JJNY : 4in1 เสวนาแชร์มุมมองอารยะขัดขืน/ลุ้น“ไบเดน”เคาะGSPลอตสุดท้าย/ขอทำการบ้านก่อนยื่นซักฟอก/มาเลเซียเผยวัคซีนล็อตแรก

เสวนา นิติ มธ. แชร์มุมมองอารยะขัดขืน นักวิชาการชี้ ‘ดื้อแพ่ง’ มีความผิด แต่คือ ‘สิทธิ’ ตามรัฐธรรมนูญ
https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2492529
 

 
เสวนา นิติ มธ. แชร์มุมมอง ‘อารยะขัดขืน’ นักวิชาการชี้ ‘ดื้อแพ่ง’ มีความผิด แต่คือ ‘สิทธิ’ ตามรัฐธรรมนูญ
 
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ที่ห้องจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ศูนย์กฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มธ. จัดเสวนาในหัวข้อ “ขัดขืนอย่างมีอารยะ : มุมมองทางกฎหมาย และนิติปรัชญาเกี่ยวกับการดื้อแพ่ง” โดยมีนักวิชาการด้านกฎหมาย เข้าร่วม
 
ศ.จรัญ โฆษณานันท์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า คำว่าดื้อแพ่ง หรือ อารยะขัดขืน มาจากคำภาษาอังกฤษซึ่งมีคำแปลหลายตัว ช่วงหลัง บ้างก็แปลว่า อารยะขัดขืน ถ้าถามมหาตมะ คานธี จะใช้คำว่า “สัตยเคราะห์” หรือ การยึดมั่นในสัจจะ ใช้ความจริงต่อต้านความเท็จ หรือกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ความเท็จ
 
ศ.จรัญกล่าวต่อว่า โดยทั่วไปเวลาเราพูดถึงอุดมคติของกฎหมาย จะบอกว่าเป็นสิ่งสูงสุด นัยคือต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตาม เพียงแต่ภายใต้หลักนิติธรรมนี้ เราปฏิเสธกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมได้หรือไม่ คือประเด็นที่น่าคิด เช่น ฝ่ายอนุรักษนิยม มองว่า คนกลุ่มหนึ่งกำลังลบหลู่กฎหมาย แต่ฝ่ายที่มองหลักนิติธรรม ในเชิงยุติธรรม ว่าต้องคือหลักความยุติธรรมในการปกครองบ้านเมืองและการใช้อำนาจ ซึ่งอาจมองว่าไม่ขัดแย้ง แต่การดื้อแพ่งนั้นอาจชอบด้วยหลักนิติธรรม ด้วยการปฏิเสธกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมว่าไม่ใช่กฎหมายอีกต่อไป เป็นการยืนหยัดปกป้องหลักนิติธรรม เพื่อให้เกิดการออกและใช้กฎหมายที่เป็นธรรมอย่างแท้จริง ซึ่งนอกจากนี้ ยังมีเรื่องของความเที่ยงธรรมในการปฏิบัติตามกฎหมาย ที่ไม่ควรมีเรื่องของการทำตัวเป็นอภิสิทธิ์ชนด้วย”
 
หากอ่านงานของ มาติน ลูเธอร์ คิง จะมีการอ้างแบบอย่างของโสเครติส (นักปรัชญาชาวกรีก) แต่ก็มีข้อโต้แย้ง คือยึดมั่นความจริง ความกล้าหาญ คือคุณสมบัติหนึ่งของผู้ดื้อแพ่ง ที่ยอมสละชีวิตเพื่ออุดมการณ์บางอย่าง เป็นการดื้อแพ่งเพื่อสันติวิธีเพื่อให้เกิดความสุข ความยุติธรรมมากขึ้น ดังนั้น ผลลัพธ์ในแง่ประโยชน์สุข หรืออัตถประโยชน์นิยม จึงใช้ได้ทั้งเรื่อง การเชื่อฟัง และปฏิเสธกฎหมายไปพร้อมๆ กัน” ศ.จรัญกล่าว และว่า
 
อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์บอกว่า การจะลุกฮือของมวลชน จนผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นน้อยมาก ส่วนมากจะติดคุกเดียวดาย และพลังของการดื้อแพ่ง อาจเกิดขึ้นได้ในสังคมที่มีความยุติธรรม ไม่อาจใช้ในทางสังคมที่มีรัฐฎาธิปัตย์
 
