เสน่หานางไพร ตอนที่ 5









ตอนเดิม

https://ppantip.com/topic/40783349
https://ppantip.com/topic/40780629
https://ppantip.com/topic/40776586
https://ppantip.com/topic/40769790
 


บทที่ 5
 
เมื่อชานนท์นำปิ่นโตใส่อาหารของซ่อนกลิ่น มาให้ครูสายใจในครัวไฟหลังบ้านครูใหญ่ เพื่อใส่ในสำรับด้วย ภรรยาของครูใหญ่มีท่าทางแปลกใจ ซักถามชายหนุ่มถึงเรื่องของซ่อนกลิ่นใหญ่ ว่าไปรู้จักกันที่ไหน ตั้งแต่เมื่อไหร่ พอชานนท์บอกว่าเผอิญเจอเธอที่หน้าปากถ้ำ บริเวณท้ายหมู่บ้าน เพราะเขาหลงทางไปทางนั้นพอดี และซ่อนกลิ่นเป็นคนบอกทางวกกลับมาโรงเรียนให้ จนเขาสามารถขี่รถมาจนถึงโรงเรียนได้ 

สายใจฟังแล้วอึ้งไปครู่หนึ่ง มองหน้าชายหนุ่มเหมือนชั่งใจ แต่แล้วก็บอกเขาว่าดีแล้ว เพราะบ้านของซ่อนกลิ่นอยู่แถวนี้เอง บางทีเด็กสาวคนนั้นก็เข้ามาช่วยงานครูใหญ่ในโรงเรียน รู้จักกันไว้ก็ไม่เสียหลาย แล้วจึงชวนชายหนุ่มยกสำรับมากินข้าวด้วยกันที่แคร่ใต้ถุนบ้าน

อาหารเย็นมื้อนั้นล้อมวงกินกันบนเสื่อที่ปูลาดบนแคร่ไม้ ใต้ถุนบ้านครูใหญ่ ท่ามกลางแสงสว่างจากตะเกียงเจ้าพายุ ต้มโคล้งไก่ฝีมือของภรรยาครูใหญ่ อร่อยสมคำยืนยัน ระหว่างนั่งล้อมวงกินมื้อเย็นด้วยกัน เรื่องราวเกี่ยวกับโรงเรียนไกลปืนเที่ยงอย่างโรงเรียนคุ้มริมผา ก็ถูกถ่ายทอดออกจากปากของครูใหญ่ อย่างละเอียด ให้คุณครูคนใหม่ฟัง 

สิ่งที่ชานนท์ได้ฟังนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องแปลกใหม่ ซึ่งชวนให้รู้สึกทึ่งอยู่ในหลาย ๆ เรื่องด้วยกัน อย่างเช่น เขาเพิ่งรู้ว่า ครูของที่นี่เดิมทีมีสอนครบทั้งหกชั้น ครูทุกคนล้วนแต่เป็นคนมีอุดมการณ์ อยากสอนหนังสือให้แก่เด็ก ๆ ในสถานที่ห่างไกลความเจริญ ด้วยความตั้งใจจริง อยากเห็นโรงเรียนเล็ก ๆ อย่างโรงเรียนคุ้มริมผา เป็นสถานที่อบรมบ่มเพาะบรรดาต้นกล้าที่ยังอ่อนแอ ขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานนานับประการ ให้เติบใหญ่กลายเป็นอนาคตของชาติที่มีคุณภาพ แต่จำต้องย้ายไปทำการสอนที่อื่น ไม่ได้คิดจะย้ายไปเอง ที่ต้องย้ายไปทีละคนจนเหลือครูแค่สามคนนั้น ก็ด้วยเหตุผลต่าง ๆ กัน บางทีก็ไปมีเรื่องกับนักเลงหัวไม้ ลูกน้องของผู้ใหญ่ดำเกิง บ้างก็ถูกขอร้องให้ย้ายไปสอนที่อื่น ตามความต้องการของผู้ใหญ่ในตัวจังหวัด ที่ขอผ่านมาทางสำนักงานการประถมฯ อีกที

