JJNY : วงเสวนาเกษตรใต้พบเอื้อนายทุน│‘เป๋าตัง’ล่มอีก│'อนุดิษฐ์'ย้อนอดีต น้ำมันปาล์มขาดตลาด│‘วิโรจน์’ลั่นปีนี้ไม่มียกเว้น

วงเสวนาเกษตรใต้ชี้มีคนเกือบ 90% เข้าไม่ถึงสิทธิที่ดินทำกิน พบเอื้อนายทุน – ต่างชาติหาประโยชน์เช่าที่ดินอื้อ
https://prachatai.com/journal/2021/02/91639
 
 
สหพันธ์เกษตรภาคใต้ จัดเสวนา ชี้มีคนเกือบ 90% ทั้งประเทศ เข้าไม่ถึงสิทธิที่ดินทำกิน พบเอื้อ นายทุน – ต่างชาติหาประโยชน์เช่าที่ดินอื้อ  ระบุเมื่อต่อสู้เพื่อโฉนดชุมชนกลับถูกลอบสังหาร-ดำเนินคดี จี้ภาครัฐจัดสรรเงินกองทุนกระทรวงยุติธรรม ช่วยเหลือการประกันตัวอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่ตั้งธงคนร้องทำผิดกฎหมาย เนื่องจากศาลยังไม่ตัดสิน ขณะที่ธนาคารที่ดินควรพัฒนาให้ดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อช่วยการกระจายการถือครองที่ดินอย่างยั่งยืน
  
ทีมสื่อ สหพันธ์เกษตรภาคใต้ (สกต.) รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่ชุมชนน้ำแดงพัฒนา สมาชิกสหพันธ์เกษตรภาคใต้ (สกต.) จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ  "ความสำเร็จ ความเจ็บปวด 13 ปี บนเส้นทางการต่อสู้ของ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ - สกต.  เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านที่ดิน" โดยมีสมาชิกของสกต. เข้าร่วมเป็นวิทยากรในการเสวนา ดำเนินรายการโดย ปรานม สมวงศ์ จาก Protection International ที่ทำงานกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
 
เผยคนไทย 90 เปอร์เซ็นต์เข้าไม่ถึงสิทธิที่ดินทำกิน
 
ธีรเนตร ไชยสุวรรณ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและกรรมการบริหารสของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ หรือ สกต. และ กรรมการแก้ไขปัญหากรณีพีมูฟของสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำด้านที่ดินในประเทศไทยว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนร่างขึ้นนั้นทำให้เราได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ทำให้เราได้ตรวจสอบพื้นที่ต่าง ๆ และต่อมาในปี พ.ศ. 2546 ก็ได้มีการตรวจสอบอย่างเป็นระบบมากขึ้น ซึ่งพี่น้องเกษตรกรที่ไม่มีพื้นที่ทำกินก็ได้มาตรวจสอบพื้นที่ในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพราะมีพื้นที่สวนปาล์มที่หมดสัญญาแล้วนายทุนยังใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง บางแปลงก็ใช้แบบผิดกฎหมาย จึงกลับมาคิดว่ามันมีพื้นที่เหล่านี้ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีดังนั้นในพื้นที่อื่นๆก็น่าจะมีด้วย
 
กรรมการแก้ไขปัญหากรณีพีมูฟของสำนักนายกฯกล่าวเพิ่มเติมว่า พอได้ศึกษาเรื่องนี้ก็ได้เห็นข้อมูลว่าลักษณะการเข้าไม่ถึงที่ดินของเกษตรกรไทยมันกลับมีมากกว่าที่เราคิด  เราเห็นข้อมูลการเข้าไม่ถึงที่ดินในส่วนของภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคตะวันออก ที่เป็นการเช่าพื้นที่นาที่มีมาก และทำให้เราเห็นตัวเลขว่าคนที่เข้าไม่ถึงที่ดินจริงๆมีมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของคนในประเทศนี้เลย และส่วน 10 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ก็เป็นคนส่วนน้อยของประเทศ ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่เราเรียกว่ากระดูกสันหลังของชาติที่เป็นเกษตรกรกลับไม่มีที่ดินในมืออยู่เลย เราเลยคิดว่ามันน่าจะมีกระบวนการที่ทำให้คนเหล่านี้สามารถเข้าถึงที่ดินได้
 
