"กุ้งเต้น" พันธุ์ใหม่ที่ถูกค้นพบในไทย


 
 “ กุ้งเต้น” (amphipod) ชนิดใหม่ของโลก


เมื่อวันที่ 23 เม.ย.2564  ทีมวิจัยจากภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แก่ นายอโณทัย สุขล้อม ดร.พัชร ดนัยสวัสดิ์ และ ดร.กรอร วงษ์กำแหง ได้ค้นพบ " กุ้งเต้นคงเสมา " (Floresorchestia kongsemae) ชนิดใหม่ของโลก บริเวณหน้าอาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ และสระน้ำโรงอาหารกลาง (บาร์ใหม่) ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และยังไม่มีรายงานในบริเวณอื่นในโลก
“กุ้งเต้นคงเสมา” (Floresorchestia kongsemae) ชนิดใหม่ของโลกนี้ เป็นสัตว์ในซับไฟลัมครัสเตเชียน คือกลุ่มเดียวกับกุ้ง ปู แต่มีขนาดเล็กกว่า ลำตัวแบนมีขาเดิน 7 คู่ ต่างจากกุ้งที่เรารู้จักกันที่มีขาเดิน 5 คู่ โดยปกติจะพบอาศัยในทะเลและน้ำจืด โดยอยู่ในวงศ์ Talitridae เป็นกลุ่มที่วิวัฒนาการปรับตัวให้มาอาศัยอยู่บนบกได้ แต่ยังมีลักษณะความเป็นสัตว์น้ำอยู่ คือหายใจด้วยเหงือก จึงมักพบอาศัยอยู่ในบริเวณที่ชื้นแฉะที่มีการรบกวนของหน้าดินน้อย

โดยปกติแล้ว กุ้งเต้นจะกินซากใบไม้ที่อยู่ริมฝั่งและสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร ซึ่งการกัดกินอาหารของมันจะช่วยเร่งกระบวนการย่อยสลาย และช่วยหมุนเวียนสารอาหาร นอกจากนี้ กุ้งเต้นยังเป็นอาหารของนกที่พบหากินบริเวณริมน้ำอีกด้วย

ส่วนลักษณะสำคัญของกุ้งเต้นชนิดใหม่ของโลกนี้คือ บริเวณปากส่วนฟันของขากรรไกรล่าง (mandible lacinia mobilis) ด้านซ้ายมีฟัน 5 ซี่ ก้ามคู่ที่ 2 จะมีความยาวประมาณ 33% ของลำตัว และมีหนามที่ปลายหางในส่วน telson ข้างละ 4 หนาม

ส่วนการตั้งชื่อกุ้งเต้นชนิดใหม่ของโลก ว่า " กุ้งเต้นคงเสมา " เพื่อเป็นเกียรติให้แก่ อ.ดร.เมษยะมาศ คงเสมา อาจารย์ประจำภาควิชาสัตววิทยา
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้มีส่วนช่วยในการเก็บตัวอย่าง และวางแนวทางการศึกษาชีววิทยาของกุ้งเต้นชนิดใหม่ตัวนี้ มาตั้งแต่ปี 2560 และได้เสียชีวิตไปเมื่อเดือน ม.ค.2564

ทีมวิจัยจึงได้ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติและเพื่อเป็นการระลึกถึง อ.ดร.เมษยะมาศ คงเสมา ที่ให้ความช่วยเหลือในงานวิจัย และคุณูปการที่ทำให้กับภาควิชาและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เสมอมา
Cr.https://www.matichon.co.th/education/news_2686977




"กุ้งเต้นบูรพา" ชนิดใหม่ของโลก

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2559 ผศ.พงษ์รัตน์ ดำรงโรจน์วัฒนา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพา ร่วมกับ ดร.กรอร วงษ์กำแหง และ ดร.มนัสวัณฏ์ ภัทรธำรง จากสถาบันทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตหาดใหญ่ จ.สงขลา เปิดเผยว่า ได้ค้นพบกุ้งเต้นชนิดใหม่ของโลก และให้ชื่อว่า "กุ้งเต้นบูรพา" (Floresorchestia buraphana Wongkamhaeng, Dumrongrojwattana and Pattaratumrong, 2016)

