ยังไม่จบ...กรรมาธิการสภาฯเรียกโฮปเวลล์แจง

คณะกรรมาธิการ การพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร เชิญผู้แทนจากบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และการรถไฟแห่งประเทศไทย เข้าชี้แจงถึงเรื่องปัญหาทางด่วนโฮปเวลล์
ในวันพุธที่ 25 พฤศจิกายน 2563 เวลา 13.30 น.ที่ห้องประชุมกรรมาธิการ 405 ชั้น 4 รัฐสภา โดยประเด็นที่ทางบริษัทโฮปเวลล์ฯเข้าชี้แจง ประกอบด้วย
 
1.)     คำนิยามของคำว่า “ค่าโง่” 
ก)      ค่าโง่หมายความถึง เอาเงินจากภาครัฐซึ่งเป็นเงินภาษีอากรของราษฎรไปจ่ายค่าเสียหายให้ภาคเอกชนโดยมิบังควร
ข)      กรณีโฮปเวลล์ ไม่ใช่ค่าโง่ตามที่เรียกขานกัน หากแต่จะใช้คำว่า “โง่” ก็เป็นการสมควรที่จะใช้กับรัฐบาลในอดีตที่ประกอบด้วยรัฐบาลที่ปล่อยให้มีการกระทำผิดสัญญาและรัฐบาลที่บอกเลิกสัญญาโดยมิชอบ
ค)      เงินชดใช้ที่ศาลปกครองสูงสุดให้คืนแก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นเงินคืนเพียงบางส่วนของเงินที่โฮปเวลล์นำมาลงทุนในประเทศไทย เงินลงทุนทั้งหมดเป็นเงินที่บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) จำกัด  นำมาลงทุนในประเทศไทยทั้งหมด โดยรัฐบาลไทยทุกรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้จ่ายเงินลงทุนเลยแม้แต่บาทเดียว แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลกลับมีกรรมสิทธิ์ในสิ่งก่อสร้างที่โฮปเวลล์ลงทุนไปทั้งหมดทันทีตามสัญญา
ง)       ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎดังข้อ ก ข และ ค จึงควรต้องเข้าใจตรงกันว่าเงินที่รัฐบาลต้องคืนให้โฮปเวลล์ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดจึงไม่ใช่ค่าโง่ตามที่มีผู้ชอบกล่าวอ้างกันลอย ๆ 

2.)     โครงการโฮปเวลล์ เป็นโครงการของรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาการจราจรในกรุงเทพ และเพื่อการกระจายความเจริญสู่ปริมณฑล เมื่อโฮปเวลล์ชนะการประมูลและได้ลงนามในสัญญาสัมปทานโดยได้ดำเนินการตามขั้นตอนของทางราชการอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ทุกประการแล้ว จึงเรียกว่า “โครงการโฮปเวลล์” ดังนั้นการที่กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (ในยุคปัจจุบัน) ใช้วิธีการโดยไม่สุจริตด้วยการพยายามที่จะรื้อฟื้นตรวจสอบย้อนหลังว่า การลงนามในสัญญาสัมปทานที่ผ่านมานั้นเป็นไปโดยชอบหรือไม่ อันเป็นวิธีการที่ขัดต่อสามัญสำนึกและขัดต่อจริยธรรม รวมทั้งขัดต่อกฎหมายในการปฏิบัติราชการเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ
2.1)   การขัดต่อสามัญสำนึกของการปฏิบัติราชการต่อกรณีของโฮปเวลล์นี้ เห็นได้อย่างแจ้งชัดว่าไม่เคยมีโครงการใด ๆ ในประวัติศาสตร์ราชการไทยที่มีการตรวจสอบย้อนหลังภายหลังจากที่ภาครัฐแพ้คดีในชั้นศาลปกครองสูงสุดแล้ว ทั้ง ๆ ที่ไม่มีกรณีที่ทุจริตโดยศาลได้ลงโทษผู้กระทำผิดไปแล้ว ซึ่งแตกต่างจากกรณีของโฮปเวลล์อย่างสิ้นเชิง  รวมทั้งโครงการโฮปเวลล์ได้มีการปฏิบัติตามสัญญามาโดยตลอด และได้มีการจ่ายค่าสัมปทานให้แก่ภาครัฐ เป็นเงินจำนวน 2,850,000,000 บาท ตามข้อกำหนดในสัญญานับตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจวบจนกระทั่งวันถูกยกเลิกสัญญา
2.2)   การขัดต่อจริยธรรมในการปฏิบัติราชการขององค์กรภาครัฐทั้งสองต่อกรณีโฮปเวลล์นี้ คือเห็นว่ากระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย มีเจตนาไม่สุจริตโดยใช้วิธีการกล่าวหาและฟ้องร้องผู้ดำรงตำแหน่งภาครัฐด้วยกันเอง รวมถึงการใช้หน่วยงานของรัฐต่าง ๆ  ที่พยายามจะยัดเยียดข้อกล่าวหานั้นไปยังภาคเอกชนโดยไม่คำนึงว่าหน่วยงานนั้นๆ จะหมิ่นเหม่ต่อการกระทำความผิดกฎหมายหรือไม่ อาทิเช่นมีการร้องไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญให้กระทำการอันจะเป็นการกระทำที่เป็นการหมิ่นเหม่ต่อการกระทำผิดกฎหมายเพื่อหวังผลที่จะไม่ต้องจ่ายเงินตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดอย่างไร้จริยธรรมที่ไม่สมควรจะเกิดขึ้นเป็นอย่างยิ่ง โดยไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรม (RULE OF LAW) และยังเป็นการขัดต่อคำแถลงนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันที่ได้แถลงไว้ต่อสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ก่อนเข้ารับหน้าที่ ในข้อ 12.2 เรื่องปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม ความตอนหนึ่งว่า “พัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ และเป็นธรรม”
2.3)   การขัดต่อกฎหมายที่จะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในเวลาที่กำหนด และละเว้นไม่ดำเนินการดังกล่าว อีกทั้งยังได้มีการประวิงเวลาการที่จะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแล้ว   โดยการยื่นขอให้มีการพิจารณาคดีใหม่ โดยปราศจากมูลที่จะรับฟังได้ โดยไม่เกรงกลัวต่อบทบัญญัติในกฎหมายหลายบท เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ที่อาจจะถูกดำเนินคดีเริ่มที่ชั้นศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง และหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (คดี อม.) รวมทั้งการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นความผิดตาม พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 อนุมาตรา 1