ธีรเนตรกล่าวอีกว่า พอได้เข้ามาผลักดันทางนโยบายก็ได้เห็นความห่างในการใช้พื้นที่ในการเข้าถึงพื้นที่ยิ่งตอกย้ำและเห็นได้ชัดเจนเมื่อปี พ.ศ. 2557 ที่ได้มีการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐบาล คสช. ได้รวบรวมที่ดินประมาณ 3 ล้านไร่เพื่อที่จะให้นายทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเช่าที่ดินระยะยาว 99 ปี และเป็นมรดกให้ลูกหลานต่ออายุได้อีก มันยิ่งทำให้เราเห็นความเหลื่อมล้ำความห่างที่ว่าคนจนจะได้เข้าถึงที่ดินยากมาก แต่พื้นที่ที่กระทรวงเกษตรจะจัดสรรให้กับเกษตรกรแค่ 3 หมื่นไร่ และในปัจจุบันยังจัดสรรให้กับเกษตรไม่ถึง 3 หมื่นไร่เลยด้วยซ้ำ ในส่วนนี้ตอกย้ำการเข้าไม่ถึงที่ดินของเกษตรกรเข้าไปอีก เราก็เลยต้องร่วมกันผลักดันทางนโยบายและร่วมกันแก้ปัญหา หรือแก้กฎหมายต่างๆ ในหลายๆข้อ ซึ่งในส่วนนี้เราก็พยายามผลักดันกันอยู่
 
ชูโมเดลพืชอาหารชุมชนสู้โควิด
 
สรารัตน์ เรืองศรี ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและกรรมการฝ่ายสตรีของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ( สกต.)และกล่าวถึงโมเดลการต่อสู้ของสกต.สร้างมั่นคงทางด้านอาหารอยู่รอดอย่างไรในสถานการณ์โควิดว่า การจัดการที่ดินแบบสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้หรือการจัดการที่ดินแบบสิทธิร่วมในรูปแบบโฉนดชุมชนและจดทำเบียนเป็นสหกรณ์ของเรามี 5 ชุมชนและมีการแบ่งประเภทการทำประโยชน์ออกเป็น 6 ประเภทคือที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำการเกษตร พื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ พื้นที่ปลูกพืชอาหารของชุมชน พื้นที่ปศุสัตว์และมีพื้นที่สาธารณะประโยชน์ที่คนในชุมชนสามารถใช้ได้ร่วมกัน ชุมชนเรามีรูปแบบการจัดการโดยมีคณะกรรมการบริหารตามสภาพของชุมชนนั้นๆ เราได้กำหนดรูปแบบทางการผลิตเอง มุ่งหวังให้ชุมชนมีพื้นที่การเกษตรอย่างยั่งยืน เน้นความมั่นคงทางด้านอาหารและมีการตั้งกลุ่มต่างๆ เช่นกลุ่ม ปลูกข้าว ปลูกผัก ปลูกพืชสมุนไพรและเลี้ยงสัตว์ ที่ดินทำหน้าเป็นปัจจัยการผลิตของเกษตรกร ให้มีอาหารปลอดภัยและพอเพียงในการดำรงชีวิตลดการพึ่งพาอาหารจากภายนอก และชุมชนได้แปรรูปผลิตผลที่เหลือจากการบริโภคขายเพื่อเพิ่มรายได้ และมีการสำรองอาหารเพื่อใช้หมุนเวียนในการดำรงชีพต่อไป และเรามีการเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าว พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์และมีการถนอมอาหารแปรรูปอาหารและมี ซึ่งการเข้าถึงที่ดินและการมีความมั่นคงทางด้านอาหารทำให้พวกเรา สกต.อยู่ได้โดยมีบ้านเป็นของตนเองเราไม่ต้องเช่าบ้าน ทำให้เราสามารถอยู่ได้ในสถานการณ์โควิด เรามีที่ดินเราสามารถปลูกพืชกินเองโดยที่เราไม่ต้องออกไปเสี่ยงกับโรคภัยข้างนอก
 
กรรมการฝ่ายสตรีของสกต. ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบการจัดสรรที่ดินของ สกต. ด้วยว่า การจัดการที่ดินของ สกต.เราเป็นรูปแบบโฉนดชุมชนร่วม คือ ชุมชนสามารถมีสิทธิร่วมในการบริหารจัดการ และสิทธิในการทำกินจะตกทอดไปที่ลูกหลาน แต่ไม่สามารถขายที่ดินเหล่านี้ได้ แตกต่างจากการจัดสรรที่ดินแบบปัจเจก  และรูปแบบการจัดสรรที่ดินของเราแตกต่างจากของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ที่มีนโยบายการจัดที่ดิน 5 บวก 1  คือ ที่ทำกิน 5 ไร่ที่อยู่อาศัย 1 ไร่ แต่ของเราเป็นการจัดสรรที่ดิน 10 บวก 1 คือ ที่ทำกิน 10ไร่และที่อยู่อาศัย 1 ไร่ ซึ่งเราได้พยายามเสนอกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและพยายามไปอธิบายกับหน่วยงานต่างๆ ให้ได้เข้าใจว่าที่ดิน 5 บวก 1  มันไม่พอเพราะฐานคิดที่หนึ่งถ้าจะมีข้อเปรียบเทียบในแนวคิดขณะนั้นตามที่พวกเราผลักดันอยู่คือเศรษฐกิจพอเพียง ตรงนี้ถ้าพูดตามหลักสากลในประเทศไทยขณะนั้นแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงฐานของแต่ละคนคือต้องมีที่ 15 ไร่ที่มากกว่า 5 บวก 1 หรือ 10 บวก 1 ที่เราทำเสียอีก
 
