JJNY : จับตา!ร่างกม.สธ.นิรโทษกรรมตัวเอง│ร้องศาลแพ่งซ้ำ ห้ามจนท.ทำร้าย│โลกจับตาโควิดคลอมเบีย│คอนเฟิร์ม‘ไข่ไก่สด’แพงขึ้น

จับตา! ร่างกฎหมาย สธ. นิรโทษกรรมตัวเอง จัดหา 'วัคซีน' พลาดไม่ผิด
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/953589

 

ฮอตโซเชียล จับตา! ร่างกฎหมาย สธ. นิรโทษกรรมตัวเอง จัดหา "วัคซีน" พลาดไม่ผิด
 
กลายเป็นประเด็นในโซเชียลออนไลน์ กรณี ส.ส.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร พรรคก้าวไกล เปิดประเด็นเรื่องร่างออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบกึ่งเหมาเข่ง ให้กับคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดหา และบริหารวัคซีนโควิด
 
ส.ส.วิโรจน์ เปิดเผยว่า ได้รับเอกสารการนำเสนแนวทางในการปรับปรุงกฎหมายเพิ่มเติม เพื่อคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์สำหรับการปฏิบัติงานตามข้อสังการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นเอกสารฉบับทางการหรือไม่ เป็นเอกสารฉบับล่าสุดหรือเปล่า ปัจจุบันได้มีการแก้ไข ปรับปรุงอะไรไปบ้างแล้วหรือไม่
 
จากเอกสารที่ได้รับ ขออนุญาตให้ทรรศนะของผม ในเบื้องต้นก่อนดังนี้ ส่วนข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร คงต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจง เพื่อให้สังคมเกิดความกระจ่างอีกครั้งหนึ่งต่อไป
 
โดยแนวคิดสำคัญของเอกสารนำเสนอฉบับนี้ คือ การตรากฎหมาย พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ.
 
โดยหลักการแล้ว ในสถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้ การจำกัดความรับผิดทั้งทางอาญา และแพ่ง ให้กับแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข ที่ปฏิบัติด่านหน้า ที่ทำงานเต็มความสามารถ โดยสุจริต และไม่ได้เลือกปฏิบัติ ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด นั้นเป็นสิ่งที่ควรทำอยู่แล้ว
 
แต่ข้อเท็จจริงหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ การที่สถานการณ์การแพร่ระบาดเกิดขึ้นรุนแรงอยู่ที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนหนึ่งมาจากการตัดสินใจเชิงนโยบาย ทั้งๆ ที่ควรจะคาดการณ์ได้ล่วงหน้าอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น
 
1) การไม่กระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีน
2) การจัดฉีดวัคซีนที่ล่าช้า ขาดการวางระบบในการจัดการ และการบริหารฐานข้อมูลที่ดี
3) การเบิกจ่ายงบประมาณในการเตรียมความพร้อม ทั้งด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา และเวชภัณฑ์ต่างๆ ที่จำเป็น ที่ขาดประสิทธิภาพ ดูเบาต่อสถานการณ์
ฯลฯ
 
ซึ่งประเด็นต่างๆ ข้างต้น นี้เป็นที่สงสัยจากภาคประชาชนว่า เป็น สาเหตุสำคัญ ที่ทำให้ประชาชนต้องล้มตายเป็นจำนวนมาก ต้องตายคาบ้าน ตายกลางถนน ซึ่งเป็นความสูญเสียอย่างที่ไม่ควรจะเป็น ทำให้เด็กตัวเล็กๆ เพียงไม่กี่ขวบปี หลายคน ต้องเป็นกำพร้า และจะไม่ได้รับโอกาสที่จะได้กอดพ่อแม่ของพวกเขาอีก และความเสียหายทางเศรษฐกิจที่มากมายเหลือคณานับ หลายคนต้องสิ้นเนื้อประดาตัว แถมยังต้องแบกหนี้สินที่ล้นพ้นตัวอีก
 