ด้าน รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยว่า ระหว่างอารยะขัดขืน กับ สิทธิตามรัฐธรรมนูญ จะนำไปสู่ 2 ทางที่แตกต่าง ใน 3 เรื่อง คือ 1.มีงานเขียนที่สำคัญเกี่ยวกับการดื้อแพ่งทางกฎหมาย หรืออารยะขัดขืน 2.คำอธิบาย และความย้อนแย้ง  3.ความยุ่งยากและข้อถกเถียง ของทั้ง 2 อย่าง
 
รศ.สมชายกล่าวต่อว่า งานเขียนที่พยายามวิเคระห์ หรืออธิบายปรากฏการณ์ของการ ทำ และ ไม่ทำตามกฎหมายนั้น มีบทสนทนาของโสคราติส กับ เพลโต ในการดื่มยาพิษ แต่งานเขียนที่พยายามให้กรอบการอธิบายเกิดขึ้น เล่มที่เป็นหลักหมายสำคัญของความพยายามพูดถึงอารยะขัดขืน คือ Taking Right Seriously. ของ Ronald Dworkin และ A Theory of Justice. ของ John Rawis ข้อสังเกตเบื้องต้น ทั้ง 2 เล่มตีพิมพ์ทศวรรษ 1970 ดูบริบทแล้วเข้าใจได้ เพราะทศวรรษ 1970 สิ่งที่เกิดคือ มีการเคลื่อนไหวเป็นจำนวนมากที่คล้ายจะผิดกฎหมาย เช่น เรียกร้องสิทธิเท่าเทียมเรื่องผิวสี ต้านสงครามเวียดนาม ต้านการเกณฑ์ทหาร มีคนทำผิดกฎหมายเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง กีดขวางจราจรให้เป็นอัมพาต และถูกจับไปกว่าหมื่นคน โอกาสเห็นคนทำผิดกฎหมายอย่างนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย จึงท้าทายว่าจะอธิบายแง่มุมเหล่านี้ด้วยมาตรวัดทางกฎหมายอย่างไร จะเป็นอาชญากรรมได้หรือไม่ หรือมีความแตกต่าง แล้วต้องรับโทษทางกฎหมายหรือไม่ งานเขียนชี้เรื่องราวเหล่านี้
 
เมื่อไหร่ที่เห็นคนจำนวนมากในสังคมทำผิดกฎหมายอย่างมาก และยาวนาน ต้องเกิดการตั้งคำถามว่าเป็นเพราะเด็กเพี้ยนผิด หรือเป็นความวิปริตของสังคม ทำให้คนจำนวนหนึ่งพยายามเรียกร้องให้กลับไปสู่สิ่งที่ถูกต้องตามเส้นทางมากขึ้น
 
สำหรับ จอห์นล็อก (นักปรัชญาชาวอังกฤษ) ชี้ว่ามีลักษณะเฉพาะ เช่น การปิดถนน เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูป ซึ่งไม่ได้ต่อต้านตัวกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา ทั้งหมดมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง แต่ยังคงยอมรับกฎหมายโดยรวม นี่คือหัวใจสำคัญ หรือการฝ่าฝืนกฎหมายโดยยังเคารพกฎหมาย  กล่าวคือจะไม่หลบหนีกับการเผชิญโทษ ทั้งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ที่ต่อสู้เพื่อต้องการปรับอะไรบางอย่างแต่ยังเคารพระบบโดยรวม หากมีการลงโทษ เขาจะรับโทษ แต่จะมีสโลแกนคือ ‘รับโทษ แต่ไม่รับผิด’ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ใช้คำว่า ปฏิรูป คือการทำบางอย่างให้ดีขึ้น แต่ถ้าเมื่อไหร่ไม่ยอมรับระบบกฏหมาย และโครงสร้างโดยรวม เช่นนี้ จะไม่ใช่อารยะขัดขืน” รศ.สมชายกล่าว
 
