ด้านมืดของคนเรา "กรรมพันธุ์" หรือ "ผลจากการเลี้ยงดู"

ขอยกตัวอย่างบทความ

#เมื่อเด็กคนหนึ่งถูกผู้ใหญ่ทำร้าย

สังคมไทยมีข่าวคราวเรื่องที่ผู้ใหญ่ทำร้ายเด็กบ่อยครั้งขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อวานก็มีข่าวคลิปคุณครูที่ทำร้ายเด็ก โดยเหมือนไม่พอใจที่เด็กวาดรูปแล้วฉีกกระดาษ มีการทำความรุนแรงทางร่างกายด้วย ภาพที่เห็นรุนแรงพอสมควร และน่าสลดใจ

ไม่เพียงแต่คุณครู เมื่อไม่กี่เดือนก่อน ก็เคยมีข่าวแม่ทำร้ายลูกฝาแฝด และมีเพื่อนบ้านแอบถ่ายคลิปเอาไว้ เพราะทนเห็นเด็กถูกทำร้ายซ้ำๆไม่ได้



เรื่องที่ผู้ใหญ่ทำร้ายเด็ก โดยเฉพาะเป็นคนที่ใกล้ชิดเกิดขึ้นบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ ญาติที่ใกล้ชิด หรือคุณครู

เท่าที่เคยสัมผัส ผู้ใหญ่บางคนให้เหตุผลว่าที่ทำโทษเพราะเป็นการอบรมสั่งสอนให้เด็กรู้ถูกผิด บางคนบอกว่าที่ลงโทษไปเพราะอารมณ์ ควบคุมความโกรธไม่ได้

จริงๆแล้วการใช้ความรุนแรงในการทำโทษเด็ก ถือเป็นการทารุณกรรมเด็ก หรือ Child abuse อย่างหนึ่ง

ไม่ว่าจะเป็น การตีเด็กรุนแรง บ่อยครั้ง การใช้คำพูดรุนแรง ประชดประชัน ตีตรา การกระทำที่สร้างความกลัวทำให้เด็กรู้สึกไม่มั่นคงและปลอดภัยทางจิตใจ การทอดทิ้งทางร่างกายและอารมณ์ความรู้สึก การที่เด็กต้องอยู่ในบ้านที่ทะเลาะเบาะแว้งใช้ความรุนแรง การถูกล่วงละเมิดทางเพศ

สิ่งต่างๆเหล่านี้สร้างผลกระทบ กลายเป็นบาดแผลทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นด้วยตา

ประสบการณ์ความทรงจำที่ทำร้ายร่างกายและจิตใจในวัยเด็ก หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Adverse childhood experiences (ACE) ที่รุนแรงและเกิดในเวลานานต่อเนื่อง จะทำให้เกิด Toxic stress response คือ ปฏิกิริยาที่ตอบสนองต่อความเครียด ซึ่งจะส่งผลถึงการใช้ชีวิตต่อมาจนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ทำให้มีผลกระทบทั้งในเรื่องของสุขภาพกายและใจ

พบว่าเด็กที่มีประสบการณ์ร้ายๆในวัยเด็กเล็ก จะมีปัญหาการเรียนรู้ ความจำไม่ดี มีปัญหาการเรียน (เพราะความเครียดส่งผลต่อการเจริญพัฒนาของเซลล์ประสาท)

เด็กจะเติบโตมาเป็นคนที่มีแนวโน้มไม่พึงพอใจกับชีวิต เป็นคนที่ทุกข์ง่าย มีความเครียดสูง มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ มีความอดทนต่ำเมื่อเผชิญกับความเครียดหรืออุปสรรค

อาจจะแสดงออกด้วยความก้าวร้าว ต่อต้าน ทำผิดกฎระเบียบ หรือวิตกกังวล ซึมเศร้า บางคนใช้ยาเสพติดเพื่อบรรเทาความทุกข์ในใจ

และหลายคนเมื่อเป็นผู้ใหญ่ที่มีลูกหลาน พบว่ามักลงโทษลูกหลานด้วยความรุนแรงแบบที่ตัวเองเคยได้รับมา

นอกจากผลกระทบทางจิตใจ พบว่าผู้ใหญ่ที่มีอาการเจ็บป่วยต่างๆทางร่างกายตามมา เช่น โรคหัวใจ โรคตับ โรคปอด โรคความดันโลหิตสูง เมื่อซักประวัติไปในอดีตพบว่าคนไข้มักมีประวัติที่มีประสบการณ์ร้ายๆในวัยเด็ก และเรื่องราวนั้นยังเป็นแผลเป็นร้าวลึกในใจมาจนปัจจุบัน

คงคล้ายๆกับเมื่อจิตใจเจ็บป่วย ร่างกายก็จะมีผลกระทบตามมา กายและใจเกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ได้

และพบว่าคนเหล่านี้ที่มีประสบการณ์ร้ายๆในวัยเด็ก ก็มักจะมีอายุขัยที่สั้นกว่าคนทั่วไป

.

ในกรณีที่เด็กถูกทำร้ายไปแล้วจะแก้ไขอย่างไรบ้าง เพื่อบรรเทาผลกระทบจากบาดแผล

ตรงนี้ไม่ง่ายแต่ใช่ว่าจะทำไม่ได้

จุดแรก หากผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิด เช่น พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ สามารถปกป้องเด็กจากเรื่องเลวร้าย หรือ อย่างน้อยก็อย่าเป็นคนที่สร้างบาดแผลทางใจให้กับเด็กเสียเอง ก็คงจะดี และปกป้องเด็กในความดูแลให้ดำรงชีวิตด้วยความปลอดภัยทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ให้ถูกทำร้ายซ้ำซาก

สอง พ่อแม่และคุณครูที่ทำหน้าที่ดูแลเด็กๆควรมีวิธีจัดการกับอารมณ์และความเครียดของตัวเอง

ถ้าจัดการด้วยตัวเองไม่ได้จริงๆ การหาตัวช่วย เช่น การไปพบผู้เชี่ยวชาญอย่างจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา เพื่อการดูช่วยเหลือที่เฉพาะเจาะจงก็อาจจะทำให้อะไรๆดีขึ้นไม่มากก็น้อย

ดีกว่าเอาความเครียดของตัวเองไปลงที่เด็กที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่

สุดท้าย หากเด็กที่ถูกทำร้ายมีผลกระทบทางจิตใจที่ตามมาเช่นภาวะเครียดภายหลังจากเหตุการณ์ ซึ่งจะแสดงออกด้วยปัญหาอารมณ์และพฤติกรรมต่างๆควรจะให้เด็กได้รับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญพาไปพบจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

และหากเราเป็นคนที่พบเห็นเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เห็นผู้ใหญ่ที่ทำร้ายเด็ก ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ สามารถโทรแจ้งหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแล เช่น มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก 0-2412-0739

#หมอมินบานเย็น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่