JJNY : 'พท.'ซัด'ศักดิ์สยาม'โกหกปชช.│'วิโรจน์'จี้'อนุทิน'เร่งฉีดวัคซีน│กนง.ห่วงฐานะการเงินธุรกิจ-ครัวเรือน│ไก่อูติดโควิด

'เพื่อไทย' ซัด 'ศักดิ์สยาม' โกหกปชช. พูดกลับไป-มา ข้องใจปมฉีดวัคซีน สุดท้ายชาวบ้านรับกรรม
https://www.khaosod.co.th/politics/news_6286882
 

 
‘เพื่อไทย’ ซัด ‘ศักดิ์สยาม’ โกหกประชาชน พูดกลับไปกลับมา ข้องใจปมฉีดวัคซีน สุดท้าย ชาวบ้านรับกรรมแทน ชี้ชัดลดทอนความเชื่อมั่นรบ.
 
วันที่ 7 เม.ย.64 น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งที่ นายศักดิ์สยาม เพิ่งให้สัมภาษณ์กับสื่อเมื่อวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา ระบุร่างกายยังแข็งแรงดีและได้ผ่านการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบ 2 โดสแล้ว แต่วันนี้ กลับคำให้สัมภาษณ์ว่าได้รับวัคซีน 1 โดส ว่า นายศักดิ์สยาม กำลังโกหกประชาชนและกำลังลดทอนความเชื่อมั่นให้กับรัฐบาลเสียเอง ใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นยันต์กันผี ฉีดแล้วจะปฏิบัติตัวอย่างไรก็ได้
 
ทั้งที่รัฐมนตรีและรัฐบาลในฐานะที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองต้องปฏิบัติตัวให้เป็นแบบอย่างกับสังคมและต้องมีความรับผิดชอบสูงกว่าประชาชน แม้จะได้รับวัคซีนแล้วไม่ได้หมายความว่าจะสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยปราศจากการรักษาระยะห่างทางสังคม ต้องป้องกันตัวเองด้วยมาตรการเข้มข้นตามที่กำหนดไว้อย่างต่อเนื่อง เพราะประชาชนจำนวนมากยังไม่ได้รับวัคซีน มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ได้รับวัคซีนเพียง 1 โดส
 
นายศักดิ์สยาม และรัฐมนตรีอีกหลายคนที่ต้องกักตัวไม่ควรเป็นหนึ่งในสาเหตุของการแพร่ระบาดในคลัสเตอร์ทองหล่อ ซึ่งล่าสุดศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้มี 334 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 327 ราย พบมากที่สุดในกรุงเทพมหานคร 210 ราย ส่วนใหญ่พบจากกลุ่มสถานบันเทิงใน กทม. ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า การระบาดครั้งนี้อาจจะกลายเป็นการระบาดระลอกที่ 3 หรือไม่
 
น.ส.อรุณี กล่าวอีกว่า รัฐบาลกำลังทำลายความน่าเชื่อถือให้กับวัคซีนที่ตนเองเป็นผู้สั่งซื้อและยังผูกขาดการเข้าถึง จากนี้ไปรัฐบาลต้องทำความเข้าใจกับประชาชนทั้งที่ได้รับวัคซีนแล้วและยังไม่ได้รับวัคซีนว่า วัคซีนไม่ใช่ยาวิเศษ ที่เมื่อได้รับไปแล้วจะทำให้ตัวเองไม่ติดเชื้อโควิด-19 ได้ หลังได้รับวัคซีนโดสที่ 2 แล้วจะต้องรักษาระยะห่างทางสังคมและป้องกันตนเองอย่างเข้มข้นต่อไป
 
เพราะวัคซีนมีระยะการสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกายหลังฉีดเข็มที่ 2 แล้ว 14-28 วัน ข้อมูลเหล่านี้สำคัญในการดำเนินชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก รัฐมนตรีที่ติดเชื้อโควิดไม่รับผิดชอบต่อสังคม ซ้ำยังปกปิดข้อมูล ทำตัวเป็นอภิสิทธิ์ชน ลอยตัวเหนือปัญหาที่ตนเองเป็นผู้ก่ออยู่เสมอ ประชาชนต้องรับกรรมแทนทุกครั้ง
 


'วิโรจน์' อัดคลัสเตอร์ผับหรูทองหล่อ ทำกระทบคนหาเช้ากินค่ำ จี้ 'อนุทิน' เร่งฉีดวัคซีนให้ทั่วถึง อย่ายื้อถ้าจัดการเองไม่ได้
https://www.matichon.co.th/politics/news_2662565
 
