🇹🇭มาลาริน💙วันนี้(6ส.ค.)ป่วย21,379คน รักษาหาย22,172คน เสียชีวิต191คน/หมอชี้จุดหยุดระบาด/วัคซีนโควิดพ่นจมูกสัญชาติไทย



https://www.naewna.com/local/593040

ปูเสื่อ'หมอมนูญ'ยกเคสภูมิคุ้มกันหมู่'อินเดีย' ชี้ทุกคนในโลกต้องติดโควิด90%ถึงจะหยุดระบาด

วันศุกร์ ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2564, 08.39 น.


 
6 สิงหาคม 2564 นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียู เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า....
 
ประเทศอินเดียมีการแพร่ระบาดอย่างหนัก ช่วงเดือนพฤษภาคมปีนี้ มีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 วันละ 400,000 คน แต่ปัจจุบันเดือนสิงหาคม ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงเหลือวันละ 40,000 กว่าคน 

จากผลการวิจัยระดับประเทศสุ่มตรวจเลือดหาแอนติบอดีบ่งบอกถึงมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโควิดจากการติดเชื้อ พบคนอินเดีย 2 ใน 3 ของประชากร คือ 900 ล้านคนติดเชื้อตามธรรมชาติแล้ว พบติดเชื้อตั้งแต่อายุ 6 ปีขึ้นไปเกินครึ่งแล้วทุกอายุ (ดูรูป) บุคลากรทางการแพทย์มีแอนติบอดีร้อยละ 85  

มีคนอินเดียอีก 1 ใน 3 คือ 400 ล้านคนที่ยังไม่ติดเชื้อ อินเดียฉีดวัคซีนครบโดสแค่ร้อยละ 8 หรือประมาณ 100 ล้านคนเท่านั้น

จากรายงานอย่างเป็นทางการด้วยการตรวจหารหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโควิด ประเทศอินเดียพบผู้ติดเชื้อ 31.8 ล้านคน และคนเสียชีวิต 426,000 ราย ทั้ง 2 ตัวเลขนี้ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก คนอินเดียติดเชื้อไปแล้ว 900 ล้านคน ขนาดปรับจำนวนคนเสียชีวิตขึ้น 5 เท่า คือ 2.13 ล้านคน อัตราการเสียชีวิตของคนอินเดียที่ติดเชื้อไวรัสโควิดร้อยละ 0.24

ประเทศอินเดียรายงานพบไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้าครั้งแรกเดือนตุลาคม 2563 มีการศึกษาระดับประเทศสุ่มตรวจเลือดหาแอนติบอดีเดือนกุมภาพันธ์ และเดือนกรกฎาคม 2564  พบตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศอินเดียเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 21  คือ 270 ล้านคน เป็น 900 ล้านคนในเวลา 5 เดือน อีกไม่นานคนที่เหลือ 400 ล้านคนก็จะติดเชื้อ เมื่อนั้นโรคโควิดคงจะหยุดการแพร่ระบาด  
 
อัตราตายของโรคโควิดถูกประเมินว่าร้อยละ 1  อัตราตายจริงๆน่าจะต่ำกว่านั้น ดูสถิติของประเทศอินเดียอัตราตายของโรคโควิดประมาณร้อยละ 0.24 

สรุป: เหตุผลหลักที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อประเทศอินเดียขณะนี้ลดลง ก็เพราะคนอินเดียติดเชื้อแล้วมากกว่า 2 ใน 3  เชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้าแพร่เชื้อทางอากาศ ติดทางการหายใจ ติดต่อกันง่ายมากเหมือนเชื้อไวรัสโรคอีสุกอีใส ดูจากสถิติของประเทศอินเดียแล้ว เชื่อว่าทุกคนในโลกนี้คงต้องติดเชื้อไวรัสโควิดไม่ช้าก็เร็ว โรคนี้จะหยุดการแพร่ระบาดก็ต่อเมื่อมากกว่าร้อยละ 90 ของคนในประเทศติดเชื้อ เพราะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ตามธรรมชาติ และโรคนี้จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นเหมือนโรคไข้หวัดใหญ่
 
