JJNY : 6in1 ตกงาน5ด.ลาโลก│เชื่อมั่นหอค้าต่ำสุดรอบ39ด.│ดัชนีครัวเรือนร่วง│สับปะรดขายไม่ออก│เชื่อมั่นฯเม.ย.วูบ│รายได้0บ.

สลด! หนุ่มตกงาน5เดือน มีเงินติดตัวแค่ 13 บาท ทนเครียดไม่ไหวขอลาโลก
https://www.matichon.co.th/region/news_2718361
 
 
สลด! หนุ่มตกงาน5เดือน มีเงินติดตัวแค่ 13 บาท ทนเครียดไม่ไหวขอลาโลก
 
เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ศูนย์วิทยุร่มโพธิ์ทองว่ารับแจ้งเหตุผูกคอเสียชีวิตภายในบ้านเลขที่ 169/7 ซ.สุวรรณ 3 ชุมชนดอนอุดม  ต.หมากแข้ง ทน.อุดรธานี พ.ต.ท.วิฑูรย์ ศรีชาย สว.สอบสวน สภ.เมืองอุดรธานี ร.ต.อ.พิทักษ์ พรหมวงษ์ซ้าย รอง สวป.สภ.เมืองอุดรธานี แพทย์เวร รพ.ศูนย์อุดรธานี และอาสากู้ภัยมูลนิธิอุดรสว่างเมธาธรรม ร่วมตรวจสอบสภาพศพในที่เกิดเหตุ เป็นห้องพักสร้างด้วยอิฐบล็อกภายในห้องนอน พบศพ นายไพศาล เฉลิมรัตน์ 36 ปี ชาว ต.กุดลาด อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ใช้สายไฟฟ้าสีขาวผูกคอตัวเองโยงกับช่องลม ในลักษณะอยู่ในท่านั่งคอพับลิ้นจุกปาก
 
น.ส.มุกดา ศิษย์ศาสตร์ อายุ 43 ปี ภรรยาผู้ตายและเป็นเจ้าของบ้านให้การว่า ตนเป็นแม่ม่ายลูกติด 4 คน อยู่กินกับผู้ตายมา 13 ปี สามีมีอาชีพเป็นกรรมกรก่อสร้าง ส่วนตนมีอาชีพรับจ้างทั่วไป ห้องพักหลังนี้อยู่หลังบ้านแม่ของตน ที่เปิดเป็นร้านขายของชำ ช่วงสายวันนี้ตนซื้อน้ำอัดลมมากินกับสามี ยังพูดคุยหยอกล้อกันตามประสา หลังจากนั้นเดินไปนั่งเล่นกับเพื่อนบ้าน ส่วนสามีปั่นจักรยานไปนั่งเล่นที่ร้านของชำที่หน้าปากซอย พอใกล้เที่ยงวันตนกลับมาบ้าน เคาะประตูร้องเรียกสามีแต่ไม่มีเสียงตอบรับ จึงมาส่องดูที่หน้าต่างพบว่าสามีผูกคอตัวเอง จึงร้องบอกให้ญาติมาช่วยกันงัดหน้าต่างเข้าไปช่วยเหลือแต่ก็ช่วยไม่ทัน จึงโทรศัพท์แจ้งตำรวจมาตรวจสอบ
 
ช่วงโควิด-19 ระบาด ตนและสามีตกงานมาเกือบ 5 เดือน ทั้งบ้านเหลือเงินติดตัวเพียง 13 บาท ไปหาสมัครงานที่ไหนก็ไม่มีงานให้ทำ จึงทำให้สามีเครียดคิดสั้น ซึ่งช่วงตกงานก็ได้อาศัยกินกับแม่ของตนและลูกชายคนโต โดยเมื่อประมาณ 2-3 วันที่ผ่านมา สามีพูดเป็นลางสั่งเสียกับตนว่า จะไม่ขออยู่แล้ว และจะไม่เป็นภาระให้กับครอบครัว ไม่เคยนึกเลยว่าสามีจะมาคิดสั้นแบบนี้ อยู่กันมานานหลายปีให้กำลังใจกันมาตลอด สามีคงจะเครียดมากเพราะไม่มีงานไม่มีเงินใช้” น.ส.มุกดาฯ พูดสะอื้นทั้งน้ำตา
 
