JJNY : ศิริกัญญาถามงบกลางมีทำไมไม่ใช้│“ชนินทร์”ตั้งข้อสังเกต│กสม.ติงฉีดน้ำสลายม็อบเกินแก่เหตุ│ชูวิทย์ซัดรัฐบาลเพิ่งตื่น

ศิริกัญญา ถามรบ.งบกลางมีทำไมไม่ใช้ แนะโยกงบฟื้นฟู ต่อลมหายใจปชช.ไม่ให้อดตาย
https://www.matichon.co.th/covid19/news_2669019

 
ศิริกัญญา ถามรบ.งบกลางมีทำไมไม่ใช้ แนะโยกงบฟื้นฟู ต่อลมหายใจปชช.ไม่ให้อดตาย จากมาตรการสกัดโควิด
 
เมื่อวันที่ 11 เมษายน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าฝ่ายนโยบาย พรรคก้าวไกล (ก.ก.) และประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ประเมินความพร้อมในการรับมือสถานการณ์โควิด -19 ที่กำลังมีการระบาดระลอกใหม่ ว่า ผลสืบเนื่องจากสถานการณ์ทำให้เริ่มมีมาตรการหรือคำสั่งปิดสถานประกอบการออกมาเรื่อยๆ และคงตามมาด้วยการประกาศพื้นที่เสี่ยงในไม่ช้า หมายถึงผลกระทบต่อการทำมาหากินของพี่น้องประชาชน ปากท้องที่กำลังจะฟื้นกำลังจะกลับไปฟุบอีกครั้ง หน้าตักตอนนี้รัฐบาลน่าจะมีเงินสำหรับเยียวยาอยู่ราว 342,000 ล้าน จากเงินกู้ 1 ล้านล้าน ราว 220,000 ล้านบาท และจากงบกลางอีกเกือบ 120,000 ล้านบาท ซึ่งเงินกู้ 1 ล้านล้าน ในส่วนแผนงานเยียวยา 600,000 ล้านบาทใช้ไปหมดแล้วในการระบาด 2 ระลอก ถ้าต้องเยียวยาอีกรอบ ต้องโยกงบฟื้นฟูที่ยังไม่ได้อนุมัติมาใช้ เหลืออยู่ 220,000 ล้านบาท แต่จริงๆ แล้วยังทบทวนงบฟื้นฟูได้อีกรอบ เพราะที่อนุมัติไปก็เบิกจ่ายได้ต่ำมาก ถ้าระงับโครงการตอนนี้ จะได้งบเพิ่มอีกเกือบ 70,000 ล้านบาท
 
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ในการระบาดระลอกใหม่จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รอบนี้เริ่มเร่งตัวขึ้นอีกครั้งจากหลากหลายคลัสเตอร์ โดยเฉพาะคลัสเตอร์ทองหล่อ ยอดผู้ติดเชื้อใหม่ ของวันที่ 10 เมษายน เพิ่มเป็น 789 ราย มีมาตรการหรือคำสั่งปิดสถานบันเทิงใน 41 จังหวัดทั่วประเทศ 22 จังหวัดประกาศให้ผู้ที่เดินทางจาก กทม. นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และนครปฐม ต้องกักตัว 14 วัน ศบค.ยังคงประวิงเวลา แต่การประกาศพื้นที่เสี่ยงคงมีขึ้นในไม่ช้า น่าจะทำให้เทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ไม่คึกคัก ประชาชนยกเลิกแผนการเดินทางและท่องเที่ยว จึงต้องประเมินว่าหากสถานการณ์เลวร้ายและต้องเยียวยา รัฐบาลจะมีเงินพอหรือไม่
  
โดยสรุปสำหรับแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจ จึงยังเหลือเงินอีก 220,000 ล้านบาท ยังไม่ได้อนุมัติ และสามารถโยกข้ามมาเป็นเงินเยียวยาได้ แต่ควรทบทวนโครงการเดิมที่เบิกจ่ายไม่ถึงไหน เพื่อปรับลดวงเงิน และนำมาโปะเป็นเงินเยียวยาได้อีก สำหรับงบประมาณก้อนสุดท้ายคือ งบกลาง จากที่ในปี 2563 แฮชแท็ก #งบกลางหายไปไหน ติดอันดับเทรนด์ทวิตเตอร์ ปีนี้คงต้องเปลี่ยนเป็น #งบกลางมีทำไมไม่ใช้ จากที่ขอสภาไป 139,000 ล้านเศษ เพิ่งอนุมัติไป 20,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้ไปกับการซื้อวัคซีน 11,600 ล้านเศษ เท่ากับยังเหลืองบกลางอีกราว 120,000 ล้านบาท สามารถนำมาใช้เยียวยาได้อีก จึงฝากให้พี่น้องประชาชนส่งเสียงดังๆ อีกครั้ง ถ้ายังล้มเหลวในการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ควรจัดงบใหม่มาเยียวยาปัญหาปากท้องเฉพาะหน้าประชาชนก่อน ประคับประคองให้ไม่ต้องมีใครเดือดร้อน อดตายจากมาตรการควบคุมโรคระบาดในปีนี้
 

 
“ชนินทร์”ตั้งข้อสังเกตBTSทวงหนี้รบ.เป็นละครฉากใหญ่
https://www.innnews.co.th/news/news_80547/
 
“ชนินทร์” ตั้งข้อสังเกตBTS ทวงหนี้รัฐบาลเป็นละครฉากใหญ่เพื่อสืบทอดอำนาจให้กับกลุ่มทุนในสังกัดหรือไม่
 
นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ส่งจดหมายทวงหนี้ออนไลน์ในรูปแบบคลิปผ่านยูทูปและฉายบนขบวนรถบีทีเอสทั่วกรุงเทพมหานคร และยังเผยแพร่เอกสารในทวิตเตอร์บัญชีทางการของบีทีเอส หวังบีบให้รัฐบาลเร่งชำระหนี้สินรวม 3 หมื่นล้านบาท ว่า อาจเป็นเหมือนการประจานจากเอกชนด้วยการทวงหนี้รัฐที่ค้างจ่ายเท่านั้น แต่หากมองให้ลึกลงไปกลับมีคำถามว่า นี่คือ ละครฉากใหญ่ ของคู่รักรัฐบาลสืบทอดอำนาจให้กับกลุ่มทุนในสังกัดหรือไม่
 
จากคำสัมภาษณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 เม.ย.64 ว่า ประชาชนได้ประโยชน์ไปแล้วจากการที่รัฐยอมขาดทุนด้วยการงดเว้นการเก็บค่าโดยสารบางส่วน ประกอบกับการปล่อยข้อมูลว่าหากไม่ต่อสัญญาประชาชนต้องจ่ายค่าโดยสาร 104-158 บาทต่อเที่ยว ดูเหมือนว่าทั้งรัฐและเอกชนกำลังสร้างสถานการณ์วิกฤตที่ไร้ทางออก เพื่อสร้างความชอบธรรมให้วิธีแก้ปัญหาแบบฉ้อฉลที่ซ่อนไว้ข้างหลังหรือไม่ ต่อมามีการเตรียมใช้อำนาจ 
ม.44 ยืดอายุสัญญาสัมปทานให้เอกชนผู้เดินรถบนสัญญาหลักที่มีผู้โดยสารจำนวนมากไปอีก 30 ปี โดยไม่ต้องมีการประมูลแข่งขันเพื่อทดแทนภาระหนี้สินที่ค้างอยู่
 
ทั้งนี้นายชนินทร์ กล่าวว่า ในความเป็นจริง ภาระขาดทุนหรือหนี้สินที่เกิดขึ้น อาจมีต้นเหตุมาจากการบริหารจัดการที่ไม่ดี หรือการจัดจ้างในราคาที่สูงเกินไปหรือไม่ เพราะการจ้างเดินรถในครั้งนี้ รัฐโดย บริษัทกรุงเทพธนาคม ได้จ้างบริษัทบีทีเอสเข้าดำเนินการโดยไม่ผ่านการประมูล ซึ่งส่อเค้าทุจริตอย่างชัดเจน และอยู่ระหว่างการตรวจสอบของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.อยู่
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่