"จูดี้ การ์แลนด์" โศกนาฏกรรมนกน้อยในกรงทอง


หากใครได้ชมภาพยนตร์เรื่อง Judy (2019) ที่ออกฉายไปเมื่อปีกลาย ก็คงตระหนักกันดีถึงชีวิตอันพังทลายของ จูดี้ การ์แลนด์ เพราะน้ำมือของวงการมายาที่สร้างเธอขึ้นมา หากแต่แท้จริงนั้น ชีวิตทั้งชีวิตของเธอได้ถูกฉวยไปปั้นแต่งเป็นตัวตนอื่นที่ไม่ใช่ของเธอแม้แต่น้อย เพื่อแลกกับยอดจำหน่ายตั๋ว วัฒนธรรมความคลั่งไคล้ มายาคติที่หากินกับความเชื่อของผู้คนในแง่การมีบุคคลตัวอย่างไว้ให้ติดตาม เด็กสาวผู้โด่งดังเกินใคร จาก The Wizard of Oz (1939) ที่พาให้คนทั่วไปหลงเข้าใจว่าอยู่อย่างสุขี ชีวิตนี้ช่างสมบูรณ์พูนสุข ทว่าเบื้องหลังคือร่างอันบอบบางซึ่งกำลังถูกสูบจิตวิญญาณออกไปจนหมด


นับตั้งแต่ลืมตาดูโลกในปี 1922 ฟรานเชส เอเธล กัมม์ ก็พบว่าชีวิตตัวเองช่างไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างน่าขัน มีเพียงความยุ่งเหยิงรายล้อมเป็นดั่งมิตรแท้ ครอบครัวแตกสลายตั้งแต่เธอยังเล็กเมื่อผู้เป็นพ่อไปมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับชายอื่น ส่วนแม่ที่เลี้ยงดูเธอกับพี่น้องผู้หญิงอีกสองคนก็หาได้ทำหน้าที่เยี่ยงผู้บังเกิดเกล้าไม่

“จูดี้คือเด็กที่ไม่มีวัยเด็ก” เรย์ โบลเจอร์ เพื่อนนักแสดงจาก Oz กล่าว

เพียงสิบขวบ เธอได้ถูกแม่ที่มีนิสัยชอบบงการเร่งเคี่ยวเข็ญให้สามารถทำการแสดง ไม่ว่าทั้งร้องและเต้น เพื่อหวังให้ได้แจ้งเกิดในวงการและนำมาซึ่งเกียรติยศความสำเร็จ นั่นคือตอนที่เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ เริ่มถูกบังคับให้กินยาลดความอ้วนเพื่อรักษารูปร่างไว้เป็นจุดขายแด่บรรดาแมวมอง จนในปี 1934 สามศรีพี่น้องกัมม์ก็ได้เปลี่ยนเป็นตระกูลการ์แลนด์ พร้อมกับที่ชื่อ “จูดี้” ถูกมอบให้เธอ

“ฉันไม่คุ้นเคยกับ ฟรานเชส กัมม์ แม้แต่น้อย” จูดี้ยอมรับ “เธอเป็นเด็กผู้หญิงแปลกหน้า ฉันคือ จูดี้ การ์แลนด์ ถือกำเนิดตอนอายุสิบสอง”


ด้วยทักษะการขับร้องซึ่งโดดเด่นชนิดหาตัวจับยาก เอ็มจีเอ็ม ค่ายหนังที่ใหญ่และมีหน้ามีตาที่สุดในเวลานั้นจึงเซ็นสัญญากับเธออย่างรวดเร็ว จูดี้ได้รับค่าจ้างสัปดาห์ละร้อยเหรียญ สำหรับเด็กวัยเท่านั้น มันคือเงินที่มากโข นับเป็นช่วงเวลาที่เห็นแสงสว่างรำไร แต่ไม่เลย นั่นคือจุดเริ่มต้นของฝันร้าย พรสวรรค์ใดๆ กลับกลายเป็นคำสาป