ด้าน รศ.ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากมุมของกฎหมาย สรุปลำดับการทำอารยะขันขืนได้ 3 เรื่อง คือ 
1. เชิงนิติปรัชญา ที่มึความสำคัญในการดื้อแพ่ง หรือ การอารยะขัดขืน ต้องตอบแต่ละกรณีให้ชัดเจนว่าการกระทำของบางกลุ่มนั้น แท้จริงเเป็นอารยะขัดขืน หรือใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งอยู่ในพื้นที่สีเทา ที่แยกยากมาก ระหว่างอารยะขัดขืน หรือ การใช้สิทธิ 
2. ใครเป็นผู้ใช้สิทธิดื้อแพ่ง ส่วนมากจะเป็นฝ่ายเห็นต่างทางการเมืองข้างน้อย ที่ตำรากฎหมายมหาชนตั้งคำถามว่า ไม่เพียงมิติพิจารณากฎหมาย แต่ยังมีมิติ ความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย เพราะกฎหมายที่มาจากสภา มีความชอบธรรมในตัวเอง ดังนั้น การใช้สิทธิดื้อแพ่ง คือการปฏิเสธความชอบธรรมของผู้แทนในระบอบรัฐสภา มากไปกว่าประเด็นทางกฎหมาย 
3. สำคัญที่สุด คือการตอบคำถามว่า หากดื้อแพ่งแล้ว รัฐบาลที่ยึดหลักการนิติรัฐ ควรจะมีปฏิกิริยาต่อการกระทำผิดกฎหมายด้วยเจตนาที่ดีนั้นอย่างไร
  
รศ.ดร.ต่อพงศ์กล่าวต่อว่า องค์ประกอบสำคัญของอารยะขัดขืน คือ 
1. เปิดเผยต่อสาธารณะ 
2. ไม่ใช้ความรุนแรง และ 
3. ยอมรับผลร้าย 
คำถามคือ การกระทำการอารยะขัดขืน ระบบกฎหมายยอมรับได้หรือไม่ กระทำเพื่อต้านอำนาจ นโยบาย ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ความสัมพันธ์คาบเกี่ยวกับการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เช่น การชุมนุม แสดงความคิดเห็น ซึ่งรัฐต้องการที่จะมีการตอบโต้บางอย่าง  ในหลายกรณีหากใช้มาตรวัดด้วยรัฐธรรมนูญอาจมองว่า ไม่ผิดกฎหมาย เพราะขาดองค์ประกอบสำคัญของการดื้อแพ่ง คือ 
1. ต้องกระทำอย่างสงบเปิดเผย เพื่อให้การรับผลร้ายเกิดความเปลี่ยนแปลงด้านนโยบาย หรือความรู้สึกร่วมในสังคมการเมือง 
2. บางกรณีเป็นการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการชุมนุม 
3. เมื่อเอารัฐธรรมนูญมาวัดอาจได้คำตอบที่ต่างออกไป ว่าเป็นเพียงการใช้สิทธิ เช่นการนั่งประท้วง ปิดกั้นทางสัญจร ด้วยความสงบ จึงมองได้ 2 อย่าง กล่าวคือ ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะขัดขวางการจราจร แต่ 2.ตัวมันเองสงบ จึงเป็นอารยะขัดขืนอย่างชัดเจน
 
การกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมาย มีความผิดแน่ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว รัฐ ที่เป็นนิติรัฐ จะมีปฏิกิริยาต่อการละเมิดนั้นอย่างไร ถ้าเรายอมรับว่า ดื้อแพ่งสามารถทำได้ จะทำอย่างไรให้การกระทำ แคบที่สุด โดยการกำหนดให้ชัด ด้วยฐานทางสิทธิรัฐธรรมนูญ และ หลักนิติรัฐ นิติธรรม” รศ.ดร.ต่อพงศ์กล่าว
 

 
ลุ้น “ไบเดน” เคาะ GSP ลอตสุดท้าย ส่งออกสินค้า 2 พันรายการส่อเดี้ยง
https://www.prachachat.net/economy/news-577238
 
เผือกร้อนโค้งสุดท้าย “จีเอสพี” โครงการ 10 หมดอายุ 31 ธ.ค. 63 สินค้าไทย 2 พันรายการเคว้ง ลุ้น “ไบเดน” ต่ออีก 3 ปี แลกแก้ กม.แรงงาน-เปิดตลาดหมู “พาณิชย์” คาดรู้ผลไตรมาส 1 มั่นใจไม่กระทบ ด้าน ส.อ.ท.-หอการค้าหวั่นเสียความสามารถแข่งขันระยะยาว ส่งออกยังบวกจากฐานปี’63 ติดลบ
 
จากที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลการ (GSP) ที่เคยให้กับสินค้าไทยไปแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรก จำนวน 573 รายการ  มีผลไปเมื่อเดือนเมษายน 2563 และครั้งที่ 2 อีก231 รายการ ช่วงก่อนเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ จากประเด็นที่ไทยไม่เปิดตลาดนำเข้าหมูสหรัฐเพราะใช้สารเร่งเนื้อแดง จะมีผลบังคับใช้วันที่ 30 ธันวาคม 2563 ส่งผลให้สินค้ากลุ่มนี้ต้องกลับไปเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติ เฉลี่ย 3% อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สินค้าไทยยังคงได้รับสิทธิ GSP อีก 1,700-1,800 รายการ
 
