ระบบรถรางกรุงเทพ พาหนะสุดคลาสสิก เสน่ห์แห่งรัตนโกสินทร์ยุคเก่า

"ระบบรถรางกรุงเทพ พาหนะสุดคลาสสิก เสน่ห์แห่งรัตนโกสินทร์ยุคเก่า"

ก่อนเข้าเรื่องขอแนะนำตัวกันก่อนนะครับ
ผมชื่อเล่นว่า"โดม"นะครับ เป็นผู้ฝักใฝ่ในด้านอวกาศเป็นซะส่วนใหญ่ และชอบอย่างอื่นด้วย เช่นประวัติศาสตร์ รถไฟไทย ครับผม โดยในวันนี้ผมจะมาตั้งกระทู้เกี่ยวกับประวัติของระบบรถรางกรุงเทพในอดีต

หากกล่าวถึงระบบการสัญจรในอดีต ประเทศไทยก็ถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความโดดเด่นในเรื่องนี้อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องระบบการสัญจรแบบราง อย่างที่หลายคนทราบกันแล้วว่า ประเทศไทยเราเคยมีการให้บริการรถรางในอดีต โดยถือเป็นประเทศแรกในทวีปเอเซียที่ใช้ระบบรถราง และถือเป็นประเทศแรกในโลกที่ใช้กำลังไฟฟ้าในการเดินรถอีกด้วย

โดยคร่าวๆคือมีการให้บริการยาวนานถึง 80 ปี เปิดให้บริการตั้งแต่ พ.ศ.2431 จนถึง พ.ศ.2511 ด้วยเหตุที่ว่ารถรางกลายเป็นสิ่งกีดขวางของการจราจรไป อีกทั้งการพัฒนาของยานพาหนะที่เริ่มมีตัวเลือกในการสัญจรมากขึ้น ระบบรถรางจึงถูกยกเลิกไปในที่สุด โดยระบบรถรางได้เปิดให้บริการทั้งสิ้น 11 สาย ตั้งแต่รอบตัวเมืองชั้นในจนถึงกระจายสู่ตัวเมืองชั้นนอก ซึ่งแต่ละสายมีรายละเอียดอย่างไร ตัวรถหน้าตาเป็นแบบไหน และถอดบทเรียนจากระบบขนส่งมวลชนในอดีต ว่าเราจะปรับใช้กับในปัจจุบันได้อย่างไรบ้าง ไปรับชมกันครับ

รถรางในปีพ.ศ.2455(ค.ศ.1912)

ก่อนอื่น เรามาดูSpecของระบบรถรางกรุงเทพคร่าวๆกันดีกว่าครับ

เปิดบริการ: 22 กันยายน พ.ศ.2431(คศ.1888)
ยุติบริการ:11 ตุลาคม พ.ศ.2511(คศ.1968)
สถานะปัจจุบัน:ยุติบริการ
เส้นทาง:11สาย

ระบบโครงสร้างการเดินรถ:รางกว้าง1เมตร หรือ มีเตอร์เกจ (กว้างเทียบเท่ารางของรฟท.ในปัจจุบัน)(Meter gauge)
ส่วนตอนที่ยังใช้มาลาก อันนี้ไม่ทราบครับ
ระบบพลังงาน:จ่ายไฟแบบเหนือหัว รับไฟด้วยแหนบรับไฟ/สาลี่/แพนโทกราฟ(เรียกได้หลายชื่อเหลือเกิน=_=) เป็นไฟกระแสตรง(DC) แรงดัน600โวลต์

เอาล่ะ เข้าสู้เนื้อหาหลักกันครับ

ประวัติของระบบรถรางกรุงเทพ

ภายหลังจากการสร้างถนนเจริญกรุงเมื่อปี พ.ศ.2404(ค.ศ.1861) และเปิดให้คนใช้สัญจรไปมาตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2407(ค.ศ.1864)
ปรากฏว่าถนนสายนี้มีคนสัญจรไปมากันมาก และถนนสายนี้เชื่อมระหว่างท่าเรือถนนตกกับในเมือง หรือในเขตที่เจริญแล้ว 
การคมนาคมในสมัยนั้น ถ้าเป็นทางน้ำก็ใช้เรือพาย เรือแจว ถ้าเป็นเจ้านาย ขุนนาง ก็ใช้เรือเก๋ง เรือประทุน ถ้าเป็นทางบกก็ใช้เดินมากที่สุด หรืออย่างดีก็ขี่ม้า ถ้ามีเงินหน่อยก็ใช้รถม้า มีรถเจ๊กวิ่งรับจ้างอยู่บ้างแต่ก็ไม่มากนัก
ถนนเจริญกรุงจะมีผู้คนใช้สัญจรไปมามาก พื้นถนนสร้างครั้งแรกไม่มีการลงราง ใช้เพียงอิฐเรียงตะแคงเท่านั้น ในไม่ช้าก็ชำรุดทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว ไม่สะดวกแก่รถม้า รถเจ๊ก และแม้แต่คนเดินเท้า

