พาณิชย์เผยยอดส่งออก พ.ค.60 โต 13.2% สูงสุดในรอบ 52 เดือน

กระทู้สนทนา
updated: 22 มิ.ย. 2560 เวลา 16:47:54 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์


พาณิชย์เผยยอดส่งออก พ.ค.60 โต 13.2% สูงสุดในรอบ 52 เดือน ส่งผลการส่งออก 5 เดือน ขยายตัว 7.2% สูงสุดในรอบ 6 ปี

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกไทยในเดือนพฤษภาคม 2560 มีมูลค่า 19,944 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 13.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 52 เดือน ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 18.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า 944 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่งผลให้การส่งออกไทยในระยะ 5 เดือนแรกของปี (มกราคม-พฤษภาคม 2560) มีมูลค่า 93,265 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 7.2%  สูงสุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2555 ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 88,211 ล้านเหรียญหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.2% ส่งผลการค้าเกินดุลอยู่ที่ 5,054 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ การค้าที่ขยายตัวเป็นผลมาจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจ และการส่งออกขยายตัวเกือบทุกตลาด ทุกตัวสินค้า โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านปริมาณ และราคา เช่น ยางพารา น้ำตาลทราย ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง  กระป๋องและแปรรูป ไก่สด

ในขณะที่สินค้าในกลุ่มอุตสหกรรมกลับมาขยายตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพการแข่งขั้นของไทยดีขึ้น ปรับตัวรับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกได้ดี

ในกลุ่มสินค้าเกษตกรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 อยู่ที่ 17.6% สินค้าที่ส่งออกได้ดี ได้แก่ ยางพารา อยู่ที่ 44.7% ซึ่งส่งออกไปตลาดจีน มาเลเซีย และญี่ปุ่น ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวอยู่ที่ 36.8% โดยส่งออกไปตลาดเวียดนาม จีน และฮ่องกง ตามการส่งออกทุเรียนที่มีการขยายตัวอยู่ที่ 159.3% น้ำตาล ส่งออกขยายตัวอยู่ที่ 46.5% ส่งออกไปตลาดอินโดนีเซีย ไต้หวัน และกัมพูชา

อย่างไรก็ตาม การส่งออกที่หดตัว เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวอยู่ที่ 14.0% เนื่องจาการชะลอการสั่งซื้อจากจีนเป็นหลัก ขณะที่ราคากลับมาขยายตัวเป็นเดือนแรกก็ตาม นอกจากนี้ กุ้งสดแช่แข็งและกุ้งแปรรูป หดตัว 1.3% จากปัจจัยด้านราคา ขณะที่ปริมาณยังคงขยายตัวเล็กน้อย รวม 5 เดือน การส่งออกในกลุ่มสินค้าเกษตรกรและอุตสาหกรรมเกษตรกร ขยายตัวอยู่ที่ 12.3%

ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวเป็นเดือนที่ 3 อยู่ที่ 12.8% เป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวอยู่ที่ 54% โดยส่งออกไปตลาดจีน สหรัฐ และญี่ปุ่น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัว 8.7% โดยส่งออกไปออสเตรเลีย  ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย แผงจรไฟฟ้า ขยายตัว 30.4% ส่งออกไปฮ่องกง จีน และสหรัฐ

ในขณะที่สินค้าส่งออกที่หดตัว เช่น ทองคำ หดตัว 72.2% เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ส่งออกหดตัว 2.4% และอัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ หดตัว 0.5% เป็นผลจากการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับหดตัวต่อเนื่องและทุกตลาด โดยยังอยู่ระหว่างการหาข้อมูลเหตุที่การส่งออกหดตัว ซึ่งเบื้องต้นอาจจะมีผลจากค่าเงิน รวม 5 เดือนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 6.1%

ขณะที่การส่งออกในทุกตลาดมีการขยายตัวโดยเฉพาะตลาดสำคัญๆ ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ขยายตัวมากกว่า 90% ของตลาดทั้งหมด โดยการส่งออกในตลาดหลัก ขยายตัว 15.2% เช่น การส่งออกไปญี่ปุ่น ขยายตัว 25.7% สหภาพยุโรป ขยายตัว 13.3%  สหรัฐ ขยายตัว 8.8% โดยตลาดที่มีศักยภาพ ขยายตัว 20% สาเหตุมาจากการขยายตัวของตลาดจีน ขยายตัว 28.3% ตลาดอาเซียน (5) ขยายนตัวต่อเนื่องติดต่อเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน อยู่ที่ 14.2% ตลาดเอเชียใต้ ขยายตัว 18% ตลาด CLMV ขยายตัว 14.3% เกาหลีใต้ ขยายตัว 23.5%

ส่วนตลาดศักยภาพรองขยายตัว 6.3% โดยเฉพาะการส่งออกไปตะวันออกกลาง ขยายตัวสูงสุดในรอบ 38 เดือน นับตั้งแต่เมษายน 2557 ขยายตัวอยู่ที่ 11.7% เป็นผลมาจากการส่งออกข้าว ไปในตลาดอิหร่าน อาหารทะเล และโทรศัพท์ และตลาดอื่นๆ ก็ขยายตัวตามลำดับ ทั้งออสเตรเลีย ลาตินอเมริกา กลุ่มประเทศ CIS

"การส่งออกปี 2560 ยังมองว่าเป็นไปในทิศทางที่ดี และแนวโน้มขยายตัว ขณะที่เป้าหมายการส่งออก 5% ยังเป็นเป้าหมายเดิม โดยมีปัจจัยจากสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าดี ขณะที่ราคาน้ำมันคาดอยู่ที่ 50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มีผลต่อให้ราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องดีกว่าปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มราคาน้ำมันดีขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 35.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามที่มีผลต่อการส่งออกไทย นโยบายกีดกันทางการค้า ทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด"

อย่างไรก็ตาม ยังมีความไม่ชัดเจนของการปรับลดวงเงินถือครองทรัพย์สินลงของสหรัฐ นโยบายสหรัฐที่จะเก็บภาษีเหล็ก ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาประกาศ โดยคาดว่าจะออกมาเร็วนี้ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน แม้จะแข็งค่าในช่วงที่ผ่านมาก็ยังไม่มีผลกระทบต่อการส่งออกในเดือน พฤษภาคม เนื่องจากเป็นคำสั่งซ้อล่วงหน้า มองว่ามีผลบ้างในระยะสั้น แต่มองว่าหน่วยงานที่ดูแลสามารถจัดการได้รวมไปถึงความไม่แน่นอนของการค้า การลงทุนโลก แต่ทั้งนี้ ภาพการส่งออกโลกขยายตัวอยู่ที่ 2.8% ขยายตัวเป็นเดือนที่ 6 ยังเป็นปัจจันที่ดีต่อการส่งออกไทย และเพื่อการส่งออกให้ขยายตัว กระทรวงพาณิชย์ พร้อมเร่งผลักดันการส่งออกอย่างเต็มที่เพื่อให้ได้ตามเป้าหมาย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่