JJNY : WTO ชมเวียดนามดันจีดีพีโต│ครัวเรือนกำลังซื้อเปราะบาง│'พิธา'เตือนอย่าส่งนักข่าวพม่า│คืนเงินผู้ปกครอง แห่ปิดกิจการ

WTO ชมเวียดนามทำ FTA 15 ฉบับ-ลดความยากจน เหลือ 6% ดันจีดีพีโตฝ่าโควิด
https://www.prachachat.net/breaking-news/news-667895


 
สมาชิก WTO ถกทบทวนนโยบายการค้าเวียดนาม ชื่นชมเศรษฐกิจแข็งแกร่ง ฝ่าโควิด ปี 63 โต 2.9% หลังเร่งเครื่องเอฟทีเอ 15 ฉบับ พร้อมลดความยากจนที่จาก 70% เหลือ 6% คาดเข้าขยับเป็นประเทศรายได้สูงที่พัฒนาแล้วได้ ปี 2585 ด้านไทยใช้โอกาสนี้แสดงความกังวลเรื่องขั้นตอนการนำเข้ารถยนต์-การวางตลาดผลิตภัณฑ์ยา ขอยึดมั่นในข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศที่ตนมีส่วนร่วมไว้อย่างเคร่งครัด
 
วันที่ 13 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก เปิดเผยถึงโอกาสที่ได้เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมเพื่อทบทวนนโยบายการค้า (Trade Policy Review) ของเวียดนามครั้งที่ 2 เมื่อเวันที่ 27 เมษายน 2564 ที่ผ่านมาว่า
 
ในช่วงที่ผ่านมา พัฒนาการของเศรษฐกิจเวียดนามเป็นที่จับตาจากทั่วโลก โดยย้อนหลังไปปี 2557 – 2561 เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวเฉลี่ยที่ 6.6% ระหว่าง และในปี 2562 สามารถขยายตัวถึง 7%

โควิดไม่สะเทือนจีดีพี

“ล่าสุดปี 2563 ถึงแม้จะประสบกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เศรษฐกิจเวียดนามกลับขยายตัวได้ถึง 2.9% ทำให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวของเวียดนามเพิ่มสูงกว่า 2,700 เหรียญสหรัฐ (เทียบกับไทยที่ 8,000 เหรียญ) และสามารถลดสัดส่วนความยากจนได้จาก 70% ในช่วงต้นทศวรรษที่ 90 ลงมาเพียง 6% ในปี 2562 โดยเวียดนามตั้งเป้าจะกลายเป็นประเทศรายได้สูงที่พัฒนาแล้วภายในปี 2585”
 
นางพิมพ์ชนก ยังกล่าวอีกว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จของเวียดนามอยู่ที่นโยบายส่งเสริมการส่งออก และสร้างความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก สะท้อนจากสัดส่วนการค้าต่อ GDP สูงถึง 210% ในปี 2562 เพิ่มจาก 165.1% ในปี 2556 ทำให้เวียดนามกลายเป็นหนึ่งใน 20 ประเทศสมาชิกที่มีมูลค่าการค้ามากที่สุดในโลก
 
โดยในปี 2563 คู่ค้าหลักของเวียดนาม ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ โดยไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 7 ของเวียดนาม และเวียดนามเป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของไทย
 
เวียดนามเปิดเอฟทีเอ เพียบ
 
นอกจากนี้ เวียดนามยังมุ่งเน้นการทำความตกลงการค้าระดับภูมิภาคและการหารือระดับทวิภาคี ซึ่งปัจจุบันนี้มีถึง 15 ฉบับ รวมถึงการมี FTA กับสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร สหภาพเศษฐกิจยูเรเซีย และ CPTPP และกำลังเจรจา FTA กับสมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) และอิสราเอล ซึ่งส่งผลให้เวียดนามต้องปฏิรูปกฎระเบียบหลายประการ เพื่อเพิ่มมาตรฐานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ
 
