เห็นด้วยไหมครับ ว่าจริงๆแล้วการเรียนภาษาไทยในระดับสื่อสารถือว่าง่ายระดับต้นๆของโลก

ในความรู้สึกผมที่เป็นคนไทย และพอได้เรียนภาษาอังกฤษมาบ้าง ผมมองว่าการเรียนภาษาไทยยากแค่ตรงคำศัพท์และการออกเสียง ในแง่ของการผันวรรณยุกต์ต่าง ๆ การอ่าน เขียนให้ได้ โดยเฉพาะการสะกดตัวการันต์บางตัว แต่ในแง่ของแกรมม่าถือว่าง่ายมาก ๆ น่าจะง่ายอันดับต้นๆของโลก (ในความรู้สึกส่วนตัวของผมคนเดียว) เพราะภาษาไทยแทบไม่มีไวยากรณ์เลย ไม่มีคำเขื่อมเหมือนภาษาเกาหลีกับญี่ปุ่น ไม่มี tense บอกเวลา เหมือนภาษาอังกฤษ บอกเพศเหมือนฝรั่งเศส บอกระดับความสุภาพเหมือนเกาหลีและญี่ปุ่น ไม่มี active/passive voice ไม่มีการกลับประโยคใด ๆ
(ผมขออนุญาตไม่นับเรื่องคำเป็นคำตาย คำสมาสสนธิ หรืออะไรแนวๆนี้นะครับ เพราะมองว่ารู้ไปก็ไม่ได้ใช้ในภาษาเพื่อการสื่อสาร
และขอไม่นับประโยค "ใครขายไข่ไก่" นะครับ เพราะเป็นเรื่องของวรรณยุกต์และการออกเสียง ซึ่งผมได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า ถ้าผ่านจุดนี้มาได้ก็ง่ายแล้ว)
ผมเลยคิดว่าจริงๆแล้วถ้าผ่านการแยกแยะเสียงวรรณยุกต์ และอ่านเขียนไทยได้แล้ว ภาษาไทยก็ไม่มีอะไรยากเหลือแล้ว
เพราะผมรู้สึกว่าจริงๆแล้วการแยกแยะเสียงวรรณยุกต์กับการอ่านเขียนหลังสือให้ได้อย่างถูกต้อง ไม่ได้เป็นสิ่งที่ยากขนาดนั้น ไม่ว่าจะเป็นภาษาชาติไหนก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีความยากง่ายแตกต่างกันไปบ้าง แต่ถ้าตั่งใจจริงๆเรียนแป๊บเดียวไม่กี่เดือนก็ได้ตรงจุดนี้หมดแล้ว หรือไม่อย่างนั้น หากได้ไปอยู่ที่ประเทศนั้น ๆ สัก 2-3 เดือนก็ได้ตรงนี้หมดแล้ว
ต่างจากไวยากรณ์ ที่ถ้าภาษาไหนมีไวยากรณ์ยาก อาจต้องใช้เวลาเรียนเป็นปี ๆ และไม่ได้การันตีว่าเรียนเป็นปี หรือไปอยู่ที่ประเทศนั้น ๆ เป็นปี ๆ แล้วจะใช้ได้ถูกต้องหมด

ทุกท่านเห็นด้วยกับผมไหมครับ
ถ้ามีสมาชิกท่านใดที่พูดได้หลาย ๆ ภาษา หรือมีเพื่อนต่างชาติที่หัดเรียนหลาย ๆ ภาษา มาตอบได้จะดีมากเลยครับ

