สวัสดีค่ะ กระทู้นี้ก็อยากจะมาแชร์เรื่อง การเข้ารับการรักษาผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจรั่ว ( ฉบับบ้าน ๆ )
แบบเล่าสู่กันฟังในฐานะญาติผู้ป่วยกับญาติผู้ป่วยนะคะ อาจไม่มีประโยชน์ในเรื่องข้อมูลทางการแพทย์
แต่ก็พอจะเป็นข้อมูลเพื่อให้คลายความกังวลใจ ลงได้บ้างไม่มากก็น้อยค่ะ
ลูกชายอายุ 32 ปี ตรวจพบว่าเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว เมื่อ 5 ปี ที่แล้ว คือน้องไปตรวจสุขภาพเพื่อสมัครงาน คุณหมอตรวจพบว่า
มีเสียงดัง ฟู่ ๆ คล้ายจะมีลมรั่วออกมา จึงบอกให้น้องลองไปเช็คที่โรงพยาบาลอีกทีเพื่อความแน่ใจ น้องก็เลยไปตรวจตามที่คุณหมอบอก ผลปรากฏว่าน้องเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่วแน่นอน แต่ด้วยความที่น้องอายุยังน้อยประกอบกับอาการยังไม่มากจึงยังไม่ต้องผ่าตัดค่ะ แต่ก็ยังไปตรวจดูอาการทุกปี จนเมื่อ 2 ปี ที่แล้วน้องมีอาการเหนื่อยมากขึ้น และคุณหมอฟังเสียงแล้วก็บอกว่า น้องมีเสียงลมออกมาเยอะมากขึ้น และลิ้นหัวใจหย่อนมากแล้ว ถึงเวลาที่น้องต้องทำการผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนลิ้นหัวใจแล้ว
คุณหมอจึงให้น้องไปทำการฉีดสีสวนหัวใจ เพื่อดูว่ามีการตีบของหลอดเลือดหัวใจตรงไหนอีกหรือเปล่า และดูสภาพกล้ามเนื้อหัวใจ
และการทำงานของลิ้นหัวใจ เพื่อจะได้วางแผนการรักษาในครั้งเดียวกันเลย ผลออกมาว่าของน้องไม่พบการตีบของหลอดเลือด มีแต่ลิ้นหัวใจที่รั่วรุนแรงอย่างเดียว ตอนนี้ก็ได้แต่รอคิวเพื่อเข้ารับการผ่าตัดซึ่งคุณหมอบอกว่าอย่างเร็วสุดไม่เกิน 1 เดือน คุณหมอบอกให้น้องไปจัดการตรวจฟัน อุดฟัน
ถอนฟันให้เสร็จเรียบร้อย
ก่อนวันเข้าผ่าตัดมาพบหมอตามนัด เพื่อเจาะเลือดตรวจความพร้อมระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ก็มี X-ray ปอด / ตรวจ EKG หัวใจ
ตรวจไวรัสตับอักเสบ B ตรวจการทำงานของไต / ตรวจน้ำตาลในเลือด ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจวัดเวลาการไหลเวียนของเลือด
ตั้งแต่เลือดไหลจนหยุดไหล ตรวจ HIV ตรวจกรุ๊ปเลือดเพื่อจองเลือดใช้สำหรับวันผ่าตัด
น้องบอกมี เจาะเลือดที่หู ไปตรวจด้วยแม่
และแล้ววันที่เรารอคอยก็มาถึง โดยน้องใช้สิทธิ์ประกันสังคมในการผ่าตัด โรงพยาบาลตามสิทธิ์คือ รพ.บางไผ่ แต่ในการผ่าตัดนั้น
รพ.บางไผ่ได้ทำเรื่องส่งตัวให้ไปรักษาไม่ว่าจะเป็นการฉีดสี และ ผ่าตัด ที่โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3
คนไข้ก็คงกลัว ๆ แหละแต่คุณแม่กลัวและกังวลมากกว่าอีก คุณหมอก็แจ้งก่อนผ่าตัดแล้วว่า ทุกการผ่าตัดใหญ่ล้วนมีความเสี่ยง
เมื่อเจาะเลือดเสร็จก็ขึ้นห้องพัก ซึ่งเป็นห้องรวมของผู้ป่วยหัวใจซึ่งน้องก็เคยมานอนแล้วเมื่อครั้งมาฉีดสีสวนหัวใจคราวที่แล้ว
ความดันของน้องต่ำมาก ๆ อยู่ที่ 89 / 78 เองค่ะ ทางคุณหมอก็เลยสั่งให้อ๊อกซิเจนน้อง มีคนไข้มาทำการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ 2 คน (รวมน้อง)
ก็เลยต้องมานั่งลุ้นกันว่าน้องจะได้ผ่าตัดเป็นคนแรกในช่วงเช้า หรือผ่าตัดเป็นคนที่สองในช่วงบ่าย
ผลปรากฏว่าน้องได้ผ่าตัดเป็นคนแรกในช่วงเช้า เข้าห้องผ่าตัดประมาณ 9 โมงเช้า ออกมาจากห้องผ่าตัดประมาณ เที่ยง ๆ
รวม 3 ชั่วโมง คุณแม่นั่งรออยู่หน้าห้องผ่าตัดหน้าห้อง ICU ภาพที่เห็นเมื่อน้องออกมาจากห้องผ่าตัดก็คือ เค้าเข็นน้องออกมาจากห้องผ่าตัด
แล้วเข็นเข้าห้อง ICU เลยนะคะเร็วมาก ๆ ค่ะ เอาจริง ๆ คุณแม่ก็ตกใจนะคะ คุณพยาบาลก็ออกมาบอกว่าน้องปลอดภัยดีแต่ยังไม่ฟื้นเป็นเพราะ
ผลของการดมยา คุณแม่ก็ได้แต่นั่งรอเวลาน้องฟื้น และกฏและข้อบังคับของห้อง ICU คือ ต้องเข้าเยี่ยมตามกำหนดเวลา นั่นคือเวลา 14.00 น.