พื้นที่ที่เราคิดว่าไม่น่าจะมากคือ 10 บวก 1 เราก็น่าจะอยู่กันได้ แต่พอมีการประกาศนโยบายของ คทช.และมีการบังคับใช้นโยบาย 5 บวก 1 ก็มีผลกระทบกับเราเพราะเราพยายามจัดสรรการใช้พื้นที่ ให้กับพี่น้องได้ใช้ประโยชน์ในลักษณะ 10 บวก 1 ซึ่งพี่น้องก็ปลูกพืชผักกันตามลักษณะภูมิประเทศ โดยการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 6 ประเภท และพื้นที่ไหนที่เหมาะสมกับการก่อตั้งเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยเราก็ก่อตั้งเป็นที่อยู่อาศัย และที่สาธารณะประโยชน์ถนนศาลาประชุมต่างๆ ก็ว่ากันไป และต่อมาคือพื้นที่ปลูกพืชอาหารเราก็จะกันไว้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำหรือพ้นที่ที่ใกล้กับแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ต่อมาก็เป็นพื้นที่เศรษฐกิจของแต่ละคน 10 ไร่ ซึ่งในแต่ละพื้นที่เราก็มีแนวเขตของแต่ละคนอย่างชัดเจนเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคตว่าลูกหลานจะมาแล้วไม่รู้ว่า พื้นที่ของตนเองอยู่จากแนวไหนเรามีการปักแนวเขตที่ชัดเจนเพื่อให้แต่ละคนได้รับทราบพิกัดของตัวเองอย่างชัดเจน เพื่อทำให้ไม่เป็นปัญหาในอนาคตในการจัดแบ่งพื้นที่ของเรา  ดังนั้นนโยบาย 5 บวก 1ของ คทช.มันทำให้เรามีพื้นที่ไม่พอกิน สุดท้ายพอมีผลกระทบทางด้านโควิดลูกหลานที่ตกงานก็ต้องกลับมาอยู่ที่บ้านก็ต้องใช้พื้นที่เหล่านี้อีกเหมือนกัน” สรารัตน์ ระบุ
 
จี้กองทุนยุติธรรม ช่วยเหลือนักต่อสู้อย่างจริงใจ
 
นิยม สารคะณา ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ หรือ สกต. และอนุกรรมการของกระทรวงยุติธรรมบอกเล่าการถูกคุกคามและความเจ็บปวดบนเส้นทางการต่อสู้ของสกต. โดยกล่าวว่า ตลอด 13 ปีที่ต่อสู้มา สกต.ไม่เคยมองเห็นดอกกุหลาบ มีขวากหนามที่พบเจอมา  ถูกข่มขู่ให้ออกจากพื้นที่   รวมทั้งมีการถูกลอบสังหาร จนสังเวยนักต่อสู้ไป  4 ศพ ไม่เท่านั้นยังถูกดำเนินคดีถูกกล่าวหาทำให้เสียทรัพย์ กรณีทำลายต้นปาล์มของนายทุน  รวมทั้งข้อหา ซ่องโจร ศาลก็ยกฟ้องไป ล่าสุดมีการดำเนินคดีกับชาวบ้านไทรทอง  จะถูกตัดสินในชั้นฎีกาวันที่ 3 มี.ค.นี้ กรณีข้อหาบุกรุกป่า อยากให้รัฐเล็งเห็นปัญหาสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่พึงมีพึงได้เพื่อความเหลื่อมล้ำ
 