ครูใหญ่กับภรรยาอยากจะตั้งรกรากอยู่ที่นี่จนแก่เฒ่า ตั้งแต่ปีแรกที่ได้รับการบรรจุ และไม่คิดจะย้ายไปสอนที่อื่น ทั้งสองคนจึงยืนกราน ต้องการจะสอนอยู่ที่โรงเรียนแห่งนี้ต่อไป ซึ่งกลายเป็นว่าครูใหญ่ของโรงเรียนคุ้มริมผา เป็นคนหัวแข็ง ชอบงัดข้อกับผู้หลักผู้ใหญ่ในตัวจังหวัด ส่วนครูกำธร ครูผู้ชายอีกคนที่ยังคงสอนหนังสืออยู่ที่นี่ ไม่ย้ายไปสอนข้างนอกเหมือนครูคนอื่น ครูใหญ่บอกว่าอยู่ ๆ ไปชานนท์ก็จะรู้เอง 

ด้วยเหตุที่กล่าวมา จึงทำให้โรงเรียนคุ้มริมผาไม่มีครูสอนครบหกชั้นเหมือนโรงเรียนอื่น ครูใหญ่จึงแก้ไขปัญหาด้วยการให้ครูสอนแบบรวมชั้นไปก่อน จนกว่าทางการประถมศึกษาของอำเภอ จะจัดหาครูมาเพิ่มให้

“ทางผู้ใหญ่ในสำนักงานการประถมฯ เขาอยากให้ยุบโรงเรียนไปรวมกับที่อื่น ไม่ใช่ผมจะหวงตำแหน่งอะไรหรอก ติดที่ว่ามันไกล เด็ก ๆ เดินทางไปเรียนลำบาก หนทางไปมาก็ยาก แถมไม่มีรถรับส่งนักเรียน อย่างที่คุณเห็น คุ้มริมผาอยู่ในป่าในเขา รถยนต์มีแค่สามคันเท่านั้น ของผู้ใหญ่บ้านคันหนึ่ง ของหมอแสวง หมอทหารเสนารักษ์คันหนึ่ง ส่วนคันของผมมันเสีย ทิ้งเอาไว้ที่อู่ข้างนอก ไม่รู้จะซ่อมได้หรือเปล่า ชาวบ้านเขาอยู่ที่นี่กันมาตั้งหลายชั่วอายุคนแล้ว กว่าจะมีโรงเรียนได้ จะยุบไปง่าย ๆ ผมก็เสียดาย”

ครูใหญ่เล่าไป พลางถอนหายใจไป

“แต่ก่อนครูที่นี่ไม่ได้เป็นแค่ครูสอนหนังสือ ที่หมู่บ้านนี้ ครูคือที่ปรึกษาของชาวบ้าน ชุมชน วัดกับโรงเรียนมีความใกล้ชิดกัน อาศัยพึ่งพิงกันเรื่อยมา จนกระทั่งมีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านคนใหม่ แทนคนเก่าที่ตายไป ตั้งแต่นั้นมา หมู่บ้านเล็ก ๆ อย่างคุ้มริมผาก็เริ่มเปลี่ยนไป...” ครูใหญ่หยุดคำพูดเอาไว้ แล้วถอนหายใจใหญ่ออกมาอีก

“ผมมาบรรจุเป็นครูครั้งแรกที่นี่ แต่งเมียที่นี่ และไม่เคยคิดจะย้ายไปสอนที่อื่น ผมรักโรงเรียนนี้ ตั้งใจว่าจะเกษียณอายุราชการที่นี่ พร้อมกับตั้งหลักปักฐานอยู่ในคุ้มริมผาตลอดไป ผมกับสายใจไม่มีลูก เราจึงรู้สึกว่าลูกศิษย์ทุกคนคือลูกของเราเอง รักพวกเขาทุกคน ผมสอนมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ จนมาถึงรุ่นลูกแล้ว”