เมื่อเข้าเยี่ยมได้ ภาพที่คุณแม่เห็นก็คือ น้องก็ใส่ท่อช่วยหายใจ มีสาย มีเครื่อง โน้น นี่ นั่น และน้องถูกมัดแขนทั้งสองข้าง
ไว้กับเตียง (เพราะตื่นมาอาจตกใจและดึงสายต่าง ๆ ออก) น้องนอนหลับตา คุณแม่จึงเข้าไปเรียก น้องก็ลืมตา น้องรู้ตัวดี มีน้ำตาไหลคงจะเจ็บ
ที่คอ น้องยังพูดไม่ได้เพราะมีท่ออยู่ที่คอ เมื่อคุณแม่เห็นน้องรู้สึกตัวดีก็เลยออกมานั่งหน้าห้อง ICU เพื่อให้น้องได้นอนหลับพักผ่อนจะได้พื้นตัวเร็ว
พอตอน 3 ทุ่ม คุณพยาบาลถอดท่อที่คอน้องออก บอกว่าน้องหายใจเองได้ดี น้องนอนอยู่ในห้อง ICU 1 คืน และได้ย้าย
ขึ้นมาพักฟื้นดูอาการที่หอผู้ป่วยเดิม งดเฝ้าและเยี่ยมได้ตามเวลานะคะ จะย้ายไปห้องพิเศษก็ยังไม่ได้ เพราะอาการของน้องต้องดูแลใกล้ชิด
คุณหมอจึงยังไม่อนุญาตให้ย้ายไปห้องพิเศษค่ะ คงต้องรอดูอาการสัก 2 - 3 วันค่ะ คุณแม่ก็เลยต้องนอนตรงเก้าอี้ด้านนอกแหละค่ะ ไม่ได้กลับบ้าน
เพราะเป็นห่วงน้อง และบ้านเราอยู่ฝั่งธน จะไป จะกลับก็ใช้เวลานาน ก็เลยนอนมันใน รพ.สะดวกและปลอดภัยดี เอาจริง ๆ ก็คือ อยากอยู่ใกล้ ๆ ลูกค่ะ
สองวันแรกจะเจ็บแผลมาก เพราะจะมีสายอยู่ที่คอ และที่มือ น้องยังมีไข้ จะหันซ้าย หันขวา จะนอนท่าไหนก็ไม่ถนัด
กินอะไรก็ยังได้ไม่มากนักเพราะน้องกลัวการถ่ายท้อง คงอายพยาบาล คุณพยาบาลจะสั่งให้ดูดลูกบอลทุกวัน เพื่อป้องกันภาวะปอดแฟบ
ซึ่งมันจะเป็นอันตรายมาก ๆ เลยถ้ามีภาวะปอดแฟบ ซึ่งน้องก็อดทนมาก ๆ พยายามเป่าตลอด เอาจริง ๆ มันเหมือนง่ายนะคะ แต่พอมาป่วย
และต้องผ่าตัดแบบนี้ ดูดขึ้น 1 ลูกนี่ก็เก่งมาก ๆ แล้วล่ะค่ะ
น้องนอนพักฟื้นในห้องผู้ป่วยหัวใจรวม 2 คืน คุณหมอก็อนุญาตให้น้องย้ายไปพักฟื้นที่ห้องพิเศษได้
อาการโดยรวมก็ไม่น่าห่วงอะไรนะคะ อยู่ใกล้หมอ คุณพยาบาลก็เข้ามาดูแลตลอด ที่เหลือก็แค่ตัวน้องเอง
ร่างกายของน้อง ที่ต้องพักฟื้น ให้กลับมาสู่สภาพปกติโดยเร็ว
พอถอดสายที่คอออกก็สะดวกขึ้นมากค่ะ น้องบอก
ยังคงต้องล้างแผลทุกวัน นะคะ
ภาพก่อน ผ่าตัด
คุณหมอเก่งมาก ๆ เลยนะคะ นกฮูกของน้องไม่เบี้ยวเลย ( หลังผ่าตัด )
ตอนนี้ก็ หัดเดิน แต่อย่าเพิ่งหักโหมนะคะ ยังมีอาการเจ็บหน้าอกจากแผลผ่าตัด และยังเหนื่อย ๆ อยู่ค่ะ