ในตอนคว้าบท โดโรธี เกล แห่ง The Wizard of Oz จูดี้ได้ทะยานขึ้นเป็นเด็กสาวที่โด่งดังที่สุดในอเมริกา เธอขับกล่อมผู้คนด้วยน้ำเสียงของผู้ใหญ่เจนโลก บทเพลง Over the Rainbow ทำหน้าที่มอบความหวังทั่วทุกหนแห่ง ดาวดวงใหม่ถึงคราวเจิดจรัส เส้นทางอันรุ่งโรจน์รออยู่เบื้องหน้า ทว่าความเป็นจริงหลังฉากคือมหกรรมทารุณ


ชีวิตประจำวันของจูดี้คือตื่นเช้ามาเรียนร้องเพลงสามชั่วโมงและต้องใช้เวลาส่วนที่เหลือไปกับการถ่ายหนังแบบซ้อนกัน 2-3 เรื่องในเวลาเดียว บ่อยครั้งมีอันต้องลากยาวไปจนขึ้นวันใหม่โดยไม่ได้พัก และเมื่อเหนื่อยอ่อน เธอก็ถูกกระตุ้นด้วยยาจำพวกแอมเฟตามีน แม้แต่รูปลักษณ์ที่ปรากฎบนจอนั้นยังผ่านการตัดแต่งไม่ต่างจากตุ๊กตาผ้าที่เจ้าของสารวนดัดแขนขาตามแต่ใจอยาก กว่าจะได้เป็นโดโรธีที่เด็กนับหมื่นนับพันสมัยนั้นถวิลหาได้เป็น จูดี้ต้องถูกรีดน้ำหนักด้วยสารพัดวิธี ทั้งยาหลายขนาน บุหรี่วันละแปดสิบมวน กาแฟดำ ต้องถูกจับอดอาหาร ถูกรัดเอวให้เข้าทรง ตอนนั้นเธอเพิ่งสิบหก แต่ที่โหดร้ายกว่าก็คือการมีแม่ที่เห็นดีเห็นงามไปกับกรรมวิธีทารุณลูกสาวตัวเอง จนจูดี้เคยเปรียบว่าคนคนนี้คือแม่มดชั่วร้ายแห่งทิศตะวันตกตัวจริง

ลำพังร่างกายที่ถูกใช้งานจนทรุดโทรม จิตใจของเธอเองก็ถูกย่ำยีไม่น้อยไปกว่ากัน เริ่มด้วยเรื่องเก่าเรื่องแก่ของฮอลลีวูดที่ซึ่งคนใหญ่คนโตใช้อำนาจข่มเหงเด็ก จูดี้ตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศ โดยเฉพาะจาก หลุยส์ บี. เมเยอร์ ประธานเอ็มจีเอ็มจอมครอบงำซึ่งเปรียบได้กับ ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน ในปัจจุบัน ทั้งจับหน้าอก ล้วงใต้กระโปรง และตำหนิรูปร่าง เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่ไม่มีใครปกป้องจะต้านทานได้เท่าไหนกันเชียว


หลังจากหลายปีที่ตกเป็นทาสสัญญาผูกมัดและทารุณกรรม จูดี้จึงลงเอยมีสภาพร่างกายชำรุด เจ็บป่วยออดๆ แอดๆ ทั่วทุกส่วน สภาพจิตเองก็ไม่ปกติ หวาดระแวง วิตกจริต สติหลุด และเสพติดยาขั้นหนักแบบยากเกินจะถอน ต่อให้ได้ฝากผลงานเด่นอีกมากมาย โดยเฉพาะแนวมิวสิคัลอย่าง Girl Crazy (1943), Meet Me in St. Louis (1944), The Harvey Girls (1946) และ Easter Parade (1948) เธอก็กลายเป็นคนบุคลิกผิดเพี้ยน แค่การครองสติยังยากลำบาก สร้างความไม่สบอารมณ์ให้กับบรรดาทีมงาน