นางทองวัน จำปาโอ้ก 59 ปี แม่ยายผู้ตาย เปิดเผยว่า ลูกเขยเป็นคนขยันทำงาน ไม่เคยมีเรื่องทะเลาะกับใคร และเป็นคนคุยสนุก ดื่มสุราเป็นบางครั้ง  สาเหตุน่าจะเครียดเรื่องไม่มีงานให้ทำช่วงโควิด-19 ระบาด เวลาลูกเขยมานั่งอยู่หน้าบ้าน เพื่อนบ้านเดินผ่านก็ถามเรื่องงานทำ น่าจะเป็นอีกสาเหตุทำให้ลูกเขยเครียดสะสมก่อนคิดสั้น และเมื่อ 4-5 วันที่ผ่านมา ตนฝันว่าฟันกรามข้างขวาด้านบนที่ผุมานานหลุดออก จึงคิดอยู่ในใจเพียงคนเดียวว่าจะมีญาติคนไหนเสียชีวิต
 
พ.ต.ท.วิฑูรย์ ศรีชาย สว.สอบสวน สภ.เมืองอุดรธานี เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุเป็นห้องพักถูกแบ่งเป็นพื้นที่หลับนอนสองฝั่ง ผู้ตายนอนอยู่ในสุดของห้อง และใช้สายไฟฟ้าผูกคอตัวเองโยงกับช่องลมในท่านั่ง ตรวจสอบสภาพศพไม่พบร่องรอยการต่อสู้และถูกทำร้าย เสียชีวิตจากขาดอากาศหายใจด้วยการผูกคอตัวเองมาประมาณ 1 ชั่วโมง ญาติไม่ติดใจในสาเหตุ จึงมอบศพให้ญาตินำไปบำเพ็ญกุศลตามประเพณีต่อไป
 

 
ดัชนีความเชื่อมั่น หอการค้าต่ำสุดในรอบ 39 เดือน ชี้เดือนหน้าจะต่ำลงอีก จี้รัฐออกมาตรการช่วย
https://www.matichon.co.th/economy/news_2718121
 
เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์ พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึง ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ในเดือนเมษายน 2564 อยู่ที่ 27.6 ต่ำที่สุดในรอบ 39 เดือน และคาดว่าในเดือนพฤษภาคม 2564 ตัวเลขดัชนีจะต่ำลงกว่านี้อีก โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่มีค่าต่ำที่สุดอยู่ที่ 17.4 เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบที่ 3 ที่มีผู้ติดเชื้อรายวันจำนวนมาก รวมถึงมาตรการควบคุมโรคระบาดที่มีความเข้มงวดกว่าการระบาดในรอบที่ 2 การสั่งปิดกิจการทางธุรกิจในหลายประเภท โดยเฉพาะธุรกิจกลางคืน มาตรการการกักตัวของบางจังหวัด ทำให้นักท่องเที่ยวชะลอการเดินทาง การงดกิจกรรมสงกรานต์ในหลายพื้นที่ การชะลอการบริโภคและจับจ่ายใช้สอย
 
ผลสำรวจสถานการณ์เศรษฐกิจของจังหวัด ประจำเดือนเมษายน 2564 พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามตอบแย่ลงเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการท่องเที่ยวภายในจังหวัด แย่ลงถึง 98.6% รองลงมาคือการจ้างงานในจังหวัดปัจจุบัน แย่ลง 84.3% ด้วยสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ได้ดำเนินมาประมาณ 1 ปีครึ่งแล้ว และยิ่งมีการระบาดในรอบใหม่นี้ มีความเป็นไปได้ว่าธุรกิจจะมีการปลดแรงงาน เลิกการจ้างงาน ชั่วคราวและถาวร โดยเฉพาะแรงงานในภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากแบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว อีกทั้งไม่ได้รับการสนับสนุนให้เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ด้วย
 