เราต้องยอมรับความจริงและทำใจวันหนึ่งคงติดเชื้อ ต่อให้มีการล็อกดาวน์ ป้องกันตัวเองเต็มที่ และฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม การฉีดวัคซีนไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อและการแพร่เชื้อ แต่ลดการป่วยหนักและการเสียชีวิตได้มากถึง 10 เท่าเมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้รับวัคซีน เพราะฉะนั้นขอให้ทุกคนรีบฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุดเพื่อป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตเมื่อติดเชื้อไวรัสโควิด-19

https://www.naewna.com/local/593044

เม่าอ่านหนังสือพิมพ์วัคซีนสู้โควิด "แบบพ่นจมูก" สัญชาติไทย


ความหวังเปลี่ยนเกมวิกฤต COVID-19 ด้วยวัคซีนแบบพ่นจมูก สัญชาติไทย กับ "ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา" ผู้เชี่ยวชาญไวรัสวิทยา ไบโอเทค สวทช.

ท่ามกลางวิกฤต COVID-19 ที่ยอดผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลายหน่วยงานเร่งวิจัยและพัฒนาวัคซีนซึ่งเป็นทางออกสำคัญในการแก้วิกฤตครั้งนี้ และขณะนี้ไทยกำลังมีความหวังใหม่ที่จะเข้ามาเปลี่ยนเกม COVID-19 ด้วยวัคซีนแบบพ่นจมูก
 
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) ระบุว่า ก่อนหน้านี้ประสิทธิภาพวัคซีนป้องกัน COVID-19 ที่หลายคนได้ยินคือ "กันตายแต่ไม่กันติด" เพราะไวรัส COVID-19 เข้าสู่ร่างกายผ่านระบบทางเดินหายใจ

ขณะที่วัคซีนที่ฉีดทางกล้ามเนื้อจะไปกระตุ้นภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี ชนิด ที-เซลล์ (T-cell) ในกระแสเลือดหรืออวัยวะต่าง ๆ และไม่ได้สร้างแอนติบอดีไปถึงบริเวณจมูกมากเพียงพอที่จะป้องกันไวรัสเข้าสู่ร่างกายได้ นวัตกรรมวัคซีนฉีดพ่นจมูกของทีม สวทช.จึงเกิดขึ้น 2 ชนิด

👉วัคซีนชนิด Adenovirus
วัคซีนตัวแรก คือ Adenovirus ที่มีการแสดงออกของโปรตีนสไปค์ (Spike) ออกแบบโดยการพ่นเข้าจมูกผ่านละอองฝอย ซึ่งวัคซีนนี้ได้ทุนวิจัยจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ โดยผลทดสอบหลังนำเชื้อ COVID-19 ฉีดในหนูทดลอง ที่ได้รับการพ่นวัคซีนแล้ว 2 เข็ม พบว่าหนูทดลองไม่มีอาการป่วย หรือตายใด ๆ ทั้งยังกินอาหารได้ปกติ และน้ำหนักไม่ลด

เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ ที่ฉีดวัคซีนเข้ากล้าม พบว่าหนูไม่มีอาการป่วย หรือตายเช่นกัน แต่มีน้ำหนักตัวลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ขณะนี้ทีมวิจัยอยู่ระหว่างดูข้อมูลปริมาณไวรัสที่อยู่ในปอดว่ามีมากน้อยเพียงใด เพื่อนำข้อมูลไปเสนอ อย.ขอนุมัติการทดสอบในมนุษย์เฟส 1 และ 2 ต่อไป

ทั้งนี้ สวทช.ได้ประสานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เพื่อจับมือทำการทดสอบในมนุษย์ พร้อมประสานบริษัทเอกชน KinGen BioTech ที่มีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน เพื่อนำวัคซีนไปใช้ทดสอบได้จริง คาดว่าจะมีข่าวดีภายในปีหน้า ส่วนผลงานวิจัยกำลังเร่งรวบรวมส่งเข้าตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ

👉วัคซีนชนิด Influenza virus
ส่วนวัคซีนตัวที่ 2 คือ Influenza virus ที่มีการแสดงออกของโปรตีน RBD ของสไปค์ (Spike) โดยตัดแต่งไวรัสไข้หวัดใหญ่ให้เชื้ออ่อนลง แล้วเพิ่มสารพันธุกรรม RBD ซึ่งเป็นส่วนที่จะสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสก่อโรค COVID-19 เข้าไป ดังนั้น ภูมิคุ้มกันในร่างกายจะสร้างขึ้นมา 2 แบบ คือ รู้จักกับ COVID-19 และไข้หวัดใหญ่

