ทีมนักวิจัยไทยค้นพบราแมลงชนิดใหม่ของโลก (new species) 47 สายพันธุ์




ความหลากหลายทางธรรมชาติเป็นหนึ่งในความสำคัญของระบบนิเวศ ซึ่งระบบนิเวศที่มีความหลากหลายสูงจะเกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิต เป็นปฏิกิริยาทางชีวภาพที่ซับซ้อน และเกิดเป็นสายใยแห่งชีวิตที่หล่อเลี้ยงธรรมชาติให้ดำเนินต่อไปอย่างสมดุล โดยในหนึ่งระบบนิเวศมักประกอบไปด้วยสิ่งมีชีวิตที่มีบทบาทแตกต่างกันทั้งผู้ผลิต เช่น พืชและสาหร่ายที่สังเคราะห์แสงได้ และผู้บริโภค เช่น สัตว์ชนิดต่างๆ และผู้ย่อยสลาย เช่น เชื้อรา และจุลินทรีย์ต่างๆ 

ในปี 2020 ที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยชาวไทย นำโดย ดร.เจนนิเฟอร์ เหลืองสอาด จากทีมวิจัยปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ทางการเกษตร (APMT) กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการจัดการแบบบูรณาการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ค้นพบราแมลงชนิดใหม่รวม 47 สปีชีส์ โดยเป็นสกุลใหม่รวม 8 สกุล ถือเป็นการค้นพบราแมลงชนิดใหม่จำนวนมากของโลก

ราแมลงนั้น  เป็นราที่ก่อโรคในแมงและแมลง โดยราจะเข้าไปอาศัยในตัวแมลงเพื่อใช้เป็นแหล่งอาหาร โดยจะค่อยๆ เจริญเติบโตจนแมลงเจ้าบ้านตายในที่สุด และจะพัฒนาโครงสร้างที่ใช้ในการสืบพันธุ์ที่เต็มไปด้วยสปอร์งอกบนซากของแมลง เมื่อสปอร์ราที่มีการพัฒนาสมบูรณ์แล้วก็จะเข้าทำลายแมลง
เจ้าบ้านตัวใหม่ต่อไป ซึ่งราแมลงนี้สามารถพบได้ทั้งในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีสภาพอุดมสมบูรณ์ และพื้นที่การเกษตรที่ปลอดสารเคมี

แต่ราแมลงบางชนิดแม้จะทำให้เกิดโรคกับแมลง ในบางช่วงของวงจรชีวิตอาจอยู่เป็นอิสระในดินโดยไม่ต้องการเจ้าบ้านอาศัย  แต่มนุษย์ก็ใช้ประโยชน์ราแมลงมาเป็นเวลานาน เช่นราแมลงชนิดหนึ่งที่คนจีนเรียก “ถังเฉ่า” ถูกนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรชูกำลัง ปัจจุบันมีราคาแพงมาก และมีชุกชุมในประเทศภูฏาน ส่วนราแมลงหลายชนิดถูกนำมาผลิตเป็นสารปราบแมลงศัตรูพืช ทดแทนการใช้สารเคมี


จุดสีขาวบนตัวจักจั่นคือเส้นใยของราแมลงที่เจริญออกมาจากตัวเจ้าบ้าน


ในการนี้ ไบโอเทค สวทช. ได้ดำเนินงานวิจัยเกี่ยวกับราแมลงมานานกว่า 25 ปี จากการริเริ่มของ Dr. Nigel L.H. Jones ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ ซึ่งเป็น
นักกีฏวิทยา ที่ได้สำรวจพบราแมลง Hirsutella citriformis (เฮอร์ซูเทลลา ซิตริฟอร์มิส) ก่อโรคบนเพลี้ยกระโดดในแปลงนาข้าวครั้งแรกในประเทศไทย Dr. Nigel จึงมีแนวคิดที่จะศึกษาความหลากหลายของราแมลงในประเทศไทย เพราะประเทศไทยมีพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์

ปัจจุบัน ทีมวิจัยได้ร่วมมือกับนักวิจัยจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และมหาวิทยาลัยต่างๆ สำรวจความหลากหลายของราแมลง ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องและพบราแมลงมากกว่า 400 ชนิด โดยประเทศไทยถูกจัดว่าเป็นแหล่งที่มีความหลากหลายของราแมลงมากแห่งหนึ่งของโลก อีกทั้งจากการศึกษาวิจัยพบว่า ราแมลงบางชนิดมีคุณสมบัติในการสร้างสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพระดับห้องปฏิบัติการ และสามารถนำมาขยายผลใช้ประโยชน์ได้ทั้งด้านการเกษตร อุตสาหกรรม และการแพทย์