ข้อเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหา คือ เร่งการหยุดการระบาดแพร่เชื้อ ที่เป็นคลัสเตอร์และกระจายตัวอยู่ในชุมชนแออัดตามพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เร่งจัดหาวัคซีนให้เพียงพอต่อจำนวนประชากร กระจายการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และทำให้การดำเนินชีวิตกลับเข้าสู่สภาวะปกติหลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มมีการคลี่คลายลง ออกมาตรการทางการเงินช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจในการช่วยเพิ่มศักยภาพในการดำเนินกิจการ รักษาการจ้างงาน พัฒนาทักษะแรงงานและปรับรูปแบบธุรกิจ ให้กลับมาสร้างรายได้เพิ่มขึ้น เร่งแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวของประเทศให้พร้อมดำเนินการทันทีเมื่อสถานการณ์ ควบคุมได้ และประชาชนมีภูมิคุ้นกันต่อโรคในระดับที่ไม่เป็นอันตราย



โควิดรอบสามระบาด ฉุดดัชนีครัวเรือนร่วง
https://www.dailynews.co.th/economic/842734
 
รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยผลสำรวจครัวเรือน พบว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มต้นขึ้นในเดือนเม.ย. ส่งผลกระทบให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในเดือนเม.ย. ปรับตัวลดลงอย่างมากอยู่ที่ 37.0 จาก 40.4 ในเดือนมี.ค. มีนัยต่อความเปราะบางของกำลังซื้อครัวเรือนจากจังหวะเวลาเกิดการระบาดหนัก ในขณะที่มาตรการเยียวยาเพิ่มเติมยังไม่ออกมา รวมถึงราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มอย่างมาก
 
  นอกจากนี้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนใน 3 เดือนข้างหน้าพบว่าปรับตัวลดลงเช่นกันอยู่ที่ 39.4 จาก 41.5 ในเดือนมี.ค. สอดคล้องไปกับมุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่มองว่าดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังเผชิญกับความเสี่ยงหลากหลายด้าน ซึ่งเมื่อพิจารณาองค์ประกอบต่าง ๆ ของดัชนีพบว่าครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นในทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะในส่วนของมุมมองด้านรายได้และการมีงานทำรวมถึงค่าใช้จ่ายของครัวเรือนที่ไม่รวมภาระหนี้ที่ลดลงอยู่ที่ 40.7 และ 30.2 จาก 45.6 และ 33.1 ในเดือนมี.ค. 64 ความกังวลที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวสอดคล้องไปกับความเปราะบางในตลาดแรงงานที่สะท้อนจากจำนวนผู้ใช้บริการกรณีว่างงานของผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยในเดือนก.พ.64 อยู่ที่ 310,031 คน เมื่อเทียบกับ 151,802 คน ในเดือนก.พ. 63
 
  ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคที่เป็นตัววัดค่าครองชีพของประชาชนก็ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ในเดือนเม.ย. 64 เงินเฟ้อกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 14 เดือนอยู่ที่ 3.41% ซึ่งปัจจัยหลักมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและราคาผักสดที่สูงขึ้น รวมถึงค่าสาธารณูปโภคที่ปรับเพิ่มขึ้นหลังไม่มีมาตรการบรรเทาค่าใช้จ่ายในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย. ในปีก่อนหน้า ดังนั้น ค่าครองชีพของประชาชนในเดือนเม.ย. จึงได้รับผลกระทบหนักจากการระบาดของโควิดระลอกล่าสุดนี้ ส่งผลต่อรายได้ครัวเรือนที่ลดลง ที่มาพร้อมกับจังหวะที่ราคาพลังงานและสาธารณูปโภคเร่งตัวขึ้น รวมถึงเป็นช่วงรอยต่อสุญญากาศของการออกมาตรการเยียวยา ทำให้ความช่วยเหลือที่เป็นเม็ดเงินเพิ่มเติมเพื่อประคับประคองรายได้ของครัวเรือนโดยส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบขาดหายไป
 
  ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายได้จากการจ้างงาน ผลสำรวจระบุว่าแม้ว่าไม่มีการประกาศมาตรการล็อกดาวน์แต่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่สามส่งผลให้ครัวเรือนเกือบ 50% ได้รับผลกระทบจากการจ้างงาน โดย 90.3% มีรายได้จากการจ้างงานที่ลดลง ขณะที่ 9.7% ขาดรายได้  ผลสำรวจดังกล่าวได้ตอกย้ำถึงประเด็นความกังวลเกี่ยวกับรายได้จากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นของครัวเรือน ซึ่งจะส่งผลให้กำลังซื้อที่มีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ราคาสินค้ามีแนวโน้มสูงขึ้นสะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อในเดือนเม.ย. บ่งชี้ว่าค่าครองชีพของภาคครัวเรือนเริ่มปรับสูงขึ้นและจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อกำลังซื้อที่เดิมมีแนวโน้มเปราะบางอยู่แล้ว
 
  ดังนั้นแม้มาตรการควบคุมการระบาดในครั้งนี้จะไม่ได้เข้มงวดเท่ากับการระบาดในรอบแรก แต่สถานการณ์การระบาดที่รุนแรงได้ส่งผลกระทบต่อภาคครัวเรือนอย่างมาก ส่วนฐานะทางการเงินของครัวเรือนได้เปราะบางลงต่อเนื่องมาจากสถานการณ์ระบาดครั้งก่อน มาตรการเยียวยาผลกระทบจากภาครัฐจึงมีความจำเป็นที่จะเข้ามาช่วยบรรเทาและประคับประคองภาคส่วนต่าง ๆ
 
  ทั้งนี้ ล่าสุดครม.ได้พิจารณาอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนที่สามารถทำได้ทันทีซึ่งจะมีผลในเดือนพ.ค.-มิ.ย. ทั้งมาตรการด้านการเงินที่มีการให้สินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับประชาชน ผู้ประกอบการและเกษตรกรและมาตรการบรรเทาค่าใช้จ่ายโดยจะมีการปรับลดค่าไฟฟ้าและประปาให้กับประชาชนและกิจการขนาดเล็กทั่วประเทศ รวมถึงมีการต่ออายุมาตรการเราชนะ และ ม.33 เรารักกัน โดยจะมีการจ่ายเงินอีก 2,000 บาทในแต่ละโครงการซึ่งสามารถใช้จ่ายได้ถึง 30 มิ.ย. 64
 
  นอกจากนี้ในช่วงครึ่งหลังของปี (ก.ค.-ธ.ค.) ยังมีมาตรการระยะที่สองเพิ่มเติม โดยจะมีการเพิ่มกำลังซื้อให้กับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้ต้องการความช่วยเหลือพิเศษรวมถึงจะมีมาตรการคนละครึ่งเฟส 3 นอกจากนี้จะมีมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ซึ่งเป็นมาตรการใหม่สำหรับคนมีเงินออมให้ออกมาใช้จ่าย ซึ่งรายละเอียดต่าง ๆ จะออกมาเพิ่มเติมอีกครั้ง มาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐที่ออกมาล่าสุดค่อนข้างสอดคล้องกับผลสำรวจของครัวเรือนที่ระบุว่า 57.3% ต้องการให้ภาครัฐแจกเงินเพื่อเยียวยาทุกคนและอีก 27.6% ต้องการให้ใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาฟรี
 
  อย่างไรก็ตามมาตรการเยียวยาต่าง ๆ ยังมีขนาดที่น้อยกว่าการระบาดในรอบก่อนค่อนข้างมาก ขณะที่ผลกระทบค่อนข้างรุนแรงและซ้ำเติมต่อเนื่องจากการระบาดในรอบก่อน ดังนั้น นอกจากการเร่งดำเนินการจัดหาและฉีดวัคซีนแล้ว มาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจเพื่อประคับประคองภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจอาจจะต้องพิจารณาเพิ่มเติมจากมาตรการเยียวยาที่ ครม. มีมติในวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่