สารานุกรมปืนตอนที่ 585 ปัญหาความซ้ำซ้อนของหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลและกำหนดนโยบายทดสอบ AR15

ขอขอบคุณเพจประวัติศาสตร์การปืน Firearms History อย่างสูงครับ

https://www.facebook.com/FirearmsHistory/



เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในตัวอย่างปัญหาของระบบราชการที่น่าสนใจศึกษาเลยทีเดียว โดยในกรณีนี้นั้นสหรัฐอเมริกานั้นก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกับประเทศอื่นๆที่ต่างก็ล้วนมีปัญหาภายในระบบราชการของตัวเอง และนับว่าเป็นอีกหนึ่งในเรื่องสำคัญของผู้ที่ต้องการจะศึกษาทำความเข้าใจและเข้าถึงข้อเท็จจริงอย่างท่องแท้ต่อประเด็นข้อถกเถียงในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพที่แท้จริงของ AR-15 หนึ่งในระบบอาวุธที่มีอิทธิพลต่อการออกแบบปืนเล็กมากที่สุดแห่งยุคสมัยนี้ก็ว่าได้ ซึ่งเรียกได้ว่าพบกับปัญหาหนักอยู่ไม่น้อยตลอดห่วงการพัฒนาเกือบๆหนึ่งทศวรรษก่อนจะแก้ปัญหาได้แล้วเสร็จออกมาเป็น M16A1 ทำให้หลายคนๆมีข้อสงสัยว่าทำไมถึงใช้เวลานานถึงขนาดนี้ทั้งๆที่มีผลการทดสอบเบื้องต้นที่ค่อนข้างชี้ชัดถึงประสิทธิภาพที่เหนือกว่าของ AR-15 ตั้งแต่ช่วงปลายยุคทศวรรษที่ 1960 แล้ว ซึ่งการอธิบายในประเด็นตรงนี้คงจะเปรียบได้กับความพยายามของอีกหลายๆคนที่ต้องการจะเสนอของความหลากหลายของ AR-15 ที่ ณ ปัจจุบันมีความสลับซับซ้อนแตกหน่อแตกใบออกดอกออกผลนับไม่ถ้วนทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้ริเริ่มทั้งสองอย่าง Colt’s หรือ Armalite หรือไม่ก็ตาม ซึ่งก็ต้องขอบคุณแหล่งข้อมูลในระบบสารสนเทศออนไลน์ยุคนี้และ FOIA (Freedom of Information Act)ที่ทำให้เข้าถึงข้อมูลในด้านนี้ได้มากขึ้น