‘วิโรจน์’ อัดคลัสเตอร์ผับหรูทองหล่อ ทำกระทบคนหาเช้ากินค่ำ จี้ ‘อนุทิน’ เร่งฉีดวัคซีนให้ทั่วถึง อย่ายื้อถ้าจัดการเองไม่ได้
 
เมื่อวันที่ 7 เมษายน นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงกรณีจากการระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มต้นขึ้นที่สถานบันเทิงย่านทองหล่อ ว่า ขณะนี้ ต้องยอมรับว่าการระบาดได้ขยายตัวไปในวงกว้างอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งวันนี้ เป็นที่ยืนยันแล้วว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 โดยสงสัยว่าอาจจะติดมาจากทีมงานหน้าห้อง ที่มีไทม์ไลน์เดินทางไปสถานบันเทิงย่านทองหล่อ ส่วนข้อสงสัยว่า นายศักดิ์สยามจะไปย่านทองหล่อหรือไม่นั้น ก็คงต้องให้นายศักดิ์สยามเป็นผู้ชี้แจง
 
นายวิโรจน์กล่าวว่า การระบาดระลอกที่ 3 จากสถาบันเทิงย่านทองหล่อ คนที่ต้องได้รับความเดือดร้อนทุกข์ยากมากที่สุด หนีไม่พ้นประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อย พ่อค้าแม่ขาย คนขับรถแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนหาเช้ากินค่ำ ผู้ประกอบการ SMEs เจ้าของร้านอาหาร เป็นความสิ้นหวังที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ทั้งที่หวังว่าเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ จะพอขายของ หาเงินมาใช้หนี้ได้ ก็ต้องมาผิดหวังซ้ำอีก เป็นความผิดหวัง ที่กลายเป็นความสิ้นหวัง หมดอาลัยตายอยาก กลายเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจ ที่เกิดจากการฉีดวัคซีนล่าช้า
 
ต้องยอมรับตรงๆ ว่าโควิด-19 เป็นโรคระบาด ดังนั้นการระบาดที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ เพราะทุกคนต้องปฏิบัติหน้าที่ ทุกคนต้องใช้ชีวิต แต่สิ่งที่เราทำได้ ก็คือ การลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ และลดผลกระทบจากการติดเชื้อ ซึ่ง “วัคซีน” คือ เครื่องมือเดียวที่ตอบโจทย์นี้ได้
 
นายวิโรจน์กล่าวว่า โดยทางออกของเรื่องนี้ ตนขออนุญาตเสนอแนะ ให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้หาทางเร่งจัดหาวัคซีนอื่นๆ ให้มาก่อนเดือนมิถุนายนได้หรือไม่ ต่อให้รู้ว่ายากอย่างไร รัฐบาลก็ต้องเร่งเจรจาเพื่อจัดหาวัคซีน และเร่งฉีดวัคซีนให้เร็วกว่านี้ให้ได้ จะให้ปล่อยให้เศรษฐกิจของประเทศพังทลายไปเรื่อยๆ ประชาชนเดือดร้อนทุกข์ยากอย่างแสนสาหัส ไปจนถึงเดือนมิถุนายนไม่ได้ วัคซีนที่มีโอกาสที่จะจัดซื้อ และเร่งการส่งมอบได้มากที่สุด น่าจะเป็นวัคซีนซิโนแวค
 
ผมขอเรียกร้องให้คุณอนุทินชี้แจงให้กับประชาชนได้รับทราบด้วย และย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ถ้าไม่สามารถบริหารงานราชการให้จัดหา และจัดฉีดวัคซีนให้เร็วกว่านี้ได้จริงๆ ผมคิดว่าอย่ายื้อครับ ยอมให้เอกชนเขาเข้ามาร่วมจัดหา และจัดฉีดวัคซีนได้แล้ว อย่ากลัวเสียหน้าครับ ชีวิต และปากท้องของประชาชน 67 ล้านคน สำคัญกว่ามาก“ นายวิโรจน์กล่าว


 
กนง. ประเมินจุดเสี่ยงเศรษฐกิจไทย ห่วงฐานะการเงิน ธุรกิจ-ครัวเรือน
https://www.prachachat.net/breaking-news/news-644077
 
ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยแพร่รายงาน กนง. ประเมินจุดเสี่ยงเศรษฐกิจไทย ห่วงฐานะการเงิน “ธุรกิจ-ครัวเรือน”
 
วันที่ 7 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 2/2564 ที่ประชุมเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 โดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่า ในระยะข้างหน้าประมาณการเศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่จะขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากหลายปัจจัย ได้แก่
 