หลังทดสอบในหนูทดลอง พบว่า เมื่อนำเลือดของหนูทดลองมาดู ในปอดมีแอนติบอดีสูง ป้องกันการติดเชื้อในปอดได้ดี โดยผลการวิจัยเรื่องระดับภูมิคุ้มกันในหนูทดลองได้ตีพิมพ์ไปแล้ว ขณะนี้กำลังต่อคิวทดสอบประสิทธิภาพการคุ้มโรค COVID-19 โดยร่วมมือกับทีมองค์การเภสัชกรรม และ มีแผนจะออกมาทดสอบเป็นตัวต่อมา

ทำไมต้องเป็นวัคซีนพ่นจมูก
ดร.อนันต์ ยังได้กล่าวถึงความสำคัญของนวัตกรรมฉีดพ่นวัคซีนเข้าจมูกที่อาจจะมาเป็นตัวเปลี่ยนเกมวิกฤต COVID-19 ว่า เมื่อรับวัคซีนพ่นเข้าจมูกแล้วร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันในระบบเยื่อเมือกขึ้นที่บริเวณโพรงจมูก กรณีได้รับเชื้อ COVID-19 ก็จะมีภูมิคุ้มกันต่อต้านการติดเชื้อโดยตรง ส่งผลให้ไวรัสไม่สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ ป้องกันการติดเชื้อ การเกิดโรค ดังนั้น นวัตกรรมนี้อาจนำมาใช้แทนการฉีดวัคซีนเข้ากล้ามได้ในอนาคต

“ไอเดียการใช้วัคซีนฉีด หรือ พ่นจมูก ไม่ใช่เรื่องใหม่ อย่างวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีการใช้การฉีดพ่นมานานพอสมควร แต่ใช้กันไม่แพร่หลาย ”

วัคซีนฉีดเข้ากล้ามผลิตง่ายกว่า ?
สำหรับวิกฤต COVID-19 ครั้งนี้ การฉีดวัคซีนเข้ากล้ามนำมาใช้ก่อน เพราะผลิตได้ง่ายกว่า และเป็นที่รู้จักของหลายคน ทำให้มีความมั่นใจต่อประสิทธิภาพ ส่วนการพ่นเข้าจมูก เป็นวิธีที่ค่อนข้างใหม่เมื่อเทียบกับวัคซีนรูปแบบอื่น แต่จากผลทดสอบก็เห็นความแตกต่างไม่มาก

“ในหนูทดลองจะเห็นว่า หนูที่ได้รับวัคซีนเข้าจมูก สามารถป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 ได้ดี ซึ่งอาจจะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์มาก ๆ ในการนำมาปรับใช้กับ COVID-19 สายพันธุ์เดลตา ที่แพร่ได้เร็ว”

โควิดจุดเปลี่ยนบทบาทนักวิจัยวัคซีนไทย
ดร.อนันต์ ระบุว่า การวิจัยและพัฒนาวัคซีนในประเทศไทยนั้น หากไปต่อสู้กับคนข้างนอกอาจถูกมองว่าช้า แต่หากต่อสู้กับตัวเองในอดีตถือว่าประเทศไทยพัฒนาไปได้ไวมาก จากประสบการณ์ที่ทำวัคซีนมา ในช่วงไข้หวัดใหญ่ 2019 ไทยวิจัยและพัฒนาวัคซีนสำเร็จในเวลาใกล้เคียงกับวัคซีนของ CDC สหรัฐอเมริกา แต่สุดท้าย คนไทยก็ได้ใช้วัคซีนของสหรัฐฯ