อย่างเรื่องกองทุนยุติธรรม ที่มีการเข้าถึงนั้นเกิดจากการผลักดันของภาคประชาชน ที่เมื่อถูกดำเนินคดีแต่ไม่มีเงินประกันตัว โดยกำหนดวงเงินไม่เกิน 5 แสนบาท ตรงนี้ก็เกิดปัญหา เพราะชาวบ้านที่ส่วนใหญ่ยากจนไม่มีเงินที่จะไปประกันตัว กรณีนี้ทางเรายื่นเรื่องไปที่ยุติธรรมจังหวัด 3 ครั้งแต่ก็ไม่มีการอนุมัติ โดยให้เหตุผลว่า เราเป็นผู้กระทำผิด เพราะว่าการที่จะอนุมัติเงินกองทุนได้ จะต้องผ่านพนักงานไต่สวนคดีถึงจะอนุมัติ ทั้งที่ในหลักความเป็นจริงผู้ที่ถูกดำเนินคดี หรือผู้ที่ถูกกล่าวหา จะต้องทำการพิสูจน์ว่า ตัวเองบริสุทธิ์หรือไม่ ต้องรอให้ศาลตัดสินก่อน แต่กองทุนยุติธรรมบอกว่าถือว่าเป็นคนกระทำความผิด จาการมายึดที่ดินของหลวง ปัญหากองทุนยุติธรรม ในหลายกรณี คณะกรรมการพิจารณากองทุน ทำตัวเป็นศาลเสียเอง เพราะบอกว่าคนที่มาขอเงินกองทุนกระทำความผิดเสียเอง ทั้งที่การช่วยเหลือควรเป็นการสนับสนุนผู้ถูกกล่าวหาในการใช้สิทธิ์ อย่างเป็นธรรมนิยม กล่าว
 
จี้ธนาคารที่ดินเร่งซื้อที่ดินหวั่นนายทุนยิ้ม-ชาวบ้านติดคุก
 
อัศนีย์ รอดผล ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ หรือ สกต. และอนุกรรมการกระทรวงมหาดไทยบอกเล่าความสำเร็จและก้าวต่อไปของการผลักดันเรื่องธนาคารที่ดิน กล่าวว่า อีกหนึ่งนโยบายภาครัฐที่เหมือนจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน  คือ การที่มีสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน)สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เข้ามาดำเนินการช่วยเหลือ ชาวบ้านที่ไม่มีที่ดินทำกิน  สถาบันนี้ภาคประชาชนทำการผลักดันให้มีขึ้นตั้งแต่ปี 2554 เพื่อมุ่งหวังให้ผู้ยากไร้คนยากจน เข้าถึงการใช้ที่ดิน  ที่เป็นในส่วนของ สปก.และที่ดินเอกชนที่ถูกปล่อยให้ทิ้งร้าง เบื้องต้นอาจดูเหมือนเป็นการช่วยเหลือ แต่เมื่อมองให้ลึกแล้ว กลับไม่เป็นเช่นนั้น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อศาลตัดสินให้ ผู้ยากไร้เข้าถึงการใช้ที่ดินชนะคดี แต่ต้องใช้เงินซื้อ หากไม่มีเงินในการซื้อ ที่ดินในส่วนนี้ก็จะตกอยู่ในมือของนายทุน เช่นเดิมอีก ฉะนั้น การที่สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินขึ้นมา ในส่วนของการเรียกร้องของสกต.จนได้มาซึ่งเอกสารสิทธิ์ ก็มีที่ชุมชนน้ำแดง ขณะนี้ได้ทำสัญญาซื้อไปจำนวน  69 ไร่ เมื่อวันที่ 29 มกราคมปี 2564ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นเวลาที่ยาวนานมาก แต่ตรงนี้คือก้าวแรก
 
แต่ก้าวต่อไป ก็ยังต้องเรียกร้อง ให้สถาบันการบริการจัดการธนาคารที่ดิน ได้ซื้อที่ดินผืนที่อยู่ในการครอบครองของบริษัทนายทุน  เพราะมีทั้งหมดกว่า 100 ไร่ ที่ชุมชนเราอยู่ อยากให้มีการดำเนินการเร่งด่วนด้วย เพราะว่าบ้านน้ำแดงของเราอยู่ด้วยกันเป็นชุมชน
 
การเรียกร้องในส่วนนี้เราเรียกร้องโดยใช้ระยะเวลาร่วม10 ปี กว่าที่จะได้เซ็นสัญญากับ สถาบันบริหารการจัดการธนาคารที่ดิน  จริงๆการเรียกร้องถ้ามีการตอบสนองที่รวดเร็วกว่านี้คิดว่าสมาชิกในชุมชนน้ำแดงเองก็ไม่ต้องติดคุกนับ 10 คน ตรงนี้ นโยบายเหมือนจะดี แต่ที่สุดแล้วการปฏิบัติก็เกิดเป็นความล่าช้า เห็นว่าจะมีการเปลี่ยนชื่อ จากสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน เป็นสถาบันบริการจัดที่ดินและกระจายการถือครองที่ดิน อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ชื่อเหมือนจะดีก็หวังว่าถ้าจะเปลี่ยนชื่อแล้วก็ควรรีบเปลี่ยนจะได้ทำเรื่องต่างๆให้เกิดขึ้นจริงให้ตรงเป้าประสงค์ตามชื่อที่เปลี่ยนใหม่” อัศนีย์ กล่าว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่