(1) การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยที่อาจล่าช้าจากข้อจำกัดในการกระจายวัคซีนป้องกัน COVID-19 เช่น ความเพียงพอของวัคซีน ความกังวลของประชาชนในการฉีดวัคซีน และการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส
  
(2) แรงกระตุ้นจากภาครัฐอาจน้อยกว่าคาด หากมีความล่าช้าในการอนุมัติโครงการภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงินฯ ที่เหลือ ซึ่งมีกำหนดสิ้นสุดลงในไตรมาสที่ 3 ปี 2564
 
(3) ฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบจนต้องปิดกิจการ ทำให้จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น โดยธุรกิจและแรงงานจะกลับมาฟื้นตัวช้าแม้การระบาดสิ้นสุดลง (scarring effects)
 
และ (4) การผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนที่อาจสูงขึ้นมากภายหลังมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สิ้นสุดลง
 
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าและมีความแตกต่างกันมากขึ้นระหว่างภาคเศรษฐกิจ (uneven recovery) ภาครัฐจึงควรออกแบบมาตรการให้ตรงจุดและเพียงพอ รวมทั้งเร่งดำเนินมาตรการเพื่อช่วยลด scarring effects ในระบบเศรษฐกิจ โดยควรเร่งแก้ปัญหาเรื่องฐานะทางการเงินของภาคเอกชนที่มีความเปราะบางมากขึ้น ภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
 
รวมถึงตลาดแรงงานที่ยังอ่อนแออยู่ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป มาตรการการคลัง จึงควรเร่งเบิกจ่ายมาตรการเยียวยาและมาตรการพยุงเศรษฐกิจต่าง ๆ เพื่อรักษาความ ต่อเนื่องของแรงกระตุ้นภาครัฐ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับภาคครัวเรือน
 
มาตรการทางการเงินและสินเชื่อ ควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้ทั้งของลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจ รวมถึงเร่งกระจายสภาพคล่องให้ตรงจุดเพื่อช่วยลดภาระหนี้ของผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะการเร่งดำเนินมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) และโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ (asset warehousing)
 
ซึ่งเป็นมาตรการช่วยเหลือที่ (1) สร้างแรงจูงใจให้สถาบันการเงินส่งผ่านสภาพคล่องไปสู่กลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น ตรงจุด และสอดคล้องกับปัญหาและศักยภาพของธุรกิจ
 
(2) ลดภาระการจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยชั่วคราวให้ธุรกิจที่ต้องใช้เวลาฟื้นตัว โดยเฉพาะธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว
 
ทั้งนี้ ในกรณีเลวร้ายที่สถานการณ์ไม่เป็นไปตามคาด คณะกรรมการฯ เห็นว่าภาครัฐควรเตรียมพร้อมชุดมาตรการการเงินและการคลัง (policy package) เพิ่มเติมไว้รองรับความเสี่ยงดังกล่าว โดยเฉพาะหากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางมาไทยในปี 2564 น้อยกว่าที่คาด
 
คณะกรรมการฯ เน้นย้ำถึงความจำเป็นของนโยบายปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่จะช่วยยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว โดยเห็นว่า ศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มต่ำลงอย่างต่อเนื่อง
 
อีกทั้งการระบาดของ COVID-19 ยังอาจซ้ำเติมปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีอยู่เดิม เช่น ปัญหาสังคมสูงวัย ความเหลื่อมล้ำของรายได้ให้เลวร้ายลง คณะกรรมการฯ จึงเน้นย้ำถึงความจำเป็นของการปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่จะช่วยยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทย
 
โดยเฉพาะการปรับรูปแบบการทำธุรกิจและพัฒนาทักษะแรงงาน (upskill/reskill) ให้สอดคล้องกับบริบทหลัง COVID-19 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืน และเพิ่มรายได้ประชาชนในระยะยาว ซึ่งจะช่วยให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนลดภาระหนี้สินได้เร็วยิ่งขึ้น
 
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังได้อภิปรายเกี่ยวกับแนวทางการผสมผสานเครื่องมือเชิงนโยบายต่าง ๆ อย่างเหมาะสม (integrated policy) เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้นและการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยคณะกรรมการฯ เห็นว่า
 
(1) นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องและมาตรการการเงินการคลังที่ตรงจุดจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเคลื่อนไหวกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย
 
(2) มาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) และมาตรการกำกับดูแลรายสถาบันการเงิน (microprudential) จะมีความสำคัญอย่างยิ่งในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน (low for long) เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง
 
และ (3) ภาครัฐควรเร่งผลักดันและเร่งดำเนินนโยบายเชิงโครงสร้างเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่