“ปีนี้วัคซีนที่เราทำมาจะถึงมือคนไทยได้ใช้เอง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนบทบาทนักวิจัยวัคซีนไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ มาตรฐานจาก 2-3 ปีที่แล้ว เราไม่เคยอยู่จุดนี้มาก่อน ในอนาคตมันจะไม่ช้าอีกต่อไป 

https://news.thaipbs.or.th/content/306705
 

เพี้ยนแข็งแรงวันนี้หายป่วยมากกว่าติดเชื้อใหม่ เป็นร้อยคน   เป็นความยินดียิ่งค่ะ

แต่ต้องลดจำนวนคนป่วยหนักให้ได้ โดยการฉีดวัคซีนให้ประชาชนตามเป้าหมาย

เราจะต้องสู้ไปด้วยกัน  ป้องกันการติดเชื้อของตัวเองและครอบครัวให้ได้ค่ะ

สู้ๆนะคะ.....พาพันขอบคุณ

แก้ไขข้อความเมื่อ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 21
กระทรวงสาธารณสุข แถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 6 สิงหาคม 2564 เวลา 13.30 น.
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
แถลงความคืบหน้าสถานการณ์ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
ณ กระทรวงสาธารณสุข
วันที่ 6 สิงหาคม  2564


[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
รวมสไลด์แถลงสถานการณ์โควิด-19 จาก ศบค.
วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม 2564
https://www.facebook.com/informationcovid19/posts/380773360207661


[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
รายงานข้อมูลสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19
ณ วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม 2564

ประเทศไทย
วันนี้มีผู้ติดเชื้อ 21,379 ราย รวมผู้ติดเชื้อสะสม 714,684 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯเพิ่มขึ้น 16,812 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง  484 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น  10 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากการตรวจคัดกรองเชิงรุกวันนี้  4,073 ราย (ยอดผู้ติดเชื้อสะสมจากการตรวจคัดกรองเชิงรุกอยู่ที่ 171,213 ราย)

เสียชีวิตรวม 5,854 ราย(วันนี้มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 191 ราย)
รักษาหายป่วยแล้ว 495,904 ราย (มีผู้ป่วยกลับบ้านเพิ่มขึ้น 22,172 ราย)
รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 212,926 ราย

ผู้ติดเชื้อรายใหม่ภายในประเทศ (ไม่รวมเรือนจำ) 20,885  ราย มีรายละเอียดดังนี้ จากกรุงเทพฯ(4,700) ปริมณฑล (4,435) จังหวัดอื่น ๆ (11,750)

สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ เพิ่มขึ้นในวันนี้ 10 ราย และเข้า Quarantine โดยเข้ารับการรักษาที่ภูเก็ต(4)  ปัตตานี(2)  ยะลา(1) และ ตาก(3)  มีรายละเอียดดังนี้
- จากประเทศสหราชอาณาจักร 1 ราย
- จากประเทศเยอรมนี 1 ราย
- จากประเทศอิสราเอล 2  ราย
- จากประเทศเมียนมา 3 ราย
- จากประเทศมาเลเซีย 3 ราย

สถานการณ์โลกในวันนี้
- ยอดผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลก 201.6  ล้านราย มีจำนวนผู้เสียชีวิตสะสมกว่า 4.2 ล้านราย(คิดเป็นร้อยละ 2.12 ของจำนวนผู้ติดเชื้อ) ในขณะที่ผู้รักษาหายมีจำนวน 181.4  ล้านราย (คิดเป็นร้อยละ 89.96)
- สหรัฐอเมริกา มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่  120,945 ราย และยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่อันดับ 1 ของโลก อยู่ที่ 631,879 ราย
- อินเดีย ยอดผู้ติดเชื้อสะสมทะลุ 31.8 ล้านรายแล้ว โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 45,001 ราย ทั้งนี้ยอดผู้รักษาหายในอินเดียอยู่ที่ 31 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 97.3
- ไทยมียอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่อันดับ 39  และยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่อันดับ 63 ของโลก

สถานการณ์อาเซียนในวันนี้
- เมียนมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสม 319,250  ราย โดยมียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ยในรอบ 7 วันที่ผ่านมาอยู่ที่ 4,274 ราย และมีจำนวนผู้เสียชีวิตกว่า 10,988 ราย
- มาเลเซีย ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 1,203,706 ราย โดยยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ อยู่ที่ 20,596  ราย
- กัมพูชา ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสม 80,225 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 1,507 ราย
- ลาว ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสม 7,511 ราย โดยกำลังรักษาอยู่ 3,700 ราย
- เวียดนาม ผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ที่   7,244  ราย และมียอดผู้เสียชีวิตสะสม 2,720 ราย

ประมวลข้อมูลโดย กรมควบคุมโรค และศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนาสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
https://www.facebook.com/nrctofficial/posts/4038230939635781
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่