ซึ่งควรต้องมีการสอบสวนข้อเท็จจริง ไม่ควรที่จะออกกฎหมาย "นิรโทษกรรมแบบกึ่งเหมาเข่ง" แบบนี้
 
ในข้อที่ 7. ที่จะคุ้มครองให้บุคคล และคณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้ง หรือมอบหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหา หรือบริหารวัคซีน ซึ่งควรจะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาล ประชาชนทุกข์ยากแสนสาหัส นั้นมีความเกี่ยวข้องกับบุคคล หรือคณะบุคคลเหล่านี้หรือไม่
 
ข้อยกเว้น ที่กฎหมายนี้จะไม่คุ้มครอง ที่มีอยู่เพียง 3 ข้อ ได้แก่
 
- การกระทำโดยไม่สุจริต
- การกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
- การกระทำเกิดจากการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม
 
เป็นข้อยกเว้นที่กว้างเกินไป และในทางปฏิบัติ ก็สามารถอ้างได้อยู่แล้ว ว่าทำโดยสุจริต มีคณะร่วมตัดสินใจอย่างนั้นอย่างนี้ เพื่อให้คนพ้นจากความรับผิดได้อยู่แล้ว
 
หากจำเป็นต้องมี พ.ร.ก.ฉบับนี้ ก็ควรจะคุ้มครองเฉพาะผู้ที่ปฏิบัติงานด่านหน้า ที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายเท่านั้น
 
แต่ไม่ควรคุ้มครอง บุคคล หรือคณะบุคคลที่มีหน้าที่ตัดสินใจในการจัดหา และบริหารจัดการวัคซีน ซึ่งหากดำเนินการด้วยความสุจริตจริง กระบวนการยุติธรรม ตามปกติ ก็คุ้มครองอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายกึ่งนิรโทษกรรมล่วงหน้า แบบที่คณะรัฐประหารใช้ แบบนี้
 
การกระทำ หรือการตัดสินใจใดๆ ที่ไม่สอดคล้องกับหลักวิชา หรือไม่นำพาผลการศึกษาวิจัยที่เป็นปัจจุบัน ไม่ใส่ใจในคำทักท้วงของผู้รู้ หรือสมาคมวิชาชีพ ถือดีว่าตนเป็นผู้มีคุณวุฒิสูง ก็เอาอัตตาของตนเองเป็นที่ตั้ง นำเอาชีวิตของประชาชนมาเดิมพัน ย่อมไม่ควรได้รับความคุ้มครองให้ปราศจากความรับผิดตามกฎหมาย
 
ส่วนจะถูก หรือผิด กระบวนการยุติธรรม โดยศาลยุติธรรม ท่านก็จะวินิจฉัยเองว่า ควรได้รับโทษทางอาญา หรือทางแพ่ง หรือไม่ อย่างไร
 
การออกกฎหมายกึ่งนิรโทษกรรมให้กับคณะบุคคลที่มีหน้าที่ในการตัดสินใจเชิงนโยบายที่สำคัญแบบนี้ หากในอนาคต เราพบข้อเท็จจริงที่เป็นกรณีบกพร่องอย่างร้ายแรง หรือกรณีที่เล็งเห็นถึงหายนะที่เกิดขึ้นได้ แต่เพิกเฉย ลอยชายตามระบบรัฐราชการรวมศูนย์ เห็นชีวิตประชาชนเป็นผักปลา แล้วเราจะให้ความเป็นธรรมกับประชาชนที่ตายไปได้อย่างไร
 