3.)  กรณีที่มีการกล่าวหาข้าราชการในกระทรวงพาณิชย์ย้อนหลัง ว่าการรับจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยอ้างว่าฝ่าฝืนประกาศคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 281 ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริงโดยอ้างว่า บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในสมัยนั้นให้ได้รับยกเว้นตามข้อ 2 แห่งประกาศคณะปฏิวัติฉบับนี้ ซึ่งข้อเท็จจริงมิได้เป็นอย่างที่กล่าวหา แท้ที่จริงแล้วมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2533 ได้อนุมัติให้ความเห็นชอบให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับสัมปทานเดินรถระบบรถไฟชุมชน (Community Train) และทางด่วนยกระดับสำหรับรถยนต์ตามผลการเจรจาระหว่าง กระทรวงคมนาคม กับ บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) จำกัด ซึ่งผลการเจรจาปรากฎชัดว่าได้มีการอนุมัติให้บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) จำกัด จัดตั้งบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด มาเป็นผู้รับสัมปทานโดยได้รับยกเว้นไม่อยู่ภายใต้ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 ข้อ 2 ปรากฎตามหนังสือกระทรวงคมนาคม ที่ คค 0207/7365 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2533 ข้อ 2.9 และข้อ 2.11.2

4.)  การที่กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยได้พยายามที่จะกล่าวหาในทุกวิถีทางตลอดมา ภายหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาไปแล้วนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเป็นการกล่าวหาที่ปราศจากหลักฐาน และยังได้มีการพยายามกล่าวอ้างพยานบุคคลที่มิได้เกี่ยวข้องกับโครงการโฮปเวลล์มาโต้แย้งข้อเท็จจริงที่ปรากฎในเอกสารของทางราชการเสียเอง ซึ่งในทางกฎหมายไม่สามารถรับฟังได้

5.)  สืบเนื่องจากการที่ สภาผู้แทนราษฎร ได้รับทราบรายงานของคณะกรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้มีการรายงานข้อมูลที่ปราศจากข้อเท็จจริง และแฝงไปด้วยอคติ ดังนั้นบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงได้มีหนังสือกราบเรียน ฯพณฯ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 17 กันยายน พุทธศักราช 2563 ชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งหมดในทุกข้อกล่าวหา รายละเอียดปรากฎตามเอกสารที่แนบมาเพื่อให้คณะกรรมาธิการได้รับทราบพร้อมนี้ด้วยแล้ว

6.)  การที่กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย กระทำการทุกอย่างที่จะไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดด้วยวิธีการต่าง ๆ นานา และรวมทั้งการแสดงเจตนาอย่างชัดเจน โดยยกข้ออ้างว่าจะรักษาผลประโยชน์ของชาติที่จะไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดผ่านสื่อมวลชนต่อกรณีของโฮปเวลล์ที่ผ่านมานั้น  นับเป็นความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อชาติบ้านเมืองโดยขอให้ทุกฝ่ายได้โปรดฉุกคิดอย่างรอบคอบถี่ถ้วนว่า แท้ที่จริงแล้วการที่ภาครัฐแสดงเจตนาเยี่ยงนี้จะเป็นผลทำให้ขาดความเชื่อมั่นในระบบราชการและกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ทำให้ประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่มีนิติสัมพันธ์กับทางการไทยขาดความเชื่อมั่นและขาดความไว้วางใจในความที่ประเทศไทยปกครองโดยระบบนิติรัฐ และยังไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรมและหลักจริยธรรมอีกด้วย เมื่อสภาพการณ์เป็นเช่นนี้ ประเทศไทยหรือรัฐไทยจะได้รับความเชื่อถือจากพลเมืองไทยและจากชาวโลกได้อย่างไร นี่คือความเสียหายอย่างร้ายแรงที่สุดมากกว่าตัวเงินที่ไม่สามารถจะประเมินมูลค่าได้ และคงจะต้องใช้เวลาอีกยาวนานกว่าที่จะกอบกู้ความน่าเชื่อถือกลับคืนมาได้
 
          บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากรณีของโฮปเวลล์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ จะเป็นบทเรียนอันล้ำค่าของรัฐบาลไทยทุกรัฐบาลทั้งในอดีต ปัจจุบัน และในอนาคต ว่าการที่จะทำให้ประเทศชาติบ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรืองจำเป็นต้องคำนึงถึงองค์ประกอบที่สำคัญ  คือ หลักนิติธรรม หลักจริยธรรม และหลักธรรมาภิบาล ที่สามารถสร้างความมั่นใจและความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นกับทั้งพลเมืองไทยและชาวต่างประเทศที่มาลงทุนในประเทศไทย เพราะการขาดหลักดังกล่าวข้างต้นนี้ จะกลับกลายมาเป็นต้นทุนของการประกอบการไปโดยอัตโนมัติ และเป็นสาเหตุหลักที่จะทำให้ประเทศไทยขาดศักยภาพในการแข่งขันกับนานาอารยประเทศในโลก
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่