อาหารก็ประมาณนี้ค่ะ เป็นอาหารอ่อน งดเค็ม คุณแม่ก็ถ่ายเมนูไว้ เพื่อเอาไว้ทำให้น้องกินเมื่อกลับบ้านค่ะ
ต้องขยันดูดค่ะ ซึ่งน้องขยันมาก ๆ น้องดูดขึ้น 3 ลูกเลยนะคะ แต่น้องซูบไปเยอะ
ของน้องผ่าตัดโดยการ ผ่าช่องอกนะคะ แล้วก็เปลี่ยนลิ้นหัวใจเป็นโลหะ หลังผ่าตัดก็ต้องกินยาละลายลิ่มเลือดไปตลอดชีวิต
ก็ต้องระมัด ระวังตัวเอง ในเรื่องการกินอาหารที่จะมีผลต่อยา ระวังอย่าให้เลือดออกเพราะจะหยุดยาก ก็แค่นั้นอ่ะค่ะ ซึ่งน้องใช้สิทธิประกันสังคม
ในการรักษาพยาบาล ซึ่งค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดครั้งนี้ประมาณ 380,000.- บาทซึ่งน้องไม่ต้องจ่าย จะจ่ายก็แค่ค่าส่วนต่างของห้องพิเศษเท่านั้นค่ะ
ส่วนค่าฉีดสีสวนหัวใจก็ประมาณ 35,000.- บาท ก็ไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เลยเพราะไม่ได้นอนห้องพิเศษค่ะ
น้องนอน รพ. 6 วันค่ะ แล้วคุณหมอก็ให้กลับมาพักฟื้นที่บ้าน ข้อควรระวังก็คือ อย่าเพิ่งทำอะไรที่ใช้แรง อย่ายกของหนัก
เพราะภายนอกอาจดูปกติดีทุกอย่าง แต่ภายในยังไม่หายดีนะคะ เพราะกระดูกหน้าอกยังไม่เชื่อมติดกันดี ต้องใช้เวลาสัก 1 - 2 เดือนค่ะ
แต่ยังไงก็ยังทำอะไรไม่ถนัดอยู่ดีแหละค่ะ เพราะน้องบอกว่ายังเจ็บอยู่มาก เวลาจะหัน เวลานอน ยังเจ็บหน้าอกข้างในอยู่ค่ะ ส่วนอาการ
อื่น ๆ ก็ไม่มีอะไรน่าห่วงแล้วล่ะค่ะ กินยาให้ตรงเวลา มาพบหมอตามนัด เพื่อเจาะเลือดดูค่าของเลือด เพื่อปรับลดยาก็ไม่มีอะไรน่ากังวลค่ะ
พอออกจาก รพ.ปุ๊ป ก็พาน้องมาสระผมที่ร้านเพื่อนของน้องค่ะ เพราะจะสระเองมันก็ลำบาก
กระทู้นี้ก็อยากมาแบ่งปันประสบการณ์สำหรับญาติผู้ป่วยที่มีคนในครอบครัวต้องผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอาไว้เป็นข้อมูล
ว่ามันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดค่ะ ไม่ต้องกังวลคุณหมอเก่งมาก ๆ ค่ะ ส่วนเรื่องข้อมูลทางการแพทย์ก็ถาม อากู๋ (Google) นะคะ
ตอนนี้น้องกลับมาใช้ชีวิตปกติแล้วแข็งแรงดี ไปฉีด AZ มาแล้วค่ะ
แชร์ประสบการณ์ การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจรั่ว
ก็เลยต้องมานั่งลุ้นกันว่าน้องจะได้ผ่าตัดเป็นคนแรกในช่วงเช้า หรือผ่าตัดเป็นคนที่สองในช่วงบ่าย