โดยปัญหาแรกที่เราจะสังเกตได้และมีการกล่าวถึงอยู่บ้างแต่กล่าวถึงกันเพียงเบื้องต้นเท่านั้น คือ เรื่องปัญหาของการจัดหา AR-15 และเครื่องกระสุนในช่วงต้นที่มักจะชี้ไปที่ข้อสรุปว่า เป็นการจัดซื้อจัดหาจากภายนอกต่างจากระบบปกติและนอกระเบียบปฏิบัติทั่วไป แต่ก็ไม่ได้อธิบายว่ามันมีผลอย่างไรต่อการโครงการทดสอบหรือหน่วยงานที่ต้องมาดูแลทดสอบ ซึ่งโดยเนื้อลึกแล้วมันมีความหมายว่า AR-15 นั้นไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการวิจัย พัฒนา ทดสอบและมีการประเมินผลด้วยหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงนั่นเอง เนื่องจากว่าเป็นการจัดหาซื้อจากภายนอก ฉะนั้นเมื่อเข้าสู่ระบบแล้วก็จะตกไปอยู่ในเรื่องของ Product Improvement เพราะถือว่าเสร็จสิ้นกระบวนการพัฒนาในส่วนของการทดลองวิจัย พัฒนาและผลิตออกมาจากภายนอกเรียบร้อยแล้ว (ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ในช่วงนี้กองทัพบกสหรัฐฯขั้นตอนการทดสอบออกมาเป็น 5 ขั้นด้วยกัน คือ ทดสอบการวิจัย ทดสอบการพัฒนา ทดสอบสายการผลิต ทดสอบสิ่งที่ได้จากสายการผลิต และทดสอบภาคสนาม ซึ่งไม่มีข้อกำหนดว่าจะต้องผ่านทุกขั้นตอนการทดสอบทั้งหมดนี้ ถ้าหากขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งสามารถผ่านการทดสอบไปได้แล้ว)
แต่กระนั้นหน่วยงานที่เข้ามาเกี่ยวข้องในขั้นต้นแม้ว่าจะไม่ได้ดำเนินการตามรูปแบบก็ตามก็พ่วงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหลายองค์กรหลายสิบหน่วยงานเช่นกัน การจะพูดถึงโดยรวมทั้งหมดนั้นคงจะเป็นไปได้ยากและไม่มีประโยชน์ซักเท่าใดนัก ดังนั้นจึงขอสรุปแต่เพียงหน่วยงานที่สำคัญๆแต่เพียงเท่านี้ครับ
เริ่มต้นด้วยหน่วยงานแรกที่เป็นผลโดยตรงจากการที่ AR-15 ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการวิจัย พัฒนา ทดสอบและมีการประเมินผล ผ่านการจัดหา AR-15 แบบ PEMA (Procurement of Equipment and Missile Army) คือ Deputy Chief of Staff for Logistics (DCSLOG) ซึ่งไม่ได้มีหน้าที่ที่จะต้องมาดูแลหรือมีขีดความสามารถในการทดสอบประสิทธิภาพ แต่ต้องรับหน้าที่นี้ไปแทนเนื่องจากเป็นการจัดหาภายนอกไม่ใช่สิ่งของหรือยุทโธปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นภายในกองทัพเอง ทั้งๆที่หน้าที่นี้แต่ต้นควรจะเป็นของ Chief of Research and Development (CRD) ที่มีขีดความสามารถมากพอในการจัดการ
ตามมาด้วย Deputy Chief of Staff for Military Operations(DCSOPS) มีหน้าที่นำ AR-15 ไปสู่การทดสอบภาคสนามและกำหนดรูปแบบการทดสอบภาคสนาม แต่เนื่องด้วยทั้งสององค์กรนี้ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายตั้งแต่ต้น จึงต้องมีการตั้งหน่วยงานพิเศษเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งคือ Assistant Chief of Staff for Force Development (ACSFOR) โดยมีความรับผิดชอบช่วยเหลือ DCSOPS ในงานที่คล้ายๆกันแต่ไม่เจาะจงและเป็นเรื่องทั่วๆไปที่ค่อนข้างจะกว้างเป็นอย่างมาก นอกจากนี้แล้วยังถูกมอบหมายให้รับผิดชอบในหน้าที่พิเศษเพิ่มเติมในเรื่องของการประเมินความคุ้มค่าของสิ่งอุปกรณ์อื่นๆที่จัดหาโดยกองทัพบก