จอห์น ลอฟตัน นายทหารเรืออังกฤษที่ทำงานร่วมกับกองทัพเรือไทยพร้อมกับเพื่อนร่วมงานชาวเดนมาร์ก เห็นบริการรถรางที่สร้างผลกำไรในสาย โดยพิจารณาว่าเวลาในการเดินทางมีความสำคัญมากในการเดินทางจากปลายถนนด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง

ถนนเจริญกรุงในสมัยร.5 cr image.พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก

คุณจอห์นสำรวจพื้นที่ประมาณ3วัน ก่อนที่จะขออนุญาตรัฐบาลทำสัมปทานการรถรางขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2430(ค.ศ.1887)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชานุญาตให้คุณจอห์นดำเนินการได้ ด้วยพระองค์มีพระราชประสงค์จะทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าเช่นอารยประเทศทั้งหลาย อีกทั้งยังมีพระราชดำริว่าการมีรถรางมากๆ เป็นความสะดวกของอาณาประชาราษฎร์ และประการสำคัญคือ รถของคุณจอห์นไม่เป็นอันตรายแก่ถนนหลวงด้วย โดยได้รับสัมปทานให้ดำเนินการรถราง 7 เส้นทาง

คุณจอห์น ลอฟตัล เริ่มวางรางสำหรับให้รถวิ่งตั้งแต่บางคอแหลม ถนนตก มาตามสายถนนเจริญกรุง จนถึงพระบรมมหาราชวัง เรียกรวมๆว่า"รถรางสายบางคอมแหลม" ขณะนั้นมีประชาชนสนใจมาดูการสร้างรางเพราะไม่เคยเห็น บางคนก็ไม่รู้ว่านายจอห์นจะทำอะไร จึงเกิดการวิจารณ์กันมาก

บางคนก็ว่าฉวยโอกาสทำการโฆษณาคุณภาพรถว่าวิเศษนัก ดีกว่าเดิน ดีกว่ารถม้า นั่งแล้วไม่สะเทือน บ้างก็ว่าโม้มากไป
หลังจากที่วางรางเสร็จ นายจอห์นก็ทำพิธีเปิดรางเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2431(ค.ศ.1888)  โดยใช้ม้าลากไปตามราง เมื่อเดินรถวันแรกนั้นนายจอห์นไม่เก็บสตางค์ให้นั่งฟรี ผู้คนจึงพากันนั่งรถรางเป็นการใหญ่และได้รู้ว่านั่งรถรางแล้วไม่สะเทือนจริงๆ ดีกว่ารถเจ๊ก สบายกว่ารถม้าเป็นไหนๆ

รถรางกรุงเทพในปี พ.ศ.2431(ค.ศ.1888)

มีเรื่องเล่าว่ารถรางของนายจอห์นอะไรๆก็ดี แต่สงสารม้า นายจอห์นอ้วนขึ้นแต่ม้าผอมลงทุกวัน ม้าลากรถรางคันหนึ่งมีสองคู่ คือ ๔ ตัว เรียกว่า พวงหนึ่ง
นอกจากนั้นยังมีม้าอะไหล่ไว้สำหรับสับเปลี่ยนเป็นระยะๆ ไปตลอดถนนเจริญกรุง เมื่อม้าลากรถรางมาถึงระยะสับเปลี่ยน ก็เอาม้าพวงที่ลากมาออกให้กินน้ำกินหญ้าพักผ่อน แล้วเปลี่ยนไปเทียมม้าพวงที่รออยู่ลากรถต่อไป ทำอย่างนี้เป็นระยะๆ ไป

แต่นายจอห์นเดินรถอยู่ได้ไม่กี่ปีก็ต้องโอนกิจการ เมื่อปีพ.ศ.2432(ค.ศ.1889) ไปให้บริษัทสัญชาติอังกฤษ ที่มีนามว่า"บริษัทรถรางกรุงเทพฯ จำกัด" ดำเนินการต่อไป บริษัทที่รับช่วงงานไปจากนายจอห์น คือบริษัท บางกอกแทรมเวย์ คอมปะนี ลิมิเต็ด บริษัทนี้ปรับปรุงกิจการรถรางให้สะดวกขึ้นอีกเล็กน้อยแต่ยังใช้ม้าลากอยู่เช่นเดิม ดำเนินการอยู่ได้ไม่นานก็ขาดทุนย่อยยับ เลยต้องโอนกิจการรถรางไปให้บริษัทของชาติเดนมาร์กอีก เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2435(ค.ศ.1892)

