JJNY : “เวียดนาม”ส่งออกพุ่ง วิกฤต“ไทย”/สหรัฐฯเพ่งเล็งไทยแทรกแซงค่าเงิน/'โรม'พร้อมคนอยากเลือกตั้งมาศาล/13พื้นที่กทม.PM2.5

“เวียดนาม” ฝ่าโควิดส่งออกพุ่ง สัญญาณวิกฤตความสามารถแข่งขัน “ไทย”
https://www.prachachat.net/economy/news-579658


 
หอการค้าชี้เวียดนามส่งออกแซงไทย 9 เดือนแรกเฉียด 3 หมื่นล้าน หวั่นไทยสูญเสียความสามารถแข่งขันระยะยาว ฝ่าปัจจัยลบบาทแข็ง-ตู้คอนเทนเนอร์ขาด-ไม่มีสิทธิประโยชน์ทางการค้า เตือนอย่าดีใจยอดส่งออกปีหน้าบวก 3.5% จากฐานปี’64 ต่ำ ไม่สะท้อนการส่งออกที่แท้จริง
 
นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากเปรียบเทียบตัวเลขการส่งออกของเวียดนามกับไทยที่ได้รวบรวมตัวเลขย้อนหลัง จะพบว่าเวียดนามส่งออกมากกว่าไทยไปแล้ว โดยปี 2562 ไทยส่งออกได้ 2.46 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่เวียดนามส่งออกได้ 2.64 แสนล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าไทย 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
 
และล่าสุดตัวเลขการส่งออกในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งทุกประเทศต่างได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การส่งออกหดตัว ในส่วนของการส่งออกไทยหดตัว 7.3% มีมูลค่า 1.73 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่เวียดนามกลับส่งออกเพิ่มขึ้น 4.2% มีมูลค่า 2.02 แสนล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าไทยถึง 29,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
 
“การส่งออกไทยอยู่ในภาวะที่น่าห่วงมาก แม้ว่าหลายฝ่ายจะประเมินว่าภาพรวมการส่งออกในปีหน้าจะสามารถพลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวก 3.5-4% ได้ แต่นั่นก็มาจากการเปรียบเทียบกับฐานการส่งออกในปี 2563 ที่ติดลบ 7% หากมองปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายด้านยังคงไม่คลี่คลายจากปีนี้ นอกจากปัญหาโควิดแล้วอัตราแลกเปลี่ยนเวียดนามได้เปรียบไทยค่าบาทแข็งมาก และไทยยังมีปัญหาค่าระวางเรือสูงขึ้น ขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์อีก”
 
นอกจากนี้ ในด้านสิทธิประโยชน์เวียดนามได้มีการทำความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีกับประเทศต่าง ๆ ทั้งกลุ่ม CPTPP และเอฟทีเอสหภาพยุโรป (อียู)-เวียดนาม หรือ EVFTA และล่าสุดการทำความตกลงกับสหราชอาณาจักร (ยูเค) ก่อนที่จะมีการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการแล้ว
 
ทั้งนี้ หากวิเคราะห์ในรายสินค้าหลักที่มีการส่งออกสูงสุด 10 รายการ จะพบว่าสินค้าที่มีเวียดนามอยู่การส่งออกมากที่สุด ได้แก่ โทรศัพท์และโทรศัพท์เคลื่อนที่, คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์, เครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ, เครื่องจักรและอุปกรณ์, รองเท้า ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้, ยานพาหนะและส่วนประกอบ, ปลาและอาหารทะเล, เหล็กและเหล็กกล้า, ผลิตภัณฑ์พลาสติก
 
ขณะที่ไทยส่งออกสินค้าหลัก คือ ยานยนต์และส่วนประกอบ, คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ, ทองคำ, ผลิตภัณฑ์ยาง, ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม, สารเคมี, แผงวงจรไฟฟ้า, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ, เหล็กและเหล็กกล้า (ตามกราฟิก)
 
 
 
“เป็นที่น่าสังเกตว่าสินค้าหลายรายการที่ผลิตและส่งออกคล้ายกัน แต่เวียดนามทำได้ดีมากขึ้น เช่น กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม, รองเท้า, คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ, โทรศัพท์, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ”
 
ก่อนหน้านี้นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า หอการค้าไทยประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 2564 อยู่ที่ 2.8% โดยภาพรวมการส่งออกทั้งปีขยาย 3.5% จากประมาณการค่าเงินบาทเฉลี่ย 30.40 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 44.20 เหรียญต่อบาร์เรล
 
ทั้งยังมีปัจจัยสนับสนุน เช่น การมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ภาคการผลิตและภาคบริการทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวภายหลังจากการคลายล็อกดาวน์ เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ และธนาคารกลางทั่วโลกต่างปรับนโยบายการเงินเป็นแบบผ่อนคลาย
 
ขณะที่ยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัว ความเปราะบางทางการเมือง เงินบาทที่แข็งค่าเร็วกว่าปกติ และมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง ปัจจุบันอยู่ที่ 29.8 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้ง ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน และความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีน
 
“การส่งออกไทยในปีหน้าจะกลับมาดีได้ในช่วงไตรมาส 2 หรือช่วงเดือนเมษายน 2564 จากการคาดการณ์ว่าปัญหาตู้คอนเทนเนอร์จะคลี่คลาย ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 23 ธ.ค. 2563 คาดว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์แล้ว”


 
สหรัฐฯ เพ่งเล็งไทยแทรกแซงค่าเงิน กดดันค่าบาท กรอบวันนี้ 29.90-30.10 บาทต่อดอลลาร์
https://www.matichon.co.th/economy/news_2499830
 
ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ Head of Markets Strategy and Asset Allocator for EASY INVEST บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS)กล่าวว่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ 25 ธันวาคม อยู่ที่ 30.01 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน
 
ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 29.90-30.10 บาทต่อดอลลาร์
 
ในคืนที่ผ่านมาตลาดการเงินกลับเข้าสู่โหมดเปิดรับความเสี่ยง (Risk On) แทบทุกสินทรัพย์ปรับตัวขึ้น จากความหวังว่าจะมีการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นดัชนี S&P 500 ของสหรัฐที่ปิดบวก 0.4% ดัชนี STOXX 600 ของยุโรปที่ปรับตัวสูงขึ้น 0.1% ไปจนถึงราคาน้ำมันดิบ WTI ก็กลับขึ้นมาที่ระดับ 48.30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล พร้อมกับราคาทองคำที่ฟื้นตัวขึ้น 0.6% ไปที่ระดับ 1883 ดอลลาร์ต่อออนซ์
 
ส่วนในตลาดเงิน เป็นดัชนีดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง 0.1% โดยมีเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) แข็งค่าขึ้น 0.3% จากที่สหภาพยุโรป (EU) และสหราชอาณาจักร (UK) สามารถหาข้อตกลงเรื่อง Brexit กันได้ หนุนให้บอนด์ยีลด์เยอรมันและอังกฤษอายุสิบปีต่างปรับตัวขึ้นราว 3-5bps อย่างไรก็ดีบอนด์ยีลด์สหรัฐอายุสิบปี กลับปรับตัวลง 2bps มาที่ 0.92% ชี้ว่านักลงทุนยังมีความระวังตัวสูง
 
ส่วนเงินบาท ช่วงวันที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่าแข็งค่ากลับตามทิศทางของตลาดทุน แม้จะไม่มีแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติ สะท้อนสภาพคล่องในตลาดที่ต่ำเป็นส่วนใหญ่
 
โดยส่วนใหญ่คาดว่าเป็นการเก็งกำไรและการซื้อขายปรับสถานะช่วงสิ้นปีของนักค้าเงินในภูมิภาค ส่วนในวันนี้ คาดว่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าลงต่อ และต้องติดตามระดับทุนสำรองระหว่างประเทศ หลังประเทศไทยเริ่มถูกสหรัฐเพ่งเล็งเรื่องการแทรกแซงค่าเงิน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่