*** ประวัติของ Pride Month และ จูดี้ การ์แลนด์ ***

ณ ประเทศสหรัฐอเมริกาช่วงยุค 60s การปฏิบัติตัวไม่ตรงกับเพศสภาพภายนอกของตัวเองเป็นเรื่องต้องห้าม กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมักถูกเหยียดหยาม โดนจับบำบัดเพราะแพทย์วินิจฉัยว่าป่วยทางจิต ถูกกดขี่รังแก ร้ายสุดคืออาจถูกส่งขังคุก พวกเขาจึงต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ไม่แสดงออกตัวตน เก็บความทุกข์ไว้ภายใน

แต่แล้วกลับมีเหตุการณ์หนึ่งเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ไปโดยสิ้นเชิง ได้แก่ “การลุกฮือที่สโตนวอลล์” ในปี 1969 ซึ่งในเวลาต่อมาก่อให้เกิดการความเคลื่อนเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมทางเพศเรียกว่า “Pride” อันโด่งดังและทรงอิทธิพลจนปัจจุบัน

มีบางทฤษฏีเชื่อว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจมีที่มาจากศิลปินหญิงคนหนึ่งชื่อ “จูดี้ การ์แลนด์” ซึ่งดังจากบทสาวน้อยโดโรธี ในภาพยนตร์สำหรับเด็กชื่อ “พ่อมดแห่งออซ”

เหตุใดผู้หญิงอย่างเธอจึงกลายเป็นแรงบันดาลใจของความเคลื่อนไหวของกลุ่มหลากหลายทางเพศได้ล่ะ?

เนื่องในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศหรือ Pride Month ผมได้เขียนบทความนี้ขึ้น เพื่อให้เราร่วมกันแสวงหาคำตอบในบทตอนนี้ของประวัติศาสตร์กัน


บางคนรู้จัก จูดี้ การ์แลนด์ ในฐานะดาราดังจากภาพยนตร์คลาสสิคเช่น The Wizard of Oz, Meet Me in St. Louis, หรือ A Star is Born บ้างก็รู้จักในฐานะจากบทเพลงอมตะ ไม่ว่าจะเป็น Over the Rainbow, The Trolley Song, และ The Man That Got Away

...แต่สำหรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศแล้ว เธอคือหญิงสาวที่ทำให้พวกเขารู้สึก “ภูมิใจ” ในตนเอง…


ภาพแนบ: การ์แลนด์ (คนกลาง) กับพี่สาว

การ์แลนด์ ชื่อเกิดคือ ฟราเซส เอเธล กัมม์ เกิดวันที่ 10 มิถุนายน 1922 ในครอบครัวนักแสดงละครเร่

เธอมีความสามารถทางการร้องและการแสดงโดดเด่นมาตั้งแต่เด็ก ถูกพาขึ้นเวทีเพื่อร้องเพลงกับพี่สาวสองคนของเธอตั้งแต่อายุสองขวบ พออายุสี่ขวบก็ต้องย้ายบ้านจากรัฐมิเนโซต้าทางเหนือไปรัฐแคลิฟอร์เนียทางใต้ เพราะมีข่าวลือหนาหูในละแวกนั้นว่าพ่อของเธอชอบคนเพศเดียวกัน

ในปี 1935 การ์แลนด์ได้เซ็นสัญญากับค่ายหนังยักษ์ใหญ่ Metro-Goldwyn-Mayer หรือ MGM (ที่มีสิงโตออกมาร้องก่อนเข้าหนังนั่นแหละ) แต่อนิจจาด้วยอายุ 13 จะเล่นบทเด็กก็ดูโตไป จะเป็นผู้ใหญ่ก็ยังไม่ได้ แถมลุคของเธอยังใสๆ ซึ่งไม่ถูกจริตประชาชนยุคนั้น ที่นิยมคนสวยหยดมีเสน่ห์ชวนหลงใหล


ภาพแนบ: เด็กสาว จูดี้ การ์แลนด์ 

ค่ายจึงหาทางออกหลายประการโดยบังคับให้เด็กสาวเป็นใน “สิ่งที่ขายได้” พวกเขาให้เธอใส่ฟันยางและที่ดันโพรงจมูกเพื่อปรับเปลี่ยนโครงหน้า, ให้รัดหน้าอก, สั่งงดอาหารจนผอมกว่าเกณฑ์, และให้กินยาลดความอ้วน ...แต่ทำถึงขั้นนี้แล้ว ก็ยังมีคนดูถูกว่าเธอน่าเกลียดอยู่เสมอ

