JJNY : งบปี 65 ขาดดุลพุ่ง7แสนล.│สุทินยันเดินหน้าโหวตแก้รธน.เชื่อเสี่ยงถูกร้องอยู่ดี│จุรินทร์ชงส่งศาลรธน.│หนูแจงโหวตวาระ3

งบปี 65 ขาดดุลพุ่ง 7 แสนล้าน 'คลัง'เร่งรายได้เพิ่มงบกลางปี
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/927712
 
 
ครม.เคาะกรอบงบประมาณปี 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท เป็นงบประมาณแบบขาดดุลพุ่ง 7 แสนล้านบาท
 
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (16 มี.ค.) เห็นชอบกรอบงบประมาณปี 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท เป็นงบประมาณแบบขาดดุล 7 แสนล้านบาท ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้คงงบเยียวยาช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง คนชรา บัตรสวัสดิการ ถึงแม้สัดส่วนจะพุ่งไปถึง 1.5 ล้านล้านบาท
 
นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (16 มี.ค.) เห็นชอบกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ลดลงจากปี 2563  1.85 แสนล้านบาท หรือลดลง 5.6%  โดยงบประมาณในปี 2565 เป็นงบประมาณแบบขาดดุล 7 แสนล้านบาท โดยประมาณการจัดเก็บรายได้ 2.4 แสนล้านบาท บนสมมุติฐานว่าเศรษฐกิจขยายตัว 4-5% 
 
งบประมาณปี 2565 เป็นการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลต่อเนื่องและเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจและการจัดเก็บรายได้ที่ลดลงในช่วงโควิด-19 โดยปี 2563 ขาดดุลงบประมาณ 4.69 แสนล้านบาท และในปี 2564 ขาดดุลงบประมาณ 6.23 แสนล้านบาท 
 
ในปีงบประมาณ 2565 มีคำของบประมาณจากหน่วยงานราชการและหน่วยคำขอรับงบประมาณทั้งสิ้น 5.24 ล้านล้านบาท เป็นงบประมาณประจำ 2.36 ล้านล้านบาท และเป็นงบลงทุน 6.2 แสนล้านบาท 
 
โดยการจัดทำงบประมาณได้รับเอาแนวคิดของนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบาง คนชรา เด็กแรกเกิด คนพิการ รวมถึงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งรวมกันเป็นวงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่งบประมาณในส่วนนี้ไม่ได้ปรับลดลง ส่วนงบประมาณอื่นที่ตัดลดลง เช่น งบประจำ งบประมาณที่ยังไม่จำเป็นเร่งด่วนเพื่อนำมาจัดสรรให้ได้ตามกรอบงบประมาณที่มี
 
นอกจากนี้ปี 2565 ได้ตั้งงบประมาณชำระคืนเงินกู้ทั้งในส่วนของเงินต้นและดอกเบี้ย 1.7-1.8 แสนล้านบาท โดยเป็นการจ่ายในส่วนของเงินต้น 1 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2564 กว่า 1,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.01% คิดเป็นสัดส่วน 3.22% ของวงเงินงบประมาณ สูงกว่าเทียบกับปีงบประมาณ 2564 ที่ 3.01% ซึ่งการจ่ายคืนเงินกู้คืนเพื่อรักษาเครดิตประเทศไว้
 
แม้การตั้งงบประมาณในปี 2565 จะลดลงจากปี 2564 เนื่องจากปรับลดลงของการจัดเก็บรายได้ แต่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในที่ประชุม ครม.ว่า กระทรวงการคลังจะพยายามจัดเก็บรายได้ให้ได้มากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งถ้าหากเศรษฐกิจในปี 2565 ฟื้นตัวขึ้นภาครัฐมีการจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นก็จะจัดทำงบกลางปีในปีงบประมาณ 2565 เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศในช่วงเวลานั้นได้ 
 
นายสมหมาย ลักขณานุรักษ์  รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า ในปี 2565 เป็นปีงบประมาณที่ตั้งงบลงทุนไว้ที่ 6.2 แสนล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าการขาดดุลงบประมาณที่ตั้งไว้ 7 แสนล้านบาท ซึ่งเคยเกิดขึ้นใน 2552-2553 ช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งทำให้ต้องวางแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมกรณีงบลงทุนน้อยกว่าขาดดุล
 
โดยให้มีการพิจารณาเพิ่มรายจ่ายลงทุนจากแหล่งเงินลงทุนของประเทศในช่องทางอื่นนอกเหนือจากงบประมาณรายจ่าย ได้แก่ การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) และการลงทุนของหน่วยงาน ในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย รวมทั้งพิจารณา การใช้เงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในการจ้างงานในพื้นที่ชนบท 
 
ส่วนแนวทางการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ที่ปรับปรุงรายละเอียดภายในกรอบวงเงินของแต่ละกระทรวงและหน่วยรับงบประมาณที่ได้รับจัดสรรสำหรับรายการไม่ควรเปลี่ยนแปลงรายการไปจัดสรรให้รายการอื่นเพื่อรักษาสัดส่วนรายจ่ายลงทุน จึงไม่ควรเปลี่ยนแปลงรายจ่ายลงทุนไปเพิ่ม ในรายจ่ายประจำ และไม่ควรเปลี่ยนแปลงงบประมาณในแผนงานบูรณาการหรือแผนงานยุทธศาสตร์ไปเพิ่ม ในแผนงานพื้นฐาน
 