ซึ่งหน่วยงานทั้งหมดที่ได้กล่าวมานี้ก็จะขึ้นตรงและรายงานอีกทีต่อ U.S. Army Material Command (USAMC) โดย USAMC มีหน้าที่ประสานงานวางแผนดูแลและตัดสินใจในกระบวนการทั้งหมดหลังจากได้รับรายงานจาก DCSLOG, DCSOPS และ ACSFOR แล้ว
แม้จะมีหลายๆองค์กรและหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทว่าก็ไม่ได้มีก้าวหน้าเท่าไหร่รวมไปถึงการให้ความสำคัญมากนักอย่างที่ควรจะเป็นเนื่องจากกองทัพบกสหรัฐฯมุ่งความสนใจไปที่เรื่องการผลิต M14 กับโครงการสุดล้ำหลุดโลกอย่าง All-Purpose Handheld (APHHW) ที่จะรู้จักภายหลังกันในนาม SPIW
โชคดีในปี 1962 ที่รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมที่มาจากสายพลเรือน ณ ขณะนั้น คือ Robert McNamarra มีความสนใจใน AR15 ขึ้นมาจึงได้มีคำสั่งตรงให้นำ AR15 เข้าใช้งานและลงสนามทดสอบจริงในเวียดนาม ตามมาด้วยเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ใช้งานจริงในช่วงนั้น ทั้งที่ปรึกษาทางทหารของสหรัฐฯในเวียดนามเองหรือกองกำลังเวียดนามใต้ที่ได้มีโอกาสได้ใช้งาน ซึ่งฝ่ายที่พอใจมากที่สุดคงจะเป็นเวียดนามใต้ที่สามารถหาอาวุธที่เหมาะสมได้เสียทีหลังจากที่ต้องทนใช้อาวุธที่ไม่เหมาะและหนักเกินไปอยู่นานพอสมควร ตามมาด้วยคำสั่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ John F. Kennedy ขณะนั้นให้จัดการทดสอบเรียกว่า Worldwide Comparative Evaluate เปรียบเทียบ AR15กับอาวุธกับอาวุธของศัตรูที่พบเจอคือ AK47 และอาวุธปัจจุบันในประจำการคือ M14 ทั้งหมดนี้ดูเหมือนจะเป็นสัญญาณตอบรับที่ดีมาก หากแต่ว่าเหมือนกับความโชคดีในความโชคร้าย เพราะทำให้โครงการทดสอบซ้ำซ้อนและมีหน่วยงานที่รับผิดชอบเข้ามานั้นเพิ่มขึ้นไปจากเดิมมากเป็นอีกกลุ่มก้อนหนึ่งไปเลย
โดยมีกลุ่มองค์กรของ U.S. Army Test and Evaluation Command (USATECOM)เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยและรับผิดชอบในหน้าที่ทดสอบด้านวิศวกรรมที่สำคัญอย่างการส่งไปทดสอบภาคสนามภายใต้สภาวะอากาศเลวร้ายหนาวจัดแบบขั้วโลกเหนือหรือร้อนจัดแบบเขตร้อนชื้นและทะเลทราย น่าเสียดายที่มีโอกาสส่งไปทดสอบภาคสนามในสภาวะอากาศเลวร้ายแบบหนาวจัดแบบขั้วโลกเหนือเท่านั้น ส่วนที่เหลือนั้นถูกจัดทดสอบภายในห้องทดลองควบคุมอุณหภูมิ ณ ศูนย์ทดสอบของ USATECOM



นอกจากนี้ก็ยังมี Commodity Command และ Project Manager ที่เข้ามาดูแลทดสอบในเรื่องของโลจิสติกส์แต่ก็จะไปซ้ำซ้อนกับงานของ DCSLOG รวมไปถึงซ้ำซ้อนกับความรับผิดชอบของ USAMC ในกระบวนการตรวจสอบข้อบกพร่องที่พบเจอในระหว่างการทดสอบและแก้ไขอีกทีหนึ่ง แต่ที่น่าสนใจและมีการกล่าวกันถึงมากที่สุดคงจะเป็น Project Manger, Rifles ที่มีหน้าที่จำเพาะเจาะจงและไปลึกถึงตัวอาวุธมากที่สุดตั้งแต่กระบวนการวิจัย พัฒนา จัดหา การผลิต จนไปถึงขั้นการกระจายและส่งมอบถึงหน่วยที่ต้องการใช้งาน รวมไปถึงสิ่งอุปกรณ์ต่างๆเกี่ยวกับ AR15 ทั้งหมดก็ก็อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานนี้
และยังมีอีก 2 หน่วยงานที่คอยช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกคือ U.S. Army Combat Development Command (USACDC) มีหน้าที่รับผิดชอบช่วยเหลือ USATECOM ประเมินผลและส่งผลการทดสอบให้กับกองทัพบกในส่วนของการทดสอบภาคสนามและการประเมินผลภาคสนาม ส่วนหน่วยงานสุดท้ายคือ U.S. Continental Army Command ช่วยเหลือในเรื่องการจัดหาบุคลากรที่เหมาะสมกับการจัดการทดสอบภาคสนาม