ย้อนไปเมื่อปี 2557 คณะทำงานได้ค้นพบกุ้งเต้นตัวแรกในประเทศไทย ที่เขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ แต่เป็นคนละชนิดกับกุ้งเต้นบูรพา
ต่อมาปี 2558 ได้ลองเข้าค้นหาในพื้นที่มหาวิทยาลัยบูรพา โดยตั้งข้อสังเกตว่ามีลักษณะถิ่นที่อยู่ใกล้เคียงกัน

จากการสำรวจครั้งแรกบริเวณสระน้ำคณะวิทยาศาสตร์ พบกุ้งเต้นบูรพาจำนวนมากกระจายทั่วไปตามสระ และแหล่งน้ำในพื้นที่มหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นชนิดแรกที่เจอในสภาพแวดล้อมดัดแปลงที่ไม่ใช่ตามธรรมชาติ หลังจากนั้น จึงเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ และตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2559 โดยให้ชื่อว่า " กุ้งเต้นบูรพา " เพื่อเป็นเกียรติแก่มหาวิทยาลัยในการก่อตั้ง และก้าวเข้าสู่ปีที่ 61

จากนั้น คณะทำงานทำการศึกษาคุณค่าทางอาหาร เบื้องต้นอาจนำมาทำเป็นอาหารสัตว์ แต่ยังไม่ยืนยันว่าคนสามารถบริโภคได้หรือไม่ เนื่องจากในไทยยังไม่มีผู้ที่ศึกษาอย่างจริงจัง ส่วนในระยะยาวหากมีการปรับปรุงพื้นที่ อาจกั้นพื้นที่โดยเฉพาะให้กับกุ้งบูรพา และภายใน 2 ปีจากที่พบ จะเน้นค้นหาความหลากหลายของชนิดในไทย ซึ่งมีประชากรอยู่มากในธรรมชาติ

สำหรับกุ้งเต้นบูรพา จะอาศัยตามพื้นดินชายตลิ่งที่บริเวณสระน้ำ หรือคูน้ำ โดยเฉพาะบริเวณที่มีใบไม้แห้งร่วงหล่นปกคลุม และพบแพร่กระจายทั่วไปในมหาวิทยาลัย เช่น สระน้ำบริเวณตึกฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ สระน้ำและคูน้ำ บริเวณโรงเรียนสาธิต พิบูลบำเพ็ญ เป็นต้น

ส่วนข้อมูลทางด้านชีววิทยาอื่นๆ ยังไม่ได้ทำการศึกษา แต่สันนิษฐานว่า กุ้งเต้นชนิดนี้กินพืช หรือซากพืชเป็นอาหาร ส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนสารอาหารในห่วงโซ่อาหาร นอกจากนี้ยังช่วยเร่งกิจกรรมของแบคทีเรีย ในการย่อยสลายซากพืชอันเกิดจากกิจกรรมการกินอาหารและขับถ่ายของกุ้งเต้นเอง รวมทั้งยังเป็นอาหารที่สำคัญของผู้ล่าที่มีขนาดใหญ่กว่า เช่น ปลา นก




" กุ้งเต้น " พันธุ์ใหม่ของโลก 2 ชนิดในทะเลสาบสงขลา


เมื่อปี 2553 ศาสตราจารย์ ดร.เสาวภา  อังสุภานิช  นักวิจัยประจำภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ เปิดเผยว่า ม.อ.ได้ค้นพบกุ้งเต้น หรือ “Amphipod”  ซึ่งเป็นสัตว์คล้ายกุ้งขนาด 2-3 มิลลิเมตร พันธุ์ใหม่ของโลกจำนวน 2 พันธุ์ ที่อาศัยอยู่ในตะกอนดินโคลนค่อนข้างสะอาดในทะเลสาบสงขลา

