หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท ระวัง!อาจนำไปสู่อัมพาตโดยไม่รู้ตัว, ประคบร้อน-เย็น ใช้แบบไหนให้ถูกอาการ

หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท ระวัง!อาจนำไปสู่อัมพาตโดยไม่รู้ตัว

แค่ปวดคอ ปวดหลังอย่าเพิ่งละเลย.. "หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท" ระวังอันตรายที่ซ่อนอยู่ จนอาจนำไปสู่อัมพาตโดยไม่รู้ตัว!
ในยุคที่การทำงานของคนเมืองแต่ละวันนั้นแสนจะวุ่นวาย หลายๆคนนั่งทำงานทั้งวันแทบไม่ได้ลุกจากเก้าอี้ จนมีอาการปวดหลังตามมา จนอาจจะนำไปสู่ “หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท” ที่มีความอันตรายมากโดยไม่รู้ตัว!

โดยในวันนี้ ผศ.นพ.ปิลันธน์ ใจปัญญาศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังและการผ่าตัดส่องกล้อง ศูนย์กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ โรงพยาบาลนวเวช เผยผ่าน Healthy Clean ว่า อาการปวดหลังหรือปวดคอ อาจดูเหมือนเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน แต่รู้หรือไม่ว่าอาการเหล่านี้อาจซ่อนภัยร้ายที่หลายคนมองข้าม เช่น “ภาวะหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท” ซึ่งหากปล่อยไว้โดยไม่รักษา อาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เป็นอัมพาตได้


หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทคืออะไร?
หมอนรองกระดูกเป็นแผ่นเนื้อเยื่อที่อยู่ระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อ มีหน้าที่ดูดซับแรงกระแทกและช่วยให้กระดูกเคลื่อนไหวได้อย่างยืดหยุ่น แต่เมื่อหมอนรองกระดูกเคลื่อนตัวหรือเสื่อมสภาพจนปลิ้นออกไปกดทับเส้นประสาท ก็จะทำให้เกิดอาการปวด ชา หรืออ่อนแรงในบริเวณแขน ขา หรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของการกดทับ

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดภาวะหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท
-อายุที่เพิ่มขึ้น: หมอนรองกระดูกสูญเสียความยืดหยุ่นและเสื่อมลงตามวัย
-น้ำหนักเกินมาตรฐาน: ทำให้กระดูกสันหลังต้องรับภาระมากขึ้น
-ท่าทางในการใช้งานร่างกายไม่ถูกต้อง: เช่น ก้มเงยนาน ๆ หรือยกของหนักผิดวิธี
-สูบบุหรี่: ลดการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงหมอนรองกระดูก ทำให้เสื่อมเร็วขึ้น
-กรรมพันธุ์: หากคนในครอบครัวมีประวัติโรคนี้ ความเสี่ยงก็จะสูงขึ้นตาม

อาการที่ควรสังเกต
-ปวดคอหรือปวดหลังเรื้อรัง ไม่ทุเลาแม้พักผ่อน
-ปวดร้าวลงแขนหรือขา อาจมีอาการชา
-กล้ามเนื้ออ่อนแรง ขยับมือหรือเท้าไม่สะดวก
-ในรายที่รุนแรง อาจมีปัญหาเรื่องการควบคุมปัสสาวะหรืออุจจาระ


แนวทางการวินิจฉัยและการรักษาหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท
การวินิจฉัย
-ซักประวัติและตรวจร่างกาย
-การเอกซเรย์ เพื่อดูแนวกระดูกและความผิดปกติ
-การตรวจ MRI ช่วยให้เห็นภาพเส้นประสาทและหมอนรองกระดูกได้ละเอียด
การรักษา (ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ)
-ระยะเริ่มต้น: ปรับพฤติกรรม หลีกเลี่ยงท่าทางที่กระตุ้นอาการ
-ระยะปานกลาง: ใช้ยาแก้ปวด ยาต้านการอักเสบ พร้อมทำกายภาพบำบัด
-ระยะรุนแรง: อาจต้องฉีดยาลดการอักเสบเฉพาะจุด หรือพิจารณาผ่าตัดในกรณีที่อาการรบกวนการใช้ชีวิต

การดูแลและป้องกันไม่ให้เกิดหรือกลับมาเป็นซ้ำ
-จัดท่าทางในการนั่ง ทำงาน และยกของให้ถูกหลัก
-หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้ก้มคอนาน ๆ เช่น การเล่นมือถือ
-ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม สม่ำเสมอ โดยเน้นกล้ามเนื้อหลังและแกนกลางลำตัว
-ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
-งดสูบบุหรี่

“แม้ว่าอาการจะดูเล็กน้อยในตอนเริ่มต้น แต่หากละเลยการดูแล อาจนำไปสู่ผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในระยะยาวได้ หากคุณสงสัยว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวอาจมีภาวะนี้ ควรรีบเข้ารับการตรวจจากแพทย์เฉพาะทาง เพื่อประเมินอาการและเริ่มการรักษาอย่างเหมาะสมโดยเร็วที่สุดครับ” ผศ.นพ.ปิลันธน์ กล่าวทิ้งท้าย.....

สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.dailynews.co.th/articles/4712454/


ประคบร้อน-เย็น ใช้แบบไหนให้ถูกอาการ

การประคบเย็นและร้อนเป็นวิธีปฐมพยาบาลเมื่อเกิดแผลฟกช้ำ ปวด บวม แดง แต่หากเลือกวิธีประคบผิด อาจยิ่งทำให้ปวดบวมเพิ่มขึ้น
การประคบเย็นและร้อนเป็นการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพื่อช่วยลดอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นบนร่างกายของเราได้ แต่หลายๆคนมักสับสนว่าอาการเจ็บปวดแบบไหนที่ต้องใช้การประคบเย็น หรือแบบไหนต้องประคบร้อน

“ฝ่ายเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย” มีเกร็ดความรู้ในเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังให้จำขึ้นใจ ว่า การประคบเย็นและร้อนเป็นวิธีปฐมพยาบาลที่ได้ผลดี เมื่อเกิดแผลฟกช้ำ ปวด บวม แดง แต่หากเลือกวิธีประคบผิด อาจยิ่งทำให้บาดแผลอักเสบหรือปวดบวมเพิ่มขึ้น

การประคบเย็น

ใช้กับการบาดเจ็บเฉียบพลัน คือ หลังได้รับบาดเจ็บ 24-48 ชั่วโมงแรก

ข้อดี

– ทำให้เส้นเลือดในจุดที่ประคบหดตัวลง

– ลดอาการปวดและอักเสบ

– ลดอาการเจ็บปวด


อุปกรณ์ : เจลเย็น ถุงใส่น้ำแข็ง หรือผ้าขนหนูชุบน้ำเย็น

ใช้เวลาประคบ 10-15 นาที วันละ 2-3 ครั้ง ขณะประคบต้องรู้สึกเย็นสบาย

การประคบร้อน

ใช้กับการบาดเจ็บเรื้อรัง ซึ่งเป็นช่วงที่อาการบวม แดง ร้อน เริ่มลดลงมากแล้ว

ข้อดี

– กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นยืดหยุ่นขึ้น

– เลือดไหลเวียนดีขึ้น

– กระตุ้นซ่อมแซมกล้ามเนื้อ


อุปกรณ์ : เจลร้อน กระเป๋าน้ำร้อน แผ่นประคบไฟฟ้า หรือผ้าขนหนูชุบน้ำร้อน

ใช้เวลาประคบ 15-20 นาที วันละ 2-3 ครั้ง ขณะประคบต้องรู้สึกอุ่นสบาย


ข้อควรระวัง

– ใช้ผ้าห่อหุ้มอุปกรณ์ที่ใช้ประคบ เพื่อไม่ให้ความเย็นและร้อนสัมผัสผิวโดยตรง

– เลี่ยงการประคบในผู้ป่วยเบาหวานที่มีอาการชา เพราะอาจทำให้บาดแผลพุพองได้

– เลี่ยงบริเวณที่มีบาดแผลเปิด เพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

– ผู้ที่รับประทานยาต้านเกล็ดเลือด ยาละลายลิ่มเลือด หรือมีภาวะเลือดออกง่าย ควรปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลก่อนทำการประคบ....

สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.dailynews.co.th/news/4719414/

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่