ซึ่งเมื่อการทดสอบเสร็จสิ้นลงทั้งหมด U.S. Army Material Command ก็พบข้อบกพร่องในการทดสอบมากถึง 7 ประการด้วยกัน แต่ที่น่าแปลกใจคือเป็นการชี้ไปที่เรื่องแผนการเตรียมความพร้อมในเรื่องของการจัดทำแนวทางซ่อมบำรุงรักษาในระยะยาวตามวงรอบ ซึ่งน่าแปลกมากที่มีการบ่งชี้ไปที่เช่นนี้ทั้งๆที่ AR-15 ยังไม่ได้ถูกกำหนดหรือยอมรับให้เป็นอาวุธหลักอย่างเป็นทางการ เรียกได้ว่าวิสัยทัศน์ของหน่วยงานนี้ค่อนข้างที่จะมองกาลไกลกว่าหน่วยงานระดับบนที่สั่งให้ Material Command เป็นผู้ดูแลประสานงานควบคุมในเรื่องเสียอีก ซึ่งตามแผนของกองทัพบกมีเพียงแค่ให้เป็นอาวุธพิเศษที่จำกัดการจัดหาและจำกัดการใช้งานอยู่เพียงในหน่วยเล็กๆเพียงไม่กี่หน่วยเท่านั้นในอัตราระหว่าง 30,000-100,000 กระบอก อย่างเช่น Airborne, Air Assault และหน่วยรบพิเศษอื่นๆ ไม่ใช่อาวุธหลักพื้นฐานของกองทัพทั้งหมด
แต่ก็ยังมีสิ่งที่น่าตกใจจากรายงานของ U.S. Army Material Command เช่นกัน คือ ผลการทดสอบในด้านวิศวกรรมของอาวุธมีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก โดยในหลายๆส่วนจากหน่วยงานและองค์กรที่เกียวข้องไม่สามารถที่จะนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูล Material Command ได้เลย และที่แย่คือ ไม่ได้มีการทดสอบในทุกชิ้นของอาวุธที่ควรจะทำการทดสอบด้วยซ้ำไป ทั้งแต่ละหน่วยงานยังกำหนดนโยบายและรูปแบบการทดสอบแตกต่างกันออกไป ไม่มีหน่วยงานใดกำหนดแบบแผนที่ชัดเจนเป็นแนวทางปฏิบัติแม้แต่ U.S. Army Material Command ผู้ควบคุมดูแลทั้งหมดก็ไม่ได้มีแบบแผนนี้
เมื่อรวมกับผลของการจัดหาเป็นจำนวนจำกัดทำให้เกิดความไม่ใส่ใจเท่าที่ควรของหน่วยงานที่ดูแล สุดท้ายเมื่อสรุปแล้วก็จะพบว่ามีการทดสอบทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 250 ครั้ง 

ซึ่งในหลายๆหัวเรื่องการทดสอบที่เกี่ยวข้องกันกับให้ผลที่ไม่ตรงกันเลยและขัดแย้งกันเองอยู่บ่อยครั้งทั้งๆที่อยู่ในประเด็นเดียวกัน กลายเป็นว่าข้อมูลที่ได้ส่วนใหญ่ไม่เที่ยงตรงและขาดความน่าเชื่อถือไปเป็นอย่างมาก ไม่สามารถวิเคราะห์นำมาใช้จริงเพื่อหาข้อบกพร่องแก้ไขปัญหา เมื่อถึงเวลาที่มีความต้องการอาวุธเป็นจำนวนมากและเร่งด่วนมีการนำอาวุธไปใช้อย่างกว้างขวางในช่วงสงครามเวียดนาม ปัญหาก็หนักก็ผุดขึ้นอย่างชัดเจน แต่ก็ต้องยอมรับว่าหลังจากเมื่อทราบปัญหาแล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกองทัพสหรัฐฯนั้นสามารถแก้ไขโดยจัดการทดสอบใหม่เพื่อหาข้อบกพร่องจนแล้วเสร็จได้อย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้นซึ่งตรงนี้น่าทึ่งเป็นอย่างมาก เมื่อเทียบกับการทดสอบจำนวนมากที่แทบจะไม่ได้มีความก้าวหน้ามากนักหรือได้รับความสนใจแบบจริงจังในห่วงระยะเวลาเกือบๆหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา

อ้างอิง :
AR 70-10 Research and Development, Test and Evaluation Progress Report.
AR 700-35 Product Improvement of Material
AR 705-15 Operation of Material Under Extreme Conditions of Environment
AR 705-25 Reliability Program for material and Equipment
AR 705-26 Maintainability Program for Equipment
AR 705-35 Criteria for Air Portability and Air Drop of Material
AR 750-6 Maintenance Support Planning
USAMCR 70-7 Test and Evaluation of Material
USAMC AR15 Project Manager Charter
USACDCR 71-7 Field Experimentation
Chief of Staff Memorandum 66-485, Army Small Arm Weapon System.
MFR, USAMC subj: Briefing to Commanding General, AMC ; Standard of testing for AMC Material



สวัสดีครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่