ไทยใช้ GSP ที่ 2 รองอินเดีย
 
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ล่าสุดโครงการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สินค้า 1,700-1,800 รายการ ที่สหรัฐให้ไทย ในฐานะเป็นประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา คราวละ 3 ปี ซึ่งได้ต่ออายุมาครั้งที่ 10 และกำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ จะส่งผลให้สินค้ากลุ่มที่เคยได้ GSP ลดภาษี 0% ต้องกลับไปเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติ ตั้งแต่ไม่ถึง 1% จนถึงสูงสุดกว่า 10% ต้องมาลุ้นว่ารัฐบาลสหรัฐ โดยประธานาธิบดีคนใหม่ นายโจ ไบเดน จะพิจารณาต่ออายุโครงการนี้เป็นครั้งที้ 11 หรือไม่ ซึ่งน่าจะประกาศในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2564 หากได้รับการพิจารณาต่ออายุโครงการ ก็จะได้ GSP ต่ออีก 3 ปี
 
ปีก่อนสหรัฐตัดการให้ GSP กับอินเดีย เพราะอินเดียใช้สิทธิ GSP ส่งออกไปสหรัฐ สูงสุดเป็นอันดับ 1 ส่วนไทยเป็นอันดับ 2 ยังไม่แน่ใจว่าผลการพิจารณาจะเป็นอย่างไร เพราะขอบเขตเงื่อนไขการพิจารณาต่ออายุโครงการ GSP นั้น สหรัฐดูจากหลายด้าน เช่น ระดับการพัฒนาของประเทศ จากรายได้ต่อหัวของประชากร ซึ่งไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าจะผ่าน การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงเรื่องแรงงาน ฯลฯ
 
ปมแรงงาน-ตลาดหมู แก้ไม่ตก
 
เรื่องแรงงานสหรัฐให้ความสำคัญมาก เคยมีข้อเสนอให้ไทยแก้ไข 7 ด้าน ซึ่งกระทรวงแรงงานเป็นเจ้าภาพ แก้ไขแล้วหลายเรื่อง ยกเว้นเรื่องการอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวตั้งสหภาพแรงงานในประเทศไทย ซึ่งขัดต่อกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ อยู่ระหว่างแก้ไขในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา สหรัฐไม่ได้ปิดทางการหารือ แต่ขอให้มีความคืบหน้า ส่วนเรื่องการเปิดตลาดหมูที่ใช้สารเร่งเนื้อแดง กระทรวงเกษตรฯเป็นเจ้าภาพประเมินความเสี่ยงและผลกระทบ ปัญหาคือสารเร่งเนื้อแดงจะตกค้างในเครื่องในหมู มีโอกาสกระทบสุขภาพประชาชน เพราะคนไทยนิยมทานเครื่องใน แต่คนสหรัฐไม่ทาน จะทำให้สหรัฐส่งออกเครื่องในหมูมาไทย
 
แนะเอกชนปรับตัวหาตลาดใหม่
 
แหล่งข่าวกล่าวว่า กรมการค้าต่างประเทศ และภาคเอกชนได้ประเมินผลกระทบสินค้า ในกรณีที่ไทยถูกตัดสิทธิจีเอสพีทั้งหมด แบ่งเป็น กลุ่มสีเขียวไม่กระทบ กลุ่มสีเหลืองกระทบบ้าง ต้องปรับตัว เช่น ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ พวงมาลัยรถยนต์ ส่วนประกอบล้อรถยนต์ อะลูมิเนียมเจือ เครื่องนอนทำจากยางพารา และสีแดงกระทบมากที่สุด เช่น หีบ กล่องที่ทำจากไม้ ตะปูควงสำหรับใช้กับไม้ เบื้องต้นได้ผลักดันให้เอกชนปรับตัว
 
โดยการพัฒนาสินค้านวัตกรรมมากขึ้น หรือผลิตสินค้าที่มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากแหล่งผลิตอื่น และให้มุ่งกระจายไปทำตลาดอื่นนอกเหนือจากสหรัฐเท่าที่ประเมิน ผู้ประกอบการปรับตัวได้จึงไม่ได้รับผลกระทบ และภาพรวมการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐ 10 เดือนแรกยังเติบโตเป็นบวก
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่