ด้วยชั่วระยะเวลาเพียง ๔ ปี กิจการรถรางต้องเปลี่ยนมือผู้ดำเนินการมาถึง ๓ ครั้ง สำหรับบริษัทหลังได้เปลี่ยนแปลงปรับปรุงรถราง โดยเปลี่ยนจากการใช้ม้าลากมาใช้กำลังกระแสไฟฟ้าแทน โดยตกลงเช่ากระแสไฟฟ้าจากบริษัท อิเลคทริค ซิตี้ คอมปะนี ลิมิเต็ด
ภายหลังจากวางสายไฟฟ้าและปรับปรุงระบบการเดินรถเสร็จเรียบร้อยแล้ว รถรางโดยกำลังกระแสไฟฟ้าก็ได้ทำพิธีเปิดเดินขบวนเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2437(คศ.1894) ถือได้ว่าการใช้กำลังไฟฟ้าในกิจการรถรางนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ใช้กำลังไฟฟ้าในการเดินทาง

cr image.urbanaffairsmagazine

รถรางโดยกระแสไฟฟ้าของบริษัทชาติเดนมาร์กดำเนินการมาได้ ๖ ปี คือดำเนินงานมาถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2443(คศ.1900) บริษัทรถรางก็โอนกิจการเข้าไปรวมเป็นบริษัทเดียวกับบริษัท อิเลคทริค ซิตี้  คอมปะนี ลิมิเต็ด กิจการของบริษัทก็เจริญและเป็นปึกแผ่นมั่นคงยิ่งขึ้น และเปิดสายอื่นเพิ่มอย่าง"สายสามเสน"

และมาถึงในปีพ.ศ.2448(ค.ศ.1905) มีผู้ตั้งบริษัทขึ้นอีกรายคือ บริษัท รถรางไทย โดยได้รับพระบรมราชานุญาตให้เดินรถรางในกทม.

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีฝังนอตรางอันสุดท้าย เพื่อเป็นการแสดงว่าการก่อสร้างรางสำเร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๔๘ และได้ประทับรถรางพิเศษซึ่งได้จัดเป็นรถพระที่นั่ง พร้อมด้วยรถตามเสด็จอีกรวม ๑๖ คัน แต่ละคันตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงามมาก

รถรางที่เปิดเดินสายใหม่คือ รถรางสายรอบเมือง หรือที่เรียกว่า "สายดุสิต" ตัวรถทาด้วยสีแดง จึงเรียกว่า "รถรางสายแดง" ส่วนรถของบริษัทเดิมทาสีเหลืองจึงเรียกว่า "รถรางสายเหลือง" ไม่ใช่สายเหลืองที่แปลว่าชายXชายนะครับ(ฮา)

รวมถึงสายอื่นๆ อย่าง "สายปทุมวัน" "สายสีลม" นั่งไปฝั่งธนได้นะครับ เอ้ย!! นั่นมันBTSสายสีลม(ฮา) "สายกำแพงเมือง" "สายบางซื่อ" "สายสุโขทัย" "สายราชวงศ์" "สายอัษฎางค์" "สายหัวลำโพง"

กิจการของบริษัทรถรางได้ดำเนินต่อมา จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๕๑ อันเป็นเวลาภายหลังจากบริษัทเริ่มดำเนินกิจการมาได้เพียง 4 ปี
ก็ได้โอนกิจการไปรวมกับบริษัทรถรางฝรั่ง ซึ่งเดินอยู่แต่เดิมคือสายเจริญกรุงและสายสามเสน เปลี่ยนนามใหม่เป็นบริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด
เป็นอันว่ารถรางเหลืออยู่เพียงบริษัทเดียว สีแดงของรถรางสายดุสิตได้เปลี่ยนเป็นสีเหลืองเพื่อให้เป็นสีเดียวกัน

จนถึงวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2470(ค.ศ.1927) บริษัทจึงได้เปลี่ยนอีกครั้งหนึ่งเป็นบริษัท ไฟฟ้าไทย คอปอเรชั่น จำกัด

และในที่สุดบริษัทนี้ซึ่งดำเนินกิจการทั้งการรถรางและการจำหน่ายกระแสไฟฟ้า ก็ได้โอนมาเป็นของรัฐบาล
ในนามของ บริษัท การไฟฟ้ากรุงเทพฯ จำกัด ในสังกัดของกรมโยธาเทศบาลและกระทรวงมหาดไทย

เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2493(ค.ศ.1950) จนถึง พ.ศ.2511(ค.ศ.1968) ได้ยกเลิกการเดินรถอย่างถาวรเพราะถูกมองว่ากินพื้นที่ถนน และต้นทุนของรถเมล์นั้นถูกกว่า(ซึ่งปัจจุบันเราก็เห็นๆว่ารถเมล์ขสมก.มันเป็นยังไง=_=)

รถรางในลพบุรี
เนื่องด้วยสมัยนั้นจอมพลป.(ลุงป.ถั่วงอก)ของเรา มีความคิดที่จะนำเมืองหลวงแห่งที่2ไปตั้งที่ลพบุรี จึงหอบข้าวของทุกอย่างไปไว้ลพบุรี จึงทำให้เกิดสาธารณูปโภคมากมายเกิดขึ้นที่ลพบุรี รัฐบาลได้ดำริที่จะขอการรถรางออกไปยังต่างจังหวัดด้วย และได้เริ่มดำเนินการที่จังหวัดลพบุรีเป็นจังหวัดแรกตั้งแต่ พ.ศ.2498(ค.ศ.1955) โดยเปิดเดินตั้งแต่ศาลพระกาฬตลอดไปจนถึงกองพันทหารที่6

ต่อมาได้ขยายทางต่อจากศาลพระกาฬเข้ามาในเมืองลพบุรี จนถึงโบสถ์พราหมณ์ ส่วนในรูปลักษณะรถรางเมืองลพบุรีและการดำเนินกิจการนั้นก็คงเหมือนกับรถรางในกรุงเทพฯ

สมัยที่เริ่มมีรถรางในเมืองไทยใหม่ๆ นั้น เป็นที่นิยมของประชาชนทั่วไป เพราะยานพาหนะอื่นๆ ยังไม่มี ถึงมีแต่ก็ไม่มาก ผู้โดยสารน้อยการรถรางจึงมีแต่ทรงกับทรุด เมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๑ ผู้คนในพระนครเริ่มมีมากขึ้น กิจการรถรางจึงค่อยดีขึ้น แต่ก็มีพาหนะอื่นๆ เช่น สามล้อ แท็กซี่ และรถประจำทางก็มีเพิ่มมากขึ้น

รถเหล่านั้นจึงแย่งผู้โดยสารรถรางไปเสียมาก เพราะรวดเร็วและสะดวกสบายหลายประการ รถรางจะช้าเมื่อตอนรอหลีก ไม่เหมาะแก่การไปไหนมาไหนหากมีเวลาน้อยหรือรีบด่วน ดังนั้นเมื่อมีรถโดยสารอื่นๆ มาแข่งขัน ความสนใจของประชาชนที่มีต่อรถรางจึงดูเนือยๆ ไป
จนถึงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยานพาหนะอื่นๆ ส่วนมากต้องอาศัยน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันส่งมาจากต่างประเทศไม่ได้ก็เลยต้องหยุดวิ่ง รถที่ไม่ได้อาศัยน้ำมันก็ตื่นตัว คือ รถสามล้อ รถเจ๊ก รถม้า เพราะหาเงินได้คล่อง

แต่รถสามล้อในช่วงปลายสงครามขาดแคลน เพราะยางที่มีอยู่ก่อนก็ร่อยหรอ หาซื้อใหม่ไม่ได้ ที่อยู่นานก็คือรถเจ๊กและรถราง แม้รถรางจะช้าไปหน่อย แต่ก็ซื่อสัตย์ยืนหยัดบริการได้ตลอดเวลา

ในตอนปลายสงครามรถรางก็เริ่มแย่ลง เนื่องจากกระแสไฟฟ้าไม่พอหลายสายต้องหยุดเดิน บางสายก็ลดจำนวนให้น้อยลง นั่งรถรางสมัยไหนก็ไม่ยากลำบากเท่ากับรถรางสมัยสงคราม เพราะคนแน่น ต้องลงทางหน้าต่างก็มี

บางทีเวลารถวิ่งต้องห้อยโหนเกาะตัวถังรถเป็นพวง บางครั้งก็พลัดตกลงมาแขนหักคอหักตายไปบ่อยๆ ก็มี อาชีพล้วงกระเป๋าก็เจริญขึ้นไปตอนสงครามนี่เอง

และนี่คือประวัติของรถรางในอดีตของเมืองไทยประเทศแรกในโลกที่นำกระแสไฟฟ้าเข้ามาเป็นแรงผลักดันในการวิ่ง จึงถือได้ว่ารถรางมีความสำคัญ และเป็นส่วนหนึ่งของคนไทยในอดีตที่ผ่านมา

**ต่อในคอมเม้นนะครับ**
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่