ประเด็นที่สมาชิกหลายประเทศแสดงความชื่นชมเวียดนามมากมี 2 ประเด็นหลัก คือ (1) การมีความตกลง FTA จำนวนมากกับหลายประเทศ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีเงินทุนเข้ามาในเวียดนามจำนวนมากแม้ในช่วงเกิดวิกฤตโควิด โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ ที่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของเวียดนามในปัจจุบัน เพราะการมี FTA ทำให้เวียดนามได้แต้มต่อในการส่งออกผ่านอัตราภาษีของประเทศคู่ค้าที่ต่ำกว่าอัตรา WTO ทำให้หลายประเทศสนใจเข้ามาลงทุนในเวียดนามอย่างมาก
 
และ (2) การผ่อนคลายกฎระเบียบการค้าการลงทุนหลาย ๆ ด้าน (Deregulation and Liberalisation) โดยเฉพาะในภาคบริการ ที่เวียดนามเลือกจำกัดเฉพาะสาขาที่เป็นสาขาอ่อนไหวหรือสำคัญกับความมั่นคง เช่น โทรคมนาคม สื่อต่าง ๆ โดยยังไม่ได้เปิดให้ต่างชาติถือหุ้น 100% แต่ก็ให้ถือหุ้นข้างมากได้ในบางกิจกรรมย่อย หรือการให้คนต่างชาติเข้ามาให้ทำงานเฉพาะด้านมากขึ้น รวมทั้งการลดขั้นตอนการขออนุญาตในเรื่องต่าง ๆ ที่เวียดนามปฏิบัติตามข้อแนะนำของ OECD ที่ให้ไว้ในการปฏิรูปประเทศอย่างเคร่งครัด เป็นต้น
 
สำหรับมาตรการดึงดูดการลงทุนของเวียดนามนั้น จากข้อมูลที่มีการนำเสนอ พบว่าเวียดนามมีแนวทางคล้ายกับไทย เช่น มีการลดภาษีและจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษรูปแบบต่าง ๆ แต่น่าสังเกตว่า เขตเศรษฐกิจของเวียดนามแม้จะมีจำนวนไม่มากนัก แต่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เรียกได้ว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สนับสนุนการส่งออก เช่น ใกล้ท่าเรือหรือพรมแดนจีน จึงทำให้ใช้ประโยชน์เขตเศรษฐกิจพิเศษได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
ระวังรัฐวิสาหกิจ-NTB อุปสรรคการค้า
 
อย่างไรก็ตาม มีบางเรื่องที่ประเทศสมาชิก WTO เห็นว่า เวียดนามควรจะระมัดระวัง เช่น บทบาทของรัฐวิสาหกิจหลายแห่งในเวียดนามซึ่งยังมีเป็นจำนวนมาก และเป็นผู้เล่นสำคัญในหลายสาขา อันทำให้ไม่มีการแข่งขันเพียงพอซึ่งอาจเป็นอุปสรรคการพัฒนาประเทศในช่วงต่อไปได้
 
อีกทั้งการที่เวียดนามใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) มากขึ้นในระยะหลัง ๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเวียดนามกำลังเริ่มวางรากอย่างรวดเร็ว ทั้งรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปและรถไฟฟ้า เพื่อเป็นอุตสาหกรรมใหม่มาแทนที่โทรศัพท์มือถือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของบริษัทต่างชาติ
นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกได้ให้ความเห็นว่า เวียดนามควรมีส่วนร่วมมากขึ้นกรอบเจรจาหรือข้อตกลงอื่น ๆ ของ WTO และยังจำเป็นต้องยกระดับมาตรฐานและปรับปรุงกฎระเบียบภายในประเทศเพิ่มขึ้น
 
ไทยห่วงมาตรการ ยานยนต์-ยา
 
“ไทยได้แสดงความชื่นชมเวียดนามที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอย่างโดดเด่นและเป็นประธานอาเซียนในช่วงที่ผ่านมาอย่างเรียบร้อย แต่ไทยยังมีความกังวลกับมาตรการโดยเฉพาะเรื่องการขออนุญาตวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาและส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ยา และข้อกำหนดเรื่องการรับรองมาตรฐานยานยนต์และการตรวจสอบรถยนต์ ที่มีการขอเอกสารเพิ่มเติมเกินความจำเป็นจากที่กำหนดในมาตรฐานระหว่างประเทศ”
 