ตัวอย่างความหลากหลายและความโดดเด่นของราแมลงชนิดใหม่ที่พบ 47 สปีชีส์ นี้ เช่น ราในสกุลเมตาไรเซียม (พบมากถึง 21 สปีชีส์ใหม่) และราสกุลบิวเวอเรีย (สปีชีส์ใหม่ที่พบคือ Beauveria mimosiformis : บิวเวอเรีย มิโมสิฟอร์มิส) ซึ่งรากลุ่มนี้สามารถนำมาพัฒนาเป็นสารชีวภัณฑ์ควบคุมแมลงศัตรูพืช (biocontrol) ซึ่งที่ผ่านมาไบโอเทค สวทช. ได้ศึกษาคัดเลือกราแมลงสายพันธุ์ บิวเวอเรีย บาสเซียนา (Beauveria bassiana) มาพัฒนาเป็นสารชีวภัณฑ์ที่ใช้ในการควบคุมแมลงศัตรูพืชหลายชนิด โดยเฉพาะเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง




ขณะที่เชื้อราในสกุล Metarhizium เป็นกลุ่มราแมลงที่สามารถสืบพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ โดยในระยะสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ ราจะสร้างสปอร์สีเขียวขึ้นคลุมแมลงเจ้าบ้าน แต่ในระยะสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศราจะสร้างก้านรางอกจากตัวแมลง และราทั้งสองมีความสามารถก่อโรคบนแมลงได้หลายชนิด เช่น หนอนผีเสื้อ หนอนด้วง ด้วงตัวเต็มวัย ตัวอ่อนจักจั่น จักจั่นตัวเต็มวัย และเพลี้ยกระโดด

ดังนั้น การค้นพบรา Metarhizium และรา Beauveria ชนิดใหม่จำนวนมากในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะค้นหาสายพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับการพัฒนาสารชีวภัณฑ์ที่ออกฤทธิ์ควบคุมแมลงได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการใช้สารเคมีในทางการเกษตร ไม่มีสารพิษตกค้างในผลผลิต และไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้และผู้บริโภค

นอกจากนั้น ราแมลง Gibellula pigmentosinum (จีเบลลูลา พิกเมนโตสินัม) ที่ค้นพบใหม่ สามารถสร้างสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพต้านการสร้างไบโอฟิล์มของแบคทีเรีย ซึ่งมีศักยภาพที่อาจนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เช่น ใช้เป็นยาปฏิชีวนะเพื่อยับยั้งการสร้างไบโอฟิล์มของแบคทีเรีย เพื่อป้องกันการติดเชื้อได้ในอนาคต



Gibellula pigmentosinum ที่ค้นพบใหม่  โดยทีมวิจัยปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ทางการเกษตร (APMT) กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการจัดการแบบบูรณาการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)


อีกทั้งยังค้นพบราแมลงชนิดใหม่ในสกุล Blackwellomyces และ Cordyceps ที่สร้างก้านราสีสดออกจากตัวแมลง พบได้ตามเศษซากใบไม้และขอนไม้ผุ ซึ่งก่อโรคกับหนอนด้วงและหนอนผีเสื้อ โดยราบางชนิดในสกุลคอร์ไดเซปส์ นี้มีการนำไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์แผนจีน (CTM : Chinese Traditional Medicine)

ตัวอย่างราแมลงสกุลใหม่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นในกลุ่มที่พบได้ค่อนข้างน้อยคือ ราสกุล Neotorrubiella ค้นพบใหม่ 1 สปีชีส์ ได้แก่ Neotorrubiella chinghridicola และในสกุล Petchia อีก 1 สปีชีส์ ได้แก่ Petchia siamensis ที่สำคัญยังมีการค้นพบเชื้อรา Beauveria malawiensis เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

รวมทั้งพบระยะสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศของเชื้อรา Beauveria asiatica เป็นครั้งแรกของโลกอีกด้วย  นอกจากนี้ ยังค้นพบแมลงเป้าหมายของเชื้อรา B. gryllotalpidicola เพิ่มเติม ได้แก่ หนอนผีเสื้อ และด้วง ซึ่งนอกเหนือจากที่เคยรายงานมาก่อนหน้านี้คือ แมลงกระชอน

การสำรวจพบสิ่งชีวิตชนิดใหม่ในประเทศไทย แสดงให้เห็นมุมมองที่หลากหลาย เช่น ในประเทศไทยยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ยังไม่ได้สำรวจชนิดพันธุ์ หรือเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดที่แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายในระบบนิเวศของประเทศไทย เป็นต้น การสำรวจพบเชื้อราแมลงชนิดใหม่ในปี 2020 ที่ผ่านมา เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดฐานข้อมูลเรื่องเชื้อรามากขึ้น เพื่อนำไปศึกษาต่อยอด และนำมาประยุกต์ใช้กับการดำรงชีวิตต่อไปในอนาคต



Genus Blackwellomyces
Cr.ภาพถ่าย ทีมวิจัยปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ทางการเกษตร (APMT) กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการจัดการแบบบูรณาการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 


การศึกษาลักษณะทางสันฐานวิทยาของราแมลงภายใต้กล้องสเตอริโอ




ที่มา
ทีมวิจัยปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ทางการเกษตร (APMT) กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการจัดการแบบบูรณาการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

Cr.https://ngthai.com/science/34368/insected-fungi/เรื่อง ภัทรดนัย / ภาพถ่าย เอกรัตน์ ปัญญะธารา

(ขอขอบคุณที่มาของข้อมูลทั้งหมดและขออนุญาตนำมา)

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่