JJNY : พท.เสนอตั้งรับก่อนปลดล็อก‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’│สนค.ฟาดรัฐฉีดช้า│ชลน่านแจงพท.ยื่นแก้รธน.5ร่าง│พรรคร่วมรบ.ยื่น7ร่าง

วงเสวนาเพื่อไทย เสนอตั้งรับก่อนปลดล็อก ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ ชี้ นทท.ต่างชาติยังสับสน
https://www.matichon.co.th/politics/news_2770762
 
 
“เพื่อไทย” เสวนาตั้งรับ ก่อนปลดล็อก ‘ภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์’ หวังฟื้นภาคการท่องเที่ยวให้กลับมาโดยเร็ว
 
เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) มีการจัดงานเสวนา “ภูเก็ต sandbox ปลดล็อกการท่องเที่ยวไทย?” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดแรกในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้
 
โดยนายนิพนธ์ เอกวานิช ประธานกรรมการ บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด กล่าวว่า ภูเก็ตเป็นจังหวัดแรกที่พบการระบาดของโควิด-19 ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2563 เมื่อปลดล็อคดาวน์ในเดือนพฤษภาคม 2563 ภาคธุรกิจได้ปรับตัวออกโปรโมชั่นลดราคาเพื่อกระตุ้นรายได้ แต่นักท่องเที่ยวกลับมาได้เพียง 20% เท่านั้น เมื่อเกิดการระบาดระลอก 2 และระลอก 3 ได้สร้างความเสียหายให้กับจังหวัดภูเก็ตหลายแสนล้านบาท
 
เอกชนและภาครัฐของจังหวัดจึงได้เสนอภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เปิดให้ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าภูเก็ตในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 โดยต้องกักตัว 7 วัน โดยใน 5 วันแรกจะมีการสว็อปตรวจเชื้อ หากไม่พบเชื้อสามารถเดินทางท่องเที่ยวภายในจังหวัดได้ แต่เมื่อ ศบค.กลับเพิ่มการกักตัวเป็น 14 วัน สร้างความสับสนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นอย่างมาก
 
จึงอยากเรียกร้องรัฐบาลและฝ่ายค้านสร้างระบบสั่งการคนเดียว (Single command) เหมือนกรณีหมูป่าในเชียงราย ไม่อย่างนั้นจะติดหล่มการฟื้นตัว พร้อมยืนยันหากคนภูเก็ตไม่ได้ฉีดวัคซีนถึง 70% จะไม่เปิดเกาะรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแน่นอน นอกจากนี้ภาครัฐต้องจัดหาวัคซีนให้เพียงพอ และทุกฝ่ายต้องระดมสรรพกำลังทำให้โมเดลนี้สำเร็จ เพื่อให้จังหวัดท่องเที่ยวอื่นนำไปดำเนินการต่อได้
 
ด้านนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และทีมนโยบายสาธารณสุข พรรคพท. กล่าวว่า การออกจากวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ซึ่งมาจากการบริหารที่ล้มเหลวผิดพลาดของรัฐบาล มีกุญแจ 2 ดอก ได้แก่ 
 
1. ต้องใช้หลักการระบาดวิทยาหรือมาตรการด้านสาธารณสุข ทุกคนในเมืองท่องเที่ยวต้องได้รับวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ 
2. การเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น ทุกคนต้องได้รับการตรวจ ลงทะเบียน หรือสามารถบอกได้ว่าแต่ละคนมีภูมิคุ้มกันอย่างไร
 
พร้อมเสนอให้ภาคเอกชนจังหวัดภูเก็ตตั้งคณะทำงานพิเศษ ยกร่างแผนการบริหารจัดการด้วยเอง และนำเสนอให้พลเอกประยุทธ์ให้ดำเนินการตามแผนนี้ เพื่อให้ได้แนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ไม่กลับไปกลับมาเหมือนที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ เห็นว่ามาตรการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ รัฐบาลลงทุนน้อยมาก ซึ่งเมืองรองอื่น เช่น หนองคาย อุบลราชธานี จะต้องขยับตามด้วย เพียงแค่รัฐบาลลงทุนแค่ซื้อวัคซีนไม่กี่หมื่นชุดต่อหนึ่งเมืองหลัก ก็จะเป็นเครื่องมือสำคัญสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้
 
น.ส.ชนก จันทาทอง โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ภาคการท่องเที่ยวคืออุตสาหกรรมหลักที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทย และแม้จังหวัดภูเก็ตพร้อมรับทุกเงื่อนไข แต่ปัญหาเดียวคือ ความชัดเจนและการจัดการของ ศบค. รวมถึงปัญหาการสื่อสารเพื่อเชิญชวนนักท่องเที่ยว การใช้คำ “กักตัว” อาจไม่เหมาะสม หากเปลี่ยนเป็น “จำกัดพื้นที่เพื่อความปลอดภัย” อาจจูงใจการท่องเที่ยวมากกว่า
 