นอกจากนั้น การ์แลนด์ยังโดนผู้บริหาร MGM ลูอิส บี. เมเยอร์ ล่วงละเมิดทางเพศขณะถ่ายทำ The Wizard of Oz เขามักจะเข้ากองมาชื่นชมเสียงร้องเพลงของเธอ ว่าร้องออกมาจากหัวใจ แล้วขยำหน้าอกเธอเล่นโดยที่ไม่มีใครกล้าห้ามปราม

การ์แลนด์หาใช่เด็กไม่รู้ความ เมื่อเมเยอร์ทำซ้ำหนักเข้าเธอจึงรวบรวมความกล้าขอให้เขาอย่าทำแบบนี้กับเธออีก ทว่าเมเยอร์กลับร้องไห้แล้วลำเลิกบุญคุณเธอเสียยกใหญ่ ถามว่าทำไมถึงพูดกับคนที่รักเธอได้แบบนี้ แต่สุดท้ายเขาก็หยุดทำแบบนั้นไป


ภาพแนบ: เมเยอร์และภรรยา

เมื่อทุกอย่างผ่านพ้นไปแล้ว การ์แลนด์ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า “มหัศจรรย์จริงๆ ที่คนใหญ่คนโตซึ่งคบกับผู้หญิงไฮโซมามากมายจะทำตัวงี่เง่าขนาดนั้น” และ “ฉันคิดอยู่เสมอว่าโชคดีนะที่ตัวเองไม่ได้ร้องเพลงมาจากร่างกายส่วนอื่น”
 


ภายหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว การ์แลนด์ยังโดนคณะกรรมการบริหารคนหนึ่งเรียกไปพบเพื่อขอมีเพศสัมพันธ์ด้วย แม้เธอจะปฏิเสธไปอย่างสุภาพ แต่เขากลับโวยวายพร้อมข่มขู่ “ฟังนะ ก่อนแกจะไป ฉันจะบอกให้ ...ฉันจะทำให้ชีวิตแกพัง ฉันทำได้จริงนะเว้ย ฉันจะทำลายแก!”

การ์แลนด์ได้แต่เก็บเรื่องนี้ไว้กับตัว เพราะยุคนั้นผู้หญิงเองก็ยังไม่มีสิทธิมีเสียงเท่าใดนัก หากพูดไปสังคมก็จะเข้าข้างผู้ชายก่อน แถมอีกฝ่ายเป็นคนใหญ่คนโตที่มีอิทธิพลระดับฮอลลีวู้ด เธอจึงเลือกยอมอดทน

...แม้ภายหลังการ์แลนด์จะประสบความสำเร็จจากหนังหลายเรื่อง แต่ประสบการณ์เลวร้ายที่ผ่านมา ทำให้เธอขาดความมั่นใจไปทั้งชีวิต

...เธอหวาดกลัวว่าคนจะไม่ยอมรับอยู่เสมอ บางครั้งถึงกับพึ่งเหล้าพึ่งยา เศร้าหมองทำร้ายตนเอง จนถึงกับพยายามฆ่าตัวตายหลายครั้ง เพราะฝังใจว่าตนเป็น “ลูกเป็ดขี้เหร่” ที่มีแต่คนชัง


การ์แลนด์ทำงานไปจนอายุ 28 ปี ก็โดนไล่ออกจาก MGM เพราะเธอดื่มเหล้าหนัก ไม่มาทำงานตามนัดหมาย และใช้ยานอนหลับผสมมอร์ฟีน

แม้ภายหลัง ผลงานเรื่อง A Star is Born ของค่าย Warner Bros. จะพิสูจน์ฝีมือการแสดงของเธอ แต่รายได้ของเธอกลับไม่ดีนัก นอกจากนั้นการไม่ได้รับรางวัลออสการ์อย่างที่นักวิจารณ์คาด ทำให้เธอค่อยๆ หมดอนาคตบนจอเงินไปในที่สุด



แต่นั่นไม่ได้ทำให้เธอยอมแพ้จากวงการบันเทิง การ์แลนด์ผันตัวไปเป็นนักร้อง ออกแสดงคอนเสิร์ตทั้งในและต่างประเทศหลายครั้ง ซึ่งแต่ละที่ก็จะมีแฟนๆ ทุกเพศทุกวัยเข้ามาชมหญิงสาวอย่างคับคั่ง

ทั้งนี้เพราะเพลงของเธอแอบแฝงความบีบคั้นสะเทือนใจราวกับเข้าใจเรื่องราวของผู้ฟังทั้งหลาย
การ์แลนด์เองยังมีชื่อเสียงในการกล้าหยอกล้อกับแฟนๆ อย่างไม่ถือตัวระหว่างแสดงสด


ภาพแนบ: คอนเสิร์ตที่คาร์เนกี้ฮอลล์ 

ในที่สุดเธอก็ประสบความสำเร็จในสายนักร้อง เมื่อได้เป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับรางวัลแกรมมี่สาขาอัลบั้มแห่งปี จากอัลบั้มบันทึกแสดงสดที่คาร์เนกี้ฮอลล์ในปี 1961 และได้มีรายการเพลงเป็นของตัวเองชื่อ The Judy Garland Show ในปีเดียวกัน

ผู้คนมองว่าเธอเป็น “ผู้รอดชีวิต” จากการแข่งขันของสังคมที่พยายามจะกดเธอให้ต่ำ


ภาพแนบ: การ์แลนด์ (กลาง) กับแอเชอร์ (ผู้หญิงคนริมที่ถูกตัดตกขอบ)

ในด้านชีวิตส่วนตัว แม้การ์แลนด์จะมีข่าวคบกับชายหนุ่มมากมาย และแต่งงานไปถึง 5 ครั้ง แต่ก็มีหลักฐานว่าเธอคบกับผู้หญิงด้วยเช่นกัน...

สมัยที่ยังอยู่ใน MGM ค่ายหนังต้องการคุมพฤติกรรมเธอ จึงส่งหญิงสาวนาม เบตตี แอเชอร์ ซึ่งทำงานอยู่ฝ่ายประชาสัมพันธ์มาคอยสอดส่อง แหล่งข่าวหลายแหล่งกล่าวว่า มิตรภาพของทั้งสองคนดูจะไปไกลกว่านั้น และมีผู้พบเห็นทั้งสองไปไหนมาไหนด้วยกันบ่อยๆ เดินจับมือถือแขนสนิทสนมกันเหมือนคู่รัก

นั่นอาจเป็นเหตุผลให้เธอเปิดกว้างต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งถือว่ายังเป็นกลุ่มบุคคลที่ถูกสังคมรังเกียจในยุคนั้น เธอมีเพื่อนใกล้ชิดเป็นเกย์ ชอบไปเที่ยวบาร์เกย์ และสามีคนที่ 2 กับสามีคนที่ 4 ของเธอ ยังถูกเปิดเผยในภายหลังว่าเป็นไบเซ็กชวล


ภาพแนบ: คนมารอการ์แลนด์เป็นครั้งสุดท้าย

จูดี้ การ์แลนด์ เสียชีวิตลงในวันที่ 22 มิถุนายน 1969 ด้วยอายุเพียง 47 ปี ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ สาเหตุคือกินยานอนหลับเกินขนาด

ก่อนหน้านี้ไม่กี่ปีเธอเริ่มมีสุขภาพกายใจแย่ลง มีการดื่มเหล้าหนักจนเมาขึ้นคอนเสิร์ตหลายครั้ง ซ้ำร้ายกว่านั้น ผู้จัดการใหม่ของการ์แลนด์ก็บริหารงานผิดพลาด ทำให้เธอเป็นหนี้ราว 500,000 เหรียญสหรัฐ ต้องทำงานใช้หนี้ตัวเป็นเกลียว ในขณะที่ชื่อเสียงถดถอยลงเรื่อยๆ

...แม้การ์แลนด์จะจากไปในช่วงที่ชีวิตกำลังตกต่ำ แต่การตายของเธอได้ส่งผลกระทบที่แม้กระทั่งตัวเธอเองก็อาจคาดไม่ถึง...

...นั่นคือมีแฟนๆ กลุ่มหลากหลายทางเพศมาไว้อาลัยแก่เธอเป็นจำนวนมาก...


*** แล้วทำไม จูดี้ การ์แลนด์ จึงมีอิทธิพลต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ขนาดนี้? ***

จากเรื่องที่เล่ามาจะเห็นได้ว่า นอกจากการ์แลนด์อาจเป็น LGBTQ+ คนหนึ่งแล้ว เธอยังโดนดูถูกจากรูปลักษณ์ภายนอก ถูกกดดันให้ต้องเป็นในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้เป็น เพื่อแสวงการยอมรับจากสังคม ซึ่งคล้ายกับชะตากรรมที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องเผชิญ

นายแพทย์ท่านหนึ่งให้สัมภาษณ์กับสื่อ BBC ในบทความ Why is Judy Garland the ultimate gay icon? ว่า สำหรับเกย์แล้ว ร่างกายเป็นเรื่องใหญ่ เพราะบางคนถือว่ามันเป็นภาพแทนของความสำเร็จในกลุ่มเกย์ด้วยกัน และอาจรวมถึงในสังคมด้วย ทำให้พวกเขามีความกดดันมองว่าตัวเองน่ารังเกียจ และทำร้ายทรมานตัวเองต่างๆ ไม่ต่างอะไรกับการ์แลนด์ที่ต้องอยู่กับรูปลักษณ์ปรุงแต่งที่ผู้ใหญ่เห็นว่าสวยงาม ทั้งๆ ที่มันทำให้เจ้าของร่างกายเป็นทุกข์

จึงไม่แปลกที่นักวิชาการหลายท่านจะมองว่า ความเจ็บปวดดึงดูดทั้งการ์แลนด์กับกลุ่มหลากหลายทางเพศเข้าหากัน พวกเขาเข้าใจการถูกกดขี่ที่อีกฝ่ายประสบ และได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่กันและกัน

ลิงก์บทความ: bbc (ดอต) com/culture/article/20190923-why-is-judy-garland-the-ultimate-gay-icon


นั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ มีคำแทนตัวว่า “เพื่อนของโดโรธี” (Friend of Dorothy) เป็นแสลงเลี่ยงการกล่าวถึงเพศสภาพตรงๆ ในยุคที่คนทั่วไปยังมองว่าการคงอยู่ของพวกเขาเป็นเรื่องผิด

บางคนบอกว่า คำนี้มีที่มาจาก “โดโรธี พาร์คเกอร์” ซึ่งนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน แต่ส่วนใหญ่เชื่อว่าคำนี้มาจากตัวละคร “โดโรธี เกล” ในหนังเพลงเรื่อง The Wizard of Oz ซึ่งเป็นบทที่ทำให้การ์แลนด์โด่งดังเป็นพลุแตก

อนึ่งโดโรธีเป็นเด็กหญิงจากแคนซัสที่โดนพายุพัดไปดินแดนมหัศจรรย์ เธอได้พบกับเพื่อนที่มีทั้งหุ่นกระป๋อง หุ่นไล่กา และสิงโต ทั้งสี่ร่วมเดินทางกันไปปราบแม่มดร้ายด้วยกัน

ตัวละครหลายตัวในเรื่องนี้มีปัญหาต้องการอะไรบางอย่าง และรังเกียจตัวเองจากความขาดแคลนนั้น เช่น สิงโตต้องการความกล้าหาญ, หรือ หุ่นเหล็กต้องการหัวใจ แต่กระนั้นโดโรธีก็ยังให้ความเป็นเพื่อนโดยไม่ดูถูก ทำให้หลายคนตีความว่า มันหมายถึงการยอมรับความแตกต่างของเพื่อนมนุษย์

ซึ่งในตอนท้ายของภาพยนตร์ พวกเขาล้วนแก้ปัญหาได้ด้วย “การยอมรับตนเอง” มากกว่า “การแสวงหาสิ่งที่ขาดไป” จริงๆ

...เรื่องนี้อาจเป็นสิ่งที่ทำให้กลุ่มหลากหลายทางเพศ มองว่าพวกเขาเป็นเพื่อนของ จูดี้ การ์แลนด์ นั่นเอง


 เมื่อเสร็จสิ้นงานศพในนิวยอร์คเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน แฟนๆ หลากหลายทางเพศของการ์แลนด์หลายคนก็มาพบปะสังสรรค์เพื่อย้อมใจที่บาร์เกย์ชื่อสโตนวอลล์ในละแวกเดียวกัน

เนื่องจากยุคนั้นการกระทำตัวไม่ตรงกับเพศสภาพภายนอกเป็นเรื่องต้องห้าม บาร์เกย์จึงมักตกเป็นเป้าให้ตำรวจบุกจับอยู่บ่อยครั้งจนแทบเป็นเรื่องปกติ
และในเวลาตีหนึ่งคืนนั้นสโตนวอลล์ก็ถูกตำรวจบุกถล่มอีก

...แต่ครั้งนี้มันแตกต่างออกไป...


ตอนนั้นตำรวจสั่งบังคับให้บาร์เปิดไฟ และขอตรวจบัตรประชาชนทุกคน ว่ามีใครทำตัว “ผิดเพศ” หรือไม่ กลุ่มหลากหลายทางเพศซึ่งกำลังโศกเศร้าเสียใจกับการจากไปของการ์แลนด์ ต่างรู้สึกพร้อมกันว่าถูกกดขี่เหยียดหยามมานานเกินไปแล้ว!

*** อ่านต่อใน comment นะครับ ***
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่