รับมือ “ปัญหาคอนโด” ที่ทั้งผู้อยู่ และผู้ให้เช่าควรต้องรู้



         คอนโดมิเนียม ถือเป็นอสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่งที่มีการใช้พื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน ผู้คนอยู่อาศัยต่างคนต่างที่มาแถมพื้นฐานการใช้ชีวิตก็แตกต่างกัน เมื่อมาอยู่รวมกันมาก ๆ แน่นอนว่าอาจเกิดปัญหาที่ไม่คาดคิดขึ้นได้ ซึ่งปัญหาที่ว่านี้สามารถเกิดจากหลายสาเหตุ 

อยู่หรือเช่าคอนโดอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาภายหลัง
          สำหรับคนที่อาศัยอยู่ในคอนโดอาจมีเรื่องของการใช้พื้นที่บางจุดร่วมกัน ด้วยพื้นฐานนิสัย การใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน จึงไม่แปลกหากจะเกิดปัญหาของผู้อาศัยคอนโดเกิดขึ้น มาดูกันว่าปัญหาคอนโดที่คุณจะต้องเจอมีอะไร และจะต้องเตรียมตั้งรับสถานการณ์และแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร

ปัญหาคอนโดกับที่จอดรถไม่เพียงพอ 
          ปัญหาคอนโดที่คุณจะต้องเจอ นั่นก็คือที่จอดรถ โดยเฉพาะคอนโดใหม่ด้วยแล้วมักจะมีปัญหาที่จอดรถไม่พอ เพราะบางโครงการเน้นพื้นที่ของห้องพักมากกว่า และการพัฒนาส่วนใหญ่จะอยู่ติดกับสถานีรถไฟฟ้า ทำให้จำนวนที่จอดรถมีไม่เพียงพอ ปัญหาการแย่งที่จอดรถของผู้อาศัยจึงมีตามมา

ปัญหาคอนโดกับน้ำรั่วน้ำซึม 
           น้ำรั่วซึมปัญหาคอนโดปัญหาใหญ่ ไม่ว่าจะเกิดจากการรั่วซึมจากภายนอกเมื่อเกิดฝนตกหรืออาจจะเกิดจากการรั่วซึมภายในระบบ ปัญหารั่วซึมจากงานระบบส่วนใหญ่มักพบในคอนโดเก่า อายุของอาคารค่อนข้างมากแล้ว วัสดุเริ่มมีการเสื่อมสภาพ ข้อต่อตามจุดต่างๆเริ่มชำรุดเสียหาย ทำให้เกิดการรั่วซึมของน้ำได้

ปัญหาคอนโดกับการติด ๆ ดับ ๆ ของสัญญาณโทรศัพท์
           เนื่องจากทางโครงการอาจจะไม่ได้ติดตั้งตัวขยายสัญญาณมาให้ ถ้าหากคุณเจอปัญหาดังกล่าวแนะนำให้แจ้งกับทางนิติบุคคล ในการช่วยติดต่อไปค่ายสัญญาณโทรศัพท์เพื่อเข้ามาติดตั้งเครื่องขยายสัญญาณจุดที่เราเจอปัญหา
 
ปัญหาคอนโดกับการทำงานของลิฟต์โดยสาร
           ต้องพิจารณาสัดส่วนจำนวนลิฟต์ให้เหมาะสมกับจำนวนผู้อยู่อาศัย โดยทั่วไปแล้วอัตราส่วนที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 1 : 100 ความหมายคือ ลิฟต์ 1 ตัวต่อจำนวน 100 ห้องนั่นเอง
 
 
ปัญหาคอนโดกับเพื่อนบ้านไม่น่ารัก
         การได้รับการรบกวนจากห้องข้างๆหรือใกล้เคียง ทั้งการส่งเสียงดัง โหวงเหวกโวยวายในเวลากลางดึก กวาดขยะออกมาบริเวณทางเดิน ไม่เก็บรองเท้าให้เป็นที่เป็นทางอะไรแบบนี้ เป็นต้น อาจจะให้ทางนิติบุคคลซึ่งเป็นคนกลางช่วยไกล่เกลี่ย
 
ปัญหาคอนโดกับกลิ่นบุหรี่
           กลิ่นบุหรี่นั้นอาจลอยขึ้นมาตามท่อระบายน้ำ หรือช่องลมแล้วเข้าสู่ห้องของเราหรือห้องคนอื่นๆ ได้ เพื่อลดการกระทบกระทั่งในการอยู่ร่วมกัน ควรแจ้งให้นิติบุคคลเป็นผู้จัดการและควบคุม ตักเตือนผู้ที่สูบบุหรี่
 
ปัญหาคอนโดกับหนี้ค่าส่วนกลาง 
          ค่าส่วนกลางเป็นสิ่งที่ใช้สำหรับจ่ายให้กับการดูแล บำรุงรักษาทรัพย์สินส่วนกลางของคอนโดมิเนียม ทั้งการจ้างแม่บ้าน จ้างผู้รักษาความปลอดภัยต่างๆ หากผู้อยู่อาศัยมีการค้างชำระค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ก็จะมีผลต่อการขายคอนโดมิเนียมในอนาคตได้
 
