มาทำความเข้าใจคำว่า "ปรมัตถ์" กับ "สมมุติ"

กระทู้สนทนา
ผมเห็นมีกระทู้ที่พูดถึง 2 คำนี้ เนื่องจากเป็นคำที่ถือว่าสำคัญพอสมควร หากไม่มีการยกมาพูดถึงก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าพูดถึงและเข้าใจไม่ถูกต้อง จะเกิดผลเสีย

ถามว่า ในเมื่อมีความสำคัญ แล้วเป็นไปได้หรือที่ครูบาอาจารย์ท่านจะไม่ยกมาพูดถึง? 

ที่จริง ครูบาอาจารย์ท่านพูดถึงอยู่เสมอ เพียงแต่ท่านใช้คำอื่นที่เป็นภาษาไทยที่เข้าใจได้ง่ายกว่า

คำว่า ปรมัตถ์ ถ้าพูดชื่อเต็มๆ ก็คือ ปรมัตถสัจจะ ส่วนคำว่า สมมุติ ก็คือ สมมุติสัจจะ (หรือ สมมุติบัญญัติ หรือ บัญญัติก็ได้)

สัจจะ แปลว่า ความจริง, ของจริง นั่นหมายความว่า ความจริงในโลกนี้ (หรือโลกไหนก็ตาม) มี 2 อย่างก็คือ ปรมัตถ์ และ สมมุติ

ความจริงคืออะไร? ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่เราหิวขาว เราจะเกิดอาการหิวข้าวขึ้นมาจริงๆ ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นนั้น ไม่จำกัดเชื้อชาติ ไม่เกี่ยวข้องกับภาษา และไม่สนใจว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ ล้วนหิวเหมือนกัน

ความรู้สึกถึงความหิวนี้ เราเรียกว่า ปรมัตถ์ หรือที่ภาษาไทยใช้คำว่า สภาวธรรม คือ เกิดสภาวธรรมของความหิวขึ้นมา

แล้วสมมุติคืออะไร? สมมุติก็คือบัญญัติ หรือคำพูดที่เราใช้สื่อสารกัน เช่น ถ้าเป็นคนไทย สมมุติบัญญัติที่เราใช้ก็คือ "หิว" ถ้าเป็นฝรั่งใช้คำสมมุติว่า "Hungry" ถ้าเป็นคนจีนคือ "饥饿" เป็นต้น

อาจารย์ธีรยุทธ เวชเจริญยิ่ง ท่านให้คำจำกัดความไว้น่าสนใจ นั่นคือ ปรมัตถ์ คือ ของจริงที่มีอยู่จริง ส่วนสมมุติก็คือ ของจริงที่มีอยู่ไม่จริง

เนื่องจากเราไม่สามารถสื่อสารกันด้วยสภาวธรรมได้ เช่น เวลาจะบอกใครว่าเราหิวข้าว ก็ส่งความรู้สึกหิวนี้ไปให้ผู้อื่น แบบนี้เราทำไม่ได้ จึงต้องอาศัยคำที่สมมุติกันขึ้นมานี้ คือคำว่า "หิว" คนที่ได้ยินก็จะ(พอ)เข้าใจ

เช่นเดียวกับพระอรหันต์ ท่านส่งสภาวธรรมของนิพพานมาให้เรารับรู้ไม่ได้ ก็เลยต้องใช้คำว่า "นิพพาน" เป็นสมมุติบัญญัติ

หรืออย่างเช่นเรามองเห็นสิ่งมีชีวิตอย่างหนึ่ง ตัวใหญ่ๆ อ้วนๆ มีงวง มีงา มีหางเล็กๆ มีหูใหญ่ๆ ฯลฯ ถ้าเราตัดสิ่งที่เป็นสมมุติทิ้งไป ไม่นึกถึงคำสมมุติที่ใช้เรียกสิ่งนี้ (ซึ่งก็คือคำว่า ช้าง) นั่นคือ ปรมัถต์

ถามว่า แล้วคำว่า ปรมัตถ์ กับ สมมุติ เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติธรรมอย่างไร?

ในการเจริญวิปัสสนา เราจะใช้เฉพาะปรมัตถ์เท่านั้น ต้องไม่มีสมมุติบัญญัติใดๆ มาเกี่ยวข้องเลย

ถ้าเมื่อใดก็ตามมีสมมุติมาเกี่ยวข้อง สิ่งนั้นจะเป็นสมถะทันที

ยกตัวอย่าง เวลาที่เราขยับมือตามจังหวะตามวิธีของหลวงพ่อเทียน ให้เรารู้สึกเพียงสภาวธรรมเท่านั้น ความรู้สึกที่อวัยวะเคลื่อนไหว ไม่มีคำว่ามือ ไม่มีคำว่าแขน ไม่มีสิ่งที่อธิบาย(หรือสมมุติกันขึ้นมา)เป็นภาษามนุษย์มาเกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม เพื่อความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ผมแนะนำให้ฟังคำอธิบายพร้อมกับการยกตัวอย่างของอาจารย์ธีรยุทธ เวชเจริญยิ่ง เพิ่มเติม ซึ่งท่านอธิบายไว้ค่อนข้างจะละเอียด ครบถ้วน และเข้าใจง่าย

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่