จนในปี 1950 จูดี้ก็ถูกเอ็มจีเอ็มตะเพิดเพราะไม่ยอมไปทำงานตามกำหนด เหมือนสิ่งของหมดสภาพที่ถูกโยนทิ้งอย่างไม่ใยดี ตลอดเวลากว่าสิบปีนั้น เธอต้องเล่นหนังให้พวกเขาไปสามสิบเรื่อง มาบัดนี้เมื่อหมดค่า เธอก็ถูกเฉดหัวออกไปในสภาพพังยับเยิน การบำบัดจิตก่อนหน้าแทบไม่เป็นผล จูดี้พยายามฆ่าตัวตายกว่ายี่สิบครั้งตลอดเวลากว่าทศวรรษจากนั้น ปาดคอหอย เชือดข้อมือ แต่เธอก็รอดมาได้เพียงเพื่อเผชิญวิบากกรรมระลอกสอง

ชีวิตวัยผู้ใหญ่ของจูดี้เต็มไปด้วยหายนะไม่ต่างกัน ด้านความสัมพันธ์ของเธอมีแต่ล้มเหลว การแต่งงานห้าหนล้วนพบเจอแต่ทางตัน หากไม่ถูกนอกใจด้วยสามีที่แอบมีสัมพันธ์กับชายอื่น ก็เป็นสามีประเภทลงไม้ลงมือ ฟากการงานแทบไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ต้องสูญเงินเพราะผิดสัญญาจ้างมากกว่ามีรายได้เข้ามาจุนเจือ ซ้ำหนักมาถูกเรียกภาษีย้อนหลังบานตะไทเพราะถูกผู้จัดการส่วนตัวยักยอก จากคนเคยดังมีหนังทำเงินหลายล้าน ต้องมาระหกระเหินไม่มีบ้านอาศัย คอยตะลอนร้องเพลงตามคลับแลกค่าตัวคืนละร้อย เงินก้อนใหญ่ที่ได้ล้วนถูกสรรพากรริบก่อนทันได้จับ ลามไปถึงการทำหน้าที่แม่แบบขาดตกบกพร่อง ทุกอย่างพังเรียบ เหมือนโดมิโนซึ่งทยอยล้มระเนระนาด และไม่วาย น้ำเสียงของเธอที่เคยใสดังกังวานยังหมดซึ่งคุณภาพและถูกหัวเราะเยาะ

“ฉันเหมือนแตกเป็นเสี่ยงๆ” จูดี้เปิดใจ “ตอนนั้นฉันแค่อยากกินแล้วก็ซ่อนตัว ความมั่นใจที่สั่งสมมาเป็นสิบๆ ปี มลายสิ้น ฉันกลัวการขึ้นเวทีจนเขาต้องมาเข็น”


กระนั้น จูดี้ก็มีความเป็นนักสู้อยู่ในตัวเสมอ เพราะทั้งที่ประสบเคราะห์กรรมเหลือคณานับ การที่เธอยังยืนหยัดอยู่ได้เนิ่นนานแบบนั้นก็นับว่าอัศจรรย์มากแล้ว โดยตลอดช่วงทศวรรษ 50 จูดี้มีผลงานบันทึกเสียงชนิดทุบสถิติถึงสามปี มีผลงานหนังในความทรงจำอย่าง A Star Is Born (1954) กับ Judgment at Nuremberg (1961) ที่ล้วนส่งให้เธอเข้าชิงออสการ์ และการขับร้อง Over the Rainbow แบบเศร้าสร้อยทว่าสุขุมในคาร์เนกี้ฮอลล์ยังได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในการร้องสดที่ดีที่สุด เธอได้พยายามแล้ว ด้วยเศษเสี้ยววิญญาณและเรี่ยวแรงกายที่เหลืออยู่น้อยนิด

