ความคิดเห็นเกี่ยวกับอำนาจต่อรองที่ไม่สมดุลกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง

เหตุใดทั้งๆที่นายจ้างกับแรงงานต่างแลกเปลี่ยนตอบแทนกัน แต่นายจ้างบางคนกลับคิดว่านั่นเป็นบุญคุณที่ตนรับคนคนหนึ่งเข้าทำงาน สาเหตุของความคิดนี้เป็นเพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่ถ้าคนจนไม่ทำงาน พวกเขาก็จะต้องทุกข์เข็ญเพราะไม่มีตาข่ายสังคมนั่นเอง แม้นายจ้างบางคนอาจคิดว่าการที่ตนจ้างงานเป็นการช่วยให้พ้นทุกข์ แต่แท้จริงแล้วทุกคนกำลังเอาเปรียบคนอื่นผ่านโครงสร้างทางสังคมที่บิดเบี้ยวอยู่
 
ดุลอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเป็นผลมาจากระบบโครงสร้างสังคม การที่นายจ้างบางคนคิดว่าตนมีบุญคุณกับลูกจ้าง หรือห้ามลูกจ้างแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแม้เป็นในพื้นที่ส่วนตัว รวมถึงการที่ลูกจ้างไม่มีทางเลือกในการต่อรอง หรือการไล่พนักงานที่ก่อตั้งสหภาพแรงงานออกจากบริษัท การขาดการต่อรองอันนำมาซึ่งการควบคุมหรือการกดขี่ในหลายๆรูปแบบเช่นให้ทำงานโดยไม่ให้เข้าห้องน้ำหรือพักผ่อน ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพของลูกจ้าง หรือค่าแรงที่น้อยเกินกว่าจะใช้ยังชีพซึ่งส่งผลเสียต่อการขยับฐานะและพัฒนาตัวเองในระดับครอบครัว ซึ่งการขาดอำนาจต่อรองเหล่านี้เป็นเพราะโครงสร้างสังคมที่ไม่ดีพอนั่นเอง
 
เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่มีสวัสดิการดีเพียงพอ การมีงานทำจึงเป็นทางรอดชีวิตทางเดียวของผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่มั่นคงนัก หากดูเผินๆอาจเหมือนเป็นเรื่องถูกต้อง แต่ในสังคมที่มีการสะสมทรัพย์สิน ไม่ใช่ทุกคนที่ไม่ทำงานแล้วจะต้องอดอยากเพราะบางคนก็ได้รับการเลี้ยงดูหรือมรดกจากพ่อแม่และญาติๆที่เก็บเงินมาหลายชั่วอายุคน เมื่อเกิดความเหลื่อมล้ำนี้ ทำให้ผู้ที่มีฐานะยากจนมีความเสี่ยงสูงกว่าที่จะต้องทนอยู่กับกับสภาพการทำงานที่ย่ำแย่และขาดเงินเดือนหรือโอกาสที่เพียงพอในการเลื่อนชนชั้น ซึ่งควรเป็นโอกาสที่ทุกคนได้รับ อย่างเช่นคนที่ต้องมาขายแรงงานตั้งแต่เด็กนั้นถูกความจำเป็นกดดันให้ไม่สามารถเลือกการเรียนต่อ ต้องออกจากโรงเรียนก่อนเวลาที่กำหนด ทำให้ไม่สามารถทำงานที่เงินเดือนดีได้
 
ทว่าหากประเทศไทยจัดหาสวัสดิการที่ดีให้แก่ทุกคนในประเทศ อย่างเช่นการเปิดโอกาสในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลในราคาที่ไม่แพงเกินไป การมีเงินช่วยเหลือและบริการดูแลคนแก่ คนป่วย คนพิการ การจัดหาการศึกษาที่มีคุณภาพและราคาถูก การใช้นโยบายรายได้พื้นฐานประชาชาติเพื่อให้ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีกิน แรงงานก็จะสามารถเลือกงานได้ ซึ่งจะส่งผลให้สภาวะอำนาจระหว่างแรงงานและนายจ้างอยู่ในระดับที่สมดุลมากขึ้น เพราะแรงงานจะไม่ต้องถูกความจำเป็น เช่นต้องเลี้ยงดูพ่อแม่หรือถ้าไม่ทำงานจะไม่มีเงินเลย บังคับให้ต้องทนทำงานที่ใช้งานหนักเกินไปหรือจำกัดสิทธิมากเกินไปโดยไม่มีโอกาสต่อรองเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นและเงินเดือนที่เพียงพอต่อการยังชีพและเลี้ยงดูครอบครัว
 
การที่ลูกจ้างมีโอกาสต่อรองกับนายจ้างและร่วมกันหาข้อตกลงที่จะอยู่ร่วมกันได้เป็นสิ่งที่ดี แม้นายจ้างบางคนอาจเสียประโยชน์จากส่วนเกินที่ได้จากการไม่มีการต่อรองอยู่ แต่นั่นย่อมหมายความว่า นอกจากพวกเขาจะเอาเปรียบลูกจ้างของตนแล้ว พวกเขาก็ยังเอาเปรียบคนอื่นๆในสังคมและนายจ้างที่ปฎิบัติตามกฏเกณฑ์อย่างถูกต้องด้วย ทั้งการต่อรองยังทำให้สภาพชีวิตของผู้คนอีกมากมายดียิ่งขึ้น การต่อรองไม่ใช่การทำตัวเป็นปัญหา แต่เป็นการผลักดันสังคมให้เข้าสู่เส้นทางที่ควรเป็น ซึ่งก็คือสังคมที่แบ่งปันทรัพยากรอย่างยุติธรรมและไม่ทอดทิ้งชนชั้นใดไป
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่