หมายเหตุ: ขออนุญาตเน้นย้ำอีกครั้งนะครับว่า ผมหมายถึง "ภาษาในระดับสื่อสาร" เท่านั้นนะครับ คือเรียนแค่ให้พอใช้ชีวิตประจำวันและติดต่อผู้คนในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ ใช้ภาษาได้อย่างถูกกาลเทศะ ฟังแล้วรู้เรื่อง ลื่นหู
เช่น ติดต่องานได้ พูดคุยในที่ประชุมได้ อ่านข่าวรู้เรื่อง อ่านและแต่งนิยายได้ อ่านหนังสือเรียนได้ เขียนเรียงความหรือเอกสารต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม ไปจ่ายตลาดหรือซื้อของได้ ไปเที่ยวได้ พิมพ์แชทกับคนอื่นได้ในทุกระดับ
ไม่ได้หมายรวมไปถึงการเรียนไปถึงรากศัพท์บาลี คำราชาศัพท์ การแต่งกลอน หรือการอ่านวรรณคดีเก่า ๆ 

**แก้ไขคำผิดครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 2
พูดแค่เฉพาะเรื่องไวยากรณ์และการสื่อสารนะคะ

ที่ว่าภาษาไทยไม่มีไวยากรณ์นี่ไม่จริงเลยค่ะ คุณคิดว่าไม่มีไวยากรณ์เพราะมันคือภาษาแม่ของคุณ
จึงทำให้คุณสามารถใช้ภาษาไทยได้เป็นอัตโนมัติโดยไม่ต้องคิดถึงเรื่องหลักไวยากรณ์ของภาษา
ต่างชาติเค้าก็รู้สึกกับภาษาของตัวเองไม่ต่างกันหรอก
อย่างเช่นถ้าให้เจ้าของภาษาสอนการผันกริยาในภาษาสเปน อิตาเลียน ฯลฯ บางทีเค้าก็สอนเราไม่ได้นะคะ
เพราะเค้าใช้มาจนเป็นอัตโนมัติโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงที่มาที่ไปว่าคำไหนต้องผันยังไง

ภาษาไทยมีลักษณะเป็นภาษาคำโดด คือคำในภาษาจะไม่มีการผันเหมือนกับในภาษาอังกฤษ
ดังนั้นไวยากรณ์ของไทยจึงเอาไปเทียบกับไวยากรณ์ของภาษาอังกฤษไม่ได้
ถ้าอยากรู้ว่าไวยากรณ์ของภาษาไทยเป็นยังไง แนะนำให้ลองเรียนภาษาจีนกลางดูค่ะ
เพราะภาษาจีนเป็นภาษาคำโดดเหมือนภาษาไทย เรียนแล้วอาจจะพอได้แนวคิดว่าภาษาคำโดดต่างจากภาษาฝรั่งยังไง
และก็อย่าแปลกใจถ้าเราจะเรียนภาษาจีนแล้วเข้าใจเร็วกว่าภาษาอังกฤษ เพราะมันเป็นภาษาประเภทเดียวกันนี่เอง
แต่ถ้าเป็นต่างชาติที่ไม่ได้มีความคุ้นเคยกับภาษาคำโดดมาเรียน เค้าก็ต้องปรับความคิดเหมือนกับที่เราต้องเรียนการผันกริยานู่นนั่นนี่แหละค่ะ

ส่วนตัวเราชอบเรียนภาษา เราศึกษาภาษามาหลายภาษา บางภาษาก็รู้แค่นิดหน่อยพอได้คอนเซ็ปต์
เราไม่คิดว่าภาษาไทยง่ายเลยค่ะ ภาษาจีนยังง่ายกว่ามากถ้าไม่นับเรื่องตัวอักษร
เพราะภาษาไทยนี่ดิ้นได้เยอะ การออกเสียงภาษาพูดกับภาษาเขียนของเราก็ไม่เหมือนกัน
ในการพูดบางคำเราออกเสียงวรรณยุกต์ไม่เหมือนที่เขียนนะคะ
ถึงแม้จะเรียนการสะกดคำการผันวรรณยุกต์มาจนคล่อง แต่ถ้าไม่คุ้นเคยกับการพูดคุยกับคนไทย
เค้าก็จะออกเสียงไม่ธรรมชาติค่ะ มันจะทื่อๆ แข็งๆ แบบที่คนไทยปกติไม่พูดกัน
อันนี้ก็เป็นจุดหนึ่งที่ยากในการอธิบายให้ต่างชาติฟัง เพราะเราเองยังไม่รู้จะอธิบายยังไงเลย