ชนิดแรก คือ Kamaka songkhlaensis มีขนาด 2-3 มิลลิเมตร ถูกตั้งชื่อชนิดตามสถานที่ที่พบ เป็นชนิดที่พบมากในทะเลสาบสงขลาตอนบน ซึ่งน้ำมีความเค็มต่ำ (ประมาณ 1-4 ส่วนในพัน) และพบแพร่กระจายลงมาได้บ้างในทะเลสาบสงขลาตอนกลางจนถึงตอนล่างบริเวณปากทะเลสาบ ในช่วงฤดูฝนที่ความเค็มของน้ำลดลง 
 
อีกชนิดหนึ่งคือ Kamaka appendiculata มีขนาด 2-3 มิลลิเมตร ถูกตั้งชื่อชนิดตามลักษณะเด่นของแผ่นที่โคนหนวดคู่ที่ 2 เป็นชนิดที่พบมากในช่วงที่
น้ำมีความเค็มสูงประมาณ 25-33 ส่วนในพัน ซึ่งจะพบหนาแน่นในทะเลสาบสงขลาตอนล่างตั้งแต่บริเวณปากทะเลสาบถึงเกาะยอ โดยพบน้อยลงในช่วงฤดูฝนซึ่งน้ำมีความเค็มต่ำ


Kamaka appendiculata ตัวผู้ จากบึงสงขลาภาคใต้ของประเทศไทย
Cr.ภาพ zenodo.org/

 
สำหรับกุ้งเต้นชนิดใหม่ที่ค้นพบ เป็นสัตว์น้ำที่มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศวิทยาในทะเลสาบสงขลา เนื่องจากกุ้งเต้นชนิดนี้ช่วยบรรเทาความเน่าเสียของ
พื้นทะเลสาบโดยกินสารอินทรีย์ และช่วยเพิ่มการหมุนเวียนน้ำและอากาศในตะกอนดินโดยผ่านรู ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำเหล่านี้ ซึ่งเป็นกลไกหนึ่ง
ที่ช่วยรักษาระบบนิเวศวิทยาของทะเลสงขลา หลังจากที่ผ่านมาปัญหาการขยายตัวของชุมชน การทำเกษตร และโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ใกล้บริเวณทะเลสาบสงขลาได้ปล่อยมลพิษทำให้ระบบนิเวศวิทยาของทะเลสาบสงขลาได้รับความเสียหาย
 
โดยจากการทำวิจัยในครั้งนั้น ยังพบว่า ทะเลสาบสงขลากำลังประสบปัญหาเรื่องหญ้าทะเล และสาหร่ายเขากวางในบางพื้นที่หายไป อันเป็นผลมาจากการบริโภคของมนุษย์ที่นำสาหร่ายเขากวางมาประกอบอาหาร จนทำให้สาหร่ายเขากวางลดจำนวนลง และมีสาหร่ายสีเขียวบางชนิดที่ไม่สามารถนำไปประกอบอาหารได้เจริญเติบโตขึ้นมาแทน แลัเมื่อสาหร่ายดังกล่าวเพิ่มจำนวนขึ้น ทำให้น้ำและตะกอนดินพื้นทะเลสาบสงขลาสกปรกและขาดออกซิเจน ส่งผลให้จำนวนกุ้งและปลาลดลงตามลำดับ

ทั้งนี้ ดร.เสาวภา อังสุภานิช ระบุว่า การค้นพบสัตว์สปีชีส์ใหม่ในครั้งนี้ถือเป็นเพียงผลพลอยได้จากการวิจัยเกี่ยวกับสัตว์พื้นใต้น้ำในทะเลสาบสงขลา
ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาย้อนหลังไป 20 ปี ที่ได้ทำการเก็บข้อมูลสิ่งมีชีวิตต่างๆ ตั้งแต่แพลงก์ตอน สัตว์พื้นใต้น้ำหรือสัตว์หน้าดิน สาหร่าย หญ้าทะเล และสัตว์น้ำอื่นๆอย่างต่อเนื่อง

(ขอขอบคุณที่มาของข้อมูลทั้งหมดและขออนุญาตนำมา)

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่