โดยเวียดนามชี้แจงว่ามาตรการข้างต้นเกี่ยวกับยา เป็นไปเพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพของผลิตภัณฑ์ยาที่ถูกนำเข้า แต่เวียดนามได้เร่งรัดกระบวนการตรวจสอบคำขออนุญาตวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาและส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ยาจากภาคเอกชนให้ได้เร็วที่สุด
 
และสำหรับเรื่องมาตรฐานยานยนต์ เวียดนามชี้แจงว่าการใช้ข้อกำหนดนี้เป็นไปตามการปฏิบัติทั่วไประหว่างประเทศ และเวียดนามจะยึดมั่นตามข้อผูกพันในข้อตกลงยอมรับร่วมผลการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์ของอาเซียน (APMRA) ทันทีที่มีผลบังคับใช้ต่อไป


 
ครัวเรือนกำลังซื้อเปราะบาง วอนรัฐอัดมาตรการเพิ่มอีก ที่ออกมาไม่ครอบคลุมเท่าปี63
https://www.matichon.co.th/economy/news_2718377
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดผลสำรวจครัวเรือนเม.ย.กำลังซื้อเปราะบางจากโควิด-19 ระลอก3 วอนรัฐอัดมาตรการเพิ่มอีก ชี้ที่ออกมาไม่ครอบคลุมเท่าปี63
 
รายงานข่าวจากศูนย์วิจิยกสิกรไทย ระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มต้นขึ้นในเดือนเม.ย. ส่งผลกระทบให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในเดือนเม.ย. ปรับตัวลดลงอย่างมากอยู่ที่ 37.0 จาก 40.4 ในเดือนมี.ค. มีนัยต่อความเปราะบางของกำลังซื้อครัวเรือนจากจังหวะเวลาเกิดการระบาดหนัก ในขณะที่มาตรการเยียวยาเพิ่มเติมยังไม่ออกมา รวมถึงราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มอย่างมาก โดยสะท้อนจากดัชนีที่ปรับลดลงในทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะในส่วนของมุมมองต่อการมีรายได้และงานทำ รวมถึงค่าใช้จ่ายของครัวเรือนที่ไม่รวมภาระหนี้ ความกังวลที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวสอดคล้องไปกับทิศทางของดัชนีราคาผู้บริโภคที่ปรับสูงขึ้นในรอบ 8 ปี ซึ่งจะยิ่งส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของครัวเรือนในระยะข้างหน้า
 
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนใน 3 เดือนข้างหน้าพบว่าปรับตัวลดลงเช่นกันอยู่ที่ 39.4 จาก 41.5 ในเดือนมี.ค. สอดคล้องไปกับมุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่มองว่าดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังเผชิญกับความเสี่ยงหลากหลายด้าน ตลาดแรงงานในภาพรวมยังไม่ฟื้นตัวโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว ดังนั้นกำลังซื้อของครัวเรือนจะถูกกระทบอย่างมากจากรายได้ที่มีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ฐานะทางการเงินของครัวเรือนมีแนวโน้มเปราะบางลงเรื่อยๆ ต่อเนื่องมาจากการระบาดในครั้งก่อนๆ แม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือออกมาเพื่อบรรเทาผลกระทบอยู่บ้างแต่ขนาดไม่เท่ากับมาตรการเยียวยาในรอบก่อน (เม.ย.-พ.ค.63) เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ นอกจากการเร่งดำเนินการจัดหาและฉีดวัคซีนแล้ว มาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจเพื่อประคับประคองภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจอาจจะต้องพิจารณาเพิ่มเติมจากมาตรการเยียวยาที่ ครม. มีมติในวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่