สายใจเหลือบสายตามามองหน้าสามี เอื้อมมือตบลงบนเข่าเขาเบา ๆ

“ครูใหญ่เป็นคนไปขอถนนดินลูกรัง มาให้กับคุ้มริมผาเองเลยนะ แต่ได้มาไม่ถึงหมู่บ้าน ขาดระยะทางอีกตั้งไกล ขอไฟฟ้ากับโทรศัพท์ไปด้วย ขอมาหลายปีดีดัก หลวงท่านไม่เห็นทำให้สักที”

คู่ชีวิตของครูใหญ่เล่าเสริม

“เราคิดว่าจะช่วยพัฒนาหมู่บ้านคุ้มริมผา ให้ชาวบ้านได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ก็นั่นแหละ ทุกอย่างย่อมมีปัญหา พอความเจริญเริ่มคืบคลานเข้ามา ก็กลับกลายเป็นว่า ชาวบ้านถูกบังคับให้ต้องขายที่ดินออกไปเสียนี่”

“เอ๊ะ! ยังไงกันครับ” ความรื่นรมย์ที่ได้ฟังเรื่องราวดี ๆ ของผู้คนในคุ้มริมผาหดหายไปสิ้น กับคำพูดต่อมาของครูใหญ่ ชายหนุ่มขมวดคิ้วถามทันที

“คุณคงเห็นแล้ว พื้นที่แถวนี้เดิมเป็นป่า แต่ชาวบ้านได้เข้ามาอาศัยอยู่เป็นร้อยปีแล้ว จับจองที่ดินทำมาหากินกันเอง มีใบ นส. 3 แล้วบ้าง เป็นแค่ใบจับจองบ้าง แต่พอมีถนนลูกรังเริ่มตัดเข้ามา แม้จะยังไม่ถึงคุ้มริมผาดี ชาวบ้านกว่าหกสิบหลังคาเรือนของที่นี่ กลับค่อย ๆ ย้ายออกไปอยู่ที่อื่นทีละหลัง จนกระทั่งปัจจุบันเหลือเพียงแค่ไม่กี่หลังเท่านั้นเอง ที่เป็นแบบนี้เพราะมีนายทุนเข้ามากว้านซื้อที่ดินผ่านทางผู้ใหญ่บ้านอีกที”

“อ้าว! ที่ดินจับจองซื้อขายกันได้ด้วยเหรอครับ” ชายหนุ่มอุทานถาม เพราะตามความรู้ทางด้านกฎหมายที่ดินทำกิน ที่เขาพอจะรู้มาบ้าง หากเป็นที่ดินจับจองจะถือเอาเป็นกรรมสิทธิ์ซื้อขายกันไม่ได้

“เขาก็ซื้อกันทั้งนั้นแหละครับ อยู่ที่ว่าใครจะขาย แต่มีปัญหาบ้างเหมือนกัน เพราะที่ดินบางผืน เจ้าของเขาเสียดาย ไม่ยอมขายให้ก็มี”

“คนที่ยังเหลืออยู่ ก็คือคนที่ไม่ยอมขายสินะครับ” ชานนท์ลองเดาดู ซึ่งเขาก็เดาไม่ผิด ครูนิมิตรพยักหน้าทันที เลื่อนสายตามามองหน้าภรรยาคู่ชีวิต

“ใช่ รวมถึงผมด้วย ผมเองก็มีที่ดินผืนนี้ แค่ไม่กี่ไร่เอง เอาไว้ทำการเกษตรหลังจากเกษียณไปแล้ว ปลูกผักเลี้ยงไก่ ขุดบ่อเลี้ยงปลาไปตามประสา”

สายใจยิ้มให้สามี หันมาบอกชายหนุ่มด้วยแววตาอ่อนโยน แสดงถึงความเป็นคนจิตใจดี

“เราจะเกษียณพร้อมกันค่ะ คิดว่าเกษียณก็คือหยุดทำงาน เพื่อพักผ่อน หลังรับราชการมานาน เราไม่ได้ต้องการความร่ำรวยอะไรอีก ของเพียงมีกินมีใช้ ไม่ลำบากมากนักก็พอใจแล้ว”

(มีต่อ)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่