรรมของแต่ละประเทศไม่เหมือนกันก็จริง การนำศิลปวัฒนธรรมหรือศาสนามาเล่นมาใช้หรือนำมาประกอบก็ต่างกันคับ
ของที่ควรอนุรักษ์ ถ้าไม่พัฒนา ซักวันก็จะหายไป แต่การพัฒนา ก็ต้องไม่ทำให้คุณค่าของสิ่งเหล่านั้นโดน ทำลายไปด้วย

ซึ่งตรงนี้มันจะมีคนที่ค่อนข้างจะปสด.อยู่ 2 กลุ่มใหญ่ๆ  คือ  
1.กลุ่มที่ห้ามนำวัฒนธรรมไปรวมกับอะไรทั้งสิ้น ไม่ให้ทำอะไร กุจะอนุรักษ์แบบเดิมๆเท่านั้น
2.กลุ่มคนที่อยากเอาวัฒนธรรมไปยำรวมแบบปู้ยี่ปู้ยำ กุคนรุ่นใหม่ สมัยใหม่ ต้องการอะไรใหม่ๆ

คือมันสุดโต่ง ไปทั้ง 2 ประเภท ก็เลยอยากจะเปรียบเทียบเช่นโบราณสถานซักแห่งซักที่
1.กลุ่มแรกก็อยากจะให้เป็นไปตามแบบเดิมๆ ไม่ให้ปรับปรุงเพราะกลัวจะไปทำลายคุณค่าของมัน ซักวันมันก็จะพังลงมา
2.กลุ่ม 2 ก็เห็นว่าจะพังละก็ไปรื้อออกมาเพราะมันจะพังลงมาอันตรายคนอื่นให้ติดไว้ดูแค่รูปก็พอเอาที่ตรงนั้นไปทำอย่างอื่นดีกว่า

ซึ่งมันก็จะเถียงกันด้วยความ ปสด.ก็อยู่แค่นั้น แล้วก็ไม่ได้มองคนอีกกลุ่มที่อยากจะอนุรักษ์พร้อมๆกับพัฒนาไปด้วยเลย คือ 2 กลุ่มนี้ก็จะไม่ค่อยยอมรับความคิดต่างซักเท่าไหร่

อยากยกให้เห็นสภาพของเมืองประวัติศาสตร์อย่างพระนครศรีอยุธยาก็กลัวจะพิมพ์รายละเอียดไม่ครบซักเท่าไหร่
ตอนนี้ในเกาะเมืองกำลังเละหรือเละมานานแล้วก็มิทราบได้ เพราะ 2 กลุ่มที่ว่า แต่มีกลุ่ม 3 ที่อยากพัฒนาไปพร้อมๆกับอนุรักษ์แต่ก็เสียงไม่ดังพอ หรือมีจำนวนน้อยกว่า  ได้มีโอกาสไปเที่ยวชมและพักอยู่ภายในเกาะเมืองก็เห็นสภาพเมืองแล้วมีทั้งสลัมและตึกที่บดบังโบราณสถานต่างๆ รุกล้ำเขตโบราณสถาน สิ่งปลูกสร้างที่เป็นรูปแบบสมัยใหม่ไม่เป็นแนวทางเดียวกับเมือง  กลับกันการพัฒนาเมืองก็ไม่ขยับไปไหนเพราะ ทำอะไรมากก็ไม่ได้บนฟุตบาทหญ้าเยอะมาก ผิวฟุตบาทพังเพราะต้นไม้ไม่สามารถตัดได้เพราะต้องแจ้งศิลปากร และวัดวาอารามที่ไม่ได้รับการบูรณะก็ยังมีอีกพอสมควร

สุดท้ายคับ การเผยแพร่วัฒนธรรมไทย ไม่จำเป็นต้องยกลงจากหิ้งคับ แต่ต้องยกระดับตัวเองขึ้นไปให้เท่ากันกับหิ้งที่ไม่มีอะไรมากั้นไว้ครับ  วัฒนธรรมไม่ใช่สิ่งต้องห้ามพัฒนา
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่