JJNY : 5in1 ภาคีนักกม.สิทธิฯเตรียมยื่นฟ้อง│นอนไบนารีไทยฯจี้รัฐ│‘อานนท์’นำราษฎรร้อง│“จตุพร”ชี้ปมลึก│“นิติธร”ซัดรัฐบาล

ภาคีนักกฎหมายสิทธิฯ เตรียมยื่นฟ้องสำนักงาน ตร.แห่งชาติ เรียกค่าเสียหายทางแพ่งปมสลายม็อบ
https://www.matichon.co.th/politics/news_3686709
 
 
ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเตรียมยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เรียกตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติไต่สวนกรณี คฝ.สลายการชุมนุมทำคนเจ็บอื้อ
 
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนจะยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งในวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้ เวลา 10.00  น. เพื่อขอให้ศาลเรียกตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาไต่สวนกรณี คฝ.ใช้ความกำลังสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง จนประชาชนจำนวนมากรวมทั้งสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บ และบาดเจ็บร้ายแรงจำนวนหลายราย โดยจะยื่นคำร้องต่อศาลในคดีแพ่ง หมายเลขดำที่ พ.3683/2564 ระหว่างนายธนาพล เกิ่งไพบูลย์ กับพวกรวม 2 คน เป็นโจทก์ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติเรียกค่าเสียหายในทางแพ่งจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 ซึ่งศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ว่า “ให้จำเลยที่ 1 ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการชุมนุมและสลายการชุมนุมโดยคำนึงความปลอดภัยของโจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชนภายใต้หลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชน” แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 18 พ.ย.65 ที่ผ่านมา คฝ.ยังคงใช้กำลังสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงและไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของสื่อมวลชนที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุม ซึ่งถือเป็นการละเมิดคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาล
 
ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ระบุว่านับแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา คฝ. ได้ใช้กำลังสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงและการใช้อำนาจเกินขอบเขตของกฎหมาย หากพิจารณาจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยาง นับแต่การชุมนุมในช่วงปี 2563-ปัจจุบัน มีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยาง เท่าที่มีข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, iLaw และ Mob Data Thailand จำนวนมากกว่า 65 ราย และเป็นการเล็งยิงกระสุนยางไปบริเวณศีรษะมากถึง 25 ราย โดยพบกรณีเด็กอายุ 13 ปี มีแผลที่กลางหน้าผาก และยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากกระสุนยางอย่างน้อย 5 ราย อยู่ในอาการอัมพาต 1 ราย นอกจากนี้ ยังมีเยาวชนที่บาดจากกระสุนยางโดยมีอย่างน้อย 5 รายที่ถูกกระสุนยางยิงช่วงศีรษะ และมีผู้ที่สูญเสียการมองเห็นจากการใช้กระสุนยางจากการปฏิบัติหน้าที่ของ คฝ. จำนวน 3 ราย ได้รับบาดเจ็บที่ดวงตาแต่ไม่สูญเสียการมองเห็นมากกว่า 5 ราย
 
แต่กลับไม่ปรากฏข้อมูลว่าการปฏิบัติหน้าที่ของ คฝ.ที่ก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าวได้ถูกสอบสวน ถูกตรวจสอบหรือดำเนินการทางวินัยใดๆ แม้คดีนี้จะมีการฟ้องศาลเพื่อขอให้ศาลใช้อำนาจตุลาการตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ คฝ. รวมทั้งตรวจสอบการควบคุมดูแลสั่งการของผู้บังคับบัญชา ตลอดจนนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  แต่ปัญหาการใช้ความรุนแรงของ คฝ.ต่อประชาชนและสื่อมวลชนก็ไม่ได้ถูกปรับปรุงแก้ไข ยังคงมีพฤติกรรมกระทำความผิดซ้ำซาก และก่อให้เกิดผลกระทบต่อทั้งผู้ชุมนุม สื่อมวลชน รวมถึงผู้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมมาอย่างต่อเนื่อง โดยปราศจากการแก้ไขปรับปรุงพฤติกรรมในการปฏิบัติหน้าที่ของ คฝ.อย่างจริงจังทั้งจากผู้บังคับบัญชาและจากนโยบาย
 
ภายหลังการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบของ จนท.คฝ. ก็ปรากฏว่ามีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ออกมาแถลงหรือให้ข้อมูลต่อสาธารณะว่ามีความจำเป็นต้องใช้กำลัง  และสื่อมวลชนต้องใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่  หรือแม้กระทั่งกล่าวโทษสื่อมวลชนว่าไม่อยู่ในพื้นที่ที่จัดไว้ให้ เป็นต้น โดยไม่เคยแสดงการขอโทษหรือแถลงมาตรการในการปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมของผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเอง และไม่เคยแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดกับประชาชนและสื่อมวลชนจากการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองและผู้ใต้บังคับบัญชาแต่อย่างใด โดยเฉพาะข้อมูลการดำเนินการสอบสวนทางวินัยกับ คฝ.ที่ใช้กำลังทำร้ายประชาชน หรือข้อมูลคำสั่งให้ คฝ.ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะได้รับการอบรมสั่งสอนให้ควบคุมอารมณ์ของตนเองให้ได้ก่อน  ข้อมูลเหล่านี้ ไม่เคยถูกแถลงให้ปรากฏต่อสาธารณชนจากผู้มีอำนาจบังคับบัญชาแต่อย่างใด



กลุ่มนอนไบนารีไทยฯ จี้รัฐแถลงขอโทษปมสลายม็อบ ชี้เอเปคจบด้วยคราบเลือดสร้างความอัปยศในปวศ.ชาติ
https://www.matichon.co.th/politics/news_3686674

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน กลุ่มนอนไบนารีแห่งประเทศไทย (NON-BINARY THAILAND) เผยแพร่แถลงการณ์ เรื่อง ‘รัฐบาลต้องแถลงขอโทษประชาชนอย่างเป็นทางการ กรณีใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมกลุ่มราษฎร หยุด APEC 2022’
 
ความดังนี้
 
จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กลุ่มราษฎรหยุด APEC 2022 ได้จัดชุมนุม ณ บริเวณลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร และมีแผนการเคลื่อนขบวนมวลชนไปยื่นหนังสือต่อผู้นำชาติต่างๆ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออกจากการเป็นประธานการประชุม Asia-Pacific Economic Cooperation(APEC) รวมถึงยกเลิกนโยบายความร่วมมือเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy หรือBCG) แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ได้ทำการขัดขวางและใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม มีการยิงกระสุนยาง ทำให้ผู้ชุมนุม สื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บหลายราย ทั้งยังมีผู้ชุมนุมถูกเจ้าหน้าที่จับกุม ดำเนินคดี 25 คน
 
กลุ่มนอนไบนารีแห่งประเทศไทย เห็นว่าการชุมนุมและการเดินขบวน เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกที่พึงได้รับความคุ้มครองตาม กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(ICCPR) และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 อีกทั้งกลุ่มราษฎร หยุด APEC 2022 มีการแจ้งการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 2558 แล้ว หากเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลการชุมนุมไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่ตกลงหรือกำหนดไว้ เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลการชุมนุมสามารถร้องขอต่อศาล เพื่อให้สั่งให้ยุติการชุมนุมได้ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจปฏิบัติการสลายการชุมนุมก่อนศาลมีคำสั่งได้ แต่ในกรณีนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายดังกล่าว ทั้งยังใช้วิธีสลายการชุมนุมที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล
กลุ่มนอนไบนารีฯ จึงมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้
 
1. ให้รัฐบาล และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลางสอบสวนการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย และจัดให้มีมาตรการชดเชยผู้ถูกกระทำความรุนแรงจากการสลายการชุมนุมทั้งหมด
 
2. ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งยุติการตั้งข้อกล่าวหาต่อผู้ชุมนุม และรัฐบาลต้องมีถ้อยแถลงขอโทษประชาชนอย่างเป็นทางการ พร้อมให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่มีการดำเนินคดีใดๆต่อผู้ชุมนุม โดยมุ่งหวังที่จะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการจัดการกับประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐ
 
ทั้งนี้โดยปกติทั่วไปในนานาประเทศ เมื่อมีการจัดประชุมความร่วมมือระหว่างผู้นำนานาประเทศเช่นนี้ การมีขบวนการภาคประชาสังคมในประเทศนั้นออกมาจัดการชุมนุมในพื้นที่จัดการประชุม ถือเป็นเรื่องปกวิสัย ในบางประเทศ เมื่อเป็นประเทศนั้นเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกับผู้นำชาติต่างๆในประชาคมแล้ว ยังได้จัดสัดส่วนผู้เข้าร่วมจากภาคองค์กรพัฒนาเอกชน(NGOs)ให้เข้าร่วมในการประชุมร่วมกับผู้นำชาติสมาชิกด้วย เช่นการประชุมUnited Nations Climate Change Conference หรือ the 2022 COP27 ประเทศอียิปต์ ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไป
 
หรือเมื่อปี2552 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมAssociation of South East Asian Nations หรือ ASEAN 2009 ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ณ ขณะนั้น ก็ได้ดำเนินการการจัดประชุม ASEN People Forum (APF) โดยที่เลขาธิการอาเซียนและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยในเวลานั้น(กษิต ภิรมย์) ได้เข้าพบภาคประชาสังคมกว่า1,000คนที่มาประชุมด้วยตนเองอีกด้วย