"เราจะมีหน้า มองตาของเด็กๆ ที่ต้องกำพร้าพ่อแม่ ได้อย่างไร เห็นด้วยให้คุ้มครองเฉพาะบุคลากรคนด่านหน้า อย่านิรโทษล่วงหน้า ให้กับผู้ที่มีหน้าที่ในการตัดสินใจเชิงนโยบาย" ส.ส.วิโรจน์ ระบุ
 
https://www.facebook.com/wirojlak/posts/348310693487571
 

 
ร้องศาลแพ่งซ้ำ ขอคุ้มครองชั่วคราว ห้าม จนท.ยิงกระสุนยาง-ทำร้ายสื่อ ปชช. ชี้ม็อบ 7 สิงหาฯยังปราบรุนแรง
https://www.matichon.co.th/local/crime/news_2875155
 
ร้องศาลแพ่งซ้ำ ขอคุ้มครองชั่วคราว ห้าม จนท.ใช้กำลังรุนแรงยิงกระสุนยาง สลายการชุมนุม ทำร้ายสื่อ-ปชช. หลังศาลเคยยกร้อง แต่ม็อบ 7 สิงหาฯยังปราบรุนแรง
 
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 9 สิงหาคม ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วยสื่อมวลชนผู้ได้รับผลกระทบจากการเข้าสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา นำโดยผู้สื่อข่าวจาก voice TV, The matter และ Plus Seven เดินทางเข้ายื่นคำร้องขอให้ศาลคุ้มครองฉุกเฉินอีกครั้ง เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพ และสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยการชุมนุมต่อจากนี้ ที่มีแนวโน้มอันสามารถคาดหมายได้ว่าจะได้รับความเสียหายจากการใช้กำลังสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐต่อไป
 
โดยคำร้องขอคุ้มครองดังกล่าวคือ
 
1. ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน มีคำสั่งห้ามเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนใช้ความรุนแรง เช่น ใช้อาวุธปืนกระสุนยาง แก๊สน้ำตา ฉีดน้ำผสมสารเคมี ทำร้ายร่างกาย โจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชนที่สวมปลอกแขนสีขาวหรือสัญลักษณ์อื่นที่แสดงว่าเป็นสื่อมวลชน รวมทั้งประชาชนผู้มาชุมนุม หรือกระทำการใดอันเป็นการขัดขวาง คุกคาม ข่มขู่ จำกัดพื้นที่การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน
 
2. ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน สั่งการเจ้าพนักงานตำรวจปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน
 
3. ขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน และเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนสลายการชุมนุมโดยขัดต่อหลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย และหลักการดูแลการชุมนุมสาธารณะตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เนื่องจากโจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชนย่อมได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมด้วย
 
ด้านนายสัญญา เอียดจงดี ทนายความภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน บอกว่า วันนี้เป็นการมายื่นให้ศาลแพ่งมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวอีกครั้ง หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนจะมีการชุมนุมวันที่ 7 ส.ค ตนและสื่อมวลชนได้มายื่นไปแล้ว 1 ครั้ง แต่ศาลกลับยกคำร้อง ด้วยเหตุผลที่ระบุว่ายังไม่มีข้อมูลว่า จะมีการสลายการชุมนุมโดยความรุนแรง และยังคงเป็นไปตามกฎหมายที่กำหนด แต่ก็เห็นได้ชัดเจนว่าการสลายการชุมนุมวันที่ 7 ส.ค.มีการใช้ความรุนต่อสื่อมวลชนและประชาชนเกิดขึ้น
 
นายสัญญากล่าวว่า ขณะเดียวกันวันนี้ได้พาสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 7 ส.ค. ซึ่งได้รับความเสียหายจากการสลายการชุมนุมเข้ามาร้องศาลเพิ่มเติม รวมทั้งนำเอกสารหลักฐานพยานต่างๆ ที่ระบุถึงเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติไปตามขั้นตอนของกฎหมายในการสลายการชุมนุม พร้อมยืนยันว่าการร้องศาลครั้งนี้จะมุ่งไปยังการคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน รวมถึงประชาชนก็จะได้รับการคุ้มครองไปด้วย
 
โดยขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาคำร้อง
 

 
โลกจับตาโควิด-19 สายพันธุ์โคลอมเบีย “หลบภูมิคุ้มกันวัคซีนได้”
https://www.pptvhd36.com/news/สุขภาพ/153648

ทั่วโลกเริ่มให้ความสนใจโควิด-19 B.1.621 (โคลอมเบีย) หลังมีรายงานผลการทดลองในแล็บเบื้องต้นพบ หลบภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนได้
ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 6 ส.ค. ที่ผ่านมา โลกเกิดกระแสความสนใจเกี่ยวกับโควิด-19 สายพันธุ์ “B.1.621” หลังมีข่าวว่า ผู้สูงอายุในบ้านพักคนชราในเบลเยียมจำนวน 7 คน ซึ่งได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว เสียชีวิตจากการติดเชื้อสายพันธุ์ B.1.621 นี้
 
นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน สาธารณสุขอังกฤษ (PHE) ก็ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 สายพันธุ์ดังกล่าว โดยระบุว่า โควิด-19 B.1.621 เป็นโควิด-19 อีกหนึ่งสายพันธุ์ที่ “หลบภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อตามธรรมชาติและที่เกิดจากวัคซีนได้

โควิด-19 B.1.621 ถูกค้นพบครั้งแรกที่โคลอมเบีย เมื่อเดือน ม.ค. 2021 และถูกจัดให้อยู่ในโควิด-19 “สายพันธุ์ตรวจสอบเพิ่มเติม (Alerts for Further Monitoring)” โดยองค์การอนามัยโลกเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ทำให้ยังไม่มีการตั้งชื่อเรียกสายพันธุ์ด้วยอักษรกรีกอย่างเป็นทางการ

ในเอกสารของ PHE ระบุว่า “มีหลักฐานในห้องปฏิบัติการเบื้องต้นที่บ่งชี้ว่า ภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนและการติดเชื้อโควิด-19 อาจมีประสิทธิภาพน้อยลงในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ B.1.621 ... อย่างไรก็ตาม ข้อมูลยังมีจำกัด และจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า  B.1.621 สามารถแพร่เชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย)
 
PHE กล่าวว่า B.1.621 มีตำแหน่งการกลายพันธุ์ “ที่น่ากังวล” ที่พบในสายพันธุ์ที่เป็นอันตรายอื่น ๆ เช่น อัลฟา (อังกฤษ) เบตา (แอฟริกาใต้ และแกมมา (บราซิล) ได้แก่ ตำแหน่ง E484K, N501Y และ D614G ซึ่งเชื่อมโยงกับความสามารถการแพร่กระจายที่เพิ่มขึ้นและการป้องกันจากภูมิคุ้มกันที่ลดลง
  
ปัจจุบันพบการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ B.1.621 แล้วในอย่างน้อย 32 ประเทศทั่วโลก และกำลังเป็นที่จับตามองในหลายพื้นที่ว่า ควรมีการยกระดับความอันตรายของโควิด-19 สายพันธุ์นี้หรือไม่
 
โดยประเทศที่พบสายพันธุ์ B.1.621 มากที่สุดคือโคลอมเบีย มีสัดส่วนการระบาดประมาณ 15% ขณะที่สหรัฐฯ มีสัดส่วนการระบาดของสายพันธุ์ดังกล่าว 2% พบผู้ติดเชื้อแล้วเกือบ 500 รายกระจายใน 34 รัฐ ส่วนอังกฤษรายงานพบแล้ว 37 ราย
  
สำหรับประเทศไทยยังไม่พบการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์นี้ แต่จำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้ประเทศไทยที่บอบช้ำจากสายพันธุ์เดลตาอยู่แล้วต้องมารับมือ B.1.621 อีก โดยพื้นที่ที่ใกล้กับไทยแล้วพบการระบาดคือฮ่องกงและญี่ปุ่น พบที่ละ 2 ราย
  
เรียบเรียงจาก Outbreak Info / PHE / Reuters
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่