จึงอยากให้ ศบค. พิจารณาว่าหลักการท่านหรือหลักปากท้องประชาชนมีความสำคัญกว่ากัน หากภูเก็ตแซนด์บ็อกโมเดลเปิดได้ จังหวัดท่องเที่ยวอื่นๆ ของประเทศไทยก็มีความหวังจะพลิกฟื้นกลับมาทำมาหากินได้เช่นกัน
 
นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ และคณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคพท. กล่าวว่า อยากเรียกร้องภาครัฐมีความจริงใจในการแก้ปัญหาภาคการท่องเที่ยวไทยที่ได้รับความเสียหายจากการระบาดของโควิด-19 ทั้ง 3 ระลอก เพราะเมื่อดูจากงบประมาณปี 2565 เป็นงบสำหรับการท่องเที่ยวเพียง 0.2 % ของงบทั้งหมดเท่านั้น ทั้งที่ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวของโลก
  
อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวจะกลับมาได้ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาเร็วที่สุด พาสปอร์ตวัคซีนเล่มแรกอยู่ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว ภูเก็ตและจังหวัดท่องเที่ยวบอบช้ำมามากแล้ว หากเกิดการระบาดระลอก 4 ท่านจะรับมืออย่างไร
 

  
สนค. ฟาดรัฐ ฉีดวัคซีนล่าช้า ทำความเชื่อมั่นผู้บริโภคดิ่งต่อเนื่อง
https://www.khaosod.co.th/economics/news_6447670
 
สนค. ฟาดรัฐ ฉีดวัคซีนล่าช้า ทำความเชื่อมั่นผู้บริโภคดิ่งต่อเนื่อง เผยผลจาก โควิดระลอก 3 ลดลงทั้งในปัจจุบัน-ในอนาคต-ทุกภาค-ทุกอาชีพ
 
วันที่ 11 มิ.ย.64 นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่าจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 8,038 คน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมในเดือนพ.ค. 2564 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ระลอก 3
 
โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนพ.ค. 2564 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 41.6 เทียบกับระดับ 43.5 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับตัวลดลงทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต ในทุกภาค และทุกอาชีพ
 
โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวลดลงจากระดับ 36.4 มาอยู่ที่ระดับ 34.3 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต พบว่า ปรับลดลงจากระดับ 48.2 มาอยู่ที่ระดับ 46.5 หากจำแนกรายภูมิภาค จะพบว่าลดลงในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคกลาง มีสัดส่วนการลดลงมากที่สุด ปรับตัวลดลงจากระดับ 44.2 มาอยู่ที่ระดับ 39.7 รองลงมาคือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล จากระดับ 41.5 มาอยู่ที่ระดับ 38.5 ภาคเหนือจากระดับ 43.5 มาอยู่ที่ระดับ 40.5
 
เมื่อจำแนกรายอาชีพ ก็ลดลงทุกกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาปรับลดลงจากจากระดับ 41.6 มาอยู่ที่ระดับ 37.1 ซึ่งมีสัดส่วนการปรับลดลงมากที่สุด กลุ่มไม่ได้ทำงานปรับลดลงจากระดับ 37.2 มาอยู่ที่ระดับ 36.9 ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเชื่อมั่นต่ำที่สุด เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มากที่สุด และมีความไม่มั่นคงในการดำรงชีพ
 
ส่วนกลุ่มพนักงานของรัฐ จากระดับ 49.6 มาอยู่ที่ระดับ 47.4 กลุ่มผู้ประกอบการ จากระดับ 43.1 มาอยู่ที่ระดับ 41.2 กลุ่มพนักงานเอกชน จากระดับ 42.4 มาอยู่ที่ระดับ 40.6 กลุ่มเกษตรกร จากระดับ 44.3 มาอยู่ที่ระดับ 42.6 และกลุ่มรับจ้างอิสระ จากระดับ 41.0 มาอยู่ที่ระดับ 39.3
 
ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลงต่อเนื่อง เป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก3 ที่มียอดผู้ติดเชื้อรายวันจำนวนมาก รวมถึงความล่าช้าของการฉีดวัคซีนและการกระจายวัคซีนไปยังจังหวัดต่าง ๆ และในอนาคตหวังว่าถ้าสามารถกระจายและฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้อย่างรวดเร็ว และสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดให้กลับเข้าก่อนการระบาดได้โดยเร็ว จะส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของไทยฟื้นปรับตัวดีขึ้นตามลำดับได้” นายภูสิต กล่าว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่