 
สุทิน ยันฝ่ายค้านเดินหน้าโหวตแก้รธน.วาระ 3 เชื่อโหวต-ไม่โหวตเสี่ยงถูกร้องอยู่ดี
https://www.matichon.co.th/politics/news_2627370
 
สุทิน ยันฝ่ายค้านเดินหน้าโหวตแก้รธน.วาระ 3 เชื่อโหวต-ไม่โหวตเสี่ยงถูกร้องอยู่ดี
 
เมื่อเวลา 08.15 น. วันที่ 17 มีนาคม ที่รัฐสภา นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงการลงมติวาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ฝ่ายกฎหมายของสภาฯชี้ว่าไม่ให้โหวตวาระ 3 ว่า จากที่อ่านคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญได้ข้อสรุปว่าไม่มีข้อความใดที่ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า ไม่สามารถจะโหวตวาระ 3 ได้ ถ้าเรามองในมุมดี ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะไม่อยากใช้คำที่รุนแรงหรือคำว่า สามารถกระทำได้ หากย้อนดูคำวินิจฉัยปี 2555 ที่อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งบอกว่า ไม่เคยห้ามแต่เรากลัวเอง
 
ดังนั้น เราต้องนำประสบการณ์หลายครั้งมาประกอบ ยิ่งเมื่อคำวินิจฉัยฉบับสมบูรณ์ออกมาก็ต้องมีการตรวจสอบอีกครั้งว่ามีข้อความใดที่ส่งสัญญาณว่าทำไม่ได้ ซึ่งก็ไม่มี เมื่อเป็นเช่นนั้นเราก็มาพะวงกับมาตรา 256 หากไม่ทำตามอย่างสมบูรณ์จะเป็นเรื่องน่าวิตกมากกว่า เมื่อมาตรา 256 มีวาระ 1 และวาระ 2 แล้วเว้นระยะเวลา 15 วันก็ต้องลงมติ ถ้าเราไม่มีเหตุอันใดที่ต้องปฏิบัติไม่ครบ เป็นเรื่องน่ากังวลมากกว่า ฉะนั้นวันนี้มีการติดตามกันไปต่างๆนานาหลายฝ่าย ทั้งเห็นว่าสามารถโหวตได้
 
นายสุทิน กล่าวต่อว่า ฝ่ายค้านยังยืนหยัดท่าทีเดิม และน้อมรับคำวินิจฉัยของศาลที่ให้เคร่งครัดและระมัดระวังตามมาตรา 256 และยืนยันโหวตวาระ 3 แต่วันนี้ทราบข่าวว่าฝ่ายกฎหมายสภามีความเห็นไม่ควรโหวตนั้น วันนี้จะต้องมีการอธิบายความว่า ถ้าคิดว่าจะต้องผิดฝ่ายกฎหมายก็ต้องผิดด้วย แม้ประธานสภาฯก็ผิดได้ด้วย แม้มีการวินิจฉัยผิด รวมทั้งสมาชิกรัฐสภาก็ผิดได้ด้วย จึงต้องระดมความคิดให้รอบคอบและใช้โอกาสการเริ่มประชุมวันนี้หารือกันทุกแง่มุม แสดงเหตุผลกันเต็มที่ว่าเหตุที่ต้องเดินหน้าได้คืออะไร ทั้งนี้ เชื่อว่าการประชุมวันนี้จะไม่เกิดความวุ่นวาย แต่จะมีความเห็นที่แตกต่างกันอย่างเข้มข้น และคิดว่าในวันนี้ต้องสรุปได้
 
เมื่อถามว่า หากที่ประชุมสรุปและมีมติไม่ให้โหวตวาระ 3 ฝ่ายค้านจะดำเนินการอย่างไรต่อ นายสุทิน กล่าวว่า ถือว่าเป็นมติที่ประชุม หากมติโหวตไม่ได้ จำเป็นที่ฝ่ายค้านจะไม่ได้โหวต แต่ไม่เชื่อว่ามติจะออกมาแบบนั้น เพราะวันนี้ทุกคนมีเหตุมีผล เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญ ถ้าจะใช้เสียงข้างมากลากไป แล้วจะมาอธิบายวันหลังไม่ได้ ทุกคนต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ให้ดี
 
เมื่อถามอีกว่า หากมีการลงมติโหวตวาระ 3 มี ส.ว. เป็นห่วงว่าจะมีคนไปฟ้องร้องสมาชิกที่ร่วมลงมติว่ากระทำผิดศาลรัฐธรรมนูญ นายสุทิน กล่าวว่า ไม่กังวล หากเราไม่ลงมติวาระ3 ก็จะถูกฝ่ายอื่นร้องเหมือนกัน หรือแม้กระทั่งว่าผ่านวันนี้ไปแล้วจะไปทำประชามติในการจะเริ่มเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เชื่อว่าก็จะมีคนร้องว่าเอาอำนาจอะไรมาทำประชามติก่อนการเขียนรัฐธรรมนูญ มันก็จะร้องกันได้ทุกฝ่าย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่