ส่วนเรื่องไวยากรณ์ ถ้าคุณคิดว่าภาษาไทยเราไม่มีไวยากรณ์ แล้วจะสอนให้ต่างชาติเข้าใจภาษาเราได้ยังไงคะ
อย่าบอกนะคะว่าให้จำเป็นประโยคๆเอา แบบนั้นตายค่ะ ใครจะไปจำไหว
มันถึงต้องมีการสรุปไวยากรณ์มาสอนเพื่อให้คนเรียนสามารถแต่งประโยคได้เอง
และความจริงไวยากรณ์ภาษาไทยนี่ไม่ง่ายเลย
อย่างเช่นคำสรรพนามต่างๆ เช่น เค้า ตัวเอง แก นี่ก็งงแล้วว่าหมายความถึงใครกันแน่ เพราะมันแปลได้หลายความหมาย
การที่เอาคำมาต่อๆกันเป็นประโยคมันก็มีหลักการของมันอยู่ ไม่ใช่จะเรียงยังไงก็ได้
ตรงนี้แหละคือความยากอันหนึ่งของไวยากรณ์ไทย

การที่คุณเป็นคนไทยที่รู้ภาษาอังกฤษแค่นิดหน่อย ไม่เพียงพอหรอกค่ะที่จะบอกว่าภาษาไทยง่ายสำหรับคนต่างชาติ
แนะนำให้คุณลองศึกษาภาษาอื่นให้เยอะๆ เอาแค่พอเข้าใจหลักการของแต่ละภาษาก็ได้
จะได้มีมุมมองที่กว้างขึ้น จะได้รู้ว่าความยากง่ายของภาษาต่างประเทศนั้นขึ้นอยู่กับภาษาแม่ของเราด้วย
อย่างเช่นคนไทยเรียนภาษาจีนก็จะง่ายกว่าเรียนภาษาอังกฤษหรือเกาหลี
คนเกาหลีเรียนภาษาญี่ปุ่นง่ายกว่าเรียนภาษาจีน
คนสเปนเรียนภาษาฝรั่งเศสก็จะง่ายกว่ามาเรียนภาษาไทย เป็นต้น

ลองดูตัวอย่างการจัดอันดับความยากในการเรียนภาษาต่างชาติจากเว็บ https://effectivelanguagelearning.com/language-guide/language-difficulty/
เว็บนี้จัดความยากของภาษาไทยอยู่ในลำดับที่ 4 สำหรับคนที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่
ลำดับ 1 คือภาษาในยุโรปที่อยู่ในตระกูลเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน
ลำดับ 2 คือภาษาเยอรมัน ซึ่งถึงแม้จะอยู่ในตระกูล Germanic เหมือนภาษาอังกฤษ แต่มีรายละเอียดที่ยากกว่าภาษาอังกฤษมาก
ลำดับ 3 ภาษามาเลย์และอินโด ฝรั่งมองว่าสองภาษานี้ง่ายกว่าภาษาไทยอีก
ลำดับ 4 มีหลายภาษาที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ และยังมีดอกจันที่ภาษาไทยอีกว่าเป็นภาษาที่ค่อนข้างยากกว่าภาษาอื่นๆในกลุ่ม

การจัดลำดับความยากง่ายต้องใช้เหตุผลประกอบค่ะ ถ้าใช้แค่ความรู้สึก เจ้าของภาษาทุกภาษาคงเถียงว่าภาษาตัวเองง่ายกันหมด
การจะบอกว่าภาษาไหนยากหรือง่าย ต้องฟังจากคนเรียนเป็นหลัก ไม่ใช่เจ้าของภาษาเป็นคนพูด
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่