ปัญหาคอนโดกับนิติบุคคลไร้ประสิทธิภาพ
           โครงการที่มีนิติบุคคลฯ บริหารไม่ดี ไร้ประสิทธิภาพ ไม่ใส่ใจโครงการนั้นก็จะดูเสื่อมสภาพเร็ว มูลค่าต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นอยากอยู่คอนโดที่มีแต่เพิ่มมูลค่าก็ต้องใส่ใจพิจารณานิติบุคคลของโครงการนั้นอย่างถี่ถ้วน
 
ปัญหาการปล่อยเช่าคอนโดที่ผู้ให้เช่าควรรู้

ปัญหาคอนโดเมื่อโดนเบี้ยวค่าเช่า
          ก่อนให้เช่าควรตรวจสอบผู้เช่าให้ดีว่าสามารถดูแลคอนโดของเราได้หรือไม่ และไม่มีปัญหาการจ่ายเงินค่าเช่า โดยการซักถามประวัติต่าง ๆ อย่างรอบด้าน เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นพิจารณาและตัดสินใจว่าจะให้เช่าดีหรือไม่ 
 
ปัญหาคอนโดเมื่อผู้เช่าทำห้องเสียหาย
           หากผู้เช่าทำห้องพักเกิดความเสียหาย เช่นมีการต่อเติมทั้งที่ไม่ได้รับอนุญาต ทำนอกเหนือในสัญญาเช่า  ผู้ให้เช่าสามารถยกเลิกสัญญาได้ เพราะถือว่าทำผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 553 ระบุว่า ผู้เช่าจำต้องสงวนทรัพย์สินที่เช่านั้นเสมอกับที่วิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง และต้องบำรุงรักษาทั้งทำการซ่อมแซมเล็กน้อยด้วย
 
ปัญหาคอนโดกับการเข้าตรวจห้องพัก
           ก่อนให้เช่าผู้ให้เช่าควรระบุในสัญญาเช่าให้ชัดเจนว่า ผู้ให้เช่าหรือตัวแทนของผู้ให้เช่า จะเข้าตรวจดูทรัพย์สินที่เช่าเป็นครั้งคราว ในเวลาและระยะอันสมควร แต่ถ้าในสัญญาเช่าไม่ได้ระบุไว้ ผู้ให้เช่าก็สามารถตรวจสอบได้เช่นเดียวกัน แต่ในกรณีที่จะเข้าตรวจสอบนั้น ต้องเป็นเวลาที่เหมาะสม
 
ปัญหาคอนโดกับการยกเลิกสัญญาเช่า
           ต้องมีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้เช่าปฏิบัติตามสัญญาภายในกำหนด 30 วันก่อน หากผู้เช่าละเลยไม่ปฏิบัติตาม ผู้ให้เช่าจึงจะบอกเลิกสัญญาได้ กับกรณีที่เกิดที่ขอนแก่นนั้น สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ และต้องสืบสวนหาความจริงต่อไป 
 
ปัญหาคอนโดกับกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค
 ลักษณะของสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นตามกฎหมายกำหนดให้ดำเนินการดังนี้  
 -ทำหลักฐานเป็นหนังสือสัญญาเช่าให้ชัดเจน 
 -ต้องมีข้อความที่ระบุว่าใครเช่าอะไรจากใคร ทรัพย์ที่เช่าคืออะไรเป็น บ้าน ทาวน์เฮ้าส์ อาคารชุด อาคารพาณิชย์ หอพัก แมนชั่น อพาร์ทเม้นต์ หรือที่ดิน เป็นต้น
 -มีระยะเวลายาวนานเท่าไร เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อใดและสิ้นสุดลงเมื่อไร                        
 -ค่าเช่ามีจำนวนกี่บาท    
- กำหนดชำระค่าเช่าเป็นอย่างไรต่อเดือนหรือต่อปี            
-ต้องมีการลงนามระหว่างผู้เช่ากับผู้ให้เช่า รวมไปถึงเงื่อนไขอื่นๆ ระหว่างผู้เช่าและผู้ให้เช่า เช่น การต่อสัญญาเช่า การยกเลิกสัญญาเช่า การปรับราคาเช่า รวมถึงการดำเนินการกรณีผู้เช่าไม่จ่ายค่าเช่าเป็นต้น โดยรูปแบบของสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นกฎหมายกำหนดว่าต้องทำหนังสือ มิฉะนั้นแล้วจะไม่สามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้

           หากผู้อยู่อาศัยเข้าใจถึงการอยู่ร่วมกับคนอื่น มีความเห็นอกเห็นใจกันการอยู่อาศัยในคอนโดก็เหมือนสังคมหนึ่งที่ต้องอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ มีการใช้พื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน ไม่ว่าการเข้ามาอยู่ในสังคมนั้นจะอยู่ในฐานะของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าก็ตาม การอยู่ภายใต้กฎระเบียบของสังคม ไม่สร้างความเดือนร้อนแก่ผู้อื่น แค่นี้ก็จะไม่มีการร้องเรียนปัญหาคอนโดอีกต่อไป

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ : รับมือ “ปัญหาคอนโด” ที่ทั้งผู้อยู่ และผู้ให้เช่าควรต้องรู้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่