อย่างไรก็ตาม เรื่องเศร้ายังคงดำเนินต่อไป เนื่องจากในทุกช่วงชีวิตที่ไม่เคยพ้นจากการถูกคนอื่นครอบงำและบงการ จูดี้จึงไม่เคยหวนคืนสู่จุดสูงสุดได้อย่างสมบูรณ์ เธอมีแต่ร่วงหล่นลงไปสู่จุดที่ต่ำกว่าเดิม แม้มีโอกาสทองวิ่งเข้าหากับการได้ออกโชว์ชุดใหญ่ที่ลอนดอนในปี 1968 ชนิดตั๋วขายเกลี้ยงทุกรอบตลอดระยะเวลาห้าสัปดาห์ ทว่าจูดี้ในตอนนั้นมีร่างกายและจิตใจที่ทรุดโทรมอย่างหนัก บทจะดีก็ดีใจหาย ทั้งร้องทั้งเต้นแบบจัดเต็มทำเอาประทับใจ แต่บทจะแย่คือเธอมาสายปล่อยให้คนฟังรอเป็นชั่วโมง หรือบางรอบหายหน้าไม่มาเอาดื้อๆ หรือที่เลวร้ายสุดคือขึ้นไปในสภาพมึนเมา ร้องเพี้ยน ร้องผิด ลืมเนื้อ บังเกิดเป็นภาพชินตาที่ผู้คนโห่ไล่พลางขว้างแก้วใส่เธอ ผลก็คือถูกนักวิจารณ์สับเละไม่มีชิ้นดี “นี่มันศพเดินได้” ใครคนหนึ่งละเลงเป็นถ้อยคำบาดลึก

“ฉันเคยได้ยินว่าไอ้การทำงานกับ จูดี้ การ์แลนด์ นั้นยากแสนยาก แล้วรู้ไหมล่ะ ว่าไอ้การต้องเป็น จูดี้ การ์แลนด์ เนี่ย ทุกข์เข็ญเพียงใดกัน ทั้งยังฉันที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับตัวฉันเองอีกล่ะ ฉันต้องอยู่มาแบบนี้ คงไม่มีชีวิตใครจะรันทดไปมากกว่าฉันอีกแล้ว” จูดี้พูดตัดพ้อในปี 1967


มันคือโศกนาฏกรรมที่คนคนหนึ่งเกิดมาแต่ไม่เคยได้ใช้ชีวิตของตัวเองแม้สักวินาที จูดี้ การ์แลนด์ คนนี้เป็นเพียงมายาที่ทุกคนต่างจินตนาการตามแต่ใจอยากนึกภาพ ทุกคนได้ร่วมกำหนด ยื้อแย่ง ดึงทึ้งเอาชิ้นส่วนของเธอไปถือกรรมสิทธิ์กันอย่างเพลินใจ เว้นเพียงตัวเธอที่ไม่มีโอกาสเลือกจะเป็นเหมือนใครๆ เธอคือนกน้อยที่ถูกกักขังเอาไว้ ไม่เคยได้โบยบิน นอกจากรอคอยเพียงวันเหี่ยวเฉา

“แม่ไม่ได้ตายเพราะยาหรอก แม่แค่เหนื่อยแล้ว” ไลซ่า มิเนลลี่ ลูกสาวคนโตของจูดี้กล่าวหลังการเสียชีวิตของดาวค้างฟ้าผู้จากไปในวัยสี่สิบเจ็ด

ทุกอย่างช่างกระจ่างชัด สายรุ้งที่เธอเพรียกหานั้นอยู่ห่างไกลออกไปแบบลับตา ส่วนตัวเธอติดอยู่ในกรง ไม่เคยหลุดพ้นจากพันธนาการ ทำได้เพียงเฝ้าฝันว่าสักวันจะได้สัมผัสความรู้สึกเป็นอิสระนั้น ณ ปลายรุ้ง และได้รู้สึกสุขสงบในที่สุด

ขอขอบพระคุณบทความจากเพจ Vintage Motion

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่