 ดังนั้นกลุ่มนอนไบนารีฯ จึงผิดหวังเป็นอย่างยิ่งต่อบทบาทของรัฐบาลในการทำหน้าที่จัดการประชุมAPEC ที่นอกจากไม่ให้ความสำคัญต่อเสียงของประชาชนแล้ว การเป็นเจ้าภาพการประชุมAPECโดยประเทศไทยครั้งนี้ยังจบลงด้วยคราบเลือด ความสูญเสียของประชาชน เท่ากับว่าการประชุมความร่วมมือระหว่างประเทศครั้งสำคัญนี้ ไม่ได้ให้ความสำคัญใดๆต่อประชาชนคนไทยผู้เป็นเจ้าของประเทศแม้แต่น้อย อันเป็นสิ่งที่น่าอัปยศอดสูในประวัติศาสตร์ชาติไทย
 
ด้วยความเคารพหลักการประชาธิปไตยและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
20 พฤศจิกายน 2565


 
‘อานนท์’ นำกลุ่มราษฎรร้อง กมธ. สอบสลายม็อบเอเปค นัดถกหาข้อเท็จจริง 24 พ.ย.
https://www.matichon.co.th/politics/news_3686844

‘อานนท์’ นำกลุ่มราษฎรร้องสภา สอบสลายม็อบเอเปค ด้าน กมธ.การเมืองฯจ่อถกหาข้อเท็จจริง 24 พ.ย.นี้
 
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ที่รัฐสภา ตัวแทนแนวร่วมราษฎร นำโดย นายอานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน นายบารมี ชัยรัตน์ แกนนำกลุ่มสมัชชาคนจน นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มราษฎรหยุดเอเปค 2022 ที่บริเวณถนนดินสอ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

นายบารมีกล่าวว่า การชุมนุมในวันดังกล่าว แกนนำได้แจ้งการชุมนุมตามกฎหมาย จึงเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้มีอำนาจอะไรมาขัดขวางไม่ให้ผู้ชุมนุมมุ่งไปสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และได้พยายามเรียกร้องให้ตำรวจถอนกำลังออกไป มาอยู่เคียงข้างประชาชน ขณะที่เหตุชุลมุนนั้นยืนยันว่าไม่ใช่การปะทะ แต่เป็นการที่เจ้าหน้าที่ทุบตีเอาเพียงฝ่ายเดียว และในครั้งที่ 3 มีการเปลี่ยนตัวเจ้าหน้าที่จากตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) เป็นอีกชุดหนึ่ง ที่ใส่ผ้าพันคอสีเขียวเข้ามาสลายการชุมนุม

ถ้าเห็นว่าการชุมนุมไม่ชอบ ก็ต้องไปร้องต่อศาลให้มีคำสั่งยุติการชุมนุม แต่นี่เป็นการใช้กำลังและอำนาจเถื่อนเข้ามาทำร้ายมวลชน จนกระทั่งมีคนบาดเจ็บสาหัสถึงขั้นเสียดวงตา ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยแบบนี้ และยังเป็นการใช้กำลังที่ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำของเรา” นายบารมีกล่าว

นายบารมีกล่าวต่อว่า ตัวแทนมวลชนจึงมาเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทั้งหมดซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม ตั้งแต่ผู้กำกับ สน.สำราญราษฎร์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบ.ชน.) รวมถึงนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นประธานจัดการประชุมเอเปค เข้ามาชี้แจง

ด้าน นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะประธาน กมธ. เป็นตัวแทนรับหนังสือ กล่าวว่า การชุมนุมของประชาชนย่อมเป็นสิ่งพึงกระทำได้ และประเทศไทยขณะนี้ไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว การชุมนุมสาธารณะก็เป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย ยกเว้นผู้นำเผด็จการเท่านั้นที่รับไม่ได้กับประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่างๆ ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ถือว่าเกินอัตราส่วนจำนวนของประชาชนที่ออกมาเรียกร้อง ทั้งยังขาดมาตรการสลายการชุมนุมจากเบาไปหาหนัก เปรียบเหมือนไม่ได้มีการฝึกอบรมอะไรกันมาเลย

นายณัฐชากล่าวว่า วันที่ 24 พฤศจิกายนนี้ กมธ.จะนำกรณีดังกล่าวบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม พร้อมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาสอบถามข้อเท็จจริงในประเด็นต่างๆ อีกทั้งเวลา 11.00 น. ก่อนการประชุมจะมีกลุ่มสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศที่ได้รับบาดเจ็บในการชุมนุมดังกล่าวมาส่งมอบพยานหลักฐานเอกสารต่างๆ ที่รัฐสภาด้วย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่