อย่าชะล่าใจ! ถ่ายเป็นเลือด อาจไม่ใช่แค่ริดสีดวง

อย่าชะล่าใจ! ถ่ายเป็นเลือด อาจไม่ใช่แค่ริดสีดวง 
 
     สิ่งแรกที่คนส่วนใหญ่คิดถึงเมื่อมีอาการถ่ายเป็นเลือดก็คือ ริดสีดวงทวาร แต่ในความจริงนั้น การถ่ายเป็นเลือดเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และยังเป็นสัญญาณเตือนของโรคอื่นๆ ได้อีกด้วย 
     ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เราคิดถึงริดสีดวงทวารก่อนก็เพราะว่าเป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะคนที่ต้องทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ 💻 และยิ่งช่วงนี้ที่คนส่วนใหญ่ต้องทำงานจากที่บ้านเป็นหลัก ทำให้หลายคนไม่ค่อยได้ขยับตัวมากนัก กินเสร็จก็กลับมานั่งทำงานต่อ ส่งผลให้ลำไส้เคลื่อนไหวน้อยลง เกิดเป็นภาวะท้องผูก ดังนั้น เมื่อถ่ายเป็นเลือดจึงคิดเอาเองว่า เป็นริดสีดวงทวาร 
     แล้วอาการของริดสีดวงทวารเป็นอย่างไร สามารถดูแลหรือป้องกันได้ยังไงบ้าง เดี๋ยววันนี้พี่หมอจะเล่าให้ฟัง รวมถึงโรคอื่นๆ ที่อาจแสดงอาการเริ่มต้นจากการถ่ายเป็นเลือดด้วย 🩸
ริดสีดวงทวาร
     เกิดจากเส้นเลือดบริเวณทวารหนักหรือส่วนปลายสุดของลำไส้ใหญ่ที่อยู่ติดกับทวารหนักโป่งพอง โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ริดสีดวงทวารหนักภายใน ซึ่งตามปกติจะไม่โผล่ออกมาให้เห็นและคลำไม่เจอ เพราะมักจะมีเนื้อเยื่อของลำไส้ใหญ่ส่วนปลายปกคลุมอยู่ และไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด และริดสีดวงทวารหนักภายนอก ซึ่งจะเกิดขึ้นที่บริเวณปากรอยย่นของทวารหนัก สามารถมองเห็นและคลำเจอได้ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีอาการเจ็บปวดหรือคันที่บริเวณทวารหนัก  
 
🤢 อาการของริดสีดวงทวาร 
     · คัน เจ็บและปวดบริเวณทวารหนัก 
     · มีเลือดออกขณะขับถ่าย โดยมักถ่ายเป็นเลือดสดๆ
     · คนที่เป็นริดสีดวงทวาร อาจไม่มีอาการเจ็บทุกคน เพราะถ้าเป็นริดสีดวงที่เกิดขึ้นภายใน ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บเลย
     · ริดสีดวงทวารไม่จำเป็นต้องยื่นออกมาข้างนอก
 
🛡️ การป้องกัน
     · ควรรับประทานอาหารที่มีกากใยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผักและผลไม้ เพื่อช่วยเพิ่มการดูดซึมของลำไส้ 
     · รับประทานโยเกิร์ต หรือผลิตภัณฑ์ที่มีโปรไบโอติค เพื่อช่วยให้อุจจาระนิ่ม และง่ายต่อการขับถ่าย 
     · ควรดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน เพื่อช่วยให้การขับถ่ายเป็นปกติ 
     · หาเวลาออกกำลังกายด้วยการเดิน วิ่ง ยกเวท หรือโยคะ เพราะนอกจากจะช่วยลดความตึงเครียดแล้ว ยังช่วยให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหวด้วย
     · รับประทานยาระบาย เพื่อช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้น 
     · ปรึกษาแพทย์ ในกรณีที่ลองปรับพฤติกรรมดูแล้วแต่อาการท้องผูกยังไม่ดีขึ้น หรือพบว่ามีเลือดปนในอุจจาระมากขึ้น  
 
🩺 การรักษา 
     · ปรับพฤติกรรมทั้งการรับประทานอาหาร การดื่มน้ำ และการออกกำลังกาย 
     · ใช้ยา เช่น ยาเหน็บทวาร ยาทา และยารับประทาน เพื่อช่วยให้เส้นเลือดริดสีดวงหดลง
     · ฉีดยา เพื่อให้เส้นเลือดแข็งตัว 
     · ใส่ห่วงรัด เพื่อไม่ให้มีเลือดไปหล่อเลี้ยงบริเวณที่เป็นริดสีดวง จนริดสีดวงหลุด
     · การผ่าตัดเพื่อเอาริดสีดวงออก 
     ดังนั้น ถ้าพบว่าอุจจาระมีเลือดปน 🩸 จึงไม่ควรด่วนสรุปทันทีว่าเป็นริดสีดวง แต่ควรสังเกตลักษณะของเลือด เพราะถ้าเป็นริดสีดวงทวาร เลือดที่ปนออกมาจะมีลักษณะเป็นเลือดสด มีสีแดงเข้ม และไม่เป็นลิ่มๆ เลือดติดที่กระดาษชำระ หรือหยดในชักโครก เนื่องจากริดสีดวงจะอยู่ที่บริเวณลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย หรือบริเวณร่องก้น 
     ส่วนอุจจาระ ถ้ามีลักษณะเป็นสีดำและมีกลิ่นคาว ส่วนใหญ่เกิดจากแผลในกระเพาะอาหาร เนื่องจากเป็นเลือดออกที่ลำไส้ใหญ่ส่วนบนขึ้นไป หรือเลือดออกในบริเวณทางเดินอาหาร แต่ถ้ามีแผลหรือการอักเสบที่บริเวณส่วนปลายของทวารหนัก หรือลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย เลือดที่ปนกับอุจจาระออกมาก็อาจมีสีแดงสดได้เช่นกัน 
    ✅ ซึ่งวิธีที่จะตรวจหาสาเหตุของภาวะเลือดออกปนในอุจจาระได้ดีที่สุดก็คือ การตรวจด้วยวิธีส่องกล้อง เพราะจะให้ผลได้แม่นยำที่สุด พี่หมอแนะนำว่า สำหรับผู้ที่อายุ 45 ปีขึ้นไปทุกคน ควรทำทุกๆ 5 ปี และไม่ควรรอจนมีอาการ เพราะภาวะเลือดออกปนในอุจจาระ อาจไม่ใช่แค่ริดสีดวงทวารอย่างเดียว แต่ยังอาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้อีกด้วย พี่หมอเคยเขียนเรื่องโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เอาไว้แล้วครั้งหนึ่ง ถ้าสนใจก็ไปอ่านกันได้นะครับ พี่หมอแนบลิ้งค์มาให้แล้ว 
     การขับถ่ายถือเป็นกิจวัตรที่สำคัญอย่างหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรา ดังนั้น เราจึงควรสังเกตพฤติกรรมในการขับถ่าย รวมถึงลักษณะและสีของอุจจาระที่ออกมาในแต่ละครั้งด้วยว่าเป็นอย่างไร มีความผิดปกติหรือไม่ ซึ่งถ้าพบความผิดปกติก็ควรรีบไปแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหารทันทีนะครับ ห้ามชะล่าใจเด็ดขาด
 
     ด้วยความปรารถนาดีจากพี่หมอ 💩💩💩
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่