คลื่นที่ทุกค่ายรอคอย 5G 3500 คลื่นมาตรฐานโลก |กสทช.คาดเปิดประมูลคลื่น 3500 MHz ใน Q3-Q4 ปี 64 อาจพร้อมกับ 1800Mhz-28 Ghz

กระทู้ข่าว
กสทช.คาดเปิดประมูลคลื่น 3500 MHz ใน Q3-Q4 ปี 64 อาจพร้อมกับ 1800 Mhz-28 Ghz
 
 
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ธ.ค. 63)
นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยถึงแนวทางการดำเนินงานด้านโทรคมนาคมในปี 64 ว่า กสทช.มีจำนวน 4 กลุ่มที่จะดำเนินการได้แก่ 1.ส่งเสริมสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G โดยจะเตรียมความพร้อมประมูลคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิร์ซ (MHz) คาดว่าจะออกหลักเกณฑ์การประมูลในไตรมาส 3-ไตรมาส 4 ปี 64 นำเสนอต่อคณะกรรมการ กสทช.เป็นผู้ตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการ กสทช.ชุดเดิม หรือชุดใหม่

โดยอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะต้องวางอุปกรณ์กันสัญญาณกวนอย่างไร, การเยียวยาลูกค้าดาวเทียมซึ่ง บมจ.ไทยคม (THCOM) ให้บริการอยู่ แต่จะสิ้นสุดสัญญาในเดือน ก.ย.64 รวมทั้งอาจจะพิจารณาประมูลพร้อมกันหรือแยกกันกับคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz โดยจะศึกษาว่าควรจะใช้ราคาเริ่มต้นใหม่หรือไม่ และราคาที่เท่าไร และ 28 GHz

นอกจากนี้ จะมีการผลักดันให้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ในภาคส่วนต่างๆ หรือ Use Case เช่น Smart Logistic, Smart Manufacturing หลังจากได้ดำเนินการ Smart Health ที่ รพ.ศิริราช เป็นต้นแบบรพ.อัจฉริยะ คาดเปิดตัวต้นปี 64 และเพิ่ม Use Case ในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มากขึ้น

ส่วนการขยายพื้นที่ครอบคลุม 5G ภายในพื้นที่ EEC ของทั้ง 3 โอเปอเรเตอร์ (AIS, TRUE, DTAC) รวมกันเกินกว่า 50% แล้ว ซึ่ง Roll out ได้ตามกำหนดการ ขณะที่ในกรุงเทพมีสัญญาณ 5G ครอบคลุม 60-70% โดยปีหน้าคาดจะมีการนำ 5G มาใช้งานจริงในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น
รวมทั้งการจัดทำมาตรฐานการให้บริการ 5G โดยจะนำเสนอต่อคณะกรรมการ 5G ที่จะส่งเสริมการใช้ 5G กับกลุ่มการศึกษา คมนาคม-โลจิสติกส์ รวมถึงท่าเรือ และ การบริหารจัดการน้ำ จากก่อนหน้านี้ได้เสนอนำ 5G ใช้กับภาคเกษตร และสาธารณสุข
นายสุทธิศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การนำ 5G ใช้กับโลจิสติกส์ ได้แก่ ท่าเรือ ที่ได้ร่วมมือกับท่าเรือศรีราชา ใช้หุ่นยนต์ใช้ในท่าเรือ สถานีกลางบางซื่อที่จะทำลักษณะเดียวกับ Smart Airport

นอกจากนี้ ในปี 64 สิ่งที่กสทช.จะดำเนินการต่อไป คือ

 ยกระดับการกำกับดูแลยุคใหม่ไปสู่ Data Driven Economy โดยปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการโทรคมนาคมให้สอดคล้องกับบริบทการหลอมรวมเทคโนโลยี

ยกระดับการกำกับดูแลข้อมูลส่วนบุคคลและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างภาคอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดนวัตกรรมและบริการใหม่ๆ รวมถึงจัดทำข้อกำหนดด้านเทคนิคเกี่ยวกับ Cyber Security และแนวทางการกำกับดูแลร่วมกับ TTC-CERT และยกระดับการให้บริการโทรคมนาคมให้มีมาตรฐานและปลอดภัยผ่าน Mobile ID และ e-KYC

ส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ได้แก่ การจัดระเบียบสายสื่อสารและนำสายสื่อสารลงดินเพื่อรองรับ Smart City การจัดให้มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ทุรกันดาร ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (USO Net) ซึ่งกสทช.กำลังดำเนินการทำแผนแม่บท ฉบับที่ 2 ที่จะรวมถึงการขยาย bandwidth ทั้งนี้คาดว่าจะใช้บังคับได้ในปี 65 การส่งเสริมการใช้โครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายเข้าถึงผู้ใช้บริการร่วมกัน และมีแนวทางความร่วมมือการบริหารจัดการใช้ท่อร้อยสายและการจัดระเบียบสายสื่อสาร

การนำ Technology Digital เพื่อใช้ในการกำกับดูแลและการวิจัย โดยประยุกต์ใช้ Data Analytic เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลโทรคมนาคม เช่น รายงานข้อมูลแบบ Interactive พร้อมประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการ หน่วยงานวิจัยทั้งภายในและต่างประเทศ

https://www.infoquest.co.th/news/2020-0cefd5c44247f023275af300b0e3d0ab?fbclid=IwAR2wpv7T8ynmu-yBPXf3RgngWTr1l2z2vr8zIbBU51